xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมบันเทิง : Draft Day ธรรมาธิปไตยภายใต้ความกดดัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สำหรับชาวอเมริกันแล้ว กีฬาอันดับหนึ่งที่เป็นสุดยอดความนิยม คงเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากอเมริกันฟุตบอล ความชื่นชอบดังกล่าวไม่ได้เริ่มต้นจากการแข่งขันในลีกสูงสุดระดับประเทศอย่าง NFL แต่ทว่าเหล่าแฟนๆกีฬา และสต๊าฟโค้ช มีเรื่องให้ลุ้นให้เชียร์กันตั้งแต่วันที่เรียกว่า ดราฟท์เดย์ (Draft Day)

Draft Day คล้ายกับวันคัดเลือกตัวนักกีฬาดาวรุ่งจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งบรรดาหนุ่มน้อยคลื่นลูกใหม่ ต่างเป็นที่หมายตาจากทีมยักษ์ใหญ่ในแต่ละรัฐที่ต้องการจับมาเซ็นสัญญา เพื่อเสริมความแกร่งในฤดูกาลแข่งขันที่กำลังจะเริ่มต้น โดยในวันดราฟท์ นักกีฬาฝีมือดีที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย จะได้รับคัดเลือก เซ็นสัญญา เพื่อไปสู่ฟุตบอลลีกอาชีพในระดับประเทศ

ทางฝั่งของผู้ทำการคัดเลือกนั้น หน้าที่อย่างเป็นทางการเป็นของผู้จัดการทีม แต่ก็จะมีโค้ช ทีมงาน รวมถึงเจ้าของสโมสรฟุตบอล ที่อาจมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ โดยมีกฎกติกาผ่อนปรน ยืดหยุ่นให้ผู้จัดการแต่ละทีม สามารถติดต่อแลกลำดับในการเลือกก่อนหรือหลังได้ เพื่อแลกสิทธิ์ลำดับของการคัดเลือกในปีถัดไป

แน่นอนว่า ทีมที่ได้เลือกก่อน ก็ย่อมได้เปรียบในแง่ที่ว่า มีโอกาสได้นักกีฬาดาวรุ่งที่ดีที่สุดไปก่อน ส่วนทีมที่เลือกทีหลัง ก็ต้องวางแผนสอง แผนสามไว้ในใจ หากโดนทีมอื่นคว้าตัวนักกีฬาที่หมายปองตัดหน้าไป

ในภาพยนตร์เรื่อง Draft Day เป็นเรื่องราวการทำงานของ “ซอนนี วีเวอร์” ผู้จัดการทีมคลีฟแลนด์ บราวน์ ซึ่งเคยเป็นทีมระดับแนวหน้ามาก่อน แต่ปัจจุบันอันดับตกต่ำ ห่างไกลคำว่าแชมป์มาหลายสมัย

วีเวอร์กำลังอยู่ในภาวะรับศึกหนักหลายด้าน เขาเพิ่งสูญเสียพ่อไป แฟนสาวก็เพิ่งตั้งครรภ์ เจ้าของสโมสรกดดันอยากได้นักกีฬาที่เขายังไม่แน่ใจในความสามารถ ขณะเดียวกันโค้ชคนใหม่ที่เข้ามาสร้างทีม ก็ดูจะมีความเห็นแย้งในเรื่องของการคัดตัวนักฟุตบอล

ในฤดูกาลแข่งขันที่กำลังจะเริ่มต้น วีเวอร์ตัดสินใจแลกสิทธิ์ลำดับการเลือกของปีถัดไปถึงสองครั้ง เพื่อขอให้ปีนี้ ทีมคลีฟแลนด์ บราวน์ เป็นทีมแรกที่ได้สิทธิ์เลือกนักฟุตบอลเป็นลำดับที่หนึ่ง และเมื่อเป็นเช่นนั้น เจ้าของสโมสรอย่าง “แอนโธนี่ โมลีน่า” รวมถึงทีมงานแต่ละคน ก็พุ่งเป้าสายตาไปที “โบ คัลลาแฮน” นักฟุตบอลตำแหน่งควอเตอร์แบ็คดาวรุ่งชื่อดังที่สุดในระดับมหาวิทยาลัย

ปัญหาแรกของวีเวอร์มีอยู่ว่า เขาศึกษาเกมการแข่งขันมานับร้อยนับพันรอบ และมีตำแหน่งตัวเลือกที่อยู่ในใจอยู่แล้ว คือ นักอเมริกันฟุตบอลตัวตัดเกมที่ชื่อ “วอนเท แม็ค” แต่ในเมื่อทุกฝ่ายกดดัน เร่งเร้า และตื่นเต้นที่ทีมจะคว้าคัลลาแฮนคนดัง ทำให้ผู้จัดการทีมอย่างเขา ต้องคิดอย่างรอบคอบที่สุด

อย่างไรก็ตาม ในสายตาของ “โค้ชเพนน์” ก็ดูไม่ค่อยแยแสกับนักฟุตบอลดาวรุ่งชื่อดังมากนัก เพราะสิ่งที่เขาต้องการ กลับเป็นการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจคัดเลือกนักกีฬาในตำแหน่งอื่นๆ เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการเล่นของทีมที่ดูแลอยู่

อย่างไรก็ดี ปัญหาแรกที่วีเวอร์ต้องหาบทสรุปให้ได้ คือ การหาจุดด้อยของคัลลาแฮน ว่ามีตรงไหน อย่างไร เพราะตำแหน่งควอเตอร์แบ็คของทีมนั้น มีผู้เล่นที่เล่นได้ดีอยู่แล้ว

ทีมงานพยายามหาจุดอ่อนของคัลลาแฮนอย่างละเอียดยิบ จนกระทั่งมีข้อมูลลับๆหลุดออกมาว่า ในงานวันเกิดปีหนึ่งของคัลลาแฮน ไม่มีเพื่อนร่วมทีมไปร่วมงานเลย ซึ่งทำให้เป็นที่น่าสงสัยในเรื่องมนุษยสัมพันธ์ หรือความเป็นที่รักของเพื่อนๆ ว่านักกีฬาหนุ่มชื่อดัง มีปัญหาอะไรหรือเปล่า

นอกจากนี้ หลังจากชมเทปการแข่งขันซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนทุกคนคิดว่ามันไม่มีความสำคัญที่จะต้องดูภาพเก่าๆซ้ำๆ แต่สุดท้ายแล้ว วีเวอร์ก็ได้เห็นจุดอ่อนของคัลลาแฮน ในเกมการแข่งขันครั้งหนึ่ง

ดังนั้น เมื่อเวลาของการดราฟท์ผู้เล่นหน้าใหม่มาถึง สองคนที่ช็อคมากที่สุดก็คือ แอนโธนี่ โมลีน่า เจ้าของสโมสร กับ โบ คัลลาแฮน เพราะวีเวอร์ตัดสินใจเลือกวอนเท แม็ค

การกระทำดังกล่าวทำให้ผู้จัดการทีมที่มีสิทธิ์เลือกในลำดับถัดไป เริ่มมึนงงสับสน ไม่กล้าที่จะเลือกคัลลาแฮนตามไปด้วย จึงเป็นโอกาสที่วีเวอร์ใช้ไหวพริบ ชิงจังหวะด้วยการรีบต่อสายตรงไปขอแลกสิทธิ์กับผู้จัดการทีมอื่น เพื่อขอสิทธิ์การคัดเลือกตัวในฤดูกาลถัดไปคืนมา

แม้ว่าในช่วงแรกทุกคนจะรู้สึกช็อค และไม่เห็นด้วยกับวีเวอร์ รวมทั้งโมลีน่า ประธานสโมสร แต่สุดท้ายแล้ว วีเวอร์ก็คว้านักฟุตบอลดาวรุ่งฝีมือดีรายอื่นๆมาได้ และเมื่อผลการคัดตัวออกมาเป็นที่น่าชื่นชมและพอใจแก่ทุกฝ่ายในทีมคลีฟแลนด์ บราวน์ โมลีน่าก็ยอมรับเหตุผลในการตัดสินใจของผู้จัดการจอมเก๋ารายนี้

การทำงานภายใต้แรงกดดันจากหลายฝ่ายของวีเวอร์ หากเปรียบหลักธรรมที่สำคัญ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต้องมีก็คือ พรหมวิหารธรรม คือ ธรรมประจำใจอันประเสริฐ ที่ต้องมีไว้เป็นหลักใจและกำกับความประพฤติ จึงจะชื่อว่าดำเนินชีวิตหมดจด และปฏิบัติตนต่อมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายโดยชอบ ประกอบด้วย เมตตา (ความเป็นมิตร มุ่งประโยชน์แก่ผู้น้อย) กรุณา (ช่วยเหลือต่อผู้ประสบปัญหา) มุทิตา (ยินดีต่อผู้อื่นในความสำเร็จ) และ อุเบกขา (รู้จักวางเฉยในสถานการณ์ที่เหมาะสม)

หลักธรรม 3 ข้อแรกนั้น วีเวอร์แสดงให้เห็นชัดในฐานะผู้จัดการทีม ที่มีต่อผู้เล่นหน้าใหม่ เขาให้โอกาสแก่ วอนเท แม็ค ในการพิสูจน์ตนเอง ยินดีในความสำเร็จของผู้เล่น และเพื่อนร่วมงาน ส่วนอุเบกขานั้น ยิ่งปรากฏชัดในช่วงเวลาวิกฤต ก่อนที่การดราฟท์ผู้เล่นจะสิ้นสุด เพราะทั้งโค้ชเพนน์ ประธานสโมสรอย่างโมลีน่า รวมถึงทีมงานคนอื่นๆ ต่างสับสนมึนงง บ้างก็ไม่พอใจกับการตัดสินใจแปลกๆของวีเวอร์ แต่ผู้จัดการทีมรายนี้ ยังแน่วแน่ในการทำงานภายใต้ความกดดัน

เขาวางเฉยและขอร้องให้ทุกคนนิ่งสงบ จนกว่าการติดต่อสื่อสารในช่วงสำคัญของ Draft Day จะสิ้นสุดลง และสุดท้ายการวางเฉยต่ออารมณ์ของผู้คนรอบข้าง ก็ทำให้สถานการณ์ต่างๆคลี่คลาย ด้วยผลงานการคัดเลือกนักฟุตบอลหน้าใหม่อันเป็นที่น่าพอใจ

ส่วนหลักสำคัญประการหนึ่งสำหรับผู้นำ คือความมี “ธรรมาธิปไตย” ซึ่งหลักข้อนี้ ต่างจากประชาธิปไตย (หรือทางธรรม เรียกว่า โลกาธิปไตย) เพราะประชาธิปไตย หรือ โลกาธิปไตยนั้น อาจไม่ถูกต้องเหมาะสมเสมอไป หากเสียงส่วนใหญ่ไม่สามารถแยกแยะความถูกต้อง หรือมองเห็นสิ่งที่เป็นประโยชน์แท้จริง

ในกรณีของภาพยนตร์เรื่องนี้ คือ การที่หลายๆคนในทีมคลีฟแลนด์ บราวน์ อยากได้ตัวคัลลาแฮน เพราะความโด่งดัง บุคลิกหน้าตา และการเล่นที่ดูหวือหวา แต่ทว่า วีเวอร์มองเห็นจุดด้อยสำคัญของนักกีฬารายนี้ รวมถึงตำแหน่งดังกล่าวของทีม ก็มีผู้เล่นที่มีความสามารถเพียงพอแล้ว

เขาจึงตัดสินใจใช้หลัก “ธรรมาธิปไตย” คือ การตัดสินใจโดยถือความถูกต้องเป็นสำคัญ ยึดตามเหตุผล แม้ว่ามันไม่ใช่มติจากเสียงส่วนใหญ่ แต่ก็สามารถอธิบายที่มาที่ไปของการตัดสินใจได้ ซึ่งผลประโยชน์ในการเลือก ก็ย่อมตกแก่ส่วนรวมนั่นเอง

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 163 กรกฎาคม 2557 โดย ชยวรรศ มานะศิริ)






กำลังโหลดความคิดเห็น