xs
xsm
sm
md
lg

ทร.ร่วมเอกชนซ้อมแผน “ROSE 2014” ป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันในทะเล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - อุบัติเหตุ อุบัติภัย เรื่องที่ไม่ตั้งใจ เรื่องที่ไม่คาดคิด เรื่องที่ไม่น่าเกิดมักเกิดขึ้นได้ทุกวินาที ไม่ว่าจะเกิดจากความผิดพลาดจากมนุษย์ เครื่องมือ อุปกรณ์ ภัยธรรมชาติ ถ้ามีการเตรียมความพร้อมด้านกำลังพล บุคลากร อุปกรณ์ ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที ราชนาวีไทย และสมาคมอนุรักษ์สภาพแวดล้อมกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมัน เปิดฝึกอบรม และฝึกซ้อมในทะเลเพื่อให้เกิดความรวดเร็ว ถูกต้อง มีประสิทธิภาพ

ทั้งในอดีต และปัจจุบันปัญหาเรื่องของมลพิษทั้งบนบก และในทะเล ปัญหาน้ำมันรั่วสิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรดำเนินการควบคู่ไปกับการกำจัดคราบน้ำมัน โดยการบอกถึงขั้นตอนการแก้ไขให้สังคมได้รับรู้ เช่น ขั้นตอนและวิธีการป้องกันการกระจายของน้ำมัน ทิศทางการกระจายของน้ำมัน และผลกระทบที่จะตามมา เพื่อให้ทุกฝ่ายช่วยกันเตรียมพร้อมรับมือ ซึ่งรวมถึงประชาชนที่อาจเจอผลกระทบด้วย ถึงแม้ว่าที่ผ่านมา บางโอกาสมีการใช้สารเคมีเพื่อให้น้ำมันเกาะตัวจมลงสู่ท้องทะเลก็ตาม

แต่การใช้สารเคมีดังกล่าวก็อาจจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลด้วยเช่นกัน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ในการพิจารณาขจัดคราบน้ำมัน และสังคมไทยพร้อมหรือไม่ต่อการรับมือปัญหาน้ำมันรั่วไหลในทะเล เพราะตั้งแต่ปี 2519-2553 ประเทศไทยเกิดเหตุน้ำมันรั่วไหลลงสู่ทะเลถึง 124 เหตุการณ์ ขณะที่ในรอบ 12 ปี คือ ตั้งแต่ 2540-2553 เกิดน้ำมันรั่วไหลในปริมาณมากกว่า 20,000 ลิตรสู่ทะเลถึง 9 ครั้ง เหตุการณ์ล่าสุด ที่เกิดขึ้นที่ จ.ระยอง มีน้ำมันไหลสู่ทะเลประมาณ 50,000-70,000 ลิตร และเชื่อว่าไม่ใช่ครั้งสุดท้ายอย่างแน่นอน

นายธีรพล ประภากร นายกสมาคมอนุรักษ์สภาพแวดล้อมของกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมัน กล่าวว่า จากเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลในทะเลที่ผ่านมาแต่ละครั้ง นับว่าเป็นบทเรียนราคาแพง และเป็นประสบการณ์ที่ต้องเรียนรู้ ฝึกซ้อม เพื่อเตรียมรองรับอย่างไม่รู้จบ การแก้ปัญหาค่อนข้างสับสน คลุมเครือในการให้ข้อมูลข่าวสารทำให้การแก้ปัญหาไม่มีประสิทธิภาพ คราบน้ำมันแม้จะถูกขจัดไปเหมือนจะหมด

แต่เชื่อว่ายังมีการตกค้างของน้ำมันที่สงผลต่อสภาพแวดล้อมทั่วไปทั้งชายฝั่ง และในใต้ทะเล จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการพัฒนาแผนปฏิบัติการแก้ปัญหากรณีน้ำมันรั่วไหลในทะเลที่ชัดเจน และสมบูรณ์ครอบคลุมการแก้ปัญหาในทุกระดับ และมีการฝึกซ้อมแผนปฏิบัติการอย่างมีประสิทธิภาพต่อเนื่อง ซึ่งสมควรอย่างมากที่จะต้องจัดให้มีศูนย์ข้อมูลกลางในการให้ข้อมูลข้อเท็จจริง การเปิดรับฟังคำถาม คามคิดเห็น และการให้คำตอบแก่สังคมอย่างเป็นเอกภาพและทันเวลา

การเปิดการฝึกอบรม และการฝึกซ้อมแผนป้องกัน และขจัดมลพิษทางน้ำ ภายใต้รหัส “ROSE 2014” ณ ห้องประชุมบริษัท เอสซีจี เคมิคอล จำกัด จ.ระยอง ได้มีกำลังพลของทัพเรือภาคที่ 1 กองทัพเรือ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี กรมเจ้าท่า สำนักงานท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) บริษัท มาบตาพุดแทงค์ เทอร์มินัล จำกัด บริษัท สตาร์ ปิโตเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีทีโกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และบริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มีนัล จำกัด ได้ส่งผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ระดับปฎิบัติการมาร่วมอบรม และร่วมการฝึก

พล.ร.ท.สุชีพ หวังไมตรี ผู้บัญชาการ ทัพเรือภาคที่ 1 กล่าวว่า ทุกครั้งที่เกิดปัญหาน้ำมันรั่วไหลในทะเล หรือทางน้ำก็จะเกิดเป็นกระแสสังคมที่ยากต่อการให้คำตอบได้อย่างทันท่วงที อีกทั้งการแก้ไขปัญหาก็มิได้กระทำได้ทันท่วงทีเช่นกัน ต้องมีการประสาน การประเมิน การเตรียมกำลัง ยุทโธปกรณ์ อุปกรณ์ เครื่องมือ

เพราะเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นอุบัติเหตุที่ไม่มีใครปรารถนา หรือตั้งใจจะให้เกิด จึงต้องกำหนดอยู่ในภาวะฉุกเฉินเมื่อมีน้ำมันรั่วหกลงสู่แหล่งน้ำ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในขณะขนส่ง หรือขณะสูบถ่ายบริเวณท่าเรือของคลังน้ำมัน หรือโรงกลั่นน้ำมัน จัดเป็นอุบัติภัยร้ายแรงที่มีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม และความปลอดภัยของประชาชน และผู้ปฏิบัติงาน การรั่วหกของน้ำมันทั้งจากการขนส่ง และการปฏิบัติงานที่ท่าเรือล้วนมีรูปแบบที่แตกต่างกัน ทั้งขนาดของการรั่วไหล สถานที่ และเวลาที่เกิดเหตุ

ดังนั้น จึงมีการแบ่งระดับของเหตุน้ำมันรั่วหกตามขนาด หรือปริมาณของน้ำมันที่รั่วไหลนั้น รวมทั้งตามตำแหน่งของจุดเกิดเหตุว่าอยู่ห่างจากคลังน้ำมัน หรือโรงกลั่นน้ำมันมากน้อยเพียงใด

เพื่อกำหนดรูปแบบของการบริหารจัดการ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับ 1 เป็นการรั่วหกของน้ำมันในการปฏิบัติงานของคลังน้ำมัน หรือโรงกลั่นน้ำมันเอง ซึ่งต้องมีแผนงานเครื่องมือและบุคลากรพร้อมที่จะจัดการ อีกทั้งถือเป็นความรับผิดชอบของผู้บริหารคลังน้ำมัน หรือโรงกลั่นน้ำมันนั้นๆ

ระดับ 2 เป็นการรั่วหกของน้ำมันขนาดกลาง ซึ่งอาจเกิดนอกเขตความรับผิดชอบของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง ดังนั้น หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องอาจขอความร่วมมือจากบริษัทน้ำมันต่างๆ ที่มีพื้นที่ปฏิบัติการใกล้เคียงกับที่เกิดเหตุให้ช่วยสนับสนุนอุปกรณ์ และบุคลากรในการขจัดคราบน้ำมัน

ระดับ 3 เป็นการรั่วหกของน้ำมันขนาดใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากอุบัติเหตุเรือขนส่งน้ำมัน โดยรัฐบาลจะเป็นผู้ประสานงาน และสั่งการ ซึ่งจะต้องระดมเครื่องมือขจัดคราบน้ำมันจากภาคเอกชนทั้งหมด รวมทั้งขอความช่วยเหลือจากศูนย์เครื่องมือขจัดคราบน้ำมันประจำภูมิภาค (EARL) ด้วย

ทั้งนี้ บริษัทน้ำมันทุกบริษัทจะต้องเตรียมแผนการ เครื่องมือ และบุคลากรให้สอดคล้องต่อระดับของเหตุน้ำมันรั่วหกข้างต้นทุกระดับ และมีการฝึกปฏิบัติตามแผนการ เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถรับมือต่อเหตุการณ์ได้จริง

การเปิดการฝึกอบรม และการฝึกซ้อมแผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน ตามที่สมาคมอนุรักษ์สภาพแวดล้อมของกลุ่มอุตสาหกรรมนำมัน ได้จัดขึ้นนั้น ถือได้ว่าเป็นการบูรณาการ แลกเปลี่ยน เรียนรู้ แชร์ประสบการณ์ อีกทั้งเป็นการสร้างฐานความรู้ ความเข้าใจให้แก่พนักงาน และบุคลากรของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหามลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นทุกครั้ง รวมถึงการแก้ไขปัญหาไม่ใช่เพียงเจ้าหน้าที่คนใดคนหนึ่ง หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น

ทุกองค์กร ทุกคนจะต้องมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ซึ่งผลของการฝึกครั้งนี้จะส่งผลให้เกิดความเข้าใจในการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน ให้สอดคล้องไปในแนวทางเดียวกัน ตลอดจนจะเกิดความชำนาญในการควบคุมสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพราะเกิดขึ้นครั้งใดก็จะส่งผลในภาพลักษณ์ของหน่วยงาน ภาคเอกชน และภาพลักษณ์ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การค้าขาย การบั่นทอนในวิถีของประชาชน

ตลอดจนมูลค่าของความเสียหายที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น หรือถ้าเกิดก็ต้องมีการเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการให้เกิดความรวดเร็ว เกิดประสิทธิภาพอีกด้วย




กำลังโหลดความคิดเห็น