xs
xsm
sm
md
lg

"ปิยะวัฒก์"เสนอแนวทางปฏิรูป DSI ไม่ให้นักการเมืองเข้ามามีตำแหน่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พ.อ.ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ อดีตผู้บัญชาการสำนักคดีทรัพย์สินทางปัญญา กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เจ้าของฉายามือปราบแชร์ลูกโซ่ เสนอแนวทางปฏิรูปดีเอสไอผ่านเฟซบุ๊คว่า จากประสบการณ์ 8 ปี ที่รับราชการในดีเอสไอได้พบเห็นสิ่งต่างๆ มากมาย โดยสิ่งที่ไม่สามารถรับได้เลยคือการสั่งการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงตัดสินใจลาออกก่อนครบเกษียณอายุราชการ จึงเสนอให้ปฏิรูป ดีเอสไอเพื่อให้ดีเอสไอกลับมาเป็นที่เชื่อมั่นของประชาชนอีกครั้งหนึ่ง โดยแนวทางที่จะไม่ทำให้ดีเอสไอตกเป็นเครื่องมือของนักการเมืองนั้น ควรแก้ไของค์ประกอบคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ไม่ให้มีนักการเมืองเข้ามามีตำแหน่งใดๆ ใน กคพ.ซึ่งในปัจจุบัน กคพ. มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นรองประธานกรรมการซึ่งล้วนแต่เป็นนักการเมืองทั้งสิ้น จึงเห็นควรแก้ไขให้ปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานกคพ.ในส่วนของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 9 คน ซึ่งจะมีผลต่อการลงมติในการรับคดีความผิดทางอาญาใดเป็นคดีพิเศษต้องใช้วิธีการตั้งกรรมการสรรหาขึ้นมา เพื่อให้ได้ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ในส่วนของคณะกรรมการสรรหานั้น ควรขอรับการสนับสนุนผู้ทรงคุณวุฒิจากศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลทหารเข้ามาร่วมเป็นกรรมการสรรหาด้วย ควรแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวนระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติและดีเอสไอให้ชัดเจน เพื่อมิให้เกิดการแย่งคดีกันทำ รวมถึงการใช้อำนาจของอธิบดีดีเอสไอในการสั่งรับคดีใดไว้เป็นคดีพิเศษก็ได้ เช่น การสั่งให้ทำการสอบสวนกรณีที่อดีตนายกรัฐมนตรีไปยืนถ่ายรูปหน้าแผ่นป้ายที่มีข้อความว่า เสือ สิงห์ กระทิง แล้วมีผู้นำไปโพสต์บนอินเทอร์เน็ต เป็นคดีพิเศษ ในขณะที่คดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวที่มีเกษตรกรได้รับความเสียหายนับแสนล้านบาทกลับไม่รับเป็นคดีพิเศษ นอกจากนั้น ยังสามารถใช้อำนาจของอธิบดีในการสั่งการให้สอบสวนคดีความผิดทางอาญาใดๆ ก็ได้ที่แม้จะอยู่ในระหว่างการสอบสวนของตำรวจ ซึ่งเท่ากับเป็นการแย่งคดีจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาทำเป็นคดีพิเศษ เช่ การดึงคดีเณรคำ ที่อยู่ระหว่างการสอบสวนของกองบังคับการปราบปราม มาเป็นคดีพิเศษ โดยอาศัยฐานความผิดตามกฎหมายว่าด้วยคอมพิวเตอร์
นอกจากนี้ ยังเห็นว่ากฎหมาย 36 ฉบับในความรับผิดชอบของดีเอสไอมีจำนวนมากเกินไป ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ในการก่อตั้งดีเอสไอซึ่งกำหนดกรอบอัตรากำลังไว้เพียง 1,012 อัตรา
พ.อ.ปิยะวัฒก์ ยังเสนอให้แก้ไขกฎหมายในส่วนอำนาจในการสั่งคดี และการทำความเห็นแย้ง เนื่องจากในปัจจุบันอำนาจการสั่งคดีและการทำความเห็นแย้งเป็นอำนาจของอธิบดีแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งในทางปฏิบัติมีการสั่งไม่ฟ้อง ทั้งที่คดีมีพยานหลักฐานชัดเจนเพียงพอเชื่อได้ว่าผู้ต้องหาได้กระทำความผิดจริง เมื่อหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนมีความเห็นทางคดีสั่งฟ้องผู้ต้องหาแล้วเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นเพื่อมีความเห็นทางคดี หากอธิบดีจะมีคำสั่งไม่ฟ้องจะใช้อำนาจของตนเองสั่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณากลั่นกรองสำนวนคดีแล้วเสนอความเห็นให้อธิบดีพิจารณาดังเช่น คดีบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ ป่าสบกกฝั่งขวา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย และคดีแชร์ลูกโซ่อีกหลายคดี ซึ่งกรณีเช่นนี้จะเกิดขึ้นเฉพาะการสั่งไม่ฟ้องเท่านั้นเหมือนกับเป็นการใช้คณะทำงานเป็นเครื่องมือให้พิจารณาเสนอความเห็นสั่งไม่ฟ้องตามที่อธิบดีต้องการ จึงเห็นควรปฏิรูปให้การทำความเห็นแย้งต้องนำเสนอสู่ที่ประชุม กคพ.ให้มีมติเห็นชอบ
กำลังโหลดความคิดเห็น