xs
xsm
sm
md
lg

ที่ปรึกษากฎหมาย กกต.หวั่นจุดย้อนแย้งรัฐมัดคอ ถกเลือกตั้งพรุ่งนี้ส่อไม่ได้ข้อยุติ เตือนระวังรัฐปัดจะซวย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กกต. ถกรัฐบาลพรุ่งนี้ ส่อไม่ได้ข้อยุติวันเลือกตั้ง เล็งเสนอรัฐชงที่ประชุมกฤษฎีกาชุดใหญ่พิจารณาปมผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี่ หลัง คกก. ที่ปรึกษา กม. ชี้จุดย้อนแย้งอาจเป็นปัญหา ขณะเดียวกัน ติง กกต. เพิ่มข้อความในร่าง พ.ร.ฎ. ให้รัฐออกกฤษฎีกาเลื่อนวันเลือกตั้ง หาก กกต. ร้องขอส่อขัด รธน. เป็นภัยกับ กกต. เองพร้อมแนะ กกต. อย่าเร่งเสนอวันเลือกตั้งที่เหมาะสม และส่งสัญญาณเดินหน้าเลือกตั้ง เหตุหากเสียหายยากปัดความรับผิดชอบ แต่ควรรอทิศทางการเมืองชัดเจนกว่านี้

รายงานข่าวแจ้งว่า วันพรุ่งนี้ (14 พ.ค.) กกต. จะมีการหารือกับฝ่ายรัฐบาลที่นำโดยนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี และคณะ ถึงกรณีผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรีมีอำนาจที่จะทูลเกล้าฯ และรับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ร่าง พ.ร.ฎ. แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส. เป็นทั่วไปหรือไม่ รวมทั้ง กกต. ต้องการให้มีการบรรจุถ้อยคำทำนองว่า หากมีเหตุจำเป็นหรือสุดวิสัยให้รัฐบาลออก พ.ร.ฎ. เลื่อนวันเลือกตั้งตามที่ กกต. ร้องขอไว้ในร่าง พ.ร.ฎ. ดังกล่าวจะสามารถทำได้หรือไม่ ซึ่งก่อนการหารือกับรัฐบาล ช่วงเช้า กกต. จะมีการประชุมพิจารณาประเด็นหารือที่ทางสำนักงานฯ ได้มีการสรุปความเห็นทั้งในส่วนของฝ่ายกฎหมายของสำนักงาน และความเห็นของคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมาย ที่ กกต. ได้มีการประชุมร่วมไปเมื่อวันที่ 12 พ.ค. ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ มีรายงานว่า ความเห็นของคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายนั้น แม้จะเห็นไปในทางเดียวกันว่า เมื่อพิจารณา พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ปี 2545 มาตรา 10 และหลักกฎหมายมหาชน ที่การบริหารบ้านเมืองจะเกิดสุญญากาศไม่ได้ ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี มีอำนาจเหมือนนายกรัฐมนตรี สามารถทูลเกล้าฯ และรับสนองพระบรมราชโองการร่าง พ.ร.ฎ. กำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส. ได้ แต่มีข้อสังเกตว่า ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา และเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มีความเห็นไปยังเลขาธิการวุฒิสภา กรณีเลขาธิการวุฒิสภา จะขอให้นายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯ เพื่อให้ทรงมี พ.ร.ฎ. เรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา ในวันที่ 18 เม.ย. เพื่อจะถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช ที่ถูก ป.ป.ช. ชี้มูลว่า ข้อเท็จจริงขณะนี้มิได้มีผู้ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานรัฐสภา หรือประธานวุฒิสภา ซึ่งทำหน้าที่รองประธานวุฒิสภา ที่สามารถปฏิบัติหน้าที่แทนประธานรัฐสภาได้ ดังนั้น โดยกระบวนการถอดถอนบุคคลตามรัฐธรรมนูญมาตรา 273 วรรคสอง จึงไม่อาจกระทำได้ กรณีจึงไม่อาจที่จะดำเนินการเพื่อให้มีการประชุมสมัยวิสามัญตามมาตรา 273 ของรัฐธรรมนูญได้เช่นกัน ซึ่งเท่ากับว่า รัฐบาลมีความเห็นว่า นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา ที่ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานวุฒิสภา ไม่ใช่ประธานวุฒิสภา ที่จะปฏิบัติหน้าที่แทนรองประธานรัฐสภาได้ รวมทั้ง นายสุรชัย ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่แทนประธานวุฒิสภาได้ทุกเรื่อง ดังนั้น หากเอากรณีนี้มาเทียบเคียงกับกรณีนายนิวัฒน์ธำรง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี จะถือว่านายนิวัฒน์ธำรง ก็ไม่มีอำนาจจะทูลเกล้าฯ และรับสนองพระบรมราชโองการร่าง พ.ร.ฎ. กำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส. หรือไม่

“ปมนี้คณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายก็เห็นว่ามันมัดคอรัฐบาลเอง ถ้ารัฐบาลบอกว่านายนิวัฒน์ธำรง มีอำนาจ ทูลเกล้าฯ และรับสนองพระบรมราชโองการร่าง พ.ร.ฎ. กำหนดวันเลือกตั้ง แต่ทำไมกรณี นายสุรชัย รองประธานวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานวุฒิสภา จึงปฏิบัติหน้าที่แทนรองประธานรัฐสภาไม่ได้ ซึ่งร่าง พ.ร.ฎ. แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้งนี้นี้มี พ.ร.ฎ. ยุบสภาซึ่งออกโดยรัฐธรรมนูญเป็นฐานอยู่ เหมือนกับร่าง พ.ร.ฎ. ขอเปิดประชุมวิสามัญเพื่อถอดถอนบุคคลที่ออกตามรัฐธรรมนูญมาตรา 273 ถ้าบอกนายสุรชัย รองประธานวุฒิฯ ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานวุฒิ ทำหน้าที่ผุ้ปฎิบัติหน้าที่แทนรองประธานรัฐสภารับสนองพระบรมราชโองการแทนประธานรัฐสภาไม่ได้แล้วฉันใดก็ฉันนั้น นายนิวัฒน์ธำรง รองนายกรัฐมนตรีผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรีจะรับสนองพระบรมราชโองการร่าง พ.ร.ฎ. แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้งได้หรือ” แหล่งข่าวระบุ

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า อย่าลืมว่า พ.ร.ฎ. ยุบสภาผู้แทนราษฎร ยังอยู่ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เสียไปเฉพาะในส่วนให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. เท่านั้น ซึ่งมาตรา 5 ของ พ.ร.ฎ. ยุบสภา ให้นายกรัฐมนตรีและประธาน กกต. รักษาการพระราชกฤษฎีกานี้ แต่ร่าง พ.ร.ฎ. แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส. ที่จะมีการทูลเกล้าฯ และรับสนองพระบรมราชโองการ จะต้องลงนามโดยนายนิวัฒน์ธำรง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี มันจะขัดกันและจะนำไปสู่การตีความหรือไม่ ที่ประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายจึงเสนอว่าทางที่ดีควรให้รัฐบาลส่งเรื่องนี้ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาชุดใหญ่ ซึ่งประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายจำนวนมากมีความเห็นที่ชัดเจนเสียก่อน แล้ว กกต. จึงค่อยพิจารณาอีกครั้ง

ส่วนในประเด็นข้อความที่ กกต. จะให้ระบุว่า ให้รัฐบาลออก พ.ร.ฎ. เลื่อนวันเลือกตั้งตามที่ กกต. เสนอไว้ในร่าง พ.ร.ฎ. นั้น ในคณะกรรมที่ปรึกษากฎหมายมีทั้งที่เห็นว่าสามารถทำได้ และไม่สามารถทำได้ เพราะไม่เคยมีปฏิบัติมาก่อน รวมทั้งรัฐธรรมนูญมาตรา 108 บัญญัติถึงกรณียุบสภาให้ตราเป็น พ.ร.ฎ. และกำหนดวันเลือกตั้งเท่านั้น ซึ่งหาก กกต. จะไปเพิ่มถ้อยคำ หรือข้อความอื่น แม้รัฐบาลจะยินยอมเพราะอยากเลือกตั้งเร็ว แต่ก็อาจถูกร้องศาลในอนาคตได้ว่าร่าง พ.ร.ฎ. ดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญ อีกทั้งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องการเลื่อนวันเลือกตั้งให้นายกฯ และประธาน กกต. หารือกัน แต่หากไปบรรจุเรื่องนี้ไว้ในร่าง พ.ร.ฎ. ดังกล่าวก็จะเท่ากับเป็นการมัดมือชกรัฐบาลต้องเลื่อนวันเลือกตั้งเมื่อ กกต. ร้องขอ ดังนั้นการเพิ่มถ้อยคำจึงน่าจะไม่เป็นผลดีกับ กกต. มากว่าเพราะเมื่อมีการโต้แย้งรัฐบาลก็จะโบ้ยมาว่าเป็นความต้องการของ กกต. ทำให้ กกต. เสี่ยงต่อการต้องรับผิดชอบหากมีการฟ้อง พ.ร.ฎ. ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญอีก

อย่างไรก็ตาม ในการหารือคณะที่ปรึกษากฎหมาย ยังมีความเห็นเสนอว่า สถานการณ์ปัจจุบันไม่มีความแน่นอนว่าจะไปในทิศทางใด ดังนั้นในเรื่องของการเสนอวันเลือกตั้งที่เหมาะสมและความพยายามผลักดันที่จะเดินหน้าจัดการเลือกตั้ง กกต. ยังไม่ควรที่จะแสดงส่งสัญญาณความชัดเจนแน่นอนออกไป เพราะทำเช่นนั้นแล้วหากเกิดปัญหาซ้ำรอยการเลือกตั้ง 2 ก.พ. น้ำหนักความรับผิดชอบต่อความเสียหายจะเทมายัง กกต. จึงควรรอให้ฝ่ายการเมืองมีความชัดเจนเสียก่อน ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่นานนับจากนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น