xs
xsm
sm
md
lg

“มีชัย” แจงแม่น้ำสองสาย สิทธิเสรีภาพยังคงอยู่ อุบเงียบกติกาลาออกก่อนลง ส.ส.- ส.ว.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (ภาพจากแฟ้ม)
ประธาน กรธ. แจงร่างแรกรัฐธรรมนูญต่อ สนช.- สปช. ระบุมุ่งแก้ปัญหาหลัก 3 ประการ ทุจริต - ขาดวินัย - การใช้กฎหมาย ยืนยันมีสิทธิเสรีภาพ ปฏิเสธให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นใหญ่ที่สุด พบถามตอบเนื้อหาราบรื่น แต่ไม่แจงปมให้แม่น้ำ 4 สายลาออกก่อนลง ส.ส.- ส.ว.

วันนี้ (3 ก.พ.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 13.00 น. นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้เปิดการประชุมร่วมกันระหว่าง สนช., สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เพื่อรับฟังเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. กล่าวสรุปภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญ ว่า การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ คณะ กรธ. ได้มองย้อนดูกลับไปถึงปัญหาในอดีตที่ทำให้ประเทศไม่สามารถเดินหน้าได้ ซึ่งคณะ กรธ. ได้มุ่งขจัดปัญหาเหล่านั้นหรือปิดช่องว่างที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญเดิม ๆ ให้หมดสิ้นไป สำหรับปัญหาที่ทำให้บ้านเมืองไปไหนไม่ได้มีปัจจัย 3 ประการ ได้แก่ 1. การทุจริตและประพฤติมิชอบ นับวันจะมีมากขึ้นทุกวัน และทำท่าจะกลายเป็นสิ่งที่ยอมรับกันได้บ้างในบางส่วนของสังคม 2. การย่อหย่อนในเรื่องวินัยของบุคคล ทำให้ไม่ว่าจะออกกฎหมายมาบังคับอย่างไรแต่การไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และการไม่ตระหนักถึงภาระที่มีต่อสังคมโดยส่วนรวมนับวันจะมากขึ้น และ 3. การบังคับใช้กฎหมายไม่เข้มงวด กลไกกระบวนการยุติธรรมเบื้องต้นยังมีความย่อหย่อนอยู่

“ดังนั้น ถ้าจะทำรัฐธรรมนูญให้เกิดประโยชน์กับประเทศและประชาชนอย่างแท้จริง จะต้องแก้ปัญหาทั้งสามเรื่องนั้นให้ได้ คณะ กรธ. จึงได้มุ่งประเด็นที่ไปสามเรื่องดังกล่าว” นายมีชัย กล่าว

นายมีชัย กล่าวว่า สำหรับสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นเรื่องที่จะหายไปจากในรัฐธรรมนูญไม่ได้ โดยเราได้ตรวจสอบว่ารัฐธรรมนูญในอดีตได้รับรองเรื่องใดไว้บ้าง และมีเรื่องอะไรบ้างที่ต้องเขียนให้ชัดเจน ซึ่งเราพบว่าถ้าเขียนร่างรัฐธรรมนูญแบบเดิม คือ การจาระไนไปเรื่อย ๆ ในแบบที่ใครนึกอะไรได้ขึ้นมาก็ใส่เข้าไปในร่างรัฐธรรมนูญ จะกลายเป็นว่าสิ่งที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญเท่านั้นประชาชนถึงจะมีสิทธิ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้น เราจึงเขียนกลับใหม่ตามหลักสากลว่าคนไทยมีสิทธิเสรีภาพทั้งปวงในทุกเรื่อง ยกเว้นเฉพาะที่จะจำกัดไว้ในกฎหมายเท่านั้น

“อาจมีข้อสงสัยว่าฝ่ายบริหารจะออกฎหมายมาจำกัดสิทธิได้ เราจึงเขียนเงื่อนไขไว้ว่าการออกกฎหมายที่จะจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนนั้นจะต้องเป็นการกระทำที่ไม่สมควรเกินแก่เหตุ และต้องดำเนินการเท่าที่จำเป็น ซึ่งจะเป็นตัวประกันว่ารัฐจะไม่ออกกฎหมายอะไรก็ตามที่มาทำให้ประชาชนเดือดร้อน นอกจากนี้ เรายังได้ระบุว่าการใช้สิทธิเสรีภาพจะต้องไม่มีการละเมิดสิทธิเสรีภาพของคนอื่น” นายมีชัย กล่าว

ประธาน กรธ. กล่าวอีกว่า ในร่างรัฐธรรมนูญยังบัญญัติหมวดหน้าที่ของรัฐที่เป็นการระบุว่ารัฐต้องทำอะไรให้ประชาชนบ้าง โดยถ้ารัฐไม่ดำเนินการจะถือว่าเป็นการจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยประชาชนสามารถยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบได้ และมีโทษร้ายแรงถึงขั้นให้ออกจากตำแหน่ง

“ด้วยกลไกเหล่านี้ หลายคนเมื่ออ่านร่างรัฐธรรมนูญหมวดสิทธิและเสรีภาพแล้วก็นึกว่าสิทธิและเสรีภาพหายไป ความจริงไม่ได้หาย มันไปอยู่ในหมวดหน้าที่ของรัฐบางส่วน และบางส่วนก็อยู่ในหมวดแนวนโยบายแห่งรัฐ โดยเรื่องนโยบายของรัฐเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะทำหรือไม่ทำก็ได้ตามแต่นโยบายของรัฐบาลแต่ละชุด” นายมีชัย กล่าว

นายมีชัย กล่าวว่า ขณะเดียวกัน ได้มีการปรับเปลี่ยนและองคาพยพทางการเมืองของฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ อย่างที่มาของ ส.ส. นั้นคณะ กรธ. กำหนดให้มี 500 คน แบ่งเป็น ส.ส. เขต 350 คน และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 150 คน ที่ผ่านมาว่าเราพบมี 40% ของคนมาออกเสียงเป็นคะแนนที่หายไป เพราะเมื่อเลือกคนหนึ่งแล้วคนนั้นไม่ได้รับเลือกตั้งก็หายไปหมด สิทธิที่ประชาชนออกมาเลยดูด้อยค่า คณะ กรธ. จึงคิดว่าควรให้คะแนนทุกคะแนนเกิดประโยชน์ในการมีตัวแทนของประชาชน ซึ่งผลสำรวจของประชาชนเห็นด้วยกับแนวทางของคณะ กรธ.

“การลงคะแนนเลือกตั้งด้วยบัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว จะทำให้ประชาชนมีกำลังใจออกมาลงคะแนนมากขึ้น เพราะคะแนนทุกคะแนนที่มาลงนั้นไม่ว่าจะเลือกใครก็จะมีผลในทางการเมือง ถ้าคนออกมาลงคะแนนกันมาก การทุจริตจะทำได้ยาก ซึ่งเป็นไปตามผลวิจัยของนักวิชาการทั้งหลายที่เคยทำกันมา” นายมีชัย กล่าว

นายมีชัย กล่าวว่า ส่วนที่มาของนายกรัฐมนตรี เราคิดว่าการเมืองได้พัฒนามาถึงจุดที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งควรรู้อนาคตของประเทศและการบริหารบ้านเมือง ร่างรัฐธรรมนูญจึงกำหนดให้พรรคการเมืองต้องเสนอรายชื่อบุคคลที่คิดว่าสมควรเป็นนายกรัฐมนตรีไม่เกิน 3 คนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อนปิดรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.

“มีคนพูดกันมาก ว่า แนวทางนี้จะเป็นการเปิดโอกาสให้คนนอกมาเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น เบื้องต้นพรรคการเมืองจะต้องประชุมพรรคเพื่อสรรหาคนตามวิธีของพรรคการเมือง ซึ่งพรรคการเมืองสามารถกำหนดลงไปในข้อบังคับพรรคได้ว่า คนที่ถูกเสนอชื่อต้องเป็น ส.ส. ได้ ถามว่าทำไมคณะ กรธ. ไม่เขียนให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. คำตอบ คือ ณ วันที่เราให้เขาประกาศชื่อ การเลือกตั้งยังไม่เกิด จะไปบังคับให้ประกาศชื่อคนที่เป็น ส.ส. ได้อย่างไร ดังนั้น เป็นเรื่องของพรรคการเมืองที่จะตัดสินใจกันเอาเอง” นายมีชัย กล่าว

ประธาน กรธ. กล่าวว่า ที่สำคัญ สภาผู้แทนราษฎรยังคงเป็นฝ่ายทำหน้าที่เลือกนายกรัฐมนตรี โดยจะต้องเลือกจากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอให้กับ กกต. และเพื่อป้องกันข้อครหาที่ว่าจะมีการตั้งพรรคการเมืองเล็กเพื่อเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี คณะ กรธ. จึงได้กำหนดว่าสภาฯ จะต้องเลือกบุคคลที่เป็นนายกฯ จากพรรคการเมืองที่มี ส.ส. ในสภาไม่น้อยกว่า 5% หรือ 25 คน

ส่วนที่มาของวุฒิสภาและองค์กรอิสระ นายมีชัย สรุปว่า ในอดีตเคยมีการให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้ง และพบว่าผู้สมัครจะต้องไปให้พรรคการเมืองช่วยในการหาเสียงจนมีความผูกพันกัน แม้ว่าในรัฐธรรมนูญจะกำหนดให้ ส.ว. ต้องไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองก็ตาม คณะ กรธ. จึงคิดว่า ถ้าให้ประชาชนแบ่งกลุ่มกันสมัคร และเลือก ส.ว. กันเองภายใต้กลไกป้องกันการทุจริตที่ กกต. จะไปกำหนดขึ้นน่าจะมีความเหมาะสม ส่วนองค์กรอิสระนั้น คณะ กรธ. ไม่ได้เพิ่มองค์กรขึ้นมาใหม่ แต่เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในองค์กรอิสระมากขึ้น จึงกำหนดคุณสมบัติให้สูงขึ้นเพื่อจะได้คนที่มีความรู้ความสามารถ ถึงขนาดที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญว่า “จะต้องมีความกล้าหาญในการใช้ดุลพินิจ” เพราะอยากให้องค์กรอิสระทำงานตรงไปตรงมา

“มีคนพูดกันเป็นจำนวนมาก ว่า คณะ กรธ. เพิ่มอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญให้มากขึ้น เหมือนกับยกรัฐธรรมนูญให้กับศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการพูดโดยไม่ได้อ่านและไม่ได้เทียบเคียง ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญมี 16 เรื่อง ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มี 18 เรื่อง ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มี 17 เรื่อง มีเรื่องเดียวที่ไม่มีในรัฐธรรมนูญก่อนๆ คือ การวินิจฉัยการประพฤติที่ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมขององค์กรอิสระ โดยอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่เคยมีก็มีอยู่เหมือนเดิม เปิดช่องหายใจให้กว้างขึ้นสำหรับในกรณีที่มีปัญหาเกิดขึ้นในบ้านเมือง ให้สามารถหาข้อยุติได้” นายมีชัย กล่าว

ทั้งนี้ การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญของคณะ กรธ. ทั้ง 21 คนได้ระดมสติปัญญาและทำในสิ่งที่เราคิดว่าดีที่สุด เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศในระยะยาว แน่นอนว่าวิธีคิดของเราอาจขาดตกบกพร่อง แต่เราได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายจากทุกช่องทาง ใครที่เสนออะไรและสะกิดใจจนเราคิดไม่ถึงเราก็รีบไปดูและแก้ไขให้

จากนั้น ตัวแทนสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จำนวน 7 คน อาทิ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ นายสมชาย แสวงการ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม และ นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งส่วนใหญ่ถามในประเด็นการให้ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว การแยกศาลรัฐธรรมนูญออกจากหมวดศาล รวมถึงอายุของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่กำหนดเพิ่มขึ้นเป็น 75 ปีบริบูรณ์ ที่มานายกฯ และ ส.ว. ซึ่งในส่วนของ ส.ว. ที่ให้เลือกกันเองนั้น ประเทศไทยไม่ได้มีความโปร่งใสมากนัก จึงอาจเกิดปัญหาได้ อยากให้ ส.ว. มาจากการสรรหามากกว่าการเลือกตั้ง เพราะเชื่อว่ากรรมการสรรหาจะมีความเป็นกลางมากพอ และเหตุใด กรธ. ถึงกำหนดให้ สนช. สปท. ครม. และ คสช. ไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งหากไม่ลาออกจากตำแหน่งภายใน 90 วัน เพราะ สนช. ยังมีหน้าที่ต้องพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญต่อไป

ต่อมา ตัวแทนสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จำนวน 4 คน ประกอบด้วย นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ นางนินนาท ชลิตานนท์ และ นายเสรี สุวรรณภานนท์ โดยถามเกี่ยวกับการนับคะแนนเสียงไม่ตกน้ำแบบบัตรเลือกตั้งใบเดียว ยังมีวิธีอื่นที่สะท้อนเสียงประชาชนหรือไม่ และการใช้บัตรใบเดียวจะเปิดโอกาสให้เกิดการซื้อเสียงหนักขึ้นหรือไม่ การแบ่งเขตและประเภท ส.ส. จะแก้ปัญหาทุจริตการเลือกตั้งได้อย่างไร นายกฯ ให้คนนอก และประเด็นสิทธิ เสรีภาพของปวงชนชาวไทย ที่เนื้อหาบางส่วนไปอยู่ในหมวดหน้าที่ของรัฐ

ด้าน นายสุพจน์ ไข่มุกด์ รองประธาน กรธ. ชี้แจงว่า การแยกศาลรัฐธรรมนูญออกจากหมวดศาล ทำให้มีอำนาจหน้าที่เด่นชัด และกระชับมากขึ้น แม้ไม่ได้สังกัดอยู่กับศาลยุติธรรม แต่การพิพากษาคดีต่าง ๆ จะเป็นไปตามที่บัญญัติไว้เช่นเดียวกับศาลยุติธรรม ปฏิบัติหน้าที่ภายใต้พระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ ส่วนการกำหนดเพิ่มอายุตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจากเดิม 70 ปี เป็น 75 ปี เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ตุลาการศาลปกครองสูงสุด และศาลฎีกา เข้ามารับการสรรหาด้วย เพราะที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญทำงานภายใต้แรงกดดัน โดยไม่มีบทคุ้มครองตุลาการ และเจ้าหน้าที่เลย ส่วนข้อสังเกตที่ว่าเหตุใดองค์ประกอบของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่มีตุลาการที่มาจากการเมือง ในความหมายดังกล่าวหากเป็นนักการเมืองจะไม่ตรงกับคุณสมบัติของตุลาการที่ต้องการความเป็นอิสระ

จากนั้น นายประพันธ์ นัยโกวิท กรธ. ชี้แจงว่า ในส่วนของบัตรเลือกตั้งใบเดียว เจตนารมณ์ของ กรธ. เพื่อพยายามให้ทุกคะแนนที่ประชาชนได้ลงให้มีความหมาย และง่ายต่อการลงคะแนนประชาชนไม่สับสน เช่น การเลือกตั้งปี 2550 มีบัตรเสีย 2 ล้านกว่าใบ เพราะบางพรรคส่งแค่ผู้สมัครเขต ไม่ส่งผู้สมัครบัญชีรายชื่อ ทำให้ประชาชนสับสน เป็นที่มาของบัตรเสียจำนวนมาก ส่วนเสนอชื่อนายกฯ คนนอก เพื่อเปิดเผยให้ประชาชนได้ทราบว่าพรรคการเมืองจะเสนอชื่อใคร ในส่วนที่มา ส.ว. แบบเลือกทางอ้อมนั้น กรธ. ได้พิจารณาแล้วว่า ส.ว. ที่เคยมาจากการเลือกตั้งมาจากฐานการเมือง ในท้องถิ่นทุกระดับคุมฐานเสียงทั้งหมด ส่วน ส.ว. สรรหา มีจุดอ่อนว่าประชาชนไม่มีส่วนร่วม เราต้องการให้ ส.ว. ปลอดจากการเมือง และให้ประชาชนทุกสาขาอาชีพมีส่วนร่วม ทั้งนี้ ข้อห่วงใยของสมาชิกหลายคนที่กลัวว่าระบบการคัดเลือก ส.ว. ดังกล่าวจะมีการฮั้วกัน ตนยืนยันว่า เป็นไปได้ยาก เพราะมีการเลือกกัน 3 ระดับ คือ อำเภอ จังหวัด และส่วนกลาง โดยเฉพาะในส่วนกลางฮั้วกันยากมาก และหากจับได้ว่ามีการทุจริต โทษจะเท่ากับ ส.ส. คือ เพิกถอนสิทธิการลงสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต

ด้าน นายอุดม รัฐอมฤติ โฆษก กรธ. ชี้แจงว่า การแก้ปัญหาประชานิยม กรธ. กำหนดไว้ ระหว่างมาตรา 130 - 170 เพื่อควบคุมการใช้จ่ายงบประมาณ ไม่นักการเมืองครอบงำได้ พร้อมทั้งให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) และ กกต. ร่วมกันตรวจสอบพิจารณาว่า การกระดำเนินงานเกี่ยวกับงบประมาณแผ่นดินนั้น จะทำให้มีผลกระทบระยะยาวหรือไม่ ส่วนที่เราไม่ได้กำหนดการ ทั้งนี้ ตนขออนุญาตไม่ตอบคำถามในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบทเฉพาะกาล

ด้าน นายมีชัย กล่าวสรุปการชี้แจงว่า หลายคำถามทำให้เราฉุกคิดอะไรบางอย่าง และพร้อมนำกลับไปพิจารณา สำหรับข้อสงสัยของ สปท. ในมาตรา 269 ส่วนที่เว้นไว้ ก็เพราะเรากำลังรอคำตอบจาก สปท. ว่า กำลังมุ่งเน้นประเด็นปฏิรูปอะไรให้บรรลุผล แล้วเราก็จะไปกำหนดไว้ให้ เพื่อรัฐบาลชุดใหม่ดำเนินการต่อไป ส่วนที่สงสัยว่า ทำไม กรธ. จึงกำหนดให้ตนเองจัดทำกฎหมาย ก็เพราะทำให้เป็นไปตามมาตรา 39 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 ซึ่งระหว่างนั้น จะฉุกละหุกมาก กรธ. ต้องทำกฎหมายลูก ส่วน สปท. ต้องทำแผนปฏิรูป หากมีเวลาเหลือก็มาร่วมกันคิดได้ เพราะเราต่างมุ่งหวังสิ่งเดียวกัน

จากนั้น นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. คนที่ 1 ในฐานะประธานการประชุม จึงแจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า หากสมาชิก สนช. และ สปท. ยังมีข้อสงสัยหรืออยากเสนอแนะต่อการร่างรัฐธรรมนูญ ก็สามารถส่งให้ กรธ. พิจารณาเพิ่มเติมได้ ก่อนจะสั่งปิดการประชุมเวลา 15.10 น. รวมแม่น้ำ 3 สาย ใช้เวลาซักถามชี้แจง 2 ชั่วโมง

รายงานข่าวแจ้งว่า บรรยากาศการตั้งคำถามและชี้แจงเนื้อหาร่างแรกรัฐธรรมนูญ ของแม่น้ำ 3 สาย เป็นไปอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย คำถามใดที่ กรธ. ไม่ชี้แจง ก็ไม่มีสมาชิก สนช. หรือสมาชิก สปท. ติดใจ เช่น คำถามสำคัญที่ กรธ. ไม่ยอมชี้แจง คือ ในบทเฉพาะกาล ที่กำหนดให้แม่น้ำ 4 สาย ต้องลาออกภายใน 90 วัน นับจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้ หากอย่างลงสมัคร ส.ส. และ ส.ว. เพราะหากแม่น้ำ 4 สายไม่ลาออกตามกำหนด ก็หมายความว่า ต้องเว้นวรรคทางการเมืองหนึ่งสมัย เป็นเวลา 4 - 5 ปี แต่ทำไม กรธ. จึงเว้นวรรคเพียง 2 ปี.


กำลังโหลดความคิดเห็น