xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ช.ส่ง"วิชา-วิชัย-ภักดี" ร่วมสภาปฏิรูปขจัดโกง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-"บิ๊กอู๋" ตรวจความพร้อมของสภา รับสนช. คาดเปิดประชุมทันที หลังโปรดเกล้าฯ "เลขาวุฒิฯ" อ้อมแอ้ม ปมถอดถอดนักการเมือง โยนประธาน สนช. พิจารณา ป.ป.ช.เล็งส่ง "วิชา-วิชัย-ภักดี-สรรเสริญ" ร่วมสภาปฏิรูปแก้ปัญหาคอร์รัปชัน "บัณฑูร" ปัดรับตำแหน่งใน ครม. ใหม่ "ประพันธ์" ฟันธง สนช. ทำหน้าที่ ส.ว.ได้ทุกประการ ยันถอดถอน แต่งตั้งเหมือนเดิม ยกกรณี "จรัล"หลุดกรรมการสิทธิฯ เมื่อปี 49 เทียบเคียง

เมื่อเวลา 09.30 น. วานนี้ (30ก.ค.) พล.ต.อ. อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกิจการพิเศษ เดินไปมาตรวจเยี่ยมความพร้อมของรัฐสภา ในการเตรียมการสนับสนุนภารกิจด้านนิติบัญญัติ เพื่อรองรับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยมีนายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย นางนรรัตน์ พิมพ์เสน เลขาธิการวุฒิสภา ให้การต้อนรับ และบรรยายสรุปงานของรัฐสภา ที่ห้องประชุมงบประมาณ ชั้น 3 อาคาร 3

พล.ต.อ.อดุลย์ให้สัมภาษณ์ว่า จากการตรวจเยี่ยม ไม่รู้สึกกังวล และเห็นว่ารัฐสภามีความพร้อมในการเตรียมงานแล้ว จึงไม่ได้กำชับอะไรเป็นพิเศษ ส่วนการเปิดรัฐพิธี วันที่ 6 ส.ค.นั้น ยังไม่มีกำหนดการดังกล่าว และถ้าโปรดเกล้าฯ สมาชิกสนช. เมื่อใดนั้น สนช. ก็พร้อมทำงานในทันที

อย่างไรก็ตาม นายจเร และนางนรรัตน์ ได้นำพล.ต.อ.อดุลย์ ไปเยี่ยมชมห้องประชุมรัฐสภาที่จะใช้เป็นห้องประชุม สนช. ด้วย โดยพล.ต.อ.อดุลย์ ได้ให้ความสนใจความพร้อมของอุปกรณ์ พร้อมสอบถามถึงการใช้อุปกรณ์ต่างๆ ขณะที่ทางรัฐสภา ได้มอบรัฐธรรมนูญชั่วคราว และข้อบังคับ รวมทั้งเอกสารที่สำคัญให้ พล.ต.อ.อดุลย์ ด้วย

นางนรรัตน์ พิมเสน เลขาธิการวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ผ่านมาวุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร ได้ทำงานประสานงานทำงานร่วมกัน ในการเตรียมความพร้อมภายในรัฐสภามาตลอด ซึ่งพล.ต.อ.อดุลย์ มีข้อแนะนำเล็กน้อย เพื่อให้งานของรัฐสภามีความสมบูรณ์มากขึ้น

ส่วนข้อบังคับการประชุม สนช. เบื้องต้นจะใช้ข้อบังคับ สนช. ปี 2549 ก่อน จากนั้นจะให้สมาชิก สนช. ร่างข้อบังคับให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญชั่วคราว ขณะที่วาระที่ยังค้างอยู่ในรัฐสภา ก็ต้องขึ้นอยู่กับคสช. จะเห็นชอบให้นำเรื่องใดขึ้นมาพิจารณา

สำหรับการประชุมคณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน วันที่ 31 ก.ค. ยังเดินหน้าได้ตามปกติ แม้จะยังไม่มีประธานศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากคสช. ออกประกาศให้กระบวนการสรรหาเดินหน้าต่อไปได้ ตามจำนวนคณะกรรมการสรรหาที่มีอยู่ ส่วนกรณีที่วุฒิสภาลงมติเลือก น.ส.สุภา ปิยะจิตติ เป็นกรรมการ ป.ป.ช. ก่อนรัฐประหารนั้น เรื่องดังกล่าว คงต้องรอให้ สนช. เป็นผู้พิจารณาต่อไป

เมื่อถามว่า สนช. สามารถดำเนินการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งตามที่ ป.ป.ช. ส่งเรื่องมาก่อนหน้านี้ได้หรือไม่ นางนรรัตน์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 2550 ถูกยกเลิกแล้ว จึงต้องดูข้อกฎหมายก่อน และต้องให้ประธานสนช. พิจารณาเป็นเรื่องๆ ต่อไป

** ป.ป.ช.ลุ้นส่งกรรมการร่วมสภาปฏิรูป

นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงการใช้สิทธิ์เสนอชื่อบุคคลเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิก สปช. ว่า ทางป.ป.ช จะเสนอใครไปนั้น ต้องมีการประชุมคณะกรรมการ และต้องรอให้ทาง คสช. ติดต่ออย่างเป็นทางการมาก่อน โดยหากจะส่งตัวแทนของบุคคลเข้าไปใน สปช. อาจเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญในด้านกฎหมาย เช่น นายวิชา มหาคุณ หรือนายวิชัย วิวิตเสวี และในด้านยุทธศาสตร์ของป.ป.ช. เช่น นายภักดี โพธิศิริ และ นายสรรเสริญ พลเจียก

อย่างไรก็ตาม มองว่าน่าจะมีคนจากป.ป.ช เข้าไปใน สปช. เพื่อจะได้ปฏิรูปในเรื่องปัญหาเกี่ยวกับการทุจริต เพราะจะได้มีบุคคลที่ประสานเรื่องที่ ป.ป.ช ต้องการปฏิรูป เช่น กฎหมาย ป.ป.ช เรื่องอายุความ ยุทธศาสตร์ด้านกฎหมายของป.ป.ช กฎหมายอาญาระหว่างประเทศ และเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับการอายัดทรัพย์สิน เนื่องจากระยะเวลาปกติในการดำเนินการอายัดนั้น มีเพียง 1 ปี ทั้งนี้ ทาง ป.ป.ช ต้องการให้ขยายเวลาออกไปเป็น 2 ปี โดยได้ประสานเรื่องนี้ไปยัง คสช. แล้ว

นอกจากนี้ ป.ป.ช. เตรียมแก้กฎหมายเกี่ยวกับการฟ้องร้องกรรมการ ป.ป.ช. โดยผู้ที่จะฟ้องร้องต้องยื่นเรื่องผ่านสภาผู้แทนราษฎร โดยเป็นการเข้าชื่อเสนอ จากนั้นจึงยื่นผ่านศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงทางการเมืองเท่านั้น ไม่สามารถยื่นฟ้องผ่านศาลชั้นต้นได้

นายปานเทพยังกล่าวถึง กระแสข่าวว่า ทางป.ป.ช. จะชะลอการพิจารณาถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เนื่องจากยังไม่มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติว่า เรื่องดังกล่าวเป็นความจริง เพราะคดีถอดถอนที่วุฒิสภาส่งมาให้ ป.ป.ช. เมื่อพิจารณาแล้วก็ต้องส่งกลับไปยังวุฒิสภาดำเนินการต่อไป แต่เมื่อไม่มีวุฒิสภาทำหน้าที่ และต้องรอการแต่งตั้ง สนช. จึงเห็นควรให้ชะลอกระบวนการยื่นถอดถอนไว้ก่อน ซึ่งขณะนี้มีอยู่ 3 คดี คือ การถอดถอน ส.ส. และส.ว. ที่ร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาส.ว. และคดีการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะละเลยเพิกเฉยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว ส่วนการยื่นถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพาณิช อดีตประธานวุฒิสภา และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาส.ว. ซึ่งได้ส่งเรื่องให้กับวุฒิสภาไปก่อนแล้ว

** ป.ป.ช.ลดวงเงินธุรกรรมกระทบเศรษฐกิจ

นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีที่ ป.ป.ช. กำหนดจำนวนเงินและมูลค่าทรัพย์สินในการทำธุรกรรมที่ต้องรายงานต่อป.ป.ช. โดยเงินสดหมุนเวียน 5 แสนบาท และอสังหาริมทรัพย์ 1 ล้านบาท ว่า ตนเห็นด้วยในหลักการนี้และในยอดเงิน 2 ล้านบาท แต่ในทางกลับกัน เชื่อว่าหากลดจำนวนเงินลง เป็นวงเงินการทำธุรกรรมเป็น 5 แสนบาท และอสังหาริมทรัพย์เป็น 1 ล้านบาท คงเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ เพราะจะทำให้ป.ป.ช.ทำงานหนักขึ้น เพิ่มเจ้าหน้าที่เข้ามาทำงานเท่าไร ก็ไม่สามารถทำงานได้หมด เพราะสุดท้ายแล้ว คดีมาจบที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้ง 9 คน จะเป็นผู้พิจารณา ซึ่งหากหยิบคดีไหนขึ้นมาทำก่อน ก็อาจถูกมองว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ และอาจทำให้ความเชื่อถือลดลง ดังนั้น ในทางปฏิบัติ ป.ป.ช. ต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ เนื่องจากการลดวงเงินลง จะทำให้ระบบการเงินของประเทศเดือดร้อน ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ และเงินหมุนเวียนทางตลาดมากขึ้น

นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนเห็นด้วยอย่างยิ่ง และไม่เดือดร้อนอะไร ที่ป.ป.ช. กำหนดรายละเอียดดังกล่าว แต่ควรกำหนดบทลงโทษเรื่องการทุจริต คอร์รัปชัน ให้ไม่มีอายุความด้วย ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่า สาเหตุที่ป.ป.ช. ออกกฎแบบนี้ เป็นเพราะการทุจริต คอร์รัปชั่นในวงราชการ และการเมืองมีตัวเลขสูงมาก แต่ละปีรัฐบาลสูญเสียเงินให้กับระบบการทุจริต ในวงราชการ และนักการเมืองไม่ต่ำกว่า 30-40% หรือนับแสนล้านบาท และคิดว่าสุจริตชนทั่วไปไม่เดือดร้อนอะไร แต่สำหรับคนที่ทุจริตคอรัปชั่น ก็จะรู้สึกว่าถูกจำกัดสิทธิ์

"ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์ความจริงของนักการเมืองแต่ละคน ถือเป็นการเดินตามหลังการทุจริตคอร์รัปชันในเมืองไทย เพราะเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก ลำพังนักการเมืองไม่สามารถทุจริตคอร์รัปชันได้ หากปราศจากการให้ความร่วมมืออย่างดียิ่งจากข้าราชการประจำ โดยเฉพาะข้าราชการระดับสูง เปรียบเหมือนตบมือข้างเดียวไม่ดัง อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าป.ป.ช.ทำได้จริง และไม่ล่าช้า หากสถาบันการเงินให้ความร่วมมืออย่างจริงจัง โดยป.ป.ช. จะต้องกำหนดโทษสถาบันการเงินที่ไม่รายงานต่อป.ป.ช. อีกด้วย" นายวัชระ กล่าว

** คตร.เตรียมฟัน บุคคล-หน่วยงานทุจริต

พล.ท.อนันตพร กาญจนรัตน์ ประธานคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ กล่าวในการประชุมคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ครั้งที่ 8/2557 ว่า ในการปฏิบัติงานของ คตร. หลังจากได้ตรวจสอบโครงการต่างๆ แล้ว ต่อไปจะมีการลงโทษหน่วยงานหรือบุคคลที่กระทำการทุจริต เพื่อไม่ให้เกิดเหตุขึ้นซ้ำอีก พร้อมกันนี้ ได้ขอให้ฝ่ายเลขานุการไปดำเนินการรวบรวมผลการปฏิบัติงานตลอดระยะเวลากว่า 2 เดือนที่ผ่านมาด้วย เพื่อตรวจสอบว่ามีงบประมาณที่สามารถติดตามกลับคืนมาได้มากน้อยเพียงใด เพื่อสนองนโยบายของหัวหน้า คสช. ในการนำงบประมาณที่ได้ไปช่วยเหลือประชาชนที่ประสบความเดือดร้อนต่อไป

สำหรับการประชุมครั้งนี้ มีการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของโครงการไทยเข้มแข็ง , โครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ , ค่าก่อสร้างอาคารและชิ้นงานนิทรรศการศูนย์รวบรวมและถ่ายทอดเทคโนโลยีนวัตกรรมชั้นสูงเพื่อการท่องเที่ยว , โครงการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ชุมชน 800 เมกะวัตต์ รวมถึงการเชิญ คตร. หรือผู้แทนสังเกตการณ์ในวันทำการประมูลโครงการต่างๆ ของส่วนราชการ

**"บัณฑูร" ปัดรับตำแหน่ง ครม.ใหม่

นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวถึงกรณีมีข่าวร่วม ครม.ใหม่ของ คสช. ว่า ไม่เคยได้รับการทาบทาม และได้แสดงเจตจำนงที่ชัดเจนแก่ คสช.แล้วว่า ขณะนี้ ในฐานะที่เป็นประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารกสิกรไทย มีภารกิจที่จะต้องบริหารจัดการ และดำเนินธุรกิจธนาคาร รวมทั้งรับสนองพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโจทย์รักษ์ป่าน่านที่ต้องไปดำเนินการและลงพื้นที่ในจังหวัดน่านอยู่เสมอ ซึ่งใช้เวลากับงานดังกล่าวอย่างเต็มที่แล้ว จึงไม่อยู่ในวิสัยที่จะรับงานอื่นๆ ได้

**ยันสนช.ถอดถอนนักการเมืองได้

นายประพันธ์ คูณมี อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ปี 2549 กล่าวถึงข้อถกเถียงเรื่องอำนาจหน้าที่ของ สนช. ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ว่า ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้กำหนดให้ สนช. ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งหมายรวมไปถึงขอบเขตอำนาจของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เดิมด้วย และแม้ว่า คสช. จะประกาศให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ไปแล้วก็ตาม แต่ในประกาศและคำสั่งของ คสช. ก็ให้คงไว้ซึ่งองค์กรอิสระต่างๆ ไว้ ดังนั้น ไม่ส่งผลต่อกฎหมายลูก หรือพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติไว้ถึงอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นต้น

ทั้งนี้ การที่ให้ สนช. ทำหน้าที่ ส.ว. และคงอำนาจขององค์กรอิสระ โดยเฉพาะ ป.ป.ช.ไว้ ก็เท่ากับว่ากระบวนการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยังคงดำเนินต่อไปได้ตามหลักการเดิมที่เคยมีกันมา หากมีการส่งเรื่องเกี่ยวกับการถอดถอนใดๆ มายัง ส.ว. หรือปัจจุบันเป็นหน้าที่ของ สนช. ที่ประชุมสนช.ก็ต้องรับไว้พิจารณาต่อไป ทั้งนี้ ยังรวมไปถึงอำนาจเดิมของส.ว.ในการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการชุดต่างๆ และบุคคลในองค์กรอิสระด้วย ซึ่งเมื่อปี 2549 ก็ได้มีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลต่างๆ มาแล้ว

"ไม่จำเป็นที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ต้องเขียนรายละเอียดไว้ เมื่อให้สนช.ทำหน้าที่ส.ว. ก็เท่ากับว่า อะไรที่เป็นอำนาจของส.ว.เดิม หรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญใด โยงมาถึงส.ว. ก็เป็นเรื่องที่ สนช. ต้องรับผิดชอบไปด้วย" นายประพันธ์ ระบุ

นายประพันธ์ กล่าวด้วยว่า เมื่อครั้งทำหน้าที่ สนช.ปี 2549 ตนก็เป็นผู้เสนอญัตติให้ สนช. พิจารณาถอดถอน นายจรัล ดิษฐาอภิชัย ออกจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กรณีที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมหลายประการ โดยเฉพาะการเป็นแกนนำมวลชนไปปิดล้อมบ้าน ประธานองคมนตรี ครั้งนั้นแม้ว่า สนช.จะไม่มีบทบัญญัติในเรื่องการถอดถอน แต่ท้ายที่สุด สนช.ปี 2549 พิจารณาสอบสวนก่อนลงมติถอดถอนนายจรัลมาแล้ว

ส่วนการที่ทางป.ป.ช. ระบุได้ส่งสำนวนการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่พิจารณาแล้วเสร็จมาให้ทางส.ว.ไว้ก่อนหน้านี้แล้วนั้น นายประพันธ์ กล่าวว่า เมื่อ สนช.เข้ามาทำหน้าที่ ก็ต้องหยิบยกเรื่องราวนั้นขึ้นมาพิจารณาตามระเบียบข้อบังคับ ที่ได้กำหนดระยะเวลาในการพิจารณาและลงมติเอาไว้ด้วย สนช.ไม่สามารถที่จะดองเรื่องไว้ได้ หรือหากต้องการความชัดเจนในการทำหน้าที่เกี่ยวกับการถอดถอน ทางสนช.ก็อาจจะเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เพื่อให้มีเนื้อหาที่ชัดเจน ก็ทำได้ แต่ส่วนตัวมองว่า ไม่จำเป็นต้องแก้ไข ก็สามารถดำเนินการได้เหมือนเมื่อครั้งปี 2549

นายประพันธ์ กล่าวอีกว่า สำหรับการพิจารณาของป.ป.ช.ในเรื่องคดีที่เกี่ยวกับการถอดถอนที่ยังค้างอยู่นั้น ทางป.ป.ช.ก็สามารถเดินหน้าต่อได้ทันที ไม่ควรชะลอเรื่องไว้ เพราะมีหน้าที่ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เมื่อเสร็จแล้วก็ส่งต่อตามช่องทางที่กฎหมายระบุไว้ จากนั้นก็เป็นเรื่องที่ สนช. จะดำเนินการต่อ การที่ป.ป.ช.บอกว่าต้องชะลอเรื่องไว้เพื่อรอความชัดเจนในเรื่องอำนาจของสนช.นั้น ตนเห็นว่า อาจจะเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไป

**"มาร์ค"เปรียบตร.-โจร ปรองดองกันไม่ได้

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้บรรยายให้กับพนักงาน บริษัทสหพัฒนพิบูล ในหัวข้อ “ปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปพลเมืองไทย” ตอนหนึ่งว่า ถ้าเราอยากเห็นเศรษฐกิจการเมือง สังคมดี เราต้องสร้างคนสร้างค่านิยมของสังคมขึ้นมารองรับ ถ้าการปฏิรูปการศึกษา จะแยกหลักสูตรวิชาหน้าที่พลเมือง คุณธรรมจริยธรรมมาเป็นวิชาเฉพาะ ตนเห็นว่าการเรียนในห้องเรียนไม่สำคัญเท่าการเรียนรู้นอกห้องเรียน ในชีวิตจริงคนที่ทำผิดส่วนใหญ่ก็รู้ว่า อะไรดี อะไรไม่ดี แต่ทำไมจึงทำ

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เราต้องสร้างความเข้าใจเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ผลประโยชน์ที่ขัดกัน มันคืออะไร สังคมเรายังไม่ค่อยเข้าใจกันในเรื่องนี้ เรื่องการสร้างความเข้าใจ เรื่องความเป็นพลเมือง หน้าที่พลเมือง ความเป็นเจ้าของประเทศ การปกป้องหวงแหนปฏิบัติหน้าที่แค่ไหน ต้องร่วมกันสร้างจิตสำนึกของการเป็นส่วนรวม การเรียนรู้ดีที่สุด คือ การเรียนรู้เข้าใจจากการทำกิจกรรม ให้เด็กทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมร่วมกัน เด็กจะค่อยๆซึมซับเข้าไปเอง

"จากนี้ไป เราท่านจะอยู่กับคำว่าสามัคคี ปรองดองไปด้วยกันอีกนาน คำว่า สามัคคีเป็นเรื่องดี แต่ไม่ใช่ความเห็นแย้งเป็นเรื่องที่ไม่ดีเสมอไป ความเป็นกลางไม่ใช่ว่า ถ้าเป็นคู่กรณีกันต้องผิดด้วยกันไปด้วยกัน ตำรวจจะปรองดองกับโจรไม่ได้ เราจะหวังเฉพาะระบบการศึกษาไม่ได้ ต้องดูมากกว่าระบบการศึกษา สถาบันครอบครัว ต้องเป็นที่พึ่งของสังคมได้ ทุกวันนี้เยาวชนใช้เวลาที่อยู่กับเพื่อน อยู่กับอุปกรณ์การสื่อสาร มากกว่าอยู่ในห้องเรียน มากกว่าอยู่กับครอบครัว สังคมเดี๋ยวนี้มันท้าทายด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัยสื่อ และบุคคลสาธารณะก็มีบทบาทมากต่อการชี้นำ สร้างกระแสอิทธิพลต่อคนรุ่นใหม่" นายอภิสิทธิ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น