xs
xsm
sm
md
lg

"ยิ่งลักษณ์"ฝันค้าง กกต.ยังไม่ส่งร่างพ.ร.ฎ.เลือกตั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (6 พ.ค.) นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. แถลงผลการประชุมกกต. กรณีการ ร่าง พระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้งส.ส. เป็นการทั่วไปว่า กกต. ได้ส่งหนังสือนัดเชิญนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือเกี่ยวกับการออก พ.ร.ฎ. กำหนดวันเลือกตั้งใหม่อีกรอบ เนื่องจากทางสำนักงานกกต. และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ยังมีความเห็นต่างใน ร่าง พ.ร.ฎ. กำหนดวันเลือกตั้งที่ กกต.ได้ยกร่างไป โดยหนังสือได้ออกจากสำนักงาน กกต. ถึงคณะรัฐมนตรี เมื่อเวลาประมาณ 17.00 น. แล้ว หากนายกฯ พร้อมที่จะนัดเวลา และสถานที่ได้เร็ว ภายใน 3 – 5 วัน ก็ยังจะไม่กระทบต่อวันเลือกตั้ง ที่เคยตกลงร่วมกันไว้ คือ วันที่ 20 ก.ค.
นายภุชงค์ กล่าวว่า นับแต่วันที่ตกลงกับนายกฯ และรัฐมนตรีบางส่วน ที่โรงเรียนนายเรืออากาศ เมื่อ 30 เม.ย. ที่ผ่านมา ทางสำนักงานกกต. ก็ได้เริ่มประสานงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. เพื่อยกร่าง พ.ร.ฎ. กำหนดวันเลือกตั้งฉบับใหม่ มาตลอด แต่มีความเห็นที่แตกต่างกัน คือ กกต. เห็นว่าหากเกิดปัญหาและมีความจำเป็นให้สามารถเลื่อนวันเลือกตั้งได้ โดยควรมีการกำหนดถ้อยคำนี้ไว้ในร่าง พ.ร.ฎ.แก้ไขเพิ่มเติม เพราะกรณีดังกล่าวก็เคยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญรองรับอยู่แล้ว
แต่ทางสำนักงานกฤษฎีกา มีความเห็นแย้งกลับมาว่า มีประเด็นปัญหาข้อกฎหมายว่า การกำหนดวันเลือกตั้งจะมอบอำนาจต่อไปได้หรือไม่ และจะเป็นการกระทำโดยไม่ใช่รูปแบบพระราชกฤษฎีกา รวมทั้งมีความเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้วินิจฉัยว่า เหตุของการให้มีการเลื่อนการเลือกตั้ง คือเหตุใด และการเลื่อนจะกระทำได้โดยพระราชกฤษฎีกา หรือประกาศของ กกต.
ดังนั้น ทางกกต. จึงเห็นควรว่า กกต.และรัฐบาล ควรมีการประชุมหารือกันใหม่ เพื่อให้เกิดความรอบคอบชัดเจน อีกครั้ง
สำหรับหนังสือที่ กกต. ทั้ง 5 คนลงนาม และส่งไปยังรัฐบาลรวม 3 ข้อนั้น ประกอบด้วย
1. แม้ พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้ง จะไม่เคยมีแบบแผนการกำหนดแนวทางแก้ปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตมาก่อนก็ตาม แต่ กกต. เห็นว่า การตรา พ.ร.ฎ. เองก็ไม่เคยมีรูปแบบมาตรฐานว่า จะต้องมีเนื้อความอย่างไร การตราพ.ร.ฎ.ขึ้นเพื่อการแก้ไขปัญหาของชาติที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง จึงเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ ดังเคยมีตัวอย่าง พ.ร.ฎ.แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อปี 2549 ที่มีการกำหนดวันบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้ว 1 เดือน ซึ่งก็ไม่เคยมีแบบแผนมาก่อนเช่นเดียวกัน
2. จากเหตุการณ์ความไม่สงบจากการชุมนุมคัดค้านการเลือกตั้งที่ผ่านมา ทำให้ กกต. เคยเสนอนายกฯ ให้เลื่อนวันเลือกตั้งออกไปก่อน แต่นายกฯ และรัฐมนตรีหลายท่านเห็นว่า ไม่สามารถเลื่อนได้ เพราะไม่มีอำนาจตามกฎหมาย และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญรองรับ แต่ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยชี้ขาดให้ กกต. สามารถแจ้งให้นายกฯ หรือคณะรัฐมนตรี รับทราบเพื่อพิจารณาตรา พ.ร.ฎ.เลือกตั้งใหม่ได้
3. กกต. เห็นว่าข้อบัญญัติที่ให้เพิ่มขึ้นดังกล่าว เป็นความพยายามแก้ไขปัญหาเดิมที่เคยเกิดขึ้น ไม่ได้คำนึงแต่แบบแผน และแนวทางการตรา พ.ร.ฎ. ตามปรกติ เพราะ กกต. ต้องเป็นผู้รับผิดชอบการจัดการเลือกตั้งทั้งหมด ภายหลังจาก พ.ร.ฎ.เลือกตั้งประกาศบังคับใช้ จึงต้องมีบทบัญญัติดังกล่าวเป็นเครื่องมือที่จะทำให้การเลือกตั้งไม่ต้องเสียเปล่าอีก และสร้างความมั่นใจแก่ ครม. และ กกต. ว่าการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ จะชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และยังเป็นหลักประกันว่า การเลือกตั้งจะดำเนินไปได้อย่างแน่นอน
นายภุชงค์ กล่าวอีกว่า สำหรับหนังสือของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าเพรรคประชาธิปัตย์ ที่จะขอชี้แจงแนวทางข้อเสนอทางออกประเทศนั้น ยังไม่ได้เข้าสู่การพิจารราของ กกต. เนื่องจากหนังสือเพิ่งจะมาถึงช่วงเย็น
นอกจากนี้ ยังปฏิเสธคำถามของสื่อที่ว่า เป็นการถ่วงเวลาเพื่อรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ต่อสถานภาพนายกรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือไม่ว่า ไม่เกี่ยวกัน กกต.เสนอไปตามกรอบอำนาจหน้าที่ และกรอบเวลาของการเลือกตั้ง
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับประเด็นเลื่อนวันเลือกตั้งได้ที่ กกต. ต้องการให้มีการบรรจุไว้ใน ร่าง พ.ร.ฎ.แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการทั่วไปนั้น ในการหารือกับรัฐบาล เมื่อวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา กกต. ก็ได้หยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นหารือในที่ประชุม แต่ตัวแทนฝ่ายรัฐบาลอ้างว่า เรื่องดังกล่าวเป็นพระราชอำนาจ ไม่อาจเขียนกำหนดไว้ใน ร่าง พ.ร.ฎ. โดยรัฐบาลได้พยายามที่จะตัดบท และให้ กกต.หารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกา ในการที่จะยก ร่าง พ.ร.ฎ. ขณะเดียวกันในการประชุม กกต. ก็ได้มีการถกเถียงประเด็นนี้กันค่อนข้างหนัก โดยฝ่ายกฎหมายของสำนักงานกกต.บางส่วน ก็เห็นว่า ไม่สามารถบรรจุข้อความดังกล่าวไว้ใน ร่าง พ.ร.ฎ. ได้ เนื่องจากการเลือนวันเลือกตั้ง ไม่มีกฎหมายใดรองรับ แม้จะมีคำวิวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่คำวินิจฉัยของศาล ก็ไม่ได้อ้างข้อกฎหมายที่จะสามารถดำเนินการได้ เพียงแต่บอกให้ประธาน กกต. กับนายกฯ ไปตกลงกัน

**ครม.สแตนบายรอพ.ร.ฎ.เก้อ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมครม.เมื่อวานนี้ (6 พ.ค.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้สั่งให้คณะรัฐมนตรี สแตนบายเพื่อรอพิจารณา ผ่านร่างพ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้ง และรีบนำขึ้นทูลเกล้าฯ แต่รอจนกระทั่งเวลา 16.30น. ทางกกต.ก็ยังไม่ส่งรางพ.ร.ฎ. มาให้ จึงเตรียมที่จะประชุมครม.นัดพิเศษ ในวันนี้ (7พ.ค.) เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.ฎ.ดังกล่าว แต่เมื่อกกต. ส่งหนังสือขอหารือกับนายกฯมาแทน ทำให้แผนการเร่งทูลเกล้าฯ ร่าง พ.ร.ฎ.เป็นอันต้องชะงักไปชั่วคราว
นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กกต. มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับเรื่องการกำหนดวันเลือกตั้ง โดยอ้างว่า ขอให้เติมบทบัญญัติ มาตรา ในพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง เกี่ยวกับการให้อำนาจ กกต. เพราะหากมีปัญหาก็สามารถเสนอวันเลือกตั้งใหม่ได้ แต่ทางกฤษฎีกาได้บอกกับ กกต. และให้ความเห็นไปแล้วว่า อำนาจที่ออก พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง สามารถกำหนดได้เฉพาะวันเลือกตั้งเท่านั้น จะให้อะไร อำนาจนอกเหนือจากนี้ไม่ได้ ซึ่งพ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ จึงไม่สามารถให้อำนาจ กกต.ได้
ทั้งนี้ อย่าพูดว่ากกต. มีความพยายามเตะถ่วง ไม่ให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นหรือไม่ กกต.มีหน้าที่จัดการเลือกตั้ง ขณะเดียวกันหนังสือของกกต. จะขอหารือกับนายกรัฐมนตรี ในแนวทางดังกล่าวอีกครั้ง โดยหนังสือได้ส่งถึงนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรี ยังไม่ได้ตอบกลับ หรือนำเข้าในที่ประชุมครม. แต่กกต. ยืนยันว่า ยังมีเวลาในการหารือ และทันกรอบเวลาเดิมในวันที่ 20 ก.ค.
เมื่อถามว่า ถ้าศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ให้นายกรัฐมนตรีผิด และมีเหตุให้คณะรัฐมนตรีพ้นทั้งคณะจะทำอย่างไร นายพงศ์เทพ กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ได้วินิจฉัย ซึ่งนายกรัฐมนตรี มั่นใจในการสู้คดี
เมื่อถามว่า เป็นห่วงหรือไม่ว่าจะไม่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น และมีรัฐบาลกลางเข้ามาแทนที่ นายพงศ์เทพ กล่าวว่า ประชาชนรอคอยการเลือกตั้ง เพื่อให้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย และเดินไปตามครรลอง และไม่ว่าการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไรก็ตาม รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งถือว่าเป็นรัฐบาลที่ประชาชนเห็นชอบ
ส่วนรัฐบาลจะหารือถึงหนังสือของกกต. ก่อนศาลรัฐธรรมนูญ จะมีคำวินิจฉัยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรี ว่าสะดวกเมื่อไร ส่วนจะตอบรับการหารือหรือไม่ ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรี ว่าอ่านแล้วจะมีความเห็นอย่างไร

**ขอนายกฯพิจารณาข้อเสนอ"มาร์ค"

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการออก พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งวันที่ 20 ก.ค.ว่า เมื่อ กกต.ยังไม่สามารถส่งร่าง พ.ร.ฎ. ให้ครม.พิจารณาได้ ก็ขอให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ใช้เวลาอีก 7 วัน ก่อนที่จะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.ฎ.ดังกล่าว ในการประชุมครม.ครั้งต่อไป อ่านแผนเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทยของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ส่งให้อย่างเป็นทางการด้วยความรอบคอบ เพราะนักกฎหมายข้างตัวนายกฯ ไม่ได้หาทางออกให้ประเทศ และที่สำคัญไม่ได้หาทางออกให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ดังนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ควรจะได้อ่านแผนทั้ง 14 หน้าด้วยตัวเอง หากไม่เข้าใจ ขอให้นัดพบนายอภิสิทธิ์ ซึ่งจะยืนยันได้ว่าเป็นแผนที่ลดการเผชิญหน้า ทำได้ตามรัฐธรรมนูญ หลีกเลี่ยงการกระทำระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท ที่ผ่านมาถูกนักกฎหมายข้างตัวพามาจนถึงจุดนี้ จึงอยากให้ฟังฝ่ายตรงข้ามอย่างพวกตนบ้าง เพื่อจะได้หยุดยั้งความเสียหายของประเทศ
"นายอภิสิทธิ์ ได้ส่งแผนเดินหน้าประเทศไทยให้กับน.ส.ยิ่งลักษณ์แล้ว ซึ่งในช่วงเวลา 7 วันนับจากนี้ไป เหมือนกับการเปิดโอกาสให้ประเทศหายใจได้สะดวกขึ้น จึงอยากให้นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจบนประโยชน์ของชาติด้วย" โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว
ส่วนที่มติพรรคเพื่อไทย 10 ข้อ ที่จงใจล้อตามแผนเดินหน้าประเทศไทย 10 ขั้นตอนของนายอภิสิทธิ์ โดยมีการอ้างไปถึงเหตุการณ์ปี 2549 ว่ามีขบวนการโค่นล้มรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นั้น นายชวนนท์ กล่าวว่า ถือว่าเป็นการมโนไปเอง เพราะสาเหตุที่เกิดรัฐประหารมาจากพฤติกรรมของ พ.ต.ท.ทักษิณเอง ไม่แตกต่างจากการที่ นายสมัคร สุนทรเวช ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็เพราะทำขัดรัฐธรรมนูญ โดยคนที่ยื่นคำร้องก็คือ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน อีกทั้งนายสมัคร สามารถกลับมาเป็นนายกฯได้ แต่มีการหักหลัง เปลี่ยนตัวนายกฯ เป็นนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ส่วนการยุบพรรคพลังประชาชน เพราะกรรมการบริหารพรรคทุจริตการเลือกตั้ง จึงขอว่า พอสักทีกับแถลงการณ์ที่คิดเอาเอง สร้างนิยายให้คนไทยเข้าใจผิดว่า พรรคเพื่อไทยไม่เคยผิด แต่ผิดที่ กฎหมาย องค์กรอิสระ และอำมาตย์
**"ปู"ประชุมสุดยอดอาเซียนที่เมียนมาร์ 10-11 พ.ค.

นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมครม. ว่า สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ มีกำหนดการเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 24 ระหว่างวันที่10-11 พ.ค. โดยกำหนดให้มีการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 8 แผนงาน IMT-GT โดยครั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม จะทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม และนายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรมช.เกษตรและสหกรณ์ เป็นหัวหน้าคณะรัฐมนตรีไปประชุมด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น