ที่ปรึกษา คสช.คาดอีก 1 สัปดาห์ สนช.จะเลือกนายกฯ เข้ามาตั้งรัฐบาล ต้นกันยาฯ แถลงนโยบายก่อนเข้าบริหารประเทศ ส่วน สปช.แค่ทำหน้าที่เสนอแนวทางปฏิรูป หน่วยงานรัฐต้องรับไม้ต่อ
นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในงานกิจกรรม “เส้นทางการปฏิรูประเทศไทย” ว่าสองสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีกระบวนทางการเมืองที่สำคัญ เริ่มจากมีรัฐธรรมนูญชั่วคราว ต่อมามีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และระหว่างนั้นก็มีพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการสรรหาสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยกระบวนการต่อไปภายในหนึ่งสัปดาห์หรืออาจเลยล่วงเวลาเล็กน้อย สนช.ก็คงจะมีการเลือกผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากนั้นอีกหนึ่งสัปดาห์ นายกฯ จะได้จัดตั้งรัฐบาล และคาดว่าช่วงต้นเดือน ก.ย. รัฐบาลจะแถลงนโยบายต่อ สนช. แม้รัฐธรรมนูญชั่วคราวจะไม่ได้กำหนดไว้ แต่ถือเป็นประเพณีปกครองที่ต้องทำ
นายวิษณุกล่าวว่า สปช.ถือเป็นองค์กรที่เกิดขึ้นใหม่และมีความสำคัญ ในการคิดอ่าน เสนอแนะแนวทางปฏิรูปประเทศ ที่ต้องกล่าวเช่นนี้ เพราะสปช.ไม่ได้มีหน้าที่ปฏิรูป เพียงแต่เป็นผู้คิดอ่านและเสนอแนะแนวทางปฏิรูปเท่านั้น ผู้ที่ทำการปฏิรูปคือรัฐบาลเอง เจ้าหน้าที่รัฐ และภาคเอกชน
ทั้งนี้ การจะให้หลายภาคปฏิรูปไปในทิศทางเดียวกันถือเป็นเรื่องยาก จึงได้มีการตั้ง สปช.ขึ้นมาเพื่อที่จะได้คิดแนวทางให้เป็นทิศทางเดียวกัน เพื่อให้เป็นกิจจะลักษณะ ขณะเดียวกัน สปช.ไม่ได้ผูกขาดแค่ 250 คน เพราะในประเทศมีคนจำนวนมากที่มีความสามารถแต่อาจขาดคุณสมบัติ สปช. ดังนั้นทุกภาคส่วนก็สามารถเสนอแนวทางการปฏิรูปผ่านหน่วยงานต่างๆ ได้ เพราะที่สุดแล้วหน่วยงานต่างๆ ก็จะเสนอความคิดเห็นเหล่านั้นมายัง สปช.
นายวิษณุกล่าวอีกว่า สปช.ถือเป็นของใหม่ แม้ความคิดที่จะมีเวทีแบบนี้มีก่อนหน้านี้ แต่ที่จะเรียกว่า สปช. และระดมคนความคิดและมีอำนาจและหน้าที่เช่นนี้ น่าจะยังไม่เคยปรากฏมาก่อน และรัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดให้รัฐบาลมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน ปฏิรูป และสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ซึ่งก่อนหน้านี้ที่มีการเรียกร้องเรื่องที่นอกเหนือจากการบริหารราชการแผ่นดิน รัฐบาลก็ไม่ดำเนินการ แต่เมื่อมีการบัญญัติไว้เช่นนี้ก็ถือเป็นหน้าที่
“คิดว่าแนวทางการปฏิรูปน่าจะเป็นไปได้ เพราะการปฏิรูปเปรียบเสมือนการปรบมือ หาก คสช.ปรบมือข้างเดียวคงไม่ดัง ต้องมีอีกข้างของพวกท่านทั้งหลายในการเสนอแนะแนวทางการปฏิรูปมาเป็นมืออีกข้าง เสียงถึงจะดังขึ้น หาก คสช.คิดแนวทางการปฏิรูปเองได้ ก็คงทำไปตั้งแต่สองเดือนที่แล้ว วันนี้จึงเป็นเวลาที่เชิญมืออีกข้างมาทำให้เสียงดังขึ้น และระยะเวลา 1 ปี เราก็ต้องทำในสิ่งที่เร่งด่วนก่อนโดยมีสปช.เป็นเจ้าภาพ”
นายวิษณุกล่าวเพิ่มเติมว่า การปฏิรูป คือ การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงประเทศไปในทางที่ดีขึ้น หากปรับปรุงอะไรเล็กน้อย ทำได้ในระยะเวลารวดเร็ว แต่ไม่สามารถเรียกว่า ปฏิรูปได้ เพราะการปฏิรูปคือเปลี่ยนรูปแปลงร่างใหม่ คนที่อธิบายคำว่า “ปฏิรูป” ได้ดี คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อ 130 ปีที่แล้ว ท่านทรงรับสั่งว่าประเทศสยามเปรียบเหมือนเรือที่ต้องออกหาปลาทุกวัน ทำแบบนี้ทุกวัน เรือจึงทรุดโทรม ทำได้เพียงแค่ปะผุไปวันๆ หากทำแบบนี้ก็เห็นว่าเรือจะล่มเป็นแน่ จึงจำเป็นต้องจอดเรือ ตั้งธง เปลี่ยนไม้ ตอกตะปู ขึงใบใหม่ จำเป็นต้องจอดเรือแรมเดือน ระหว่างนั้นต้องหาเรือเล็กออกทะเลหาปลาไปก่อน ดังนั้นประเทศสยามเปรียบเหมือนเรือลำนั่น วันนี้ประเทศไทยเราจะทำแค่ปะผุ หรือจะยกเครื่อง นี่คือคำตอบว่าปฏิรูปคืออะไร
สำหรับคำถามที่ว่าทำไมต้องปฏิรูป พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.อธิบายไว้ชัดเจน ว่า ปกติอะไรที่ใช้นานย่อมเสียเป็นธรรมดา ประเทศอยู่มานานก็ต้องซ่อมและทำนุบำรุง โลกเปลี่ยน คนเปลี่ยน ระบบก็ต้องเปลี่ยน วิธีคิดก็ต้องเปลี่ยน เพราะแค่หยุดเดินก็ถือว่าถอยหลัง นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมต้องปฏิรูปประเทศ
นายวิษณุยังกล่าวถึงวิธีการปฏิรูปว่า สปช.จะเป็นศูนย์เจ้าภาพ เมื่อ สปช.เสนอแนะอะไรมาก็จะมีผู้รับไปดำเนินการ เช่น รัฐบาล หน่วยงานภาครัฐ เป็นต้น นอกจากนี้ยังให้อำนาจ สปช.ในการยกร่างกฎหมายที่เห็นว่าล้าหลังด้วย และหน้าที่หลักๆ มีอยู่ 2 เรื่อง คือ การเสนอแนวทางการปฏิรูป และการให้ความเห็นชอบรัฐธรรมนูญ ที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะร่างขึ้นมาในระยะเวลา 4 เดือน ตามแนวทางที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวทั้ง 11 ด้าน ซึ่งในส่วนนี้สปช.มีอำนาจดูว่ามีส่วนใดแก้ไขหรือไม่ แล้วเสนอกลับไปให้ กมธ.พิจารณา แต่หลังจากนั้นจะไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญอีก ทำได้เพียงแค่เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เมื่อมี สปช.ขึ้นมาแล้วก็หวังว่าจะมีแนวคิดดีๆส่งไปยังรัฐบาลรัฐบาลดำเนินการ ทำ หากไม่เสร็จภายในตามที่กำหนด 1 ปี ก็เชื่อว่าการปฏิรูปต้องเดินหน้าต่อไปอีก
จากนั้นนายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ชี้แจงขั้นตอนการสรรหา สปช.ระดับจังหวัดและรายละเอียดในการเสนอรายชื่อ บุคคลเข้าสู่การสรรหาเป็น สปช.ทั้ง 11 ด้าน พร้อมทั้งเน้นย้ำถึงบุคคลที่จะเข้าสู่การสรรหาเป็น สปช.ว่าต้องกรอกข้อมูลที่เป็นจริง หากพบว่าเป็นข้อมูลเท็จจะถือเป็นความผิดทางอาญาได้ เพราะเอกสารดังกล่าวถึงเป็นเอกสารราชการ