“สมชัย” คาดหลังยกร่าง รธน.เสร็จเดือนตุลาฯ จัดการเลือกตั้ง เล็งลดจำนวน ส.ส.เขต โดยกำหนดเขตเลือกตั้งให้ใหญ่ขึ้น เพื่อแก้ปัญหาการซื้อเสียง พร้อมเสนอปรับวิธีเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรใหม่ให้คุ้มกับงบฯ ที่เสียไป ขณะเดียวกันชูปฏิรูปประเทศ 4 ด้านให้สำเร็จ พ่วงปฏิรูปสื่อ อ้างมีเสรีภาพมากจนตกเป็นเครื่องมือกลุ่มการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง บรรยายตอนหนึ่งในหัวข้อ “แนวโน้มและทิศทางการเลือกตั้งของไทย” ให้แก่ผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศไทย และผู้แทนสถานกงสุลใหญ่ไทยประจำประเทศต่างๆ จำนวน 92 ประเทศ ว่าตามแผนโรดแมปของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระยะที่ 2 เมื่อกระบวนการสรรหาสมาชิกสภาปกิรูปแห่งชาติ (สปช.) เสร็จสิ้นในช่วงเดือนตุลาคม ก็จะเริ่มกระบวนการปฏิรูปประเทศ ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งจะดำเนินการไปเรื่อยๆ จนถึงเดือน ก.ค. 2558 ถึงจะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ โดยจะไม่มีการทำประชามติถามความคิดเห็นของประชาชน เพราะการทำประชามติไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ใด อีกทั้งยังทำให้สูญเสียงบประมาณไปโดยเปล่าประโยชน์ และประชาชนส่วนใหญ่ก็ยังไม่มีความเข้าใจในตัวรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง ทั้งนี้ เมื่อรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้ว ก็เชื่อว่าจะมีการจัดการเลือกตั้งภายใน เดือนตุลาคมและจัดตั้งรัฐบาลได้ประมาณเดือน พ.ย. 2558
ส่วนรูปแบบการจัดการเลือกตั้งในอนาคต กกต. และ สปช.จะต้องเสนอแนวคิดร่วมกัน เพื่อให้ได้บุคลากรที่มีคุณภาพเข้าสู่ระบบการเมืองของประเทศ โดยโครงสร้างของ ส.ส.นั้น กกต.เห็นควรให้คงไว้ทั้ง 2 ประเภท คือ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง แต่จะลดจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตลงมาโดยกำหนดให้เขตเลือกตั้ง ส.ส.แต่ละจังหวัดมีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียง
ส่วนภารกิจของ กกต.หลังจากนี้ แม้จะไม่มีการเลือกตั้งทั้งระดับชาติและท้องถิ่น แต่ก็ยังต้องทำหน้าที่พิจารณาสืบสวนสอบสวนคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งที่ยังคั่งค้างอยู่ทั้ง ส.ส., ส.ว.และการเลือกตั้งท้องถิ่น แม้การเลือกตั้ง 2 ก.พ. 2557 จะเป็นโมฆะไปแล้ว แต่เมื่อการทำผิดกฎหมายยังอยู่ กกต.ก็ต้องดำเนินการโดยเป็นไปตามระเบียบและข้อกฎหมายทั้งนี้คาดว่าการสืบสวนสอบสวนคำร้องคัดค้านต่างๆ กกต.น่าจะพิจารณาแล้วเสร็จทั้งหมดภายใน พ.ย.-ธ.ค.ปีนี้แน่นอน
“เมื่อ กกต.ไม่ต้องจัดการเลือกตั้งหรือทำกิจกรรมเกี่ยวกับพรรคการเมือง ก็ควรใช้โอกาสและจังหวะนี้ปรับปรุงสิ่งต่างๆ ที่เป็นข้อบกพร่องหรือเป็นปัญหาอุปสรรคที่ส่งผลต่อการทำงานให้กลับมามีประสิทธิภาพ อย่าให้เหตุการณ์ซ้ำรอยเดิม เพราะจะไม่มีคำแก้ตัวให้กับ กกต.อีกแล้วว่าเป็นมือใหม่หัดขับ” กกต.ด้านกิจการบริหารเลือกตั้ง กล่าว
ส่วนข่าวที่มีกระแสข่าวอาจมีการยกเลิกการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ก็ยอมรับว่าจริง เพราะคนบางกลุ่มมองว่าคนออกมาใช้สิทธิ ค่าใช้จ่ายแต่ละครั้งสูง แต่ กกต.กลับมองว่าการเลือกตั้งที่ดีคือการเปิดโอกาสให้คนไทยออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งให้มากที่สุด ไม่ว่าคนไทยจะอยู่ที่ไหน หากมีโอกาสก็ควรต้องมาใช้สิทธิเลือกตั้งให้มากที่สุด และเป็นความภูมิใจ เพราะเป็นหนึ่งช่องทางที่พวกเขาจะได้ทำหน้าที่ของความเป็นคนไทย ด้วยเหตุนี้ กกต.จึงเห็นว่ามีความจำเป็นจึงต้องคงการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรไว้ แต่อาจจะต้องมีการปรับกลไกการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรจากเดิมให้เกิดประสิทธิภาพ คุ้มค่า ประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งส่วนตัวมองว่าต้องปรับลดวิธีการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรให้เหลือเพียงแบบเดียว คือการลงคะแนนเลือกตั้งทางไปรษณีย์ เพราะพัฒนาง่าย สะดวก ต้นทุนน้อยที่สุด รวมทั้งอาจต้องพัฒนาระบบเลือกตั้งแบบเปิดกว้าง อย่างเช่นประเทศญี่ปุ่นที่เปิดโอกาสให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าได้มากถึง 7 วัน
จากนั้น นายสมชัยได้เปิดโอกาสให้ผู้แทนของสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลได้ร่วมแสดงความคิดเห็นและตั้งคำถามเกี่ยวกับการเลือกตั้งเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ โดยส่วนใหญ่เห็นควรให้ยกเลิกหรือแก้ไขการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูง และอาจไม่คุ้มค่า ขณะที่บางส่วนมองว่าการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความรู้สึกผูกพันธ์กับประเทศ ซึ่งไม่สามารถนำมาคิดเป็นมูลค่าได้
นอกจากนี้ นายสมชัยยังกล่าวถึงการปฏิรูปประเทศด้วยว่า มองว่ามี 4 ด้านสำคัญที่ต้องปฏิรูปให้เกิดความสำเร็จ คือ ด้านการเมือง การออกแบบการเมือง รัฐธรรมนูญ การเลือกตั้ง ส.ส., ส.ว. การแก้ไขกลไกทางการเมือง ส่วนด้านกฎหมายและกระบวนยุติธรรม ซึ่งขณะนี้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นกลไกสำคัญในการร่างและผ่านกฎหมายสำคัญต่างๆ ขณะที่ด้านการปกครองท้องถิ่น การปฏิรูปต้องครอบคลุมไปถึงการได้มาซึ่งบุคลากรในองค์ปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีคุณภาพ แก้ไขปัญหาการซื้อเสียงทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ รวมถึงแก้ไขปัญหาการทับซ้อนขององค์กรปกครองท้องถิ่น ทั้งระดับ อบต. เทศบาล และ อบจ. และด้านสื่อมวลชน เนื่องจากทุกวันนี้สื่อมวลชน มีเสรีภาพ จนตกเป็นเครื่องมือหรือกลไกสร้างความชอบธรรมให้กับฝ่ายการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทำให้สื่อกลายเป็นเครื่องมือของการเมือง ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องดำเนินการแก้ไข
“โดยส่วนตัวมองว่าหากไม่มีการปฏิรูปสื่อ การปฏิรูปในด้านอื่นๆ ก็อาจจะล้มเหลวทั้งหมด ส่วนการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และอื่นๆ ถือเป็นเรื่องใหญ่เกินกว่าจะทำให้สำเร็จได้ภายใน 1 ปี ดังนั้นจึงอาจเป็นการจุดประกายเพื่อส่งมอบให้รัฐบาลชุดต่อไปนำไปดำเนินการ”
นายสมชัยให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมถึงแนวโน้มการเลือกตั้งในประเทศไทยว่า ตามระยะเวลาที่ คสช.วางไว้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่น่าจะผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ในช่วง ก.ค. 2558 จากนั้นอาจจะใช้เวลา 1 เดือนในการออกกฎหมายประกอบรัฐธรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรฯนูญว่าด้วยพรรคการเมือง หลังจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องเรียบร้อย ก็น่าจะมีการเลือกตั้งในช่วงเดือน ต.ค. 2558 ส่วนการได้มาซึ่งรัฐบาลจากการเลือกตั้งนั้น ขึ้นอยู่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะกำหนดให้ กกต.ต้องประกาศผลการเลือกตั้งภายในเวลาเท่าใด แต่หากเป็นรูปแบบเดิมก็จะต้องประกาศผลภายใน 30 วัน ก็จะทำให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ในเดือน พ.ย. 2558 แต่ก็ยังเป็นที่ถกเถียงอยู่ว่า กกต.ควรจะใช้เวลาในการตรวจสอบเรื่องใบเหลืองใบแดง เพื่อสกัดกั้นคนที่ได้รับเลือกตั้ง จากการหาเสียงอย่างไม่เหมาะสมนั้น ควรใช้เวลามากกว่า 30 วันหรือไม่ อย่างไรก็ตามหากทุกอย่างเป็นไปตามกำหนดเวลาการมีรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งไม่น่าจะเกินเดือนธันวาคม 2558
นายสมชัยกล่าวว่า ระหว่างที่ยังไม่มีการจัดการเลือกตั้ง กกต.ก็จะแก้ไขกฎหมายใน 2 ด้าน คือ 1. การปฏิรูปกลไกภายในของ กกต. ที่ทำให้การบริหารจัดการเลือกตั้งมีประสิทธิภาพขึ้น ปฏิรูประบบการสืบสวนสอบสวนเพื่อให้มีระบบป้องปรามและจัดการกับคนที่ทำผิดกฎหมายเลือกตั้งได้อย่างเต็มที่ และ 2. การสนับสนุนการปฏิรูปประเทศ ทั้งด้านการเมือง ด้านการปกครองท้องถิ่น รวมทั้งด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ซึ่งการปฏิรูปเรื่องเหล่านี้จำเป็นต้องมีข้อเสนอของ กกต.ด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่าในฐานะตัวแทนของ กกต.ที่ถูกเสนอชื่อเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จะเสนอแนวคิดในการปฏิรูปอย่างไร นายสมชัยกล่าวว่า การที่ กกต.เสนอชื่อบุคคลเข้ารับการสรรหาเป็น สปช.นั้น เพราะเรามีส่วนเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง จึงต้องมีบุคลากรที่มีความเห็นที่มีประโยชน์ในการเข้าไปทำหน้าที่ใน สปช. อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าบุคคลที่ กกต.เสนอชื่อไม่มีความได้เปรียบเสียเปรียบจากบุคคลที่นิติบุคคลอื่นๆ เสนอ เพราะคณะกรรมการสรรหา แต่ละด้านจะเป็นผู้คัดเลือกผู้ที่เหมาะสมและเสนอชื่อให้ คสช.คัดเลือกอีกครั้งหนึ่ง
ส่วนการออกแบบกลไกการเลือกตั้งนั้นเป็นเรื่องที่ต้องคิดร่วมกัน แต่เรื่องที่สำคัญคือทำอย่างไรจะคัดกรองคนดี คนที่มีความสามารถเข้าไปสู่การเมือง ขณะเดียวกันก็ต้องมีกระบวนการคัดกรองคนที่ไม่เหมาะสม ทุจริตการเลือกตั้ง หรือหวังเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ออกไปจากระบบการเมืองให้ได้ ซึ่งหากได้คนดีมีความสามารถเข้ามาในการเมืองไทย ก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงประเทศไปในทางที่ดีได้