xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ยกร่างฯ เคาะหลักการ รธน.ใหม่ เพียบ ผู้สมัคร ส.ส.ต้องโชว์ทรัพย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ (แฟ้มภาพ)
กมธ.ยกร่างฯ เคาะหลักการสำคัญเบื้องต้นในบทบัญญัติ รธน. ใหม่แล้ว ระบุมีหลักการใหม่เกี่ยวกับระบอบการเมือง นักการเมือง และสถาบันการเมือง เพียบ ทั้งตั้งสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ สอบนักการเมืองทุจริต ให้ปลัดกระทรวงรักษาการ รมต. ระหว่างยุบสภา มี ส.ส. 480 คน ส.ว. 200 ให้ผู้สมัคร ส.ส. ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินก่อนลงสมัคร ทุกนโยบายในการหาเสียงต้องระบุจำนวนเงิน ให้มีการล่อซื้อเสียงจับผู้สมัครโกงเลือกตั้ง ให้ฝ่ายค้านเป็นรองประธานสภา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมี นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานได้เสร็จสิ้นการตัดสินใจเบื้องต้นในหลักการสำคัญเพื่อยกร่างเป็นบทบัญญัติรัฐธรรมนูญรายมาตรา เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ที่ผ่านมา โดยมีหลักการใหม่ๆ หลายประการด้วยกัน โดยภาพรวม “หลักการใหม่เกี่ยวกับระบอบการเมือง นักการเมือง และสถาบันการเมือง” ที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญมีฉันทมติร่วมกันในเบื้องต้น มีดังนี้

1. พลเมืองเข้มแข็ง นักการเมืองมีคุณธรรม

1.1 ระบอบการเมืองใหม่ต้องมีการปลูกฝังความเป็นพลเมืองทุกระดับและให้มีสมัชชาพลเมือง (ระดับพื้นที่) ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ผู้แทนประชาสังคม ผู้แทนภาคเอกชน ผู้แทนสถาบันอุดมศึกษา ผู้นำศาสนา ปราชญ์ชาวบ้าน ฯลฯ มีหน้าที่ในการจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ เห็นชอบงบประมาณพัฒนาพื้นที่ และมีส่วนร่วมอื่นๆ กับภาครัฐ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการบริหารจัดการพื้นที่ รวมทั้งส่วนร่วมในการตรวจสอบ

1.2 ในระดับชาติให้มีสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิและคุณธรรม เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางจากสังคมมีหน้าที่ส่งเสริมและพิทักษ์คุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลของนักการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐ และเอกชนทุกระดับ และมีหน้าที่ตรวจสอบ ไต่สวนการละเมิดจริยธรรมของบุคคลสาธารณะ และประกาศผลให้สาธารณชนทราบ พร้อมส่งเรื่องให้ผู้มีอำนาจดำเนินการ เช่น ถอดถอน

2. ความเป็นกลางในการกำหนดวันเลือกตั้ง และการรักษาการระหว่างเลือกตั้ง

แม้การยุบสภาจะเป็นพระราชอำนาจโดยคำกราบบังคมทูลฯของนายกรัฐมนตรีให้ทรงตราพระราชกฤษฎีกายุบสภาได้แต่การกำหนดวันเลือกตั้งเป็นอำนาจเด็ดขาดของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ภายใน 45 วัน นับแต่สภาผู้แทนสิ้นอายุ - ภายใน 60 วันนับแต่วันยุบสภา) การรักษาการระหว่างเลือกตั้งให้เป็นหน้าที่ของปลัดกระทรวง โดยให้ปลัดกระทรวงทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการ และให้ปลัดกระทรวงเลือกกันเองให้มีผู้ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี โดยจะทำงานนโยบายใดๆ มิได้ เว้นแต่ฉุกเฉินจำเป็นเร่งด่วนไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ก็ต้องอาศัยคะแนนเสียง ๓ ใน ๔ ของปลัดกระทรวงทั้งหมด และต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง

3. โครงสร้างทางการเมืองที่สมดุลโดยมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนทางสังคม

โครงสร้างทางการเมืองที่ดีต้องผนวกรวม (Inclusive) ทุกภาคส่วนในสังคมเข้าไว้ในโครงสร้าง โดยไม่จำต้องนับที่จำนวนหรือต้องมีที่มาทางเดียว ดังนั้น ในโครงร่างทางการเมืองใหม่จะประกอบด้วย 2 สภา คือ

3.1 สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีสมาชิกไม่เกิน 480 คน ดังมีรายละเอียดในข้อ 6 - 8 ซึ่งมาจากการการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนที่สามารถสะท้อนเจตนารมณ์ทางการเมืองที่แท้จริงของประชาชน เป็นสภาซึ่งบริหารโดยอาศัยหลักเสียงข้างมาก (Majoritarian Chamber) เป็นที่มาและความชอบธรรมของรัฐบาล

3.2 วุฒิสภา ซึ่งมีสมาชิกไม่เกิน 200 คน ซึ่งมาจากความหลากหลายทางวิชาชีพและกลุ่มต่างๆ ที่หลากหลายเป็นสภาพหุนิยม (Pluralist Chamber) ซึ่งควรมีส่วนในโครงสร้างการเมืองโดยไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง โดยมีวาระดำรงตำแหน่ง 3 ปี และเป็นได้ไม่เกิน 2 วาระ คือ

1) ผู้เคยดำรงตำแหน่งสำคัญระดับสูงสุดของอำนาจทั้งสาม ในอดีตที่ไม่ลักษณะต้องห้าม (เช่น ไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง) โดยเฉพาะอดีตนายกรัฐมนตรี อดีตประธานรัฐสภา อดีตประธานศาลฎีกา

2) ผู้เคยดำรงตำแหน่งระดับสูงในภาครัฐ โดยเฉพาะอดีตปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่า และอดีต ผบ. เหล่าทัพ และ ผบ.ตร. อดีตอัยการสูงสุด ซึ่งเลือกกันเองตามจำนวนที่กำหนดในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ

3) ผู้ซึ่งเป็นหัวหน้าองค์กรวิชาชีพที่มีกฎหมายรองรับ หรือผู้แทน อาทิ สภาหอการค้าฯสภาอุตสาหกรรม สภาวิชาชีพต่าง ๆ เช่น แพทยสภา สภาทนายความ ฯลฯ

4) ผู้ซึ่งมาจากการเลือกกันเองขององค์กรต่างๆ ตามจำนวนที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูฯกำหนด อาทิ

4.1) ผู้แทนสหกรณ์การเกษตร

4.2) ผู้แทนสหภาพแรงงาน

4.3) ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน และสมัชชาพลเมือง

4.4) ผู้แทนอธิการบดีและประธานสภาอาจารย์จากสถาบันอุดมศึกษาของรัฐและเอกชน

4.5) ผู้แทนองค์กรอื่นๆ ที่กำหนดในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เช่น ผู้แทนองค์กรประชาสังคมต่างๆ

5) ผู้ซึ่งมาจากสมัครและการเลือกสรรด้านต่างๆ ทำนองเดียวกับที่เลือกสรร สมาชิก ส.ป.ช. ทั้งนี้ ตามจำนวนและวิธีการที่กำหนดในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ

4. การกรองผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้ง ๒ สภา ที่อาจมีปัญหาเรื่องความสุจริตก่อนเลือกตั้งการให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือเลือกกันเองต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน หนี้สิน การเสียภาษี และการแสดงกิจกรรมและที่มาของรายได้ก่อนวันสมัครรับเลือกตั้งและให้มีคณะผู้ตรวจสอบการแสดงข้อมูลดังกล่าวหากไม่อาจชี้แจงที่มาของรายได้ก็ไม่ให้สมัครรับเลือกตั้ง

5. กำหนดให้มีการตรวจสอบการหาเสียง

5.1 กำหนดให้นโยบายทุกนโยบายต้องระบุจำนวนเงินแผ่นดินที่ต้องใช้ และระบุที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้

5.2 ให้หัวหน้าพรรคการเมืองที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ลำดับที่ 1 - 4 ในสภาครั้งที่แล้วต้องขึ้นดีเบตในโทรทัศน์ก่อนวันลงคะแนนเสียงตามที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญกำหนด

6. ให้มีระบบเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สะท้อนเจตนารมณ์ที่แท้จริงของประชาชน และทำให้คะแนนเสียงทุกคะแนนของประชาชนมีความหมายอย่างแท้จริง

6.1 ระบบเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านมามีปัญหามากโดยเฉพาะระบบเขตเดียว มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ๑ คน ทำให้ผู้ชนะเพียงเล็กน้อยได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (เช่นได้ 51 เสียง จาก 100 เสียง) ส่วนคะแนนเสียงของผู้แพ้ (49 เสียง ใน 100 เสียง) ก็ไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง ดังนั้น จึงควรปรับระบบเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้สะท้อนเจตนารมณ์ที่แท้จริงของประชาชนเป็น 4 ต่อ 5 ทำให้คะแนนทุกคะแนนมีความหมาย ไม่ตกน้ำโดยใช้ระบบเลือกบัญชีพรรคและเลือกคนในแต่ละเขต โดยให้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่ละพรรคจะถูกกำหนดโดยสัดส่วนที่ประชาชนลงคะแนนเลือกพรรคนั้น ๆ แต่ให้ผู้สมัครอิสระสามารถสมัครอิสระได้ในเขตเลือกตั้ง ดังตัวอย่างต่อไปนี้

ถ้าประชากร 143,000 คน มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ 1 คน ประเทศไทยก็จะมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ประมาณ 450 คน แต่เมื่อระบบเลือกตั้งแบบเลือกบัญชีรายชื่อและระบบเขตเป็น 4 ต่อ 5 เช่นนี้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็จะกำหนดคงตัวไม่ได้ จึงอาจต้องกำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่เกิน 480 คน โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อพรรค 200 คน โดยแบ่งเป็นภูมิภาคตามจำนวนประชากรที่ใกล้เคียงกันและคำนึงถึงภูมิสังคมของแต่ละภูมิภาค สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขต เขตละ 1 คน 250 คน จาก 250 เขต

อย่างไรก็ดี บัญชีรายชื่อพรรคแบบใหม่นี้ต่างจากบัญชีรายชื่อที่ใช้ในปี 2540 และ 2550 โดยสิ้นเชิง กล่าวคือ บัญชีรายชื่อ (party list) ปี 2540 และ 2550 เป็น “บัญชีรายชื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพิ่ม” หรือเรียกสั้นๆ ว่า “บัญชีรายชื่อให้เพิ่ม” เพราะไม่มีความสัมพันธ์การเลือกตั้งเขตเลย จึงเปรียบเหมือน “ของแถม” ให้พรรคต่างๆ อีก 100 คน แต่ระบบบัญชีรายชื่อใหม่นี้เป็น “บัญชีรายชื่อเติมเต็ม” เพื่อกำหนดสัดส่วน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่แต่ละพรรคหรือกลุ่มได้รับจริงโดยสัมพันธ์กับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขตจึงสรุปว่าบัญชีรายชื่อแบบเดิมเป็นแบบ “ให้เพิ่ม” และแบบใหม่เป็นแบบ “เติมเต็ม” คะแนนบัญชีรายชื่อและจำนวน ส.ส. ส.ส. ที่ได้รับเลือกจากเขต เพิ่ม ส.ส. จากบัญชี รวม ส.ส. ทุกประเภท

พรรค ก. ได้ 10% ควรได้ ส.ส. 45 คน 23 คน + 22 คน = 45 คน
พรรค ข. ได้ 50 % ควรได้ ส.ส. 225 คน 117 คน + 108 คน = 225 คน
พรรค ค. ได้ 20 % ควรได้ ส.ส. 90 คน 63 คน + 27 คน = 90 คน
พรรค ง. ได้ 19 % ควรได้ ส.ส. 86 คน 31 คน + 55 คน = 86 คน
พรรค จ. ได้ 1% ควรได้ ส.ส. 4 คน 16 คน + 0 คน = 16 คน
250 คน + 212 คน = 462 คน
รวม ส.ส. เขต 250 คน รวม ส.ส. บัญชี 212 คน รวม 462 คน

ระบบเลือกตั้งแบบนี้ทำให้คะแนนเสียงของฝ่ายข้างน้อยไม่เสียไปแต่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าไปตามสัดส่วนของบัญชีรายชื่อ ที่สำคัญคือทำให้ไม่เกิด winner takes all หรือ “กินรวบ” แบบเดิม

6.2 บัญชีรายชื่อตามรายภาคนั้นจะมีมาตรการกำหนดให้เป็น “บัญชีเปิด” (open list) โดยให้ประชาชนเป็นผู้ “จัดลำดับ” ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบัญชีรายชื่อที่จะได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ใช่ให้หัวหน้าพรรคเป็นผู้กำหนดดังแต่เดิม

6.3 อนึ่ง ต้องกำหนดให้มีการนับคะแนนการไม่เลือกผู้ใด (Vote no) ด้วย และกำหนดให้ผู้ชนะเลือกตั้งต้องได้คะแนนเกินคะแนนที่ไม่เลือกผู้ใด เพื่อให้ประชาชนสามารถประท้วงการเลือกตั้งที่ตนไม่เห็นด้วยได้อย่างมีความหมาย

7. ทำให้การซื้อเสียงทำยากขึ้น โดยการปรับการเลือกตั้ง

7.1 ยกเลิกการให้หมายเลขบนบัตรเลือกตั้งให้ใส่ชื่อ - นามสกุล และภาพถ่ายผู้สมัคร (กรณี ส.ส.เขต) และชื่อพรรค กับหัวหน้าพรรคและเครื่องหมายพรรค (กรณีบัญชีรายชื่อ)

7.2 การห้ามผู้ซื้อเสียงหรือทุจริตเข้าสู่การเมือง และห้ามดำรงตำแหน่งใดๆ ในภาครัฐ และบริษัท มหาชนจำกัดตลอดชีวิต

7.3 ให้มีการ “ล่อขาย” เพื่อจับผู้ซื้อเสียงในทำนองเดียวกับ “ล่อซื้อ” ในคดียาเสพติด

7.4 ให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่ในเขตที่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการเลือกตั้งที่ไม่สุจริต หรือเที่ยงธรรม และให้เปิดสภาได้ตามปกติภายใน 30 วัน นับแต่วันเลือกตั้ง ถ้าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับการรับรองแล้วถึง 85 % (เพราะรัฐธรรมนูญใช้คำว่า “มี ส.ส. ไม่เกิน 480 คน) การให้เลือกตั้งใหม่นี้ ให้กระทำกี่ครั้งก็ได้ตามที่มีหลักฐานอันควรเชื่อว่าการเลือกตั้งไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรมเป็นนัยสำคัญจนกว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งจะเชื่อว่าการเลือกตั้งสุจริตและเที่ยงธรรมอย่างแท้จริง

8. การทำให้ ส.ส. เป็นผู้แทนราษฎรที่แท้จริงไม่ใช่ลูกจ้างของพรรคการเมืองหรือหัวหน้าพรรค

8.1 การไม่บังคับให้ผู้สมัคร ส.ส. เขตต้องสังกัดพรรค

8.2 การให้ “กลุ่มบุคคล” สามารถลงสมัครแบบบัญชีรายชื่อได้โดยไม่ต้องสังกัดพรรคการเมืองใด

8.3 การไม่กำหนดให้การไม่ปฏิบัติตามมติพรรคในการลงมติในสภาทำให้พรรคขับออกจากพรรคและพ้นจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (เพราะการกำหนดเช่นนี้ขัดกับหลัก “ความเป็นผู้แทนของปวงชน” ซึ่งได้รับเลือกตั้งจากประชาชน แต่กลับให้คณะกรรมการบริหารพรรคปลดผู้แทนประชาชนที่ทำหน้าที่ในสภาอย่างอิสระได้ อันขัดต่อเจตนารมณ์ของประชาชนที่เลือกผู้นั้นเข้ามา) เพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีความเป็นอิสระและทำตามความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริงได้

9. การปรับพรรคการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย และควบคุมการรับบริจาค และการใช้จ่ายเงินของพรรคและผู้บริหารพรรค

10. การปรับให้มีการถ่วงดุลในการบริหารในรัฐสภาระหว่างฝ่ายรัฐบาล - ฝ่ายค้าน

10.1 เมื่อได้รับเลือกเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ให้ผู้นั้นไม่ต้องปฏิบัติตามมติพรรคและต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นกลาง

10.2 ให้ผู้ได้รับคะแนนเป็นลำดับ 2 และลำดับ 3 ในการเลือกประธานเป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้พรรคการเมืองฝ่ายค้านมีรองประธานสภาผู้แทนราษฎรด้วย

10.3 ให้ฝ่ายค้านเป็นประธานคณะกรรมาธิการชุดตรวจสอบที่สำคัญ เช่น คณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริต คณะกรรมาธิการติดตามงบประมาณ

11. วุฒิสภา : สภาพหุนิยม ซึ่งสร้างความสมดุลให้ระบบการเมืองเมื่อวุฒิสภามีสมาชิก ๒๐๐ คน (ประมาณกึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) มาจากหลากหลายอาชีพและมาจากการเลือกตั้งทางอ้อมแล้ว ดังนั้น สมาชิกวุฒิสภาจึงควรมีอำนาจหน้าที่สำคัญ ดังนี้

11.1 เสนอกฎหมายได้ เมื่อผ่านวุฒิสภาแล้วก็ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

11.2 ตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีได้

11.3 เปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา โดยไม่มีการลงมติได้

11.4 ตรวจสอบประวัติผู้ที่นายกรัฐมนตรีจะแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีและตรวจสอบประวัติหัวหน้าส่วนราชการทุกส่วน และเปิดเผยให้สาธารณะทราบ

11.5 เสนอให้สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติตรวจสอบจริยธรรมของรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และข้าราชการระดับสูงได้ และองค์กรอิสระหากผิดจริยธรรมก็ถอดถอนได้

11.6 เสนอถอดถอนนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และข้าราชการระดับสูง และลงมติร่วมกับสภาผู้แทนราษฎร และใช้คะแนนเสียงกึ่งหนึ่งของสองสภา

11.7 ลงมติเลือกองค์กรตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญ (กกต., ปปช., คตง., ฯลฯ)

11.8 ร่วมกับสภาผู้แทนราษฎร ให้ความเห็นชอบวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ และแผนสำคัญประเทศเพื่อให้ฝ่ายบริหารนำไปปฏิบัติต่อไป

12. นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีมีที่มาจากสภาผู้แทนราษฎรและมีเสถียรภาพและประสิทธิภาพภายใต้ระบบการตรวจสอบที่ดี

12.1 นายกรัฐมนตรีมาจากการลงคะแนนเลือกโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ทั้ง ๒ มาตรการนี้ก็เพียงพอ
ทำให้มั่นใจได้ว่า ในภาวะปกติผู้เป็นนายกรัฐมนตรีย่อมต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่เปิดให้ในภาวะวิกฤตสามารถนำคนกลางที่เป็นที่ยอมรับของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาเป็นผู้แก้ภาวะวิกฤตชั่วคราวได้ โดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญโดยวิถีทางที่ไม่ได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ

12.2 ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำชื่อรัฐมนตรีขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย นายกรัฐมนตรีต้องให้วุฒิสภาตรวจสอบประวัติและเปิดเผยให้ประชาชนทราบก่อน อย่างน้อย ๒ สัปดาห์

12.3 ห้ามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีในเวลาเดียวกัน

12.4 ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีโดยบุคคลดังกล่าวมีหน้าที่ต้องมาตอบกระทู้
12.5 ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีแต่ละคนได้ แต่หากมีการลงมติไม่ไว้วางใจชนะ สภาผู้แทนราษฎรจะยุบไปพร้อมกับพ้นตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีเพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้านไปใช้กลไกสภาคุณธรรมแห่งชาติ กลไกลการถอดถอน การฟ้องศาลวินัยการเงินการคลัง และงบประมาณ การส่งเรื่องให้ ปปช. ฯลฯ แทน

12.6 ให้นายกรัฐมนตรีขอความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎรได้ หากนายกรัฐมนตรีได้คะแนนไม่ถึงครึ่งให้นายกรัฐมนตรีกราบบังคมทูลให้ยุบสภาได้

ให้นายกรัฐมนตรีแถลงว่าร่างกฎหมายฉบับใด หรือส่วนใดเป็นการแสดงความไว้วางใจรัฐบาล ถ้าไม่มีการยื่นญัตติไม่ไว้วางใจภายใน 48 ชั่วโมง ให้ถือว่าร่างกฎหมายฉบับนั้น หรือส่วนนั้นผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ถ้ามีการยื่นญัตติไม่ไว้วางใจภายใน 48 ชั่วโมง และมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยผ่านไปโดยลงคะแนนเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ให้ถือว่าร่างกฎหมายฉบับนั้น หรือส่วนนั้นผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ถ้ามีคะแนนเสียงไม่ไว้วางใจเกินครึ่งก็ให้ร่างกฎหมายนั้นตกไป และให้นายกรัฐมนตรีกราบบังคมทูลให้ยุบสภาได้

12.7 ให้นายกรัฐมนตรีกราบบังคมทูลถวายคำแนะนำให้ตราพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรได้ แต่อำนาจกำหนดวันเลือกตั้งอยู่ที่ กกต.

12.8 คณะรัฐมนตรีอาจส่งเรื่องให้สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติตรวจสอบจริยธรรมองค์กรอิสร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ได้ หากพบว่ามีความผิดจริยธรรม ก็ให้เสนอถอดถอนได้

13 การกำหนดให้ผู้ซึ่งมีหลักฐานอันควรเชื่อว่าเป็นผู้ครอบงำ นำชัก หรือสั่งการให้พรรคการเมืองผู้ดำรงตำแหน่งการเมือง หรือข้าราชการกระทำการใดๆ ต้องมีความรับผิดทางอาญา ทางวินัย การเงินการคลัง และงบประมาณ และความรับผิดอื่น เช่นเดียวกับผู้ที่ตนสั่ง ครอบงำ หรือนำชัก


กำลังโหลดความคิดเห็น