ประธาน สปช.เผยปีใหม่เริ่มลุยปฏิรูป สาระสำคัญคือต้องให้เกิดการยอมารับ และให้ประชาชนมีส่วนร่วม คาดหากทำให้ครบต้องใช้เวลา 10 ปี เล็งตั้งองค์กรพิเศษเกาะติด มอบดาบตรวจนักการเมืองก่อนเลือกตั้ง รับห่วงธุรกิจครอบงำสื่อ สร้างความผูกขาด
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงภาพรวมการทำงานของ สปช.ในปี 2557 ว่า สปช.ทำงานอยู่ในระดับที่น่าพอใจ แต่ยังไม่ได้ลงลึกในเรื่องของการปฏิรูป เพราะที่ผ่านมา สปช.ต้องหาวิธีตั้งหลักการทำงานอยู่สักพัก รวมถึงมุ่งเน้นในเรื่องของการทำข้อเสนอแนะการปฏิรูปด้านต่างๆ เพื่อส่งให้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ
ส่วนประเด็นการปฏิรูปจะเริ่มต้นช่วงปีหน้าเป็นต้นไปตลอดทั้งปี ขณะนี้ สปช.กำลังประเมินว่ามีโครงสร้างอะไรบ้างที่จะต้องปฏิรูป และยกเครื่องใหญ่ แต่ระหว่างนี้จะมีประเด็นปฏิรูปย่อย หรือปฏิรูปโดยรวดเร็วทยอยออกมาก่อน อย่างไรก็ตาม สาระสำคัญของการปฏิรูปประเทศจะต้องเป็นที่ยอมรับของประชาชน และเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่
ผู้สื่อข่าวถามว่า ปีหน้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะผ่านความเห็นชอบจาก สปช.หรือไม่ นายเทียนฉายกล่าวว่า น่าจะเป็นเช่นนั้น โดยหลังจากที่ กมธ.ยกร่างฯ พิจารณาเสร็จแล้ว ก็จะส่งมาให้ สปช.พิจารณา ซึ่ง สปช.จะสะท้อนความเห็นที่ค่อนข้างลึก เพราะจะเห็นร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และเห็นรายมาตรา ช่วงดังกล่าวจึงถือเป็นช่วงเวลาสำคัญ สิ่งที่ สปช.อภิปรายให้ความเห็นคงจะบอกทิศทางได้พอสมควรว่า การให้ความเห็นชอบจะเป็นอย่างไร อย่างไรก็ตาม ในปีหน้าการทำหน้าที่วางระบบปฏิรูปของ สปช.ต้องจบ แต่การปฏิรูปที่แท้จริงยังมีหลายขั้นตอน ซึ่งอาจยาวนานเป็น 10 ปี ที่ต้องดำเนินการต่อเนื่อง
ส่วนร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องลงประชามติหรือไม่นั้น นายเทียนฉายเห็นว่าวันนี้เร็วเกินไปที่จะให้ความเห็นเพราะยังเป็นวุ้นอยู่ แต่มีปัจจัย 2-3 เรื่องที่ต้องพิจารณา เช่น ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ หากเป็นที่พอใจในภาพรวมไม่มีข้อติติงมากก็อาจไม่ต้องทำประชามติ แต่ถ้ามีตัวแปรอื่นๆ มาเกี่ยวข้องก็อาจต้องทำ การทำประชามติมีจุดอ่อนคือจะทอดเวลาการเลือกตั้งออกไป หรือถ้าทำไม่ผ่านก็ยิ่งยุ่งไปกันใหญ่ ดังนั้นเรื่องการทำประชามติจะต้องใช้เวลาการพิจารณาให้รอบคอบ อย่างไรก็ตาม สปช.ไม่มีหน้าที่ตัดสินใจในเรื่องนี้ เป็นเรื่องของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลจะตัดสินใจ หากต้องการให้ทำประชามติก็ต้องส่งเรื่องมาให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาออกกฎหมายประชามติ
นายเทียนฉายกล่าวว่า ประเด็นการปฏิรูปต้องทยอยทำให้ลุล่วงหลังจากปีใหม่เป็นต้นไป สาระสำคัญของประเด็นที่ปฏิรูปแต่ละเรื่องคงจะเกี่ยวข้องกับประชาชน 2 นัยยะ คือ 1. ความเข้าใจเพื่อให้เกิดการยอมรับ และ 2. การให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการปฏิรูป ซึ่งไม่ใช่เพียงการให้ความเห็น แต่ประชาชนทุกคนต้องร่วมเอาใจใส่จะทิ้งเป็นธุระไม่ใช่คงไม่ได้ เพราะบทเรียนที่ผ่านมาจุดอ่อนของประเทศจนเกิดวิกฤต คือ การที่ประชาชนเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ คอร์รัปชันที่เกิดขึ้นมาถึงขนาดนี้เป็นเพราะคำว่าธุระไม่ใช่ ดังนั้นการมีส่วนร่วมจึงสำคัญมาก ครั้งนี้ต้องเป็นธุระที่ใช่ของประชาชนที่ต้องร่วมกันดูแล
ผู้สื่อข่าวถามว่า ควรมีการจัดตั้งองค์กรพิเศษเข้ามาดำเนินการผลักการปฏิรูปประเทศหรือไม่ ประธาน สปช.กล่าวว่า องค์กรพิเศษคงมีบางกรณี เพื่อช่วยผลักดันให้พลังประชาชนมีน้ำหนัก เช่น ช่วยในการให้ข้อมูล ช่วยให้คำปรึกษา กำกับดูแลให้เป็นไปตามนั้น มีเรื่อง สปช.ที่กำลังดำเนินการ คือ การตั้งสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ เพื่อเป็นองค์กรทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานคุณธรรมจริยธรรมและธรรมภิบาลของบุคคลสาธารณะ หน่วยงานสาธารณะ และของหน่วยงานที่ไม่ใช่สาธารณะแต่ทำธุรกรรมกับหน่วยงานสาธารณะ หมายความถึงธุรกิจเอกชนที่ทำธุรกรรมกับหน่วยงานสาธารณะ ผ่านการกำหนดให้มีการเปิดเผยข้อมูลด้วยความโปร่งใส
“องค์กรนี้จะเป็นหน่วยงานเก็บรวบรวมข้อมูลและทำข้อมูลให้เป็นข้อมูลสาธารณะ เช่น ข้อมูลของบุคคลที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลด้านการศึกษา อายุ เป็นต้น ขณะเดียวกัน องค์กรนี้ยังจะทำหน้าที่ประสานหน่วยงานรัฐและเอกชนที่ทำหน้าที่เรื่องคุณธรรมจริยธรรม เพราะขณะนี้ไม่มีการประสานงาน ทำให้ที่ผ่านมางบประมาณถูกใช้อย่างกระจัดกระจาย ถ้าเป็นไปอย่างคิดนี้ ปัญหาการทุจริตน่าจะคลี่คลายไปได้ตั้งแต่ต้นทาง”
เมื่อถามว่า แสดงว่าองค์กรนี้จะทำหน้าที่ชี้ถูกชี้ผิดเรื่องจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย นายเทียนฉายกล่าวว่า จะมีหน้าที่ตรวจสอบมาตรฐานคุณธรรมจริยธรรมก่อนเลือกตั้ง เป็นกระบวนการสำคัญที่สุดเพื่อให้ประชาชนได้ใช้วิจารณญาณตัดสินใจว่าเลือกบุคคลนั้นหรือไม่ ถ้าคนนั้นมีรอยด่างทางคุณธรรมจริยธรรม ซึ่งถ้าคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเห็นพ้องเรื่องนี้ก็คงคิดว่าน่าจะมีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
ผู้สื่อข่าวถามว่า เกรงว่าการติดดาบให้กับองค์กรลักษณะนี้จะนำไปสู่การใช้อำนาจในทางมิชอบและกลั่นแกล้งกันในทางการเมืองได้ ประธาน สปช.กล่าวว่า คำว่าติดดาบอาจจะไม่ถูก องค์กรนี้เราวาดภาพว่าจะให้ทำหน้าที่ให้ข้อมูลปรากฏออกมาสู่สาธารณะ โดยไม่มีอำนาจลงโทษใครและไม่มีหน้าที่ไปบอกว่าใครคนไหนสมัครเลือกตั้งได้หรือไม่ได้ คิดว่าเพียงแค่กระบวนการทำข้อมูลให้ปรากฏออกมาน่าจะทำให้ประเทศดีขึ้นมาก เพราะที่ผ่านมามีแต่การอำพรางข้อมูลเอาไว้ ไม่ทำให้ข้อมูลปรากฏ ซึ่งข้อมูลจะเป็นดาบที่ทำให้คนไทยหูตาสว่าง ขณะเดียวกัน เรากำลังคิดว่าเมื่อเปิดเผยข้อมูลแล้วจะไม่สามารถเอาเป็นเหตุของการฟ้องร้องได้ เพราะถ้าการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะแล้วยังต้องมากลัวเรื่องการฟ้องร้องจนต้องอำพรางข้อมูลกันต่อไป ประเทศก็จะมืดอยู่อย่างนี้
“ไม่มียาขนานใดเพียงขนานเดียวที่จะสามารถแก้ไขปัญหาของประเทศไทยได้ ดังนั้น การเปิดเผยข้อมูลด้วยวิธีการดังกล่าวอาจไม่ใช่การแก้ไขปัญหาทุกอย่าง แต่เป็นการแก้ปัญหาหลักหลายอย่างตั้งแต่ต้นทาง”
นายเทียนฉายกล่าวอีกว่า ในวันที่ 19-21 ม.ค.จะมีการประชุม สปช.เพื่อระดมสมองครั้งใหญ่สำหรับการวางวิสัยทัศน์ของประเทศไทย คิดว่าจะมีการนำความเห็นจากหลายแหล่งมาประมวลกำหนดเป็นวิสัยทัศน์ของประเทศไทย โดยการกำหนดยุทธศาสตร์ที่ควรจะเป็นของประเทศไทย
ผู้สื่อข่าวถามว่าควรมีการปฏิรูปกองทัพด้วยหรือไม่และคิดว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ นายเทียนฉายกล่าวว่า เป็นไปได้ ยังไม่คิดเลย แต่ก็น่าสนใจ ขอบคุณที่แนะนำ
นายเทียนฉายกล่าวถึงแนวทางการการปฏิรูปสื่อว่า การปฏิรูปสื่อจะไม่ใช่การปฏิรูปในเรื่องจรรยาบรรณ หรือวิธีการทำงานของสื่อ แต่ในฐานะตนเองเป็นนักเศรษฐศาสตร์มีความเป็นห่วงเรื่องการผูกขาดสื่อและการครอบงำสื่อผ่านทุนค่อนข้างมาก เพราะจะสามารถเกิดกระบวนการซื้อขายธุรกิจสื่อได้ โดยปัจจุบันธุรกิจสื่อได้พัฒนามาสู่การเป็นธุรกิจมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ ตรงนี้เองที่น่าเป็นห่วง เพราะในที่สุดแล้วเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นจะถูกบดไปได้ด้วยกระบวนการของธุรกิจผูกขาด
“เรื่องการผูกขาดมันกระทบสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และไม่ใช่เพียงธุรกิจสื่อเพียงอย่างเดียว แต่ถ้าธุรกิจใดที่เกิดการผูกขาดขึ้นย่อมกระทบต่อเสรีภาพ และจะทำให้กระบวนการทางเศรษฐกิจของประเทศถูกกระทบทันที อย่างไรก็ตาม สปช.ก็พยายามคิดและหาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดการผูกขาด”