xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ตั้ง"สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ" คุมประพฤตินักการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -หลังจากกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มีมติในเบื้องต้นที่จะกำหนดทิศทางการปฏิรูปองค์กรอิสระ อย่าง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกมาแล้วว่า ให้กกต.มีอำนาจเพียงควบคุม กำกับดูแลการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยบริสุทธิ์ ยุติธรรม ส่วนการจัดการเลือกตั้งนั้น โอนให้หน่วยงานรัฐคือ กระทรวงมหาดไทย และ กระทรวงศึกษาธิการไปทำแทน

ส่วนอำนาจการชี้ชะตาผู้ที่ทุจริตเลือกตั้ง ก็เหลือเพียง ใบเหลือง ถ้ากกต.เห็นว่าการเลือกตั้งไม่สุจริต ก็สามารถสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้ แต่การแจกใบแดง ตัดสิทธิเลือกตั้ง ให้เป็นอำนาจของศาล กกต.มีหน้าที่แค่รวบรวมพยานหลักฐาน ส่งให้เท่านั้น

ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นดังกล่าว เป็นที่รับรู้กันมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว หลายฝ่ายเฝ้าดูว่า กกต.จะมีปฏิกิริยาอะไรออกมาหรือเปล่า เท่าที่เห็นก็มีเพียง ศุภชัย สมเจริญ ประธานกกต. ออกมาบอกในทำนองว่า แล้วแต่ทางกมธ.ยกร่างฯ จะตัดสินใจ หากกกต.จะออกมาคัดค้านเกรงว่าไม่เหมาะ จะถูกมองว่าเป็นการทำเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง

แต่ล่าสุด สมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง ก็ทนนิ่งต่อไปไม่ไหว ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า การที่กมธ.ยกร่างฯ ตัดสินใจให้ มหาดไทย และกระทรวงศึกษาธิการ เป็นเจ้าภาพในการจัดการเลือกตั้งนั้น เปรียบเหมือน นางโมรายื่นดาบให้โจร ในเรื่องจันทโครพ

เพราะองคาพยพของมหาดไทย ไล่ตั้งแต่ ผู้ว่าฯ นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถ้าไม่ใช่เครือญาตินักการเมืองก็เป็น หัวคะแนน เป็นคนที่เคยได้ดิบได้ดี ได้รับการสนับสนุนจากนักการเมืองในพื้นที่มาทั้งนั้น เช่นเดียวกับบุคลากรทางการศึกษา ก็อาศัยเส้นสายการเมืองในการเติบโตมาเช่นกัน

จึงไม่เชื่อว่า คนของหน่วยราชการทั้งสองนี้ จะจัดการเลือกตั้งได้อย่างเป็นกลาง คงทำได้แค่ให้การเลือกตั้งสำเร็จ และรับรองความชอบธรรมให้ฝ่ายการเมือง หรือได้คนทุจริตเข้าสู่การเมือง ทั้งๆที่เป้าหมายการปฏิรูปการเลือกตั้ง ก็เพื่อขจัดการทุจริต ซื้อสิทธิ ขายเสียง คัดกรองเอาคนดีเข้าสภา แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นว่า ได้คนทุจริตเข้ามามีอำนาจทางการเมือง จึงไม่ต่างอะไรกับยื่นดาบให้โจร

แถมตอกย้ำอย่าเจ็บแสบว่า ความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงนี้ เป็นความคิดของพวกบ้าอำนาจ พวกนักการเมืองที่มองการณ์ไกลว่า หลังการเลือกตั้งครั้งนี้ ถ้าสามารถเข้าไปกำกับดูแล กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงศึกษาธิการได้ ก็จะสามารถควบคุมการเลือกตั้งครั้งต่อๆไปได้

ก็คงต้องติดตามต่อไปว่า กมธ.ยกร่างฯ จะตัดสินใจขั้นสุดท้ายในเรื่องนี้อย่างไร ก่อนที่การยกร่างรัฐธรรมนูญ รายมาตรา จะเริ่มขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้

อีกเรื่องที่อยากกล่าวถึง คือ เมื่อวันที่ 6 ม.ค. ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้เห็นชอบให้มีการตั้ง "สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ" ขึ้น โดยมีสถานะเป็นองค์กรอิสระ ตามรัฐธรรมนูญ เพื่อควบคุมพฤติกรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้อยู่ในร่อง ในรอยของคุณธรรม จริยธรรม ที่พึงประสงค์

เรื่องนี้ถูกเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสปช. โดยคณะกรรมการการปฏิรูปคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาล ที่มี พลเดช ปิ่นประทีป เป็นประธาน หลังจากที่ได้ทำการศึกษาแล้วพบว่า สถานการณ์ด้านคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลของประเทศ อยู่ในขั้นวิกฤตอย่างหนัก อันเป็นต้นตอของการทุจริต คอร์รัปชัน ส่งผลกระทบต่อการพัฒนา และความมั่นคงของประเทศ จึงจำเป็นต้องมีการฟื้นฟู และพัฒนาทั้งระบบ อย่างเร่งด่วน

โดยสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ จะมีอำนาจ หน้าที่ ในการกำหนดมาตรฐานคุณธรรม จริยธรรม ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผู้บริหารระดับสูง กรรมการในองค์กรตรวจสอบในการใช้อำนาจรัฐ องค์กรอิสระ นักการเมืองท้องถิ่น สอบทานการปฏิบัติตามมาตรฐานคุณธรรม จริยธรรม ของบุคคลและ เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ โดยได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย

สำหรับรายละเอียด ที่ได้ออกแบบไว้ สำหรับการตั้งองค์กรอิสระนี้คือ ให้สภานิติบัญญัติ (สนช.) ตรา พ.ร.บ. สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ พ.ศ. ... ก่อนจะมีการตั้งรัฐบาลใหม่ เพื่อทำหน้าที่รณรงค์ทางสังคม ฟื้นฟูแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม และธรรมาภิบาล ให้เกิดผลต่อการปฏิรูป ก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญ โดยให้ยกเลิกระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2550 และ พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2554

ทั้งนี้ ให้มีโครงสร้างของ คณะกรรมาธิการสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ 5 คน ได้รับการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ โดยการแนะนำของวุฒิสภา ส่วนที่ประชุมสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ จะมาจากตัวแทนภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ที่ไม่มีผลประโยชน์ขัดกัน จำนวนไม่น้อยกว่า 55 คน ทำหน้าที่จัดทำมาตรฐานคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลของบุคคล และองค์กรข้างต้น และจัดกระบวนการสอบทานการปฏิบัติหน้าที่ของบุคคลดังกล่าว โดยมีการลงมติการตัดสินพฤติกรรม และประกาศรายงานข้อมูลต่อสาธารณะ โดยได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย

เป็นการใช้มาตรการทางสังคม และมาตรการทางกฎหมาย มาใช้ควบคู่กันในการกำกับ ควบคุม คุณธรรม จริยธรรม ขจัดการทุจริต คอร์รัปชันของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จากเดิมที่ใช้มาตรการทางกฎหมายเป็นหลัก แต่ไม่ได้ผลเท่าที่ควร

สำหรับคณะกรรมการสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ทั้ง 5 คน และที่ประชุมสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ จะไม่มีเงินเดือน มีแต่เบี้ยประชุม และค่าใช้จ่ายจำเป็น และค่าตอบแทน ส่วนการบริหาร จะใช้ศูนย์คุณธรรมเป็นสำนักงาน และทุนรายได้ทรัพย์สิน จะมาจาก เงินและทรัพย์สินที่โอนมาจากศูนย์คุณธรรม เงินอุดหนุนทั่วไป ที่รัฐบาลจัดสรรให้รายปี และเงินอุดหนุนจากเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นจากต่างประเทศ องค์กรระหว่างประเทศ หรือเงิน หรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้

ในที่ประชุมสปช.วันนั้น สมาชิกส่วนใหญ่สนับสนุนแนวทางนี้ ซึ่งลำดับต่อไป ก็เป็นหน้าที่ของ สปช. ที่จะต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่ง เพื่อยกร่าง พ.ร.บ. สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ เพื่อกลับมาเสนอต่อที่ประชุมสปช. ให้ความเห็นชอบ ก่อนเสนอต่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาเห็นชอบ เป็นกฎหมายออกมาบังคับใช้

จึงเป็นอีกเรื่องที่ต้องติดตามว่า ในที่สุดแล้ว การออก พ.ร.บ.สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ เพื่อยกระดับ คุณธรรม จริยธรรม ธรรมาภิบาล ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะเสร็จทันก่อนที่จะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นี้หรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น