เสวนาปฏิรูปพลังงานเพื่อปฏิรูปประเทศไทย “รสนา” ชูมาเลเซียใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต ประชาชนได้ใช้น้ำมันถูกกว่าไทย เตือนถ้าไม่อยากให้สภาปฏิรูปเป็นโรงลิเก ต้องให้ “ณรงค์ชัย” หยุดเปิดสัมปทานรอบที่ 21 “ม.ล.กรกสิวัฒน์” ชี้คนไทยถูกอุ้มไม่จริง แต่กลับต้องอุ้มกลุ่มทุนปิโตรเลียม “ปานเทพ” ฝากนายกฯ อย่ามองข้ามความรู้สึกประชาชน หากเดินหน้าคงไม่มีทางเลือก หวังว่าจะเลือกหนทางเป็นวีรบุรุษมากกว่าทรราช
วันนี้ (7 ต.ค.) เมื่อเวลา 14.40 น. ที่บ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ ในานทำบุญครบรอบ 6 ปี เหตุการณ์สลายการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่หน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ได้มีการเสวนาในหัวข้อ “ปฏิรูปพลังงานเพื่อปฏิรูปประเทศไทย” โดยมี ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพลังงาน มหาวิทยาลัยรังสิต, น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) อดีต ส.ว. กรุงเทพมหานคร และ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ นักวิชาการอิสระ โดยมี นายเติมศักดิ์ จารุปราณ เป็นผู้ดำเนินรายการ
น.ส.รสนา กล่าวว่า เมื่อพูดถึงการปฏิรูปประเทศไทยเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม เรื่องพลังงานเป็นรูปธรรมชัดเจน ซึ่งเป็นความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ นำไปสู่สังคมและการเมือง ซึ่งเกิดขึ้นจากทรัพยากรในประเทศไทยทั้งหมดถูกผ่องถ่ายสร้างความร่ำรวยให้กับคนกลุ่มน้อยมากกว่าคนส่วนใหญ่ในประเทศ ที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานและกลุ่มทุนพลังงานมีโรดแมปที่จะแปรรูปจากของรัฐให้เอกชนเป็นเจ้าของร้อยเปอร์เซ็นต์ แม้จะอ้างว่าแปรรูปครั้งเดียว สิ่งสำคัญของการปฏิรูป คือ จะสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างไร ซึ่งก็ต้องกลับมาเป็นของประชาชนให้มากขึ้น ไม่ใช่ไปรอหวังแต่ประชานิยมที่นักการเมืองทำให้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการทุจริตคอร์รัปชันเชิงนโยบาย ซึ่งให้ประโยชน์แก่ผู้ออกแบบนโยบาย สิ่งที่ประชาชนอยากเห็น คือการปฏิรูปจะนำไปสู่เศรษฐกิจที่เป็นธรรม อยู่ในประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ซึ่งต้องเปลี่ยนให้ทรัพยากรเป็นของประชาชนให้ได้ โรดแมปของกระทรวงพลังงานจ้ำอ้าวไปยี่สิบก้าว ทั้งที่ยังไม่ทันปฏิรูป ถ้าไม่อยากเห็นสภาปฏิรูปเป็นเพียงโรงลิเก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องให้ นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน หยุดเดินหน้าเปิดสัมปทานรอบที่ 21 โดยไม่แก้กฎหมาย และการเจรจากัมพูชาในพื้นที่พิพาท ซึ่งเป็นประโยชน์กับกลุ่มทุน
น.ส.รสนา กล่าวว่า รัฐบาลในเวลานี้เป็นรัฐบาลช่วงพิเศษ เพื่อเตรียมยกร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ควรสร้างความผูกพันไปถึงทรัพย์สินประชาชนไปอีก 50 ปีให้เอกชน แต่ประชาชนใช้น้ำแพงเหมือนเดิม ก๊าซหุงต้มเวลานี้ให้ใช้ราคาโรงกลั่น คือกึ่งตลาดโลก สเต็ปต่อไปคือใช้ราคาตลาดโลกทั้งหมด ต่างจากกลุ่มปิโตรเคมีจะได้ใช้ราคาถูก ที่บอกว่าปฏิรูปไม่ใช่ปฏิรูป แต่เป็นการให้เอกชน ตนถามว่ารัฐประหารคือเป็นการเพิ่มแขนขาให้กับสิ่งที่รัฐบาลเลือกตั้งทำไม่ได้หรืออย่างไร เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะการกระทำดังกล่าวขาดธรรมาภิบาล รัฐบาลรัฐประหารไม่ควรเดินตามแนวทางของรัฐบาลก่อน
“ในส่วนของการเปลี่ยนจากระบบสัมปทานเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต รัฐจะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ และข้อมูลต่างๆ รัฐจะรู้ทั้งหมด อุปกรณ์ทั้งหลายจะเป็นของรัฐ แต่ระบบสัมปทานทุกอย่างเป็นของเอกชนหมด กฎหมายระบุว่าปิโตรเลียมเป็นของรัฐ แต่ถ้ารัฐให้สัมปทานจะเป็นของเอกชนทันที และกลุ่มทุนต่างชาติเข้าไปเทกโอเวอร์ในตลาดต่างประเทศ ซึ่งประชาชนเจ้าของแผ่นดินไม่ได้อะไรกับสิ่งที่เกิดขึ้น ถ้าเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต รัฐสามารถตรวจสอบได้ทั้งหมด ไม่ใช่ให้เอกชนบอก ซึ่งธุรกิจในส่วนนี้มีรายได้เท่าไหร่ก็แบ่งส่วนไป ในระบบปัจจุบันนี้เราไม่มีทางรู้ และมีข่าวว่ามีการลักลอบขนน้ำมันออกไปโดยที่รัฐบาลไม่รู้” น.ส.รสนา กล่าว
ตนไปดูงานมาเลเซียเมื่อต้นปี บริษัท ปิโตรนาส ใช้วิธีแบ่งปันผลผลิตเมื่อปี 2517 ระบบของเขาชัดเจนขึ้น และดูแลทรัพยากรต้นน้ำ ประชาชนถือเป็นเจ้าของบริษัท ส่งงบประมาณให้มากถึง 40% ของงบประมาณแผ่นดิน ขณะที่บริษัทพลังงาน จากการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย แปรรูปเป็น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ส่งเงินให้รัฐน้อยลงเรื่อยๆ เทียบกับงบประมาณแผ่นดินแค่ 10% เท่านั้น ราคาน้ำมันบ้านเราจะแพงมาก มาเลเซียกลับถูกกว่า เมื่อเทียบกับปี 2520 มาเลเซียต้องมาเติมน้ำมันที่เบตง แต่วันนี้กลับตาลปัตร ปิโตรนาสคืนกำไรในรูปของส่วนลดน้ำมันทุกลิตร แต่กำไร ปตท. ประมาณ 25,000 ล้านบาท ให้เฉพาะผู้ถือหุ้นเท่านั้น ถ้าทำในรูปแบบแบ่งปันผลผลิตกำไรจะเป็นของประเทศ รายได้จะกลับมาเป็นของรัฐ มาเลเซียถือว่าระบบแบ่งปันผลผลิตเป็นระบบที่ให้ประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติ
ด้าน ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวว่า สมบัติของแผ่นดินยังไม่มาถึงคนไทย วันนี้คนไทยใช้น้ำมันราคานำเข้าจากสิงคโปร์ แล้วจะขุดน้ำมันทำไม ราคาน้ำมันที่สหรัฐฯ 26-30 บาท คนไทยเรารวยมาก จ่าย 44 บาท ทั้งที่ค่าแรงขั้นต่ำบ้านเรา 300 บาท แล้วจะเอาอะไรกิน ทั้งที่สหรัฐอเมริกานำเข้าน้ำมันจากตะวันออกกลาง รวมทั้งประเทศไทย ประการต่อมา ที่อ้างว่าถ้าไม่ให้ระบบสัมปทานค่าไฟจะแพงขึ้น ตนเห็นว่าถึงให้ระบบสัมปทาน ค่าไฟก็แพงอยู่แล้ว แถมแพงกว่าต่างประเทศ เพราะฉะนั้นการปฏิรูปพลังงานคือให้ประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งใน พ.ร.บ.ปิโตรเลียมไม่มี เมื่อเทียบกับประเทศอินโดนีเซีย และโบลิเวีย ที่ทรัพยากรเป็นสมบัติของแผ่นดิน เพื่อประโยชน์ของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ส่วนประเทศไทยเอกชนขอสัมปทานก็ให้ไป เขาก็เอาไปขาย รายได้เป็นของเอกชน พ.ร.บ.ปิโตรเลียม มาตรา 23 ระบุแต่เพียงว่าถ้าเอกชนจะสำรวจและผลิตต้องได้สัมปทาน และมาตรา 56 ผู้รับสัมปทานมีสิทธิ์ขาย ซึ่งถือว่าไม่ใช่คนไทยอีกต่อไป ตนถามว่ายังจะให้สัมปทานอีกหรือ
ทั้งนี้ คนไทยไม่ได้ค้านการขุดก๊าซปิโตรเลียม ขุดน้ำมัน แต่ต้องการขอส่วนแบ่งที่เป็นธรรมเพื่อสร้างโรงเรียน โรงพยาบาล ส่งเสริมการศึกษา อีกทั้งต้องรู้ว่าจะให้สัมปทานตรงไหน โดยเฉพาะภาคอีสาน ส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่าจะขุดเจาะน้ำมันที่ไหน รมว.พลังงานกลับบอกว่าให้ขุดเจาะกันไปก่อน วันนี้คนอีสานต้องรู้ว่ามีการขุดเจาะเท่าไหร่ ภาคเหนือ ภาคกลาง และอ่าวไทย รวมทั้งมูลค่าปิโตรเลียมที่จะเจอ มูลค่าน้ำมันดิบ แต่ก็อ้างว่าเดี๋ยวต่างชาติไม่ลงทุน ซึ่งระบบสัมปทานเป็นระบบที่ต้องพึ่งพิงคนอื่นไปตลอดชีวิต แต่การแบ่งปันผลผลิตคือสอนให้เรายืนอยู่ด้วยขาตัวเอง ปิโตรนาสถือเป็นกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติของมาเลเซีย แต่ปิโตรนาสเจริญกว่า แต่คนในกกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติยังต้องไปเรียนกับบริษัทสัมปทานน้ำมัน ส่วนสัมปทานจะหมดอายุมีปี 2565 ซึ่งจะเป็นของคนไทยแล้ว มูลค่า 3 แสนล้านบาทต่อปี แต่ได้ยินมาว่าภาครัฐอยากจะให้สัมปทานต่อไป เมื่อเทียบกับมาเลเซียจะให้เอกชนจ้างผลิต ถ้าหาทางออกไม่ได้ ให้ปรึกษารัฐบาลมาเลเซียเผื่อจะได้คำตอบที่ดีกว่าก็ได้ เพราะฉะนั้น สัมปทานรอบที่ 21 ไม่จำเป็นต้องให้ และสัมปทานเก่าให้เอกชนจ้างผลิต
ด้าน นายปานเทพ กล่าวว่า มีหลายคนที่พูดว่า การแบ่งปันผลผลิตและการเปิดสัมปทานไม่แตกต่างกัน จำเป็นต้องเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ไม่เช่นนั้นจะไม่มีพลังงานใช้ ถ้าน้ำมันประเทศไทยต้องใช้ราคานำเข้าสิงคโปร์ ประชาชนจะได้ประโยชน์ตรงไหน เพราะไม่ว่าไปทางไหนประชาชนใช้จ่ายในทางเดียวกัน ส่วนก๊าซธรรมชาติถ้าไม่เปิดสัมปทานใครจะนำเข้า ตนว่าไม่จริง ตนว่าหากให้ธุรกิจโปรเคมีนำเข้าก๊าซธรรมชาติ ก๊าซธรรมชาติของเราเหลือ ขณะเดียวกันระบบกรรมสิทธิ์ หากเป็นระบบแบ่งปันผลผลิตจะสามารถตรวจสอบได้ แต่ระบบสัมปทานตรวจสอบไม่ได้ ประชาชนและรัฐบาลจะรู้ได้อย่างไร เพราะฉะนั้นระบบแบ่งปันผลผลิตคือการควบคุมปริมาณ มาตรา 83 ให้เสียค่าภาคหลวงเป็นตัวเงิน บัญชีอัตราค่าภาคหลวงปี 2532 หากไม่เกิน 3 แสนบาเรล คิดแค่ร้อยละ 10 ต่อปริมาณปิโตรเลียมที่ขายหรือจำหน่ายแต่ละเดือน แต่ผู้ได้รับสัมปทานจะเป็นผู้กำหนดราคา ซึ่งนายณรงค์ชัยเห็นว่าทั้งสองระบบเหมือนกัน แต่ประชาชนไม่เหมือนกัน
ประการต่อมา ตั้งแต่เปิดสัมปทานมา ไม่เคยมีการแข่งขันราคาเกิดขึ้น และไม่เคยเปิดข้อมูลสัมปทานให้ประชาชนรู้ ที่รัฐบาลบอกว่าจะทำงานอย่างซื่อตรง แล้วประชาชนจะรู้ได้อย่างไรว่าจะมีการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 และจะเอาประโยชน์ใดเป็นตัวตั้ง ถ้าเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่ หหมายความว่า เราต้องมาคิดทรัพยากรทั้งหมดเป็นของคนในประเทศนี้ทั้งหมด ถ้ารัฐขายประชาชนแพงๆ จัดเก็บภาษีเป็นงบประมาณของรัฐ ประชาชนก็รับได้ หรือหากรัฐใจดีเพิ่มกำลังซื้อโดยลดราคาปิโตรเลียม ถ้ารัฐเป็นเจ้าของ 100 เปอร์เซ้นต์ ประชาชนก็ยินดี แต่ถ้าเอกชนก็คำนึงถึงประโยชน์ของผู้ถือหุ้น จึงต้องแสวงหากำไร ยิ่งให้ข้าราชการกระทรวงพลังงานเป็นกรรมการบริษัท กลายเป็นการสร้างผลกำไรให้กลุ่มทุนพลังงาน ถ้าเทียบกับเพลงคืนความสุข ประชาชนจะมีความสุขได้อย่างไร
ถ้าถามว่า การปฏิรูปพลังงานคือการปฏิรูปประเทศอย่างไร หากประชาชนไม่เรียนรู้ด้วยตัวเอง ต่อให้มีองค์กรตรวจสอบระดับชาติ ระดับจังหวัด นักการเมืองก็ซื้อได้ ประชาธิปไตยที่แท้จริงต้องเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนความคิดในการเป็นเจ้าของประเทศอย่างแท้จริง ประชาชนก็เลือกประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่ การกระตุ้นให้ประชาชนรู้สึกเป็นเจ้าของ ไม่มีอะไรที่เร็วเท่ากับพลังงาน ไม่มีการแบ่งสี แบ่งขั้วอำนาจ มีเพียงประโยชน์ของกลุ่มทุนพลังงาน กับประชาชน เชื่อว่าถ้าปฏิรูปพลังงานเพื่อให้ประเทศกินดีอยู่ดี เชื่อว่าประเทศไทยเปลี่ยนได้ แต่ถ้าเพื่อประโยชน์ของกลุ่มทุน จะได้เผด็จการที่มาจากการเลือกตั้งกลับมาแน่นอน เขาจะนึกถึงเผด็จการที่มาจากการเลือกตั้งและปรนเปรอด้วยประชานิยม หลักการนี้ถ้าทุกคนเห็นพ้องต้องกัน เห็นว่าสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 สามารถทำได้ แต่ขอสอง-สามข้อเพื่อให้การใช้ทรัพยากรคุ้มค่าที่สุด เพียงใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตเพื่อความโปร่งใสอย่างแท้จริง ใช้วิธีประมูลแข่งขันราคาว่าใครให้ผลตอบแทนแก่รัฐบาลมากกว่ากัน และรัฐบาลไทยกำหนดราคาที่เหมาะสมกับฐานะเศรษฐกิจของคนในประเทศ
“ทุกวันนี้เวลาถามเรื่องปฏิรูปพลังงาน ให้ไปพูดกันใน สปช. แต่รัฐบาลกลับจะเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ขึ้นราคาน้ำมัน ขึ้นราคาก๊าซธรรมชาติทันที ไม่มีใครรอ สปช. แปลว่าถ้าไม่มี สปช. ก็กำหนดนโยบายเองได้ทันที แบบนี้จะเอา น.ส.รสนาไปเป็น สปช. ทำไม หยิบ น.ส.รสนาไปเพียงคนเดียว ส่วนใหญ่กลุ่มทุนพลังงานทั้งหมด แต่เราก็อย่าเพิ่งหมดหวัง พล.อ.ประยุทธ์ตีกลับไปสองรอบให้ไปคุยกับภาคประชาชน ไม่รู้ว่าที่ตีกลับเพราะอยากให้คุยกันจริงหรือแค่พิธีกรรม ภาคประชาชนจึงขอฝากความหวังให้ พล.อ.ประยุทธ์ คืนอธิปไตยปิโตรเลียมให้กับประชาชน” นายปานเทพ กล่าว
น.ส.รสนา กล่าวว่า ประเด็นท่อก๊าซ รัฐจะไปให้เอกชนไม่ได้ แต่ตอนนี้เอกชนจะแยกเป็นบริษัทต่างหาก กระบวนการแปรรูปที่ผิดพลาดตนก็หวังที่จะให้แก้ไขในสิ่งที่ผิด โดยแยกกิจการท่อส่งก๊าซออกมาให้การปิโตรเลียมแห่งประเทศเป็นเจ้าของร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าแยกตอนนี้จะเป็นของรัฐ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าแยกภายหลังอีก 1 ปี จะกลายเป็นว่ารัฐเป็นเจ้าของ 51% ที่ผ่านมา ปตท. คืนมาแค่ 30 เปอร์เซนต์ เฉพาะบนดิน ปตท. อ้างว่าท่อก๊าซ 70 เป็นของเขา ศาลระบุชัดเจนว่า ทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติไม่ตกภายใต้การบังคับคดี แต่ถ้ากลายเป็นทรัพย์ของเอกชน ในอนาคตมีต่างชาติมาโจมตีเหมือนสมัยต้มยำกุ้งปี 2540 ระบบท่อเหล่านี้ต่างชาติสามารถยึดได้ ท่อในทะเลยึดไปแล้ว ท่อบนบกไม่มีกฎหมาย ศาลระบุว่าระบบท่อก๊าซ แต่ ปตท. คืนให้เฉพาะระบบดิน ตอนนี้ก็แยกออกไปเป็นเอกชน ถือเป็นก้าวแรกที่จะยึดทุกอย่างเป็นเอกชน
คนในกระทรวงพลังงานสู้สุดฤทธิ์ที่จะไม่เปลี่ยนเป็นระบบสัมปทานเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต เราก็จะตกเป็นอาณานิคมของกลุ่มทุนรวมทั้งต่างชาติ ถ้าจะมีการเดินหน้าเรื่องนี้ ประชาชนต้องไม่ยอม ถ้ารัฐบาลมีความจริงใจต้องหยุดกิจการแบบนี้ของกระทรวงพลังงาน อีกทั้งถ้าต้องการปฏิรูปพลังงานอย่างแท้จริง ต้องระบุว่าทรัพยากรธรรมชาติเป็นสมบัติของประชาชน ประชาชนต้องไม่ยอม และต้องตั้งบริษัทปิโตรเลียมที่รัฐถือหุ้น 100 เปอร์เซ็นต์ ปตท. ให้เขามาอยู่เป็นเอกชน อย่าไปอยู่ในอำนาจรัฐ เราจะต้องเห็นว่ากลุ่มทุนพลังงานอยู่เบื้องหลังของนักการเมืองทุกยุคทุกสมัย ตนเห็นว่าเป็นสงครามในการช่วงชิงระหว่างทรัพยากรเป็นของประชาชน หรือเป็นของเอกชน ถ้ารัฐบาลจริงใจ ก็ขอให้สั่ง รมว.พลังงาน หยุดเคลื่อนไหว จนกว่าจะมีสภาปฏิรูป และฟังเสียงประชาชนทั้งประเทศ ตนไม่ได้คัดค้านการแปรรูป แต่ต้องให้เอกชนแข่งขันได้ ถ้าจะมีการแปรรูปอะไรก็ตาม อย่าให้เป็นลูกครึ่ง เวลานี้ต้องกลับมาที่จุดตั้งต้น กิจการพลังงานเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ไม่ใช่เอกชนได้กำไร ประชาชนแบกรับภาระ สิ่งที่เราต้องเรียกร้อง คือต้องกำจัดผลประโยชน์ทับซ้อน
ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีคนบอกว่าเรื่องพลังงานไม่ควรมโนไปเอง แต่แบบ 56-1 ของ ปตท. รายได้แยกตามกิจการ พบว่าธุรกิจสำรวจและผลิตโปรเลียม มีรายได้ 7 เปอร์เซ็นต์ แต่รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายกลายเป็น 74 เปอร์เซ็นต์ แล้วต้นทุนจะสูงได้อย่างไร เป็นเหตุผลว่าทำไมบริษัทน้ำมันยังอยากทำธุรกิจนี้อยู่ และอยากขอรับสัมปทานไปอีก เพราะเขาได้กำไร อีกประการหนึ่ง ราคาก๊าซธรรมชาติที่ขายให้กลุ่มปิโตรเคมีได้ซื้อราคาต่ำกว่าตลาดโลก หมายความว่าขุดก๊าซ ขุดน้ำมันเท่าไหร่ ก็ให้เอกชน ความมั่งมีของประเทศจะได้อย่างไร คนไทยก็ต้องใช้ก๊าซนำเข้า เพราะก๊าซอ่าวไทยคนไทยไม่ค่อยได้ใช้ มีคนใช้ตัดหน้าไปแล้ว ที่เราใช้ก๊าซแพง น้ำมันแพง เพราะต้องไปนำเข้า ที่คนไทยถูกอุ้มไม่จริง เรากลับอุ้มกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีบางกลุ่ม ส่วนคนไทยต้องจ่ายแพงเพราะผ่านกองทุนน้ำมัน ส่วนน้ำมันที่ขุดได้ในประเทศ คนไทยไม่ได้ใช้ เพราะเราส่งออกน้ำมันดิบไปด้วย น้ำมันดีไม่ดีดูที่ค่าถ่วงจำเพาะ ตนสงสัยว่าจะรวยกันไปถึงไหน คำถามคือ สัมปทานมีไว้เพื่อใคร ตนฝากไว้ว่า ถ้าสัมปทานของไทยไม่ใช่ประโยชน์ของคนไทยก็เก็บไว้บนดิน
นักการเมืองอ้างว่า สัมปทานไทยโปร่งใสที่สุด ผ่านมา 20 รอบ ไม่มีใครเคยเห็นสำเนาสัญญาสัมปทานเลยแม้แต่คนเดียว แม้แต่นายกรัฐมนตรี และการชนะประมูล นายกรัฐมนตรีเคยเห็นหรือไม่ แล้วเมื่อประชาชนไม่เคยเห็น สัมปทานจะโปร่งใสได้อย่างไร จึงขอให้สัมปทานทั้ง 20 รอบขึ้นเว็บไซต์ให้หมด และใครชนะประมูลเท่าไหร่ ขอดูได้หรือไม่ ในรอบปี 2550 ตนเห็นว่าใส่มานิดเดียวก็ได้สัมปทานแล้ว ซึ่งตกใจมาก เพราะฉะนั้นเมื่อทรัพยากรเป็นของประชาชน ต้องเปิดเผยสัมปทาน อีกประการหนึ่ง ที่รัฐกับประชาชนเห็นต่าง เมื่อไหร่ผู้มีอำนาจมอบคนไทยทุกคนเป็นเจ้าของบ่อก๊าซ บ่อน้ำมัน เราจะแก้ไขปัญหาความยากจนได้แน่นอน
ด้าน นายปานเทพ กล่าวว่า ขอฝาก พล.อ.ประยุทธ์ ว่า เรื่องพลังงานเป็นเรื่องระดับชาติที่ประชาชนตื่นรู้มาก อย่าได้ประมาทโดยมองข้ามความรู้สึกของประชาชน หลักการเศรษฐกิจพอเพียง คือ มีในครอบครัว ใช้ในครอบครัวก่อน เหลือคิดจะทำการค้าค่อยไปขายเพื่อนบ้าน หลักการเดียวกับปิโตรเลียม ต้องให้ประโยชน์กับประชาชนด้วยจำนวนที่ชัดเจน เหลือค่อยไปขาย หลักการนี้ประชาชนยอมรับได้ ประการต่อมา เมื่อประชาชนตื่นรู้แล้ว ที่ไม่เคลื่อนไหวเพราะมีความหวัง จึงให้โอกาสบริหารประเทศด้วยความสงบสุข ไม่ว่าเสื้อแดงหรือพันธมิตรฯ ฝ่ากระสุนมามากแล้ว ไม่ได้กลัวความตาย พันธมิตรฯ ต้องการประโยชน์ตกเป็นของประเทศและปรชาชนเป็นใหญ่ ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลเดินหน้าโดยไม่ฟังเสียงประชาชนในที่ที่ฟังได้ ประชาชนอาจไม่มีทางเลือก ต้องฟังเสียงนอกอาคารหรือบนท้องถนน ไม่ใช่คำขู่ แต่ประชาชนเคลื่อนไหวได้เองโดยไม่ต้องมีแกนนำ ถ้าจริงใจกับประชาชนและประเทศชาติ ควรหยุดกระบวนการที่ไม่โปร่งใส ไม่เป็นธรรมกับประชาชน ด้วยการหยุดสัมปทานรอบที่ 21 หยุดพฤติกรรมแยกบริษัทท่อก๊าซให้ ปตท. ถือหุ้นแทน เท่ากับว่าไม่จริงใจกับประชาชน โดยเฉพาะ สปช. ที่ตั้งมา จะเดินหน้าได้อย่างไรโดยไม่ฟังมติของ สปช.
“สิ่งที่พวกเราทำอยู่ตอนนี้ ท่านมีทางเลือก จุดจบของรัฐบาลมีแค่สามทางเท่านั้น ถ้าท่านปฏิรูปพลังงานเพื่อประโยชน์ประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่กลุ่มทุน และถ้าประโยชน์เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน ท่านคือวีรบุรุษ แต่ถ้าท่านไม่สนใจเสียงของประชาชน ดำเนินการต่อไปแล้วไม่ได้หัวใจของประชาชน ท่านคือผู้ล้มเหลวในการรัฐประหาร แต่ถ้าเดินหน้าไม่ฟังเสียงประชาชน ซ้ำร้ายมีการทุจริตคอร์รัปชัน และประชาชนเดือดร้อน จุดจบของพวกท่านคือทรราช ผมจึงคาดหวังว่าพวกท่านจะเลือกหนทางเป็นวีรบุรุษของประชาชน ให้รู้ว่าการรัฐประหารสร้างประชาธิปไตยได้ ไม่เช่นนั้นถ้าตราบใดที่ประชาชนรู้สึกว่า การรัฐประหารไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยได้ เขาจะหันกลับไปหาเผด็จการที่มาจากการเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง” นายปานเทพ กล่าว