xs
xsm
sm
md
lg

ปริศนา! 5 ปีก้อนน้ำมันเกลื่อนอ่าวไทย..ใครรับผิดชอบ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โลมาสีขมพูเกยตื้นตายบริเวณหาดคอเขา ม.5 ต.สิชล อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช
ความเคลื่อนไหวของข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อมบนแผ่นดินด้ามขวานในรอบปี 2557 ที่น่ากังวงมากคือ ปรากฏการณ์ก้อนน้ำมันถูกคลื่นซัดกระจายเกลื่อนชายฝั่งทะเลอ่าวไทยในภาคใต้ ซึ่งมีสิ่งบ่งชี้ว่าเป็นผลจากแท่นขุดเจาะปิโตรเลียมที่มีอยู่มหาศาลกลางอ่าวไทย อันนำมาซึ่งคำถามของสังคมมากมาย โดยเฉพาะเกี่ยวกับการสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง

เริ่มต้นด้วยข่าวโลมาสีชมพูเกยตื้นตายที่หาดคอเขา อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2557 จากการตรวจสอบคาดว่ามีสาเหตุมาจากการกินก้อนน้ำมันเข้าไป โดยชาวบ้านในละแวกให้ข้อมูลว่าช่วง 2 วันก่อนเกิดเหตุมีปรากฏการณ์ก้อนน้ำมันจำนวนมากถูกคลื่นซัดลอยติดชายฝั่ง ซึ่งบริเวณหาดคอเขามักจะมีฝูงโลมาออกหากินเป็นประจำ จึงมีความเป็นไปได้สูงที่โลมาสีชมพูอาจคิดว่าก้อนน้ำมันเป็นอาหาร และเผลอกินเข้าไป

ข้อมูลจากชมรมพิทักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช ระบุว่า มีโลมาสีชมพูตายถึง 11 ตัวในรอบ 2 เดือน ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม ของปี 2557 และถือเป็นสัญญาณอันตรายถึงขั้นก่อนให้เกิดการสูญพันธุ์ของโลมาชนิดนี้ได้!!

นายอโณทัย อมรกิจ ประธานชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล หาดบางดี-เสาเภา จ.นครศรีธรรมราช ให้ข้อมูลว่า ในส่วนของประชาชนก็ได้รับความเดือนร้อนหนักจากก้อนน้ำมันลอยมาติดชายหาด ซึ่งเกิดขึ้นนับตั้งแต่ช่วงต้นปี 2557 เลยก็ว่าได้ ส่งผลให้มีโลมามาลอยตายที่หาดสิชลนับ 10 ตัวแล้ว และปริมาณสัตว์น้ำในทะเลบริเวณนั้นก็ลดลงทันตาเห็น

อย่างไรก็ตาม ถึงเวลานี้ปัญหาก้อนน้ำมันลอยติดชายหาดยังคงเป็นปมปริศนา? ที่ยังไม่สามารถยืนยันได้อย่างแน่ชัดว่า มันมาจากที่ไหนกันแน่?!
ก้อนน้ำมันถูกคลื่นซัดมาติดชายหาดสิชล จ.นครศรีฯ ยาวกว่า 4 กิโลเมตร
ซึ่งก่อนหน้านั้นเคยมีข่าวเกิดปัญหาในลักษณะเดียวกันที่ชายหาด อ.ละแม จ.ชุมพร กล่าวคือ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2557 พบก้อนน้ำมันสีดำจำนวนมากถูกคลื่นซัดเข้าชายหาดเป็นทางยาวตลอดแนว และเมื่อก้อนสีดำดังกล่าวถูกแสงแดดทำให้ละลายกลายเป็นคราบน้ำมันและส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้งไปทั่วบริเวณ

ชาวประมง อ.ละแม บอกเล่าไว้ในครั้งนั้นว่า ไม่เฉพาะบริเวณชายหาดที่มีก้อนน้ำมัน ระหว่างเรือประมงออกไปจับปลาก็พบก้อนน้ำมันลอยอยู่กลางทะเลอจำนวนมาก ส่งผลให้ชาวประมงจับสัตว์น้ำได้น้อยลง กุ้งหอยปูปลาและสัตว์ทะเลอื่นๆ ทยอยตายเกลื่อน

ผลกระทบจากก้อนน้ำมันดังกล่าวยังไม่เว้นแม้กระทั่งนกนางนวลแกลบขาว ซึ่งนอนตายกลางชายหาดจำนวนมาก และต่างก็มีคราบน้ำมันสีดำติดตามลำตัวเป็นเครื่องยืนยัน ซึ่งได้สร้างความกังวลแก่ผู้นำท้องถิ่นและชาวบ้านเป็นอย่างยิ่ง

ซ้ำรายยังกระทบต่อธุรกิจรายย่อยในพื้นที่มากมาย นางบุญถึง เดชแดง แม่ค้าขายสินค้าอยู่บริเวณริมชายหาดละแมกล่าวว่า ก่อนหน้าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเล่นน้ำบริเวณชายหาดจำนวนมาก แต่ราว 1 สัปดาห์ที่มีคราบน้ำมันลอยไปปนเปื้อนชายหาด ทำให้หาดทรายที่สวยงามกลายเป็นสีดำด้วยคราบน้ำมัน จากนั้นนักท่องเที่ยวหายหน้าไปหมด ส่งผลให้รายได้ของตนและชาวบ้านคนอื่นๆ ลดลงกว่าครึ่ง

“เรื่องนี้ใครจะรับผิดชอบ และใครจะหาทางป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นตามมาอีก” เสียงสะท้อนจากเจ้าของร้านค้าบริเวณชายหาดละแมในเชิงตั้งคำถาม ซึ่งก็ไม่รู้ว่าใครจะสามารถให้คำตอบเหล่านี้ได้
ก้อนน้ำมันสีดำจำนวนมากถูกคลื่นซัดขึ้นบนชายหาดในพื้นที่ อ.ละแม จ.ชุมพร ได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสัตว์น้ำตามชายหาด
มีข้อมูลระบุว่า เมื่อปี 2553 หรือ 4 ปีที่แล้วก็เกิดเหตุการณ์ก้อนน้ำมันเกลื่อนชายฝั่งในลักษณะเดียวกันที่ อ.สทิงพระ จ.สงขลา โดยชาวประมงในพื้นที่ชี้ว่า ตั้งแต่ออกจับปลาในทะเลมา 40 ปียังไม่เคยเจอปรากฏการณ์เช่นนี้

“กลิ่นไอทะเลได้เปลี่ยนไปเป็นกลิ่นของน้ำมัน แต่คนส่วนมากยังไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น สำหรับชาวประมงแล้วย่อมรู้ดีว่ามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในพื้นที่ ซึ่งก็ได้สะท้อนจากปริมาณสัตว์น้ำที่หาได้ด้วย สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อการทำมาหากินของพี่น้องชาวประมงแน่นอน”
เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างคราบน้ำมันบริเวณหาดคอเขา อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช
อันเนื่องจากกระแสของชาวบ้านกดดัน และภาคประชาชนต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเข้าตรวจสอบความชัดเจนของก้อนน้ำมันตลอดแนวชายฝั่ง จึงต้องร้อนถึง นายพิรสิญจ์ พันธุ์เพ็ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายนิพนธ์ บุญญามณี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา และ นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีการประกอบกิจการปิโตรเลียม กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน

บุคลเหล่านี้ได้พร้อมใจกันจับมือขึ้น ฮ.บินตรงสำรวจแท่นขุดเจาะปิโตรเลียมกลางทะเลอ่าวไทย เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2557 โดยเน้นแท่นขุดเจาะของบริษัท ซีอีซี อินเตอร์เนชั่นแนล ลิมิเต็ด (สาขาประเทศไทย) ที่อยู่ใกล้ชายฝั่งของ จ.สงขลามากที่สุดเพียงแค่ 30 กิโลเมตร เพื่อตรวจสอบให้แน่ชัดในปัญหาดังกล่าวในลักษณะ 10 ปากว่า ไม่เท่าตาเห็น โดยไปถึงแท่นขุดเจาะน้ำมันด้วยตัวเอง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับชาวบ้านและชาวประมงในท้องถิ่น

ส่วนผลจากการสำรวจแท่นขุดเจาะน้ำมันในครั้งนี้ก็ออกมาอย่างเป็นไปตามคาด ทุกคนพูดประสานเสียงยืนยันกันเป็นเสียงเดียวราวกับท่องบทอาขยานว่า ของรับรองด้วยเกียรติว่าการขุดเจาะน้ำมันของบริษัท ซีอีซีฯ กลางอ่าวไทยปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม ไม่มีน้ำมันรั่วไหลลงทะเล 100 เปอร์เซ็นต์

ทว่า ทำไมก้อนน้ำมันยังมีปัญหาอยู่ ก้อนน้ำมันลอยมาจากไหน หรือจะลอยมาจากเรือประมง แล้วเรือประมงทำให้มีก้อนน้ำมันตลอดชายฝั่งอ่าวไทยเกือบ 1,000 กิโลเมตรได้เชียวหรือ?!

นับเป็นระยะเวลากว่า 5 ปีแล้ว หรือนับตั้งแต่ปี 2553 มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งได้เกิดปัญหาก้อนน้ำมันลอยอยู่ในทะเล ส่งผลต่อปริมาณสัตว์น้ำลดลง และยังลอยไปกระจายเกลื่อนกราดบนชายหาดตลอดริมชายฝั่งอ่าวไทยตั้งแต่ชายฝั่ง จ.ชุมพร ลงไปถึงชายฝั่ง จ.สงขลา ที่สำคัญเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน และแทบไม่เคยเกิดปรากฏการณ์ใส่ใจแก้ไขอย่างจริงจัง
นายพิรสิญจ์ พันธุ์เพ็ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายนิพนธ์ บุญญามณี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ขึ้น ฮ.บินตรวจแท่นขุดเจาะปิโตรเลี่ยม
ทั้งนี้ ประเด็นทีสำคัญที่สุดที่ไม่เคยมีการสำรวจตรวจสอบกันเลยก็คือ ที่มาของก้อนน้ำมันยังปริศนาพวกนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร เรื่องนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดให้คำตอบได้อย่างชัดเจน หรือแม้กระทั่งแสดงความรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น

หากจะโบยไปให้เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติแล้ว ก็คงมีแต่เด็กอนุบาลเท่านั้นกระมั่งที่จะเชื่อถือในเรื่องนี้?!

จึงไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะต้องขอตั้งข้อสังเกตบางประการถึงปรากฏการณ์ก้อนน้ำมันที่เกิดขึ้นเกลื่อนชายหาดอ่าวไทยตลอดระยะเวลา 5 ปีผ่านมา เพราะกำลังจะส่อให้เห็นถึงเค้าลางบางอย่างหรือไม่ อันเป็นเค้าลางแห่ง “ความหายนะ” เป็นเค้าลางที่ส่อแววถึง “ความพินาศ” ของท้องทะเลชายฝั่งอ่าวไทย

ที่สำคัญเป็นเค้าลางที่บ่งบอกว่า ตลอดฝั่งทะเลอ่าวไทยอาจจะกำลังจะซ้ำรอย “เกาะเสม็ด” ที่เกิดเหตุการณ์ท่อน้ำมันรั่วประมาณเกือบ 70 ตัน หรือประมาณ 70,000 ลิตร เข้าครอบคลุมพื้นที่หาดอ่าวพร้าวเป็นระยะทางกว่า 600 เมตรมาแล้วหรือไม่?

ส่งผลทำให้ทะเลสีคราม หาดทรายสีขาว กลับกลายสภาพเป็นสีดำได้เพียงไม่กี่วัน ซึ่งทุกวันนี้ไม่เราไม่อาจทราบได้จริงๆ ว่าธรรมชาติของเกาะเสม็ดกลับมาเป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์เหมือนเช่นแต่ก่อนหรือไม่ หรือในปัจจุบันที่เราเห็นกันนั้น เป็นเพียงภาพธรรมชาติที่บริสุทธิ์เฉพาะเปลือกนอกหรือไม่?
เหตุการณ์ท่อน้ำมันรั่วไหลที่เกาะเสม็ด ส่งผลให้อ่าวพร้าวปกคลุมไปด้วยคราบน้ำมันเป็นจำนวนมาก (ภาพจากอินเตอร์เน็ต)
แน่นอนว่าการขุดเจาะน้ำมันกลางทะเลอ่าวไทยที่มีแท่นขุดเจาะอยู่เป็นจำนวนมาก ย่อมมีความจำเป็น เนื่องจากพลังงานเป็นยุทธ์ปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ การจะไปถึงขนาดสั่งห้ามขุดเจาะน้ำมันโดยอ้างเหตุผลว่า เป็นการกระทำที่ทำลายสิ่งแวดล้อมย่อมเป็นไปไม่ได้

แต่เราสามารถป้องกันได้ไม่ใช่หรือ เราสามารถจัดวางระบบป้องกันคราบน้ำจากแทนขุดเจาะลงสู่ทะเลได้ เหมือนอย่างเช่นการขุดเจาะน้ำมันในต่างประเทศ แม้ในอดีตที่ผ่านมาจะมีเหตุการณ์น้ำมันจากแท่นขุดเจาะกลางมหาสมุทรรั่วให้เห็นมาโดยตลอด

ประเด็นที่สังคมจะต้องตั้งคำถามต่อสิ่งที่เกิดขึ้นคือ เพราะเหตุใดตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ขอย้ำว่าเป็นเวลา 5 ปีมาแล้ว ทำไมจึงมีก้อนน้ำมันถูกซัดเข้าชายฝั่งอ่าวไทย รวมถึงลอยเกลื่อนอยู่กลางทะเลอย่างต่อเนื่อง

ที่สำคัญที่สุดยังไม่มีหน่วยงานใด หรือมีบ้างไหมสำหรับนักวิชาการผู้ทรงภูมิจะออกมาให้คำตอบกับสังคมว่า ก้อนน้ำมันที่เกิดตลอดแนวชายฝั่งทะเลอ่าวไทยช่วงระยะเวลาตลอด 5 ปีที่ผ่านมานั้น มีที่มาจากไหนกันแน่ มาได้อย่างไร ใครเป็นผู้ทำให้เกิด ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ

ที่สำคัญสิ่งที่น่าเป็นกังวลมากถึงมากที่สุดคือ เราจะปล่อยให้ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นและดำรงอยู่ต่อไปเรื่อยๆ เช่นนั้นหรือ??!!
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น