xs
xsm
sm
md
lg

“เพื่อไทย” ตั้งป้อมด่าร่าง กรธ.ทำรัฐบาลผสมอ่อนแอ - ปชป. คาดบัตรเลือกตั้งใบเดียวซื้อเสียงรุนแรง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ (ภาพจากแฟ้ม)
จับปฏิกิริยาสองพรรคใหญ่หลัง กรธ. เผยร่างแรกรัฐธรรมนูญ รองหัวหน้า ปชป. เผยสัปดาห์หน้าเตรียมหารือแกนนำพรรคประกาศท่าที ระบุ เห็นต่างเรื่องบัตรเลือกตั้งใบเดียว คาดซื้อเสียงรุนแรง เลือก ส.ว. ทางอ้อมเปิดช่องฮั้ว เหน็บตัดอำนาจคนดี ราชการแข็งแกร่ง ด้านพรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์ ระบุ ร่างรัฐธรรมนูญสร้างรัฐบาลผสมอ่อนแอ ขาดอิสระ ประชาชนสับสน สืบทอดอำนาจรัฐประหาร ด่าศาลรัฐธรรมนูญทำลายประชาชน องค์กรอิสระต้านรัฐบาล เกิดวิกฤตขัดขวางพัฒนาประเทศ

วันนี้ (29 ม.ค.) นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวหลังการแถลงเปิดเผยร่างรัฐธรรมนูญฉบับเบื้องต้น ของ นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่า สัปดาห์หน้าตนจะนัดหารือกับคณะผู้บริหารพรรคอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อประกาศท่าทีต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ในนามพรรค ซึ่งต้องมีการพูดคุยกันก่อน แต่ถ้า กรธ. ถามความเห็นของพรรค พรรคก็จะส่งความเห็นให้เช่นที่เคยทำมาตลอด แต่ส่วนตัวยังเห็นต่าง เรื่องการให้ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว เพราะ กรธ. วางกติกาให้มี ส.ส. 2 ระบบ ก็ควรใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ที่จะสะท้อนตรงตามเจตนารมณ์ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งมากกว่า และถ้าใช้ใบเดียวจะมีข้อเสีย คือ จะมีการซื้อสิทธิขายเสียงที่รุนแรงกว่าที่ผ่านมา เพราะในอดีต เราจะพบแค่ ส.ส. เขตทุจริต แต่หลังจากนี้ เมื่อกำหนดให้ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว เลือกทั้งระบบเขตและพรรค กังวลว่า จะมีการซื้อเสียงรุนแรงยิ่งขึ้น และจะแยกแยะได้อย่างไรว่า ส.ส. เขต หรือซื้อในนามพรรค

ส่วน ส.ว. ที่ระบุว่า ไม่ต้องคำนึงถึงนายทุน หรือพรรคการเมืองตามที่นายมีชัยแถลงนั้น ตนเห็นต่างว่าการซื้อเสียง หรือการฮั้ว ในนามผู้สมัคร ส.ว. ตามสาขาอาชีพ และซื้อเสียงในการเลือกตั้ง ส.ว. ของประชาชน จะทำได้ง่ายกว่าเดิม เพราะประชาชน ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่รู้จัก ผูกพันกับผู้สมัคร ส.ว. ซึ่งจะลงในนามกลุ่มสาขาอาชีพประชาชนก็จะไม่หวงแหนสิทธิ์ ที่สำคัญ ในหมู่ผู้ลงสมัคร ส.ว. อาจจะมีการลงขันซื้อเสียงให้คัดเลือกเฉพาะกลุ่มของตนเข้ามาเป็นคณะบุคคล หรือกลุ่มสาขาอาชีพ เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมมีผู้สมัคร ส.ว. 200 คน ต้องคัดเลือกกันเองให้เหลือ 10 คน ก็จะมีการฮั้วให้ผลประโยชน์ในหมู่ผู้สมัครขั้นแรกก่อน จากนั้นอาจมีการเจรจา หรือฮั้ว เพื่อให้เลือกไขว้กับกลุ่มสาขาอาชีพอื่น เพื่อให้เลือกกลุ่มคณะของแต่ละสาขากันเข้ามา ที่สุดแล้ว ส.ว. ที่มาจากสาขาอาชีพก็จะได้ไม่ตรงความต้องการของประชาชนในแต่ละสาขาอาชีพ ฟันธงเลยว่าจะเกิดปัญหาในการปฏิบัติมาในการเลือกตั้ง ส.ว.

“ผมเห็นด้วยกับการปราบคนโกง และมาตรการขจัดคนโกงเข้าสู่อำนาจการเมือง โดยการตัดสิทธิ์ไม่ให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้หลังการเลือกตั้งก็จะมีแต่คนดีเข้าสู่สภา เข้าสู่อำนาจการเมือง แต่ กรธ. กลับกติกาตัดอำนาจของคนดี ที่เข้าสู่อำนาจการเมืองให้มีอำนาจน้อยกว่าส่วนราชการ คนดีเหล่านี้จึงทำอะไรไม่ได้เลย เพราะถูกกรอบกติกาตัดทอนอำนาจ รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงตั้งใจที่จะสร้างระบบราชการให้แข็งแกร่ง และทอนระบบการเมืองให้อ่อนแอลง” นายนิพิฏฐ์ กล่าว

นายนิพิฏฐ์ ยกตัวอย่างเช่น การเสนอชื่อนายกฯ 3 คน ตนยืนยันว่า 2 พรรคใหญ่ จะเสนอคนในพรรคหรือหัวหน้าพรรคขึ้นเป็นแคนดิเดตนายกฯ แน่ แต่พรรคขนาดกลางและเล็กที่จะเข้าร่วมรัฐบาล จะเลือกจับกับพรรคใหญ่พรรคใดพรรคหนึ่ง โดยยื่นข้อเสนอว่าจะเข้าร่วม ก็ต่อเมื่อพรรคเล็ก จะเสนอคนนอกขึ้นเป็นนายกฯ ถือเป็นการเปลี่ยนดุลอำนาจ เพราะภาพของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกระบบเลือกตั้งที่ใช้แบบจัดสรรปั่นส่วนผสมให้มี ส.ส. 500 คน และถูกออกแบบมา ไม่ให้พรรคการเมืองใด ที่มีเสียง ส.ส. เกินกึ่งหนึ่งหรือ 251 เสียง

นายนิพิฏฐ์ กล่าวอีกว่า จากสถิติ การเลือกตั้ง ส.ส. บัญชีรายชื่อ คนไทยไม่เคยเลือก ส.ส. ระบบนี้เกินกึ่งหนึ่ง ดังนั้น การใช้บัตรใบเดียวเลือก ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อแล้วเอาคะแนนมาคำนวณ ตนฟันธงได้เลยว่าจะไม่มีพรรคใดได้ ส.ส. เกิน 251 เสียง ก็ต้องไปอาศัยมือจากพรรคกลาง หรือเล็ก มาร่วมเพื่อตั้งรัฐบาลจะเป็นการเปิดทางให้นายกฯ คนนอกเดินมือเปล่าเข้ามาบริหาร โดยไม่มีนโยบายใด ๆ เลย และการทำงานของรัฐบาลร่วม ก็จะทำงานร่วมกันได้ยากมากขึ้น ดังนั้น รัฐบาลหลังการเลือกตั้งที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะเป็นรัฐบาลที่อ่อนแอ จะทำให้คนไทยสิ้นหวังในระบอบประชาธิปไตย เพราะไม่สามารถแก้ไขปัญหาหลักสำคัญของชาติได้เลย คนจะเบื่อระบบประชาธิปไตย ที่ทำงานล่าช้า ที่สุดจะมีการเรียกร้องหาอำนาจพิเศษ จึงอยากขอคำอธิบายในคำถามทั้ง 3 ข้อนี้ต่อ กรธ. ช่วยชี้แจงต่อสังคมให้กระจ่างด้วย

ด้านพรรคเพื่อไทยได้ออกแถลงการณ์ ระบุว่า ตามที่พรรคเพื่อไทยได้เสนอความเห็นมาโดยตลอด ว่า ประเทศไทยต้องมีรัฐธรรมนูญที่ดี มีความเป็นประชาธิปไตยที่เป็นสากล เคารพในสิทธิมนุษยชน ยึดมั่นในหลักนิติรัฐ นิติธรรมมีดุลยภาพ และความรับผิดชอบขององค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยอย่างเหมาะสม ให้ความเคารพในอำนาจตัดสินใจของประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ และการมีส่วนร่วมของประชาชน เสริมสร้างความปรองดองสมานฉันท์และผลักดันการปฏิรูปประเทศในด้านต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม

พรรคเพื่อไทยได้เคยเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งสรุปสาระสำคัญโดยย่อดังต่อไปนี้

1. ต้องยึดหลักการประชาธิปไตย ที่อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริงมิใช่เป็นของบุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลใดเป็นการเฉพาะ

2. วางกลไกการบริหารจัดการประเทศที่ทุกองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตย สามารถปฏิบัติหน้าที่เพื่อประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้หลักนิติธรรมและธรรมาภิบาลโดยมีระบบตรวจสอบ ที่เหมาะสมซึ่งประชาชนมีส่วนร่วม

3. ต้องให้อำนาจประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจในการเลือกตั้งผู้แทนโดยตรง และผู้นำฝ่ายบริหารต้องมาจากตัวแทนที่ประชาชนเลือกเท่านั้น การเปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้งที่สังคมไทยคุ้นเคยเข้าใจดีและไม่มีปัญหา มีแต่จะยิ่งสร้างความยุ่งยาก มีปัญหา และไร้ประสิทธิภาพ

4. รัฐธรรมนูญต้องอยู่บนพื้นฐานที่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสมของสถานการณ์ ไม่ควรกำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ยากจนเกินไป

เมื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่ง นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน และได้เผยแพร่ต่อประชาชนให้ได้รับทราบ เห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่ปรากฏไม่เป็นประชาธิปไตยตามหลักสากล และไม่เป็นประชาธิปไตยแบบไทย ๆ ที่ประชาชนตกผลึกแล้วประชาชนถูกรอนสิทธิ อำนาจอธิปไตยของประชาชนถูกลิดรอน และถูกควบคุมกำกับโดยองค์กรที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง คนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเพียงไม่กี่คนเป็นผู้ตัดสินชะตาอนาคตของประเทศ จะมีรัฐบาลที่อ่อนแอ ขาดเสถียรภาพ ไม่อาจพัฒนาประเทศได้อย่างต่อเนื่อง คิดนโยบายระยะยาวไม่ได้ ไม่อาจแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากของพี่น้องประชาชนได้ โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้

1. สร้างระบบเลือกตั้งที่จะนำไปสู่การมีรัฐบาลผสมที่อ่อนแอ ตัดสิทธิของประชาชนที่มีโอกาสได้แยกเลือกผู้สมัครเขตออกจากการเลือกพรรคการเมือง สร้างความสับสนให้แก่ประชาชนบังคับประชาชนให้ลงคะแนนเลือกเฉพาะผู้สมัครเขต รัฐบาลอ่อนแอไม่อาจแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากของประชาชน เป็นอุปสรรคขัดขวางการพัฒนาประเทศ และไม่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ

2. ระบบเลือกตั้งใหม่จะนำไปสู่ความอ่อนแอของพรรคการเมือง นำไปสู่การต่อรองทางการเมือง และจะนำไปสู่การสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารโดยเปิดโอกาสให้ผู้ที่มิใช่ ส.ส. เป็นนายกรัฐมนตรี ในที่สุดจะนำไปสู่การถดถอยของประชาธิปไตยและอำนาจของประชาชน

3. เพิ่มอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญถอดถอนฝ่ายการเมือง และฝ่ายต่าง ๆ วินิจฉัยตีความรัฐธรรมนูญ ได้อย่างกว้างขวาง มีสิทธิขาดในการตีความรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยสร้างวิกฤตให้กับประเทศมาแล้วมากมายหลายครั้งเคยตัดสินคดีที่แสดงถึงการใช้กฎหมายอย่างฉ้อฉลหลายต่อหลายคดี ศาลรัฐธรรมนูญจะถูกใช้เป็นเครื่องมือทำลายตัวแทนของประชาชน

4. ให้องค์กรอิสระ (กกต., ป.ป.ช., สตง.) มีอำนาจเหนือรัฐบาลและรัฐสภาโดยการชี้ทิศทางและความเป็นไปในการบริหารราชการแผ่นดิน ทำให้รัฐบาลและรัฐสภาขาดความเป็นอิสระในการบริหารราชการแผ่นดินและในการตรากฎหมาย องค์กรเหล่านี้จะทำหน้าที่ต่อต้านนโยบายของรัฐบาล ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาของประเทศและประชาชนได้

5. การให้ ส.ว. ทั้งหมดมาจากการสรรหาของคนเพียงกลุ่มหนึ่งแสดงถึงการไม่เคารพในสิทธิของประชาชนที่จะเลือกผู้แทนของตนเองและความถดถอยของประชาธิปไตยไปมากกว่ารัฐธรรมนูญปี 50 เสียอีก ทั้งนี้ ก็เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มอำนาจปัจจุบันได้สร้างระบบตัวแทนของตนเองเพื่อสืบทอดอำนาจต่อไป

6. กำหนดกลไกการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทำให้ไม่อาจแก้ไขได้เลย เพราะต้องใช้เสียงวุฒิสภาซึ่งมาจากการสรรหาอย่างน้อยหนึ่งในสามและเสียงจากทุกพรรคการเมืองไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 จะทำให้เกิดปัญหาวิกฤตรัฐธรรมนูญขัดขวางการพัฒนาการเมืองและการพัฒนาประเทศอย่างสำคัญ

แม้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมีมาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตตามที่ กรธ. อ้างเสมอ แต่ก็ได้เห็นแล้วว่าผู้ร่างมีความจริงใจที่จะแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบเพียงใด ดังจะเห็นได้ว่าไม่มีมาตรการและระบบตรวจสอบในรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 เลยแม้แต่น้อย เปิดโอกาสให้มีการรับผลประโยชน์ตอบแทนได้หลายทาง หลายตำแหน่งในเวลาเดียวกัน นอกจากนั้น ก็มุ่งควบคุมแต่เฉพาะภาคการเมือง ละเว้นที่จะกำหนดมาตรการอื่น ๆ ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตจากฝ่ายอื่น ๆ เช่น การกำหนดให้ฝ่ายอื่น ๆ ซึ่งใช้อำนาจรัฐ ตลอดจนองค์กรอิสระทั้งหลาย และข้าราชการระดับสูง เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินต่อสาธารณะ และเมื่อโครงสร้างของระบบการเมืองและการปกครองประเทศ ซึ่งเป็นโครงสร้างระดับบนมีปัญหาและประชาชนไม่มีสิทธิมีเสียงในกระบวนการได้มาซึ่งองค์กรตรวจสอบต่าง ๆ แล้ว ก็หนีไม่พ้นที่จะเกิดวิกฤตทางอำนาจตามมา อันจะทำให้การแก้ปัญหาการทุจริตไม่อาจเกิดขึ้นได้จริง และโดยที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่างขึ้นในบรรยากาศแห่งการเสแสร้งรับฟังความคิดเห็นในระดับหนึ่งเพื่อให้ดูชอบธรรมแต่ไม่สนใจข้อเสนอแนะที่ให้ยึดหลักสากลและเชื่อมั่นในวิจารณญาณของประชาชน จึงเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่เลวร้ายกว่าร่างเดิม มีการสืบทอดอำนาจแบบแยบยลและเพิ่มอำนาจให้องค์กรต่าง ๆ ขึ้นมากมาย เพื่อครอบงำรัฐบาลที่ถูกออกแบบมาให้อ่อนแอกำหนดให้ผู้ที่มาจากการเลือกตั้งต้องถูกตรวจสอบและรับผิดชอบทุกอย่าง แต่คณะรัฐประหารและองค์กรสืบทอดอำนาจทำอะไรก็ได้ทุกอย่างโดยให้ถือว่าชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญทั้งหมดและเป็นที่สุด ห้ามฟ้องร้ององค์กรที่มาจากการเลือกตั้งต้องดำรงตนอยู่ในหลักนิติธรรม แต่องค์กรที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งอยู่นอกหลักนิติธรรมได้ที่กล่าวนี้ยังไม่รวมถึงเนื้อหาของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่จะกำหนดอำนาจหน้าที่ขององค์การต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญที่อาจจะหมกเม็ดอีกมาก

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำลายหลักการอันดีงามที่ประเทศเคยยึดถือ ถอยหลังลงคลอง และยังทำให้ความคิดแบบเผด็จการอำนาจนิยมสามารถกดหัวประชาชนต่อไป ยากที่ประเทศจะกลับคืนสู่สันติสุขได้พรรคเพื่อไทย จึงไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญดังที่ปรากฏนี้ พรรคเพื่อไทยขอเรียนย้ำว่า รัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตยจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะขาดความต่อเนื่องของนโยบาย ขาดความเชื่อมั่นของต่างชาติ ผลจากการรัฐประหารที่ผ่านมาเป็นที่ปรากฏชัดแล้วว่า สภาพเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบัน การบริโภคหยุดชะงัก การลงทุนหดหาย การลงทุนภาครัฐขาดประสิทธิภาพ การส่งออกหดตัวมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ เศรษฐกิจฐานรากตกต่ำ ประชาชนยากลำบากอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

พรรคเพื่อไทยหวังว่า ผู้ร่างรัฐธรรมนูญและผู้มีอำนาจทั้งหลายจะได้ตระหนักถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นหากว่าร่างรัฐธรรมนูญเช่นนี้มีผลบังคับใช้ และควรหาทางแก้ไขเสียเพื่อให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยังคงยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยที่ทุกฝ่ายพอที่จะยอมรับได้ และไม่เป็นต้นตอแห่งวิกฤตการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

รัฐบาลประชาธิปไตยที่เข้มแข็งเท่านั้นที่จะสามารถได้รับการสนับสนุนจากประชาชน และได้รับการยอมรับจากนานาอารยประเทศ ซึ่งจะทำให้เกิดความเชื่อมั่น และเกิดประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศและชีวิตของพี่น้องประชาชนได้


กำลังโหลดความคิดเห็น