xs
xsm
sm
md
lg

ท่านนายกฯ พึงระวัง

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

ครบหนึ่งสัปดาห์พอดี หลังจากที่เราได้รู้หน้ารู้ตัวนายกฯ ใหม่ จากความเห็นชอบของ สนช. เมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว

และวันจันทร์ที่ 25 นี้เอง ที่มีพระบรมราชโองการฯ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอย่างเป็นทางการตามกฎหมายและนิติราชประเพณี ให้ท่านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็น นายกรัฐมนตรี คนที่ 29 ของประเทศไทยโดยสมบูรณ์

แม้จะมีเสียงทัดทานทัดท้วงบ้าง ว่าจะฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ ในประเด็นเรื่องการดำรงตำแหน่งทับซ้อน แต่นั่นก็ดูมีเหตุผลไม่เพียงพอ และเรื่องเช่นนี้ก็ฟ้องศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน 2557 ไม่ได้ด้วย

ส่วน ครม.นั้น ก็เห็นว่าจะได้รอดู ก็อาจจะเดือนตุลาไปเลย เพราะอาจจะต้องรอให้ว่าที่รัฐมนตรีเกษียณจากตำแหน่งเสียก่อน แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหาอะไร เพราะเราก็บริหารประเทศมาได้สามเดือนสี่เดือนโดยไม่มีรัฐมนตรีสักคนอยู่ในขณะนี้

เรื่องใครจะได้เป็นรัฐมนตรีในตำแหน่งไหน ก็มีคนมาแบ่งรับแบ่งสู้ หรือยอมรับกันแล้วว่าพร้อมเป็น ก็คงเดาได้ ส่วนที่ยังไม่นิ่งก็คงยังต้องลุ้นกันต่อไป

ส่วนผลการตอบรับของประชาชนต่อตัวท่านนายกฯ โดยรวมก็ยังต้องถือว่ายังดีมากอยู่ คือคนส่วนใหญ่ นับตั้งแต่ชาวบ้านร้านตลาดที่ได้สัมผัส ไปจนถึงนักลงทุน ต่างก็ยอมรับ สำหรับชาวบ้านนี่ถึงขนาดชื่นชอบเลยทีเดียว ส่วนนักลงทุนที่สะท้อนผ่านตลาดหุ้นก็พบว่าหุ้นมีแนวโน้มเติบโตดี พ้นจากวิกฤตช่วงปิดกรุงเทพฯ ได้ สะท้อนถึงความมั่นใจของนักลงทุนที่แสดงออกมาผ่านการลงทุนในตลาดหุ้นนั้น

อย่างไรก็ตาม มีสิ่งที่ท่านนายกฯ พึงต้องระวังอยู่บ้าง ในฐานะคนที่เอาใจช่วยให้ภารกิจของท่านสำเร็จลุล่วงสมปรารถนาที่จะมาช่วยบ้านเมือง อยากจะตั้งข้อสังเกตเอาไว้

นั่นคือ ก่อนหน้านี้ ท่านจะใช้อำนาจเด็ดขาด จะเสียงดัง ทุบโต๊ะ หรือชี้หน้าอย่างไรก็ได้ ไม่มีใครถือสา หรือบางคนอาจจะเห็นด้วยยอมรับได้ เพราะนั่นถือว่าท่านกระทำในนามหัวหน้า คสช. หรือหัวหน้าคณะที่มารักษาความ “สงบเรียบร้อย” ให้แก่บ้านเมือง

หรือพูดง่ายๆ ว่า เป็นรัฐบาลในภาวะคับขัน หรือในสภาวะฉุกเฉินอันไม่ปกติ ซึ่งเพื่อขจัดปัดเป่าสภาวะเช่นนั้น ความเด็ดขาด แข็งกร้าว จึงเป็นสิ่งที่ยอมรับกันได้

อุปมาเหมือนคนเจ็บหนักต้องยอมรับว่า ต้อง “เจ็บเนื้อเจ็บตัว” กันบ้างเพื่อรักษาโรคร้ายแรงและเรื้อรัง

แต่เมื่อท่านตัดสินใจเข้ามารับตำแหน่งนายกฯ เข้ามาจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยปกติ มีสภาฯ มีรัฐบาล ถือว่าท่านลุกออกมาพ้นจากสภาวะผู้จัดการสภาวะวิกฤตกลับมาสู่ผู้บริหารประเทศ ในภาวะปกติแล้ว คือออกมาเป็น “นายกรัฐมนตรี” เยี่ยงพลเรือน เป็นตำแหน่งทางการเมือง เพื่อการบริหารประเทศ ไม่ใช่แค่มาปัดเป่าบรรเทาปัญหา

บทบาทของท่าน รวมทั้งวิธีการของท่านในบทบาทนั้น ก็ควรแตกต่างกันออกไป การใช้อำนาจ หรือการแสดงบทบาทของท่านในแบบเดิมๆ เด็ดขาด ขึงขัง มาคนเดียว ในแง่นี้ก็อาจจะทำให้คนสับสนว่า ตกลงแล้วท่านอยู่ในฐานะใดแน่

และในที่สุดอาจจะเป็นช่องให้คนที่มุ่งโจมตีท่านอยู่แล้ว เช่นเรื่องการนั่งควบสองเก้าอี้ นำมาใช้โจมตีได้ และอาจจะทำให้ฝ่ายตรงข้ามที่ยังไม่ตายสนิทดีถือโอกาสผสมโรง

สิ่งที่เห็นว่าท่านควรต้องระวังไว้นั้น นอกจากเรื่องรูปแบบการใช้อำนาจแล้ว ยังได้แก่เรื่องของการยอมรับในสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการ “แสดงความไม่เห็นด้วย” กับรัฐบาลได้มากขึ้น

เพราะเมื่อในขณะที่มีการจัดตั้งรัฐบาลได้สมบูรณ์แบบแล้ว รัฐบาลเองในรูปแบบระบอบประชาธิปไตยนั้นต้องถือว่ารับผิดชอบต่อประชาชน คือประชาชนย่อมติชมไม่เห็นด้วยได้

ในสมัยการใช้อำนาจผ่าน คสช.นั้นการออกมาป้องปรามผู้ต่อต้าน คสช.ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไหนนั้น ก็อาจจะยอมรับได้ เนื่องจากอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้วว่า เป็นการใช้อำนาจเด็ดขาดชั่วคราวเพื่อการแก้ไขปัญหาความแตกแยก ดังนั้นทุกกิจกรรม “ไม่สงบเรียบร้อย” หรือ “ต่อต้าน” ไม่ว่าจะเล็กจะน้อยหรืออย่างไร ก็ต้องจัดการอย่างเด็ดขาดให้หมด หาไม่แล้วก็จะทำให้การแก้ไขปัญหานั้นยากขึ้นไป

แต่สำหรับรัฐบาลสมบูรณ์แล้ว การ “คัดค้าน” ที่ไม่ถึงขนาด “ต่อต้าน” รัฐบาล เห็นทีว่าควรจะต้องยอมปล่อย ยอมให้โอกาส ยอมให้พื้นที่ทำกิจกรรมหรือแสดงออกซึ่งการคัดค้านเช่นนั้นได้บ้าง

ภาพของการอุ้มจับคุณวีระ สมความคิด รวมทั้งเครือข่ายขาหุ้นพลังงานนั้น เป็นภาพที่ดูไม่ดีเอาเสียเลย สำหรับการเปิดศักราชในฐานะนายกรัฐมนตรี

นั่นจริงอยู่ที่ว่า ขณะนี้มีกฎอัยการศึก และการกระทำของคุณวีระนั้นก็เป็นการขัดหรือผิดกฎอัยการศึกจริงๆ แต่ก็ต้องพิจารณาด้วยว่า กลุ่มของคุณวีระนั้นไม่ได้ก่อความไม่สงบเรียบร้อยอันใดเลย ไม่ได้ต่อต้านการทำรัฐประหาร ไม่ได้ต่อต้านรัฐบาลด้วยซ้ำ เพียงแต่มาแสดงความคิดเห็นในเรื่องพลังงานเท่านั้น ไม่มีการปิดถนน ไม่มีการปลุกระดมใดๆ

เมื่อมีรัฐบาลเต็มตัว กิจกรรมการประท้วงที่ไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่สังคมเช่นนี้ ควรเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ในระดับหนึ่ง เท่าที่ไม่รบกวนผู้คนจนเกินสมควร

กับอีกเรื่องที่เหมือนจะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็อาจจะเป็นประเด็นได้เหมือนกัน คือการออกโทรทัศน์ของท่านในรูปแบบของโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ หรือรายการพิเศษของ คสช.

อันนี้ก็เช่นกัน คือในภาวะไม่ปกติ การที่ คสช.ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจในสถานะนั้น จำเป็นจะต้องออกมาบอกกล่าวเล่าความ หรือรายงานผลต่อประชาชนว่าการปฏิบัติงานที่ผ่านมาได้ทำอะไรไปแล้ว เหลืออะไรบ้าง จะทำอะไรต่อไป มีอะไรติดขัดพึงแก้ไขนั้นเป็นเรื่องจำเป็นและต้องทำ เพราะเป็นเหมือนการ “ควบคุมอำนาจการบริหารประเทศชั่วคราว” ดังนั้นการชี้แจงให้ทั่วถึง การ “แถลงแกมบังคับ” ให้ประชาชนทุกคนต้องดูต้องฟัง จึงเป็นสิ่งจำเป็น

แต่ถ้าจะเริ่มบริหารประเทศใน “ระบบปกติ” การแถลงเช่นนี้ ถึงจะมีต่อไป ก็ควรเป็นไปตามความสมัครใจของผู้ชม คือไปถ่ายทอดแบบรายการปกติ พวกนายกฯ พบประชาชนอะไรอย่างที่รัฐบาลก่อนๆ เคยทำมา ที่ช่องไหนสักช่องหรือสองช่องก็ได้ แต่ไม่ใช่รูปแบบการรวมการเฉพาะกิจเช่นทุกวันนี้

ข้อระวังต่างๆ ที่เสนอมานี้ อาจจะดูเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ หรือจุกจิกหยุมหยิม แต่ถ้าท่านประสงค์จะไม่ให้เกิดภาพ “รัฐบาลทหาร” หรือ “รัฐบาลเผด็จการ” อย่างที่หลายฝ่ายโดยเฉพาะสื่อนอกหรือต่างประเทศพยายามสร้างภาพ เล็กๆ น้อยๆ นี้ก็จำเป็น

เพื่อแสดงให้เห็นว่า แม้เราจะอยู่ในช่วงเวลาปฏิรูป แม้เราจะได้นายกฯ เป็นทหาร หรือมาจากคณะ คสช.ที่เป็นผู้ยึดอำนาจการปกครองมาก็ตาม แต่เราก็บริหารประเทศอย่างเป็นประชาธิปไตย ยอมรับสิทธิเสรีภาพของประชาชนในระดับหนึ่ง ควบคู่ไปกับการปฏิรูปประเทศอย่างจริงจัง

เพราะอย่างที่บอก การบังคับ ความเข้มงวด ในระยะสั้นประชาชนทั่วไปยอมรับและเข้าใจได้ แต่นานไป หรือมากไปก็อาจจะมีปัญหา และเป็นช่องให้คนที่เฝ้ารอจังหวะอยู่แล้วถือโอกาสมาซ้ำเติมได้หากเพลี่ยงพล้ำ
กำลังโหลดความคิดเห็น