xs
xsm
sm
md
lg

“ประยุทธ์” ประกาศไม่กำจัดฝ่ายใด - สัญญาณแตะมือบริหารราบรื่น!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผ่าประเด็นร้อน

ทำเอาตาลุกหูผึ่งขึ้นมาทันทีกับคำแถลงของ “นายกรัฐมนตรีคนใหม่” คนที่ 29 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ประกาศว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ภายในเดือนตุลาคม ยังดีที่มีการให้ทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาแถลงชี้แจงว่าเป็นการพูดผิด ที่ถูกต้องก็คือ “ภายในเดือนกันยายน” ตามกำหนดเดิมตามที่เคยระบุเอาไว้ก่อนหน้านี้

เกือบเป็นเรื่องขึ้นมาเพราะถ้าเป็นภายในเดือนตุลาคมก็ต้องลากยาวไปอีกหนึ่งเดือน ซึ่งมันก็เปลี่ยนแปลงไปจากกำหนดเอาไว้ในโรดแมป กระทบความเชื่อมั่นหลายอย่างตามมา แต่เอาเถอะเมื่อมีการแก้ไขคำพูดมาเป็นแบบเดิมก็ให้ผ่านไป

สิ่งที่ต้องมาพิจารณากันก็คือ คำแถลงอย่างเป็นทางการครั้งแรกของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังรับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรี ถึงความมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาของบ้านเมือง ซึ่งมีทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคม การเมือง รวมทั้งความสัมพันธ์กับต่างประเทศนับจากนี้ไป แม้จะเป็นการแถลงแบบสั้นๆ แต่ก็มีความหมาย เพราะเป็นการร่างเป็นหนังสือและต้องผ่านการกลั่นกรองเป็นอย่างดีมาแล้ว ดังนั้นมันก็เหมือนเป็นคำสัญญาอย่างเป็นทางการ

แต่สิ่งที่ต้องมาพิจารณากันก็คือ ช่วงหนึ่งที่เขาเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเข้ามาร่วมกันแก้ไขปัญหาบ้านเมือง โดยเรียกร้องให้เข้ามาร่วมในสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) และย้ำว่า “ไม่ปิดกั้นและไม่กำจัดฝ่ายใด”

คำพูดจากท่อนดังกล่าวมันย่อมตีความออกมาได้หลายอย่าง อย่างแรกการที่บอกว่า “ไม่กำจัดฝ่ายใด” ก็หมายความว่าต่อไปจะไม่มีการไล่ล่าจัดการกับกลุ่มที่ยังมีการเคลื่อนไหว แน่นอนว่า “ฝ่ายใด” ที่ว่าย่อมหมายถึง “เครือข่ายทักษิณ” ซึ่งที่ผ่านมาหลังจากเข้ายึดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในนามของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คนกลุ่มนี้ถือว่าได่รับผลกระทบต้องสูญเสียอำนาจและผลประโยชน์ทันที และแม้ว่าภาพภายนอกในรอบสามเดือนที่ผ่านมาจะดูราบรื่น แต่ภายในลึกๆ ยังมีการเคลื่อนไหวต่อต้านกันอยู่ตลอดเวลาทั้งในและนอกประเทศ

เมื่อวันก่อน พล.อ.ประยุทธ์เคยปรามให้หยุดเคลื่อนไหวต่อต้านมาแล้ว อย่างไรก็ดีแม้ว่าจะมีการต่อต้านอยู่ตลอดเวลาก็ตาม เพียงแต่ว่า “ยังจุดไม่ติด” ยังไม่มีกระแสต่างหาก ทางหนึ่งเป็นเพราะระบบทักษิณได้สร้างปัญหาให้บ้านเมืองมามาก จนเกิดมวลมหาประชาชนออกมาขับไล่ภาพแบบนั้นยังฝังใจไม่ลืม

ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งถ้ามี ก็คงเป็นกลุ่มที่ “ไม่เอาระบอบทักษิณ” เพียงแต่ว่ากลุ่มนี้อาจมีลักษณะพิเศษออกไปจากกลุ่มแรกนั่นคือเคลื่อนไหวต่อต้านผู้มีอำนาจใดก็ตามที่ทุจริตใช้อำนาจมิชอบ ซึ่งเวลานี้กำลังเคลื่อนไหวเรียกร้องใหคณะรักษาความสงบแห่งชาติปฏิรูปพลังงานเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ และเริ่มถูกปราม ถูกจับกุมกันไปบ้างแล้ว

อย่างไรก็ดี หากพิจารณากันตามสถานการณ์จริงจะเห็นว่า คสช.และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พยายามดำรงสถานะในลักษณะอยู่ตรงกลาง ไม่ต่างจาก “กรรมการห้ามมวย” หรือมองว่าทั้งสองฝ่ายทะเลาะกัน สร้างปัญหาทำให้บ้านเมืองเดือดร้อน เขาและ คสช.จึงต้องเข้ามาห้ามทัพ เข้ามารักษาความสงบ ดังที่ปรากฏในคำปรารภในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 หรือแม้แต่ร่างเจตนารมณ์ของประกาศหรือคำสั่ง คสช.ก่อนหน้านี้ก็ออกมาในลักษณะเดียวกัน ไม่ได้แยกแยะออกมาว่าฝ่ายระบอบทักษิณ ใช้อำนาจบริหารบ้านเมืองทุจริตมิชอบ ใช้มวลชนข่มขู่คุกคามมีพฤติกรรมจาบจ้วงทำลายสถาบันเบื้องสูง สร้างความเดือดร้อนรำคาญจนชาวบ้านทนไม่ไหวต้องรวมพลังกันขับไล่

แต่ถึงอย่างไรหากต้องการบริหารบ้านเมืองให้ราบรื่น ภายใต้แรงกดดันรอบด้าน และภายใต้เงื่อนไขของการเข้าสู่อำนาจในลักษณะรูปแบบ “เผด็จการ” อีกด้านหนึ่งก็กลายเป็นเงื่อนไขและจุดอ่อนได้ตลอดเวลา หากเมื่อใดก็ตามที่เกิดปัญหาผิดไปจากเป้าหมาย นั่นคือหากมีการแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจปากท้องไม่ดีขึ้น ราคาสินค้ายังแพง รวมไปถึงราคาสินค้าเกษตรยังไม่กระเตื้อง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเงื่อนไขและนำไปสู่ปัญหาอื่นตามมา หรือแม้แต่การปฏิรูปพลังงานหากวันข้างหน้าความจริงปรากฏออกมาผิดไปจากเป้าหมายถูกมองว่า “ฮั้ว” กับกลุ่มผลประโยชน์ด้านพลังงาน ถึงตอนนั้นก็ยุ่งเหมือนกัน ดังนั้นเพื่อป้องกันเอาไว้ล่วงหน้า จำเป็นต้องแตะมือส่งสัญญาณปรองดองเอาไว้ก่อน อย่างน้อยก็ย้ำท่าทีไปถึงเครือข่าย ทักษิณ ที่ยังเคลื่อนไหวใต้ดินให้อยู่นิ่งๆ หากไม่สร้างความปั่นป่วนก็ไม่ไปยุ่งอะไรทำนองนี้หรือเปล่า

และที่ผ่านมา “นายใหญ่” ทักษิณ ชินวัตร ก็ส่งสัญญาณออกมาก่อนแล้วว่าให้ความร่วมมือกับ คสช.และรัฐบาลใหม่ อย่าไปขัดขวาง ปล่อยให้ทำงานอย่างเต็มที่ เพราะเขามั่นใจว่าภายใต้โรดแมปหนึ่งปีข้างหน้าเขาก็จะกลับมามีอำนาจอีกรอบภายใต้ประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง

อย่างไรก็ดี นั่นเป็นระบบคิดของทักษิณ ที่รอโอกาสกลับมาในอีกไม่นาน แต่สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ตีความหมายออกมาแล้วว่าทุกกลุ่มมีปัญหา จนต้องออกมาห้ามทัพและเข้ายึดอำนาจ แต่ปัญหาก็คือเขาต้องมองว่ารัฐบาลของเขาต้องสามารถบริหารอย่างราบรื่น ไร้แรงต้าน อย่างน้อยก็ในช่วง “เฉพาะกิจ” เฉพาะหน้า ส่วนหลังจากนี้ในอนาคตแม้ว่าหลายฝ่ายมองว่าเขาคงต้องการ “อยู่ยาว” ไม่ต่ำว่า 4-5 ปี แต่นั่นมันยังมาไม่ถึง แต่นาทีนี้ต้องการให้เกิดปัญหาน้อยที่สุดก็ต้องขอความร่วมมือแตะมือออกไปก่อน

เนื่องจากรู้ดีว่านับจากนี้ไปจะต้องเจอกับปัญหาอะไรบ้าง ภายใต้สถานะนายกรัฐมนตรี!!
กำลังโหลดความคิดเห็น