xs
xsm
sm
md
lg

“ไพบูลย์” ชี้วุฒิฯ ถกนายกฯ คนกลางได้แค่ข้อสรุป ขึ้นอยู่กับประธานวุฒิสภา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา (ภาพจากแฟ้ม)
แกนนำกลุ่ม 40 ส.ว. เผยผู้รับสนองฯ แต่งตั้งนายกฯ ไม่ใช่ประธานรัฐสภา แต่เป็นประธานสภาผู้แทนฯ ซึ่งรองประธานวุฒิฯ สามารถทำหน้าที่แทนโดยตรง อีกด้านหนึ่งแหล่งข่าวชี้ที่ประชุมวุฒิฯ นอกรอบ 11 พ.ค. หารือข้อเสนอ “สุเทพ” แต่คงไม่มีข้อยุติ เชื่อไม่ได้หวังผลตามที่เรียกร้อง แต่ต้องการยืนยันว่าได้ดำเนินการในแนวทางนี้แล้ว ถ้าไม่ได้ตอบสนองก็หาทางอื่นแทน

วันนี้ (11 พ.ค.) นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา แกนนำกลุ่ม 40 ส.ว. กล่าวว่า ที่ประชุมวุฒิสภาจะหารือนอกรอบตามที่ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา นัดหมายในวันที่ 12 พ.ค.นั้น ประเด็นหลักใหญ่คงจะได้หารือในกรณีที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ยื่นหนังสือให้แก่วุฒิสภาเมื่อวันที่ 9 พ.ค. เรียกร้องให้ประธานวุฒิสภาดำเนินการหารือกับประธานศาล และองค์กรอิสระทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ให้มีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่แทนตำแหน่งที่ว่างลงในทันที

“นายสุรชัย ก็คงต้องเชิญสมาชิกมาหารือนอกรอบ เพราะอยู่นอกสมัยประชุมสภา ที่ผ่านมาวุฒิสภาก็เคยมีการหารือนอกรอบเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตบ้านเมืองมาแล้ว โดยประธานจะรวบรวมความเห็นของสมาชิกเพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการต่อไป เพียงแต่จะไม่สามารถอ้างเป็นมติของวุฒิสภา เพราะมีมติไม่ได้ ได้แค่ประเด็นแนวคิด ซึ่งมักจะเอาไปใช้จริงไม่ได้ สุดท้ายก็อยู่ที่ตัวประธานวุฒิสภาเองที่จะตัดสินใจ และรับผิดชอบการตัดสินใจนั้นเอง” นายไพบูลย์กล่าว

นายไพบูลย์ กล่าวย้ำว่า สิ่งที่สังคมกำลังเข้าใจผิดอยู่ขณะนี้ คือ เข้าใจว่าผู้ที่ทูลเกล้าฯ รายชื่อนายกรัฐมนตรีคือ ประธานรัฐสภา แต่ขอให้ตรวจสอบดูได้ ว่าผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีทุกครั้ง คือ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ไม่ใช่ประธานรัฐสภา ดังนั้นเมื่อไม่มีประธาน และรองประธานรัฐสภาเพราะเหตุยุบสภา แล้วเกิดเหตุว่างเว้นนายกฯ ลง องค์กรฝ่ายนิติบัญญัติที่ทำหน้าที่เทียบเคียงกันคือ วุฒิสภา โดยประธาน หรือรองประธานวุฒิสภา จึงสามารถทำหน้าที่แต่งตั้งบุคคลเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 172 แทนสภาผู้แทนราษฎร ด้วยการเสนอชื่อ และลงมติด้วยการขานชื่อรายบุคคล

“ฝ่ายรัฐบาลพยายามจะบิดเบือนว่าผู้ที่นำชื่อขึ้นทูลเกล้าต้องเป็นประธานรัฐสภา ซึ่งแท้จริงแล้วไม่ว่าการแต่งตั้งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายสมัคร สุนทรเวช รวมทั้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประธานสภาผู้แทนฯ เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการทั้งสิ้น ดังนั้นนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ในฐานะรองประธานวุฒิสภา สามารถทำหน้าที่ดังกล่าว เมื่อนายนิคม ไวยรัชพาณิชย์ ประธานวุฒิสภาถูก ป.ป.ช. ชี้มูลต้องงดเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และทำหน้าที่ดังกล่าวได้โดยไม่จำเป็นต้องรอการโปรดเกล้าฯ เป็นประธานวุฒิสภาตามที่ที่ประชุมวุฒิสภาได้ลงมติไปเมื่อวันที่ 9 พ.ค. แต่อย่างใดเลย” นายไพบูลย์กล่าว

อีกด้านหนึ่ง แหล่งข่าวจากวุฒิสภาเปิดเผยว่า การหารือนอกรอบของวุฒิสภาดังกล่าวคงได้แค่แนวทางที่นายสุรชัย จะต้องไปพิจารณาตัดสินใจเอง เพราะไม่สามารถอ้างเป็นมติของวุฒิสภาได้ และเชื่อว่านายสุเทพ เองก็ไม่ได้หวังผลตามที่เรียกร้อง เพียงแต่ต้องการยืนยันว่าได้ดำเนินการในแนวทางนี้แล้ว แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง เพื่อที่จะไปดำเนินการขั้นต่อไปในแนวทางอื่นแทน

“วิธีการนัดหมายที่ตั้งใจจะให้บรรลุผลเขาจะไม่นัดกันแบบนี้ มันต้องมีวิธีการที่ชัดเจน เพราะจะต้องมีขั้นตอนการดำเนินการมากมาย ซึ่งเชื่อว่าทาง กปปส. เขาคงไม่รอ แต่ที่เสนอมาก็เหมือนที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ทำ คือ เลียบๆ เคียงๆ หาความเห็นร่วมมือ ซึ่งมันดูดีแต่เป็นไปไม่ได้ เพราะเป็นเวลาที่ต้องตัดสินใจแล้ว” แหล่งข่าวระบุ

แหล่งข่าวกล่าวว่า ประเด็นของนายสุเทพ คือเขาต่อสู้มานานแล้ว เมื่อนายกฯ ว่างตำแหน่งลง ก็ขอเสนอให้ตั้งนายกฯ คนใหม่ แล้วจะเรียกผู้ที่เขาเชิญมาพูดคุยตกลงแล้วเดินหน้าเลย แต่ถ้าจะให้มารับฟังอะไรอีกมากมาย แล้วถือว่าความเห็น กปปส. เป็นความเห็นหนึ่งเท่านั้นเขาก็ไม่เอา มองว่าไม่ทันกิน

นอกจากนี้ รายงานข่าวแจ้งว่า ประธานองค์กรหลายๆ องค์กรที่นายสุเทพ กล่าวอ้างถึงนั้น ผู้สื่อข่าวหลายสำนักที่พยายามต่อสายเพื่อสอบถามความเห็น พบว่าทั้งประธานศาลปกครองสูงสุด ประธาน กกต. รวมทั้งว่าที่ประธานวุฒิสภา ต่างไม่รับสายโทรศัพท์จากสื่อมวลชนแต่อย่างใด


กำลังโหลดความคิดเห็น