xs
xsm
sm
md
lg

น้ำมันดิ่งฉุดแท่นผลิตหยุด เอสโซ่คืนแปลงสัมปทาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเผยราคาน้ำมันที่ยังทรงตัวระดับต่ำทำให้ผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมอย่างซีเอซีแจ้งหยุดแท่นการผลิตน้ำมันแหล่งสงขลาเพิ่มอีก 1 รวมหยุดไปแล้ว 3 ขณะที่โอเฟียร์และเอสโซ่จ่อคืนแปลงสัมปทาน คาดปีหน้าหลุมผลิตปิโตรเลีมในไทยทรงตัว

นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) เปิดเผยว่า จากระดับราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่ลดต่ำ ประกอบกับปริมาณสำรองปิโตรเลียมของหลุมผลิตเริ่มลดลงทำให้มีบริษัทที่ได้รับสัมปทานปิโตรเลียมในไทยมีการทะยอยแจ้งหยุดการผลิตและเตรียมคืนสัมปทานปิโตรเลียมเพิ่มเติม ขณะที่หลุมผลิตปิโตรเลียมเฉลี่ยรวมปีนี้จะอยู่ระดับ 400 หลุม ลดลงเล็กน้อยจากปี 2558 ที่อยู่ระดับ 430-450 หลุมและในปี 2560 คาดว่าจะใกล้เคียงกับปีนี้โดยคงจะไม่เพิ่มขึ้น

"ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ย 40 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลเชื่อว่าจะเป็นระดับที่จูงใจให้มีการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมอยู่ แต่ก็คงจะเป็นลักษณะของการรักษาระดับการผลิตไว้มากกว่าและในปี 2560 ที่หลุมผลิตจะทรงตัวปัจจัยหลักจะมาจากการชะลอการลงทุนเพิ่มของเชฟรอนและ ปตท.สผ.ในแหล่งเอราวัณและบงกชที่จะสิ้นสุดอายุสัมปทานปี 65-66 เพราะการลงทุนจะไม่คุ้มค่าเพราะไม่รู้ว่าเมื่อสิ้นสุดอายุสัมปทานแล้วจะประมูลได้ต่อหรือไม่"นายวีระศํกดิ์กล่าว

สำหรับผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมที่แจ้งหยุดผลิตเพิ่มได้แก่ บริษัท ซีอีซีอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้รับสัมปทานแหล่งน้ำมันสงขลาได้แจ้งหยุดการผลิตเพิ่มอีก 1 แท่นจากก่อนหน้านี้หยุดไปแล้ว 2 แท่นจากที่มีทั้งหมด 5 แท่นทำให้เหลือแท่นการผลิตจริง 2 แท่นเท่านั้นทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบเฉลี่ยจากเดิมทั้งหมด 1.5 หมื่นบาร์เรลต่อวัน เหลือเพียง 6,000 บาร์เรลต่อวัน เท่านั้น
นอกจากนี้ บริษัท โอเฟียร์ ผู้รับสัมปทานสำรวจแปลง G4/50 ใกล้บัวหลวงและเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ได้แจ้งว่า จะขอคืนแปลงสำรวจดังกล่าว หลังสำรวจเป็นระยะเวลาหลายปีแต่ไม่พบปริมาณปิโตรเลียมที่คุ้มค่าต่อการลงทุน โดยคาดว่า บริษัท โอเฟียร์ จะทำหนังสือและเข้าหารืออย่างเป็นทางการเร็วๆ นี้ ส่วนแหล่งน้ำพอง จ.ขอนแก่น (หลุมน้ำพอง 1A-หลุมน้ำพอง-2)ของบริษัท เอสโซ่ โคราช จำกัด ปัจจุบันมีกำลังการผลิตก๊าซฯ เฉลี่ย 10 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันและกำลังจะหมดอายุสัมปทานในเร็วๆ นี้ ซึ่ง ชธ.อยู่ระหว่างรอว่าเอสโซ่จะขอต่ออายุสัมปทานออกไปอีก 10 ปีตามสิทธิ์ในกฎหมายหรือจะคืนสัมปทานอยู่

นายวีระศักดิ์เปิดเผยว่า เร็วๆ นี้จะมีประชุม 9 กระทรวงที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือถึงการเตรียมร่าง พ.ร.บ.เชื้อเพลิงถ่านหินนำเข้าเพื่อกำหนดภารกิจให้ กรมฯเข้ามาดูแลการบริหารนำเข้าทั้งหมด ซึ่งจะต้องตั้งเป็นกองถ่านหินนำเข้าภายใต้กรมฯ ซึ่งก่อนหน้านี้แต่ละหน่วยงานต่างคนต่างทำ และมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ ทำให้การบริหารจัดการไม่เกิดประสิทธิภาพ แต่เมื่อมี พ.ร.บ.ชัดเจนก็จะทำให้เกิดการบูรณาการกฏหมายร่วมกันที่มีประสิทธิภาพตั้งแต่การดูแลการขนส่งที่ต้องไม่กระทบสิ่งแวดล้อม ทราบปริมาณที่ชัดเจนฯลฯ

"กระทรวงพลังงานมีนโยบายปรับโครงสร้างบริหารภายในจึงมอบภารกิจดูแลถ่านหินนำเข้า และก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มาให้ดูแลเนื่องจากเห็นว่าเป็นเรื่องของเชื้อเพลิงอยู่แล้ว ซึ่งจะต้องตั้งเป็นกองขึ้นมาบริหารซึ่งจะเสนอให้สำนักงานข้าราชการพลเรือน (กพ.) พิจารณาในปีนี้เพื่อเพิ่มอัตรากำลังคน โดยในส่วนของ LNG อาจใช้กฏกระทรวงประกาศได้เพราะน่าจะจัดอยู่ในพ.ร.บ.ปิโตรเลียมได้"นายวีระศักดิ์กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น