อัยการยื่นฟ้อง “สนธิญาณ - สกลธี” แกนนำ กปปส. ร่วมกันเป็นกบฏ และมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ศาลนัดสอบคำให้การ 12 พ.ค. นี้ ด้านอธิบดีอัยการคดีพิเศษแถลงมีความเห็นสั่งฟ้องแกนนำ กปปส. เพิ่มอีก 48 ราย แต่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ต้องรอดีเอสไอสอบปากคำและนำตัวส่งให้อัยการ
ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เมื่อเวลา 14.00 น. วันนี้ (8 พ.ค.) พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม อายุ 52 ปี และนายสกลธี ภัททิยกุล อายุ 37 ปี เป็นจำเลยที่ 1 และ 2 ตามลำดับในความผิดฐานร่วมกันเป็นกบฏ กระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หรือวิธีอื่นใดที่ไม่ใช่การกระทำในความมุ่งหมายตามรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือความไม่สงบในราชอาณาจักรฯ, อั้งยี่, ซ่องโจร, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองโดยมีอาวุธ โดยเป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการ, เจ้าพนักงานสั่งให้เลิกการกระทำนั้นแต่ไม่เลิก, ยุยงให้ร่วมกันหยุดงาน การร่วมกันปิดงาน งดจ้างเพื่อบังคับรัฐบาล, ร่วมกันบุกรุก, ร่วมกันขัดขวางเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง, ร่วมกันขัดขวางการปฏิบัติงานของ กกต. ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,113, 116, 117, 209, 210, 215, 362, 364, 365 และ พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ. 2550 มาตรา 76, 152
โดยศาลประทับรับฟ้องไว้เป็นคดีหมายเลขดำ อ.1191/2557 และนัดสอบคำให้จำเลยทั้งสองในวันที่ 12 พ.ค.นี้ เวลา 09.00 น.
คำฟ้องระบุว่า เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2556 จนถึงวันฟ้อง ทั้งเวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งสองร่วมกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ตามหมายจับของศาลอาญา ที่ 2363/2556 กับพวกอีกหลายคนที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้มั่วสุมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป และเกินกว่า 10 คน สมคบกันเป็นอั้งยี่และซ่องโจร โดยร่วมกันและแบ่งหน้าที่กระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐในราชอาณาจักรฐานเป็นกบฏ ร่วมกันใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ อีกทั้งได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบท โดยได้มีการจัดตั้งเป็นคณะบุคคลใช้ชื่อว่า คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. มีนายสุเทพ ประกาศตัวเป็นเลขาธิการของคณะบุคคลดังกล่าว และมีจำเลยทั้งสองเป็นสมาชิกและเป็นกรรมการผู้มีหน้าที่สั่งการ มีวัตถุประสงค์ร่วมกันปลุกระดม ยุยง ชักชวนให้ประชาชน เข้าร่วมการชุมนุมและร่วมกิจกรรมในการก่อความไม่สงบ มุ่งขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พ้นจากตำแหน่ง และพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี รวมทั้งดำเนินการคัดค้านและขัดขวางการเลือกตั้ง ส.ส. เพื่อไม่ให้มีนายกฯ และ ครม. ชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งมีการแบ่งหน้าที่กันทำส่วนหนึ่งทำหน้าที่ปราศรัยชักชวนประชาชน ให้ออกมาขับไล่รัฐบาล อีกส่วนหนึ่งทำหน้าที่เป็นกองกำลังทั้งที่มีอาวุธและไม่มีอาวุธ บุกเข้าไปยึดสถานที่ราชการและหน่วยงานต่างๆ เพื่อไม่ให้รัฐบาลปฏิบัติหน้าที่ได้ และมีการใช้กำลังขัดขวางต่อสู้ทำร้ายร่างกาย และในวันที่ 16 ม.ค. 2557 เวลากลางคืน ได้มีการจัดตั้งสะสมกองกำลังอันเป็นส่วนหนึ่งของแผนการกบฏ โดยประกาศรับสมัครชายฉกรรจ์ 500 คน เพื่อทำการขับไล่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และจับตัวรัฐมนตรีคนอื่นๆ บีบบังคับให้ลาออกจากตำแหน่ง และจัดตั้งศาลประชาชนขึ้นพิจารณาลงโทษและริบยึดทรัพย์อันเป็นการล้มล้างอำนาจบริหารและอำนาจตุลาการ นอกจากนี้ระหว่างวันที่ 13 ม.ค. - 2 มี.ค. 2557 จำเลยกับนายสุเทพ พร้อมพวก ได้ปิด กทม. มีการตั้งเวทีปราศรัย 7 แห่ง และปิดกั้นการจราจร และได้ยึดครองไม่ให้ประชาชนใช้เส้นทางดังกล่าว โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายแก่ชีวิต รัฐบาลมอบหมายให้ศูนย์รักษาความสงบและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ออกคำสั่งตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ให้จำเลยและพวกเลิกชุมนุมและบุกรุกสถานที่ราชการ หยุดปิดกั้นการจราจร แต่จำเลยกับพวกไม่เลิกกระทำการดังกล่าว เหตุเกิดทั่วราชอาณาจักร ในชั้นสอบสวนจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ และท้ายคำร้องอัยการไม่ได้คัดค้านการปล่อยชั่วคราว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลอาญาในวันนี้ อัยการไม่ได้นำตัวจำเลยทั้งสองมาส่งให้ศาล เนื่องจากจำเลยอยู่ในอำนาจฝากขังต่อศาลแล้ว โดยขอให้ศาลเบิกตัวจำเลยมาในวันนัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐาน ในวันที่ 12 พ.ค. นี้ เวลา 09.00 น.
ต่อมาวันเดียวกัน ที่ห้องประชุม 100 ปี สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนรัชดาภิเษก เมื่อเวลา 15.30 น. นายนันทศักดิ์ พูลสุข อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ และโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด แถลงผลการสั่งคดี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. และแกนนำ กปปส. รวม 51 คน ที่พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สรุปสำนวนมีความเห็นสมควรสั่งฟ้องข้อหาร่วมกันเป็นกบฏและความผิดอื่นรวม 8 ข้อหา ว่า คณะทำงานอัยการพิจารณาสำนวนพยานหลักฐานแล้วมีความเห็นสั่งฟ้อง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. กับพวกซึ่งเป็นแกนนำ กปปส. รวม 43 คน ในข้อหาร่วมกันเป็นกบฏและกระทำการให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หรือวิธีอื่นใดที่มิใช่การกระทำในความมุ่งหมายตามรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือความไม่สงบในราชอาณาจักรฯ มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่ยอมเลิก ยุยงให้ร่วมกันหยุดงาน ปิดงานงดจ้าง เพื่อขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และบุกรุกสถานที่ราชการ รวมทั้งขัดขวางการเลือกตั้ง และมีความเห็นควรสั่งให้ฟ้องผู้ต้องหากลุ่มนักวิชาการที่ได้ขึ้นปราศรัย 5 คน ข้อหาร่วมกันสนับสนุนนายสุเทพ เลขาธิการ กปปส. กระทำการอันเป็นกบฏและกระทำการให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาหรือวิธีอื่นใดที่มิใช่การกระทำในความมุ่งหมายตามรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือความไม่สงบในราชอาณาจักรฯ มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คน ขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่ยอมเลิก ยุยงให้ร่วมกันหยุดงาน ปิดงานงดจ้าง เพื่อขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และบุกรุกสถานที่ราชการ รวมทั้งขัดขวางการเลือกตั้ง
แต่เนื่องจากผู้ต้องหาทั้ง 48 คนนั้น ทางพนักงานสอบสวนดีเอสไอยังไม่ได้รับตัวไว้สอบสวนและผู้ต้องหาดังกล่าวก็ยังไม่ได้ให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนตามขั้นตอนให้ครบถ้วน ดังนั้น เมื่ออัยการมีความเห็นสมควรสั่งให้ฟ้องแล้ว หลังจากนี้ก็ต้องให้พนักงานสอบสวนดีเอสไอไปดำเนินการเรียกตัวผู้ต้องหามาสอบและสรุปเป็นสำนวนคำให้การตามขั้นตอนให้ครบถ้วนแล้วส่งสำนวนดังกล่าวกลับมาให้อัยการเพื่อจะรวมยื่นฟ้องเป็นคดีต่อไป ซึ่งกระบวนการดังกล่าวไม่ได้กำหนดระยะเวลาไว้ว่าพนักงานสอบสวนจะต้องดำเนินให้เสร็จภายในกี่วัน แต่ก็ควรดำเนินโดยเร็ว แม้คดีจะมีอายุความ 20 ปี
ขณะที่คณะทำงานอัยการได้พิจารณาสำนวนหลักฐานแล้วมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องนักวิชาการชาย 1 คน เนื่องจากแม้จะพบว่าได้มีการขึ้นเวทีปราศรัย แต่เป็นการพูดเกี่ยวกับข้อมูลหุ้น การทุจริต แต่ก็ไม่ได้เป็นการพูดยุยง ปลุกปั่น ซึ่งอัยการก็จะต้องส่งสำนวนความเห็นกลับไปให้นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ พิจารณาว่าจะมีความเห็นแย้งกับอัยการหรือไม่ ถ้าเห็นแย้งก็จะต้องส่งให้ นายอรรถพล ใหญ่สว่าง อัยการสูงสุด เป็นผู้พิจารณาชี้ขาดตามกฎหมาย
นายนันทศักดิ์ กล่าวว่า อย่างไรก็ดี ในวันนี้หลังจากที่คณะทำงานอัยการพิจารณาสำนวนแกนนำ กปปส. เสร็จสิ้นแล้ว เมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมาก็ได้นำสำนวนไปยื่นฟ้องนายสนธิญาณ และ นายสกลธี แกนนำ กปปส. เป็นจำเลยที่ 1 และ 2 ต่อศาลอาญาในคดีหมายเลขดำ อ.1191/2557 ฐานร่วมกันกับนายสุเทพเป็นกบฏ และความผิดอื่นรวม 8 ข้อหา ขณะที่การยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองและการยื่นฟ้องจำเลยอื่นที่เหลือในอนาคตอัยการไม่ได้ระบุในคำฟ้องว่าคัดค้านการให้ประกันหรือไม่ แต่ให้เป็นดุลยพินิจของศาลในการพิจารณา
ทั้งนี้ ในส่วนของกลุ่ม กปปส. อีก 7 คน ที่ผ่านมา พนักงานสอบสวนดีเอสไอยังไม่ได้ส่งสำนวนมาให้อัยการ ดังนั้นผู้ต้องหาในส่วนนี้อัยการจึงยังไม่ได้มีความเห็นว่าจะฟ้องหรือไม่ฟ้อง ซึ่งจะต้องรอพนักงานสอบสวนส่งสำนวนมาให้อัยการพิจารณาคดีต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผู้ต้องหา 5 คน ซึ่งเป็นกลุ่มนักวิชาการที่อัยการมีความเห็นควรสั่งฟ้อง ในความผิดฐานสนับสนุนนายสุเทพ เลขาธิการ กปปส. เป็นกบฏนั้น ประกอบด้วย 1. นายแก้วสรร อติโพธิ อดีตวุฒิสภา 2. นายกิตติศักดิ์ ปรกติ 3. นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตสมาชิกวุฒิสภา 4. นายพิภพ ธงไชยอดีต แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย 5. นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. ส่วนผู้ต้องหาที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง 1 คน คือ นายพิจารณ์ สุขภารังสี
สำหรับผู้ต้องหาอีก 7 คน ซึ่งดีเอสไอยังไม่ได้ส่งสำนวนให้อัยการ ประกอบด้วย 1. นายทศพล เพ็งส้ม 2. นายบุญยอด สุขถิ่นไทย 3. นายสาธิต ปิตุเตชะ 4. นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ กลุ่มอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ 5. นายชาญวิทย์ วิภูสิริ 6. นายพิชิต ไชยมงคล และ 7. นางนาถยา เบ็ญจศิริวรรณ