สภาพัฒนาการเมืองออกแถลงการณ์โต้อนุฯ กมธ.คณะที่ 8 สภาปฏิรูปฯ ชงให้ยุบ สพม.อ้างไม่คุ้มค่าการมีองค์กร ย้อนถามใช้ข้อมูลอะไรมาพิจารณา เตือนจะถูกครหาอคติ ลั่นมีแผนดำเนินการหากยังดึงดันให้ยกเลิก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาชิกสภาพัฒนาการเมือง (สพม.) ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง “ความจำเป็นและความคุ้มค่าของการมีสภาพัฒนาการเมือง” จากกรณีที่คณะอนุกรรมาธิการคณะที่ 8 ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ เสนอกรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญต่อกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีข้อเสนอหนึ่งว่าสภาพัฒนาการเมือง ไม่มีความจำเป็นและไม่มีความคุ้มค่าของการมีองค์กร
โดยนายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ ประธาน สพม. ได้อ่านแถลงการณ์ว่า สภาพัฒนาการเมืองถูกจัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.สภาพัฒนาการเมือง พ.ศ. 2551 โดยมีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำแผนพัฒนาการเมือง สร้างเสริมวัฒนธรรมทางการเมือง โดยสภาพัฒนาการเมือง มีผลงาน ที่อ้างอิงจากผลวิจัยของสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีรายงานว่าแผนพัฒนาการเมืองที่สภาพัฒนาการเมืองทำขึ้นนั้นนำไปสู่การสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริงจากรากฐานของสังคม
การที่คณะอนุกรรมาธิการคณะที่ 8 มีข้อสรุปว่าไม่มีความจำเป็นและไม่คุ้มค่า จึงอยากถามว่าได้ใช้ข้อมูลหลักฐานประการใดในข้อสรุปดังกล่าว เพราะเกรงว่าจะเป็นการสรุปโดยปราศจากหลักฐานซึ่งจะกลายเป็นข้อครหาว่ามีอคติ ทำให้ประชนไม่ศรัทธาคณะอนุกรรมาธิการและอาจไม่ศรัทธาคณะกมธ.ยกร่างฯ ด้วย ทั้งนี้ สภาพัฒนาการเมืองพร้อมที่จะเข้าชี้แจงต่อคณะอนุกรรมาธิการคณะที่ 8 รวมทั้ง กมธ.ยกร่างฯ และขอให้เปิดโอการในการรับฟังความคิดเห็นด้วย
“การพัฒนาระบอบประชาธิปไตยให้ประสบความสำเร็จนั้น ไม่ใช่แก้ปัญหาที่ปลายเหตุอย่างที่ทำอยู่ในขณะนี้คือการร่างรัฐธรรมนูญที่กำหนดโครงสร้างการเมืองใหม่ หรือองค์กรอิสระในการตรวจสอบเรื่องต่างๆ แต่สภาพัฒนาการเมือง มีหน้าที่เสริมสร้างวัฒนาธรรมอันดีทางการเมือง เสริมสร้างความร่วมมือทางการเมือง ซึ่งถือเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ซึ่งจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งทางการเมืองให้กับประชาชนโดยเรื่องดังกล่าวมีสภาพัฒนาการเมืองถือเป็นเจ้าภาพหลัก”
นายธีรภัทร์กล่าวยืนยันอีกว่า งบประมาณที่สภาพัฒนาการเมืองได้รับในแต่ละปี หากเทียบกับประชาชนทั้งประเทศแล้วงบประมาณตกเพียง 3 บาทต่อประชากรหนึ่งคน ซึ่งการใช้งบประมาณเป็นไปอย่างคุ้มค่า ถ้าเทียบกับกิจกรรมและภารกิจที่ทำ ทั้งๆ ที่สมาชิกทุกคนไม่มีเงินประจำตำแหน่งด้วยซ้ำ
ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้าหากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะอนุกรรมาธิการคณะที่ 8 ทางสำนักงานสภาพัฒนาการเมืองมีท่าทีอย่างไรต่อไป นายธีรภัทร์กล่าวว่า มีการวางแผนไว้แล้วว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เพียงแต่ยังพูดตอนนี้ไม่ได้ ซึ่ง สพม.พร้อมที่จะไปชี้แจงถึงขบวนการที่ถูกต้องของ สพม. ทั้งนี้ การเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องเขียนให้ส่งเสริมประชาธิปไตย ไม่ใช้เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุซึ่งอาจจะกลายเป็นรัฐธรรมนูญนิยม อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 26 ธ.ค.นี้ ทาง สพม.จะจัดสัมมนาระดมสมองโดยจะเชิญ สพม.ทั่วประเทศ เพื่อให้เห็นความคุ้มค่าของ สพม.