xs
xsm
sm
md
lg

“สมชัย” เปรยอนาคต 5 เสือ กกต.ไม่แน่นอน - เผย 3 แนวคิดโจทย์ปฏิรูปเลือกตั้งท้องถิ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง (ภาพจากแฟ้ม)
กกต.บรรยายเรื่องเลือกตั้งท้องถิ่นแก่นักศึกษาสถาบันพระปกเกล้า เผยปัญหาซื้อเสียงหลักพันต่อหัว มากกว่า ส.ส.-ส.ว. ทำเลือกตั้งไม่สุจริต เลยมองว่าไม่ควรมีเลือกตั้ง ชี้เป็นการหลงทาง แต่ควรหาวิธีป้องกันซื้อเสียง เผยแนวคิด 3 ประการ ต้องได้คนมีความรู้ความสามารถ ปราศจากทุจริต-อิทธิพล และแบ่งพื้นที่ไม่ซับซ้อน ส่วนเรื่องยุบ อบจ.-อบต.ต้องรับฟังความเห็น รับอนาคต 5 กกต.ไม่แน่ ชี้มีขาดทุน-เท่าทุน แถมดีไม่ดีล่มจมถึงขั้นมีรัฐธรรมนูญใหม่

วันนี้ (10 ต.ค.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวบรรยายพิเศษหัวข้อ “การเลือกตั้งในบริบทของท้องถิ่น” ให้แก่นักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรกฎหมายท้องถิ่น รุ่นที่ 50 ของสถาบันพระปกเกล้า ตอนหนึ่งว่า สำหรับการเลือกตั้งท้องถิ่นนั้นเชื่อว่าประชาชนมีคำตอบอยู่ในใจว่าคงอยากจะได้ผู้บริหารท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งมากกว่าแต่งตั้ง เพราะประชาชนมีจุดอ่อนเนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงการบริการของรัฐได้อย่างเท่าเทียม จึงต้องมีองค์กรปกครองท้องถิ่นมาเป็นจุดเชื่อมโยงในการเข้าถึงการบริการของรัฐ แม้หลายคนจะมองว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นมีการจ่ายเงินซื้อเสียงมากสุดก็ตามถ้าเทียบกับการเลือกตั้งระดับชาติอย่าง ส.ส.และ ส.ว.

นายสมชัยกล่าวว่า ตนเป็น กกต.มา 10 เดือน พบว่าสำนวนคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งมีไม่ต่ำกว่า 400 สำนวน เห็นตัวเลขการซื้อเสียงทั้งหมดเมื่อเปรียบเทียบแล้วจะเห็นว่า ส.ว.จ่ายเงินซื้อเสียงน้อยสุดเพียงแค่หลักสิบประมาณ 20-40 บาทเท่านั้น ส่วน ส.ส.หลักร้อย ประมาณ 200-500 บาท แต่สำหรับการเลือกตั้งท้องถิ่นนั้นมีการซื้อเสียงเลือกตั้งระดับหลักพัน ประมาณ 1,000-3,000 บาท เวลาจ่ายเงินก็จะจ่ายตามหัวที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน กลายเป็นวิธีการปฏิบัติของชาวบ้านว่าแม้จะไปทำงานหรือพักที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ก็ตามแต่ต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ดังนั้นก็จะเห็นภาพเวลาเลือกตั้งก็จะมีการขนคนจาก กทม. กลับมายังท้องถิ่นนั้นเพื่อลงคะแนนเลือกตั้ง

“เมื่อการซื้อเสียงรุนแรง ทำให้เกิดปัญหาการเลือกตั้งไม่สุจริต สังคมไทยจึงเอาปรากฏการณ์การซื้อเสียงขึ้นมาเป็นตัวตั้งว่าเมื่อเป็นเช่นนี้ก็ไม่ควรมีการเลือกตั้ง ผมมองว่าเป็นการหลงทาง เพราะควรคงการเลือกตั้งไว้เช่นเดิมและมองหาวิธีการป้องกันการซื้อเสียง ทำให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรม ส่วนวิธีการจะเป็นอย่างไรนั้นค่อยว่ากันอีกครั้ง” นายสมชัยกล่าว

นายสมชัยกล่าวอีกว่า ขณะนี้มีสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แล้ว คาดจะมีการประชุมครั้งแรกในวันที่ 21 ต.ค.นี้ โดยมีกรอบการปฏิรูปจำนวน 11 ด้าน แต่มองว่ามี 4 ด้าน ที่สำคัญเร่งด่วนต้องดำเนินการทันทีและต้องก่อให้เกิดรูปธรรมจับต้องได้ภายในระยะเวลา 1 ปี ประกอบด้วย 1. ด้านการเมือง เพราะปัญหาที่ผ่านมาส่วนใหญ่เกี่ยวกับการเมืองดังนั้นต้องออกแบบการเมืองใหม่ ออกแบบกฎกติกาให้เกิดความชัดเจน หากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จในเดือนสิงหาคม ก็อาจจะมีการเลือกตั้งในเดือนตุลาคม ยกเว้นจะมีการทำประชามติ การเลือกตั้งก็อาจจะต้องเลื่อนออกไป 2. กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เนื่องจากขณะนี้เงื่อนไขทุกเรื่องอยู่ในภาวะเอื้ออำนวยที่จะออกกฎหมายใหม่ เพราะมีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยทุกยุคทุกสมัยที่มี สนช.ขึ้นมานั้นจะเห็นว่ากฎหมายจะออกมาอย่างรวดเร็ว

นายสมชัยกล่าวว่า 3. สื่อสารมวลชน เนื่องจากสื่อเป็นเครื่องมือในการสื่อสารไปยังประชาชน แต่ขณะนี้พบว่ายังมีสื่อที่มาจากการจัดตั้งเป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการทำให้ได้เปรียบทางการเมือง จึงไม่มั่นใจว่าจะปฏิรูปสื่อได้สำเร็จหรือไม่เป็นเรื่องยากพอสมควร และหากปฏิรูปไม่สำเร็จก็จะทำให้สื่อได้ข้อมูลไม่ถูกต้อง มีการใส่อารมณ์และความรุนแรงในการนำเสนอ หากเป็นเช่นนี้ความปรองดองก็จะไม่เกิดขึ้น และ 4. การปกครองท้องถิ่น เนื่องจากการปกครองท้องถิ่นเป็นรากฐานที่จะเชื่อมโยงมายังการเมืองระดับประเทศ ถ้าไม่สามารถจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นให้ดีได้ การเมืองระดับประเทศก็จะไม่สามารถเดินไปได้ ด้วยเหตุนี้ในช่วงนี้หากท้องถิ่นใดครบวาระคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จึงใช้วิธีการสรรหาแทนตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 85

ส่วนปรากฏการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นอีกนานเพียงใดนั้นตนไม่ทราบเช่นกัน แต่เข้าใจว่าการที่ คสช.ใช้วิธีการเช่นนี้เพราะไม่ต้องการให้เกิดแรงกระเพื่อมทางการเมือง ไม่ต้องการให้เกิดการหาเสียง เพราะจะทำให้การเมืองไม่นิ่ง เกิดการแบ่งแยกแบ่งฝ่าย และอีกเหตุผลหนึ่งคือต้องการจัดระเบียบทำให้การเลือกตั้งท้องถิ่นตกผลึกก่อนสรุปว่ารูปแบบใหม่จะเป็นอย่างไร เชื่อว่าจะเป็นแบบนี้อีกนาน มีแนวโน้มว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นจะเกิดขึ้นภายใต้กติกาใหม่หลังการเลือกตั้งทั่วไป ต้องรอเกิดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาก่อนเพื่อกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ จากนั้นการเลือกตั้งท้องถิ่นจะเกิดขึ้นได้

สำหรับแนวคิดในการเลือกตั้งท้องถิ่น 3 ประการที่เป็นโจทย์ในการปฏิรูปการเลือกตั้งท้องถิ่น คือ 1. ต้องได้บุคคลที่อยู่ในท้องถิ่นที่มีความรู้ ความสามารถ เข้ามาทำหน้าที่โดยตรง 2. กระบวนการเลือกตั้งต้องปราศจากการทุจริต หรือการใช้เงินหรือใช้อิทธิพลในการเลือกตั้งและ 3. การแบ่งพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละระดับต้องไม่ซับซ้อนจนเป็นปัญหา ส่วนแนวคิดที่จะยุบองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) นั้น คำตอบในการปฏิรูปเรื่องนี้ยังไม่ชัดเจนหรือตกผลึก เพราะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นเพื่อหารูปแบบการปกครองท้องถิ่นให้มีความเหมาะสมก่อน

นายสมชัยกล่าวอีกว่า การได้มาของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ว่าระดับชาติหรือท้องถิ่น มี 3 รูปแบบคือการเลือกตั้ง การแต่งตั้ง และการสรรหา ซึ่งเห็นว่าทั้ง 3 สิ่งนี้ล้วนเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ เช่น การทุจริตในการเลือกตั้งที่มีอยู่อย่างแพร่หลาย ส่วนการแต่งตั้งก็มักจะแต่งตั้งแต่พวกตัวเองขณะที่การสรรหาแม้จะเป็นวิธีที่อยู่กึ่งกลางระหว่างการแต่งตั้ง กับการเลือกตั้ง แต่ถ้าทำไม่ดี การสรรหาก็จะเป็นเพียงพิธีกรรมที่สร้างความชอบธรรมให้ดูดีกว่าการแต่งตั้งเท่านั้น แม้ว่าการสรรหาจะมีมาตรการและกลไกที่ดี สุดท้ายมันก็เป็นการเลือกของผู้ที่มีอำนาจ ซึ่งตนไม่ศรัทธาในระบบการสรรหา ดังนั้นจึงยังคงเห็นด้วยกับวิธีการเลือกตั้งที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมและร่วมกันหาวิธีการเลือกตั้งที่สุจริตเที่ยงธรรมไม่ให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ

“หลายคนตั้งคำถามว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นจะเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือไม่นั้น จะหายไปหรือไม่ ขณะนี้ยังให้คำตอบไม่ได้ แต่ยืนยันว่าสำนักงาน กกต.ไม่หาย เพราะองค์กรที่ควบคุมดูแลการเลือกตั้งไม่หายแน่นอน แต่ กกต.5 คนหายไม่หายไม่รู้ แต่คิดว่าไม่มีทางได้กำไร มีแต่เท่าทุนและขาดทุน หากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในส่วนของบทเฉพาะกาลเขียนว่าให้ กกต.ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะครบวาระ นี่คือเท่าทุน ส่วนขาดทุน หากบทเฉพาะกาลเขียนให้ดำรงตำแหน่งต่อไปแค่ครึ่งวาระ แต่ถ้าล่มจมที่สุดคือให้มีการสรรหา กกต.ชุดใหม่ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั่นเอง” นายสมชัยกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น