xs
xsm
sm
md
lg

สตช.รับมือคำสั่ง คสช.ให้ ผบช.ภาคทำความเห็นแย้งอัยการสั่งไม่ฟ้องแทนผู้ว่าฯ

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


สตช. จัดประชุมสัมมนาเพิ่มประสิทธิภาพในการอำนวยความยุติธรรมทางอาญาตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 115/2557 ให้ผู้บัญชาการตำรวจภูธรแต่ละภาคมีหน้าที่ทำความเห็นแย้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการแทนผู้ว่าราชการจังหวัด ชี้ข้อดีการตรวจสอบสำนวนควรเป็นเรื่องของตำรวจในฐานะพนักงานสอบสวนกับอัยการ

วันนี้ (7 ส.ค.) เมื่อเวลา 08.30 น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานการสัมมนาโครงการเพิ่มประสิทธิภาพในการอำนวยความยุติธรรมทางอาญาตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 115/2557 โดยมีผู้บังคับบัญชาระดับสูง ผบช.น., ภ.1-9 ศชต., บช.ก., สตม., รอง ผบช. ที่รับผิดชอบงานสอบสวน ผบก.น. และ ภ.จว. ทุกแห่ง ผบช.กมค. และ ผบก. ในสังกัด กมส. อาจารย์ภาควิชากฎหมายของโรงเรียนนายร้อยตำรวจ และ บช. รวมทั้งสิ้น 200 คนเข้าร่วมสัมมนา

พล.ต.อ.วัชรพล พร้อมด้วย พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.ต.ปัญญา เอ่งฉ้วน รองผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี ร่วมกันแถลงข่าวว่า โครงการสัมมนาเพิ่มประสิทธิภาพในการอำนวยความยุติธรรมทางอาญา ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 115/2557 ลงวันที่ 21 ก.ค. 2557 ให้ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาคมีหน้าที่ทำความเห็นแย้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดในส่วนภูมิภาค การสัมมนาครั้งนี้เพื่อให้ผู้ร่วมสัมมนาทำความเข้าใจเพื่อให้การสอบสวนมีประสิทธิภาพ

พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า เดิมสำนวนการสอบสวนของตำรวจที่พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องในส่วนของต่างจังหวัดจะถูกส่งต่อไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อพิจารณาความเห็นแย้ง ในส่วน กทม. จะส่งมาที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทั้งนี้ มองว่าอำนาจการสอบสวนคดีอาญาเป็นเรื่องของวิชาชีพพนักงานสอบสวนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ การพัฒนางานสอบสวนทำให้มีพนักงานสอบสวนหลายระดับในการทำงาน เรื่องของการตรวจสอบสำนวนควรเป็นเรื่องของตำรวจในฐานะพนักงานสอบสวนกับอัยการ สุดท้ายแล้วการทำความเห็นแย้งก็ไปจบที่อัยการสูงสุด

พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา คดีในต่างจังหวัดเมื่อตำรวจทำสำนวนขึ้นไปหากอัยการสั่งไม่ฟ้องจะโดยสาเหตุว่าตำรวจทำคดีไม่รัดกุม หลักฐานไม่ครบ หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ไม่สมบูรณ์ ตำรวจไม่มีสิทธิ์รู้ว่าการสั่งไม่ฟ้องของอัยการมาจากสาเหตุใด เพราะสำนวนจะส่งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ทำให้ตำรวจไม่รู้ข้อบกพร่องว่ามาจากส่วนไหน ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องการสอบสวนได้ทั้งระบบ เมื่อมีการเปลี่ยนตามคำสั่ง คสช. ต่อไปสำนักงานตำรวจแห่งชาติสามารถนำข้อมูลข้อบกพร่องของสำนวนคดีมาพัฒนางานสอบสวนและอำนวยความยุติธรรมทางอาญาที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของตำรวจได้ทั้งระบบทั่วถึง เมื่อระบบงานเกิดความชัดเจนแล้วประชาชนในฐานะผู้เสียหาย หรือผู้ต้องหาจะได้รับการปฏิบัติอย่างถุกต้องจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ โปร่งใส และเป็นธรรม ภายใต้ความรับผิดชอบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีเป้าหมายคือให้อัยการสั่งฟ้องคดี 100 เปอร์เซ็นต์

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีข้อครหาว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องการรวบอำนาจการสอบสวนไว้ที่ตำรวจเพื่อผลประโยชน์บางอย่าง พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า ในกระบวนการยุติธรรมมีระบบการตรวจสอบอยู่แล้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดก็ยังมีอำนาจตรวจสอบตามกฎหมายบริหารราชการแผ่นดิน ศาลก็มีทั้งชั้นต้น อุทธรณ์ และฎีกา ไม่มีปัญหาในส่วนนี้ เรื่องนี้เป้าหมายคือพัฒนางานสอบสวนให้เป็นมืออาชีพ สิทธิเสรีภาพของประชาชนต้องดูแลด้วยมืออาชีพ อย่ามองเป็นความขัดแย้งระหว่างฝ่ายปกครองและตำรวจ และการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวที่จะเห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน คือ การดำเนินการต่อผู้มีอิทธิพลที่กระทำผิดในพื้นที่ ก่อนหน้าเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้มีอำนาจเห็นแย้งหากอัยการไม่ฟ้องซึ่งอยู่ในพื้นที่ แต่เมื่ออำนาจการพิจารณาความเห็นแย้งเป็นของผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค หรือรองผู้บัญชาการภาคซึ่งอยู่ต่างพื้นที่การวินิจฉัยข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย พยานหลักฐานต่างๆ การอำนวยความยุติธรรมเรื่องอิทธิพลในพื้นที่จะมีความชัดเจนและถูกต้อง เรื่องปัญหาทรัพยากรธรรมชาติบุกรุกทำลายขบวนการตรงนี้ก็จะชัดเจนขึ้น

ด้าน พล.ต.ต.ปัญญา กล่าวว่า วันนี้เป็นการให้ผู้ปฏิบัติมาทำความเข้าใจแนวทางการปฏิบัติหลังมีประกาศของ คสช. ฉบับนี้ และจะมีการซักซ้อมการทำงานในการอำนวยความยุติธรรมทางอาญา คำสั่งดังกล่าวเป็นการทำให้กระบวนการสอบสวนสมบูรณ์ขึ้นซึ่งหลังมีคำสั่งคดีทุกคดีที่อัยการมีความเห็นไม่สั่งฟ้องก็จะมาขึ้นก็ ผบช. ตามคำสั่ง สำหรับผู้ว่าราชการจังหวัดก็ยังใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดินในการตรวจสอบและเรียกให้พนักงานสอบสวนมาชี้แจงได้หากมีการร้องเรียน

ด้าน พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยในการสัมมนาว่า มีการรวบรวมทางสถิติพบว่า ในหลายปีที่ผ่านมามีคดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้องใน กทม. ประมาณ 4,000 คดี ผบ.ตร. เห็นแย้ง 245 คดี ประมาณร้อยละ 6 ขณะที่ ในต่างจังหวัดมีคดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง 13,000 คดี แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งไม่ฟ้อง 145 คดี คิดเป็นประมาณร้อยละ 1 เท่านั้น และเมื่อขึ้นไปในชั้นอัยการสูงสุดในจำนวนคดีที่ ผบ.ตร. เห็นแย้ง ร้อยละ 34 อสส. สั่งไม่ฟ้อง ขณะที่คดีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นแย้งอัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องถึงร้อยละ 36 จากข้อมูลตรงนี้เป็นเหตุเป็นผลที่ ผบช.ภ. จำเป็นต้องใช้ดุลพินิจให้การมีความเห็นแย้งหรือไม่ในทางคดี


กำลังโหลดความคิดเห็น