xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 23 ก.พ.-1 มี.ค.2557

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1.“สุเทพ” ประกาศยุบเวที เหลือแค่สวนลุมฯ ตั้งเป้าปิดเกมภายใน มี.ค. ด้าน “ยิ่งลักษณ์” ขอตายในสนาม ปชต. ขณะที่ “สมชัย” เดินหน้าประสาน 2 ฝ่ายเจรจา!
(บน) นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และแกนนำ กปปส.ยืนไว้อาลัยให้กับเด็กที่เสียชีวิตจากเหตุคนร้ายยิงเอ็ม 79 ตกที่หน้าบิ๊กซี ใกล้เวที กปปส.ราชประสงค์ (ล่าง) คนเสื้อแดงบางส่วนแสดงออกถึงความต้องการแยกประเทศเป็นประเทศล้านนา
ความคืบหน้าการชุมนุมของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(กปปส.) ที่มีนายสุเทพ เทือกบสุรรณ เป็นเลขาธิการ หลังเกิดเหตุคนร้ายขว้างระเบิดเอ็ม 26 จำนวน 2 ลูก และกราดยิงเวที กปปส.ที่ จ.ตราดเมื่อวันที่ 22 ก.พ. ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย และบาดเจ็บ 33 คน โดยผู้เสียชีวิต มีทั้งผู้ใหญ่และเด็ก ได้แก่ ด.ญ.ฬิฬาวัลย์ พรมชัย อายุ 5 ขวบ ,ด.ญ.ณัฐยา รอสูงเนิน อายุ 5 ขวบ และนางพิศตะวัน อุ่นใจ อายุ 40 ปี ซึ่งทั้งหมดไม่ใช่ผู้ชุมนุม

เป็นที่น่าสังเกตว่า เหตุการณ์ที่ จ.ตราด สร้างความเศร้าสลดยังไม่หาย ก็ได้เกิดเหตุระเบิดใน กทม.ตามมา หลังคนร้ายยิงระเบิดเอ็ม 79 มาตกบริเวณหน้าห้างบิ๊กซีราชดำริ ใกล้เวที กปปส.ราชประสงค์เมื่อช่วงเย็นวันที่ 23 ก.พ. ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย และบาดเจ็บ 21 ราย โดยผู้เสียชีวิตเป็นหญิง 1 และเด็ก 3 ซึ่งทั้งหมดไม่ได้เกี่ยวข้องกับผู้ชุมนุมแต่อย่างใด ประกอบด้วย น.ส.ฐิพาพรรณ สุวรรณมณี อายุ 59 ปี ,ด.ช.กรวิทย์ ยศอุบล หรือน้องเคน อายุ 5 ขวบ และ ด.ช.พัชรากร ยศอุบล หรือน้องเค้ก อายุ 6 ขวบ

ทั้งนี้ เหตุระเบิดทั้งที่ จ.ตราดและที่ราชประสงค์ ซึ่งส่งผลให้มีเด็กเสียชีวิตด้วยหลายราย ได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์และประณามการกระทำของผู้ก่อเหตุเป็นอย่างมากว่าอำมหิตผิดมนุษย์ ซึ่งนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ได้ประกาศให้มวลชนใส่ชุดดำเพื่อไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิตเป็นเวลา 3 วัน(26-28 ก.พ.) พร้อมชี้ว่า ฝ่ายยิ่งลักษณ์ใช้วิธีการก่อการร้ายและทำร้ายประชาชน ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ประณามการใช้ความรุนแรงทั้ง 2 เหตุการณ์เช่นกัน พร้อมชี้ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการก่อการร้ายที่ต้องการสร้างสถานการณ์เพื่อประโยชน์ทางการเมือง

นอกจากเหตุรุนแรงดังกล่าวแล้ว คนร้ายยังได้ยิงระเบิดเอ็ม 79 เข้าใส่ศาลแพ่ง โชคดีที่ระเบิดไม่ทำงาน รวมทั้งมีการยิงเอ็ม 79 ใส่ศาลอาญาอีกครั้ง จากที่ก่อนหน้านี้คนร้ายเคยลอบยิงใส่อาคารศาลอาญามาครั้งหนึ่งแล้วจนกระจกอาคารแตก โชคดีที่ครั้งล่าสุด ระเบิดไม่ทำงาน

เป็นที่น่าสังเกตว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา เริ่มมีสัญญาณของการเจรจาระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับ กปปส. หลังหลวงปู่พุทธะอิสระ ในนาม กปปส.เวทีแจ้งวัฒนะ ได้ออกมาเผยว่า นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง ได้เป็นคนกลางประสานให้มีการเจรจากับนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ และแกนนำพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 24 ก.พ. โดยมีการพูดคุยกันถึงการชุมนุม ทางออกประเทศ และปัญหาชาวนา ขณะที่นายสมชาย ดูเหมือนไม่ค่อยชอบใจที่หลวงปู่พุทธะอิสระออกมาเปิดเผยสิ่งที่พูดคุยกัน ทั้งที่คุยกันแล้วว่าจะเป็นความลับ ด้านนายสมชัย ในฐานะที่เป็นคนกลางประสานการเจรจาครั้งนี้ ยอมรับว่า การเจรจาได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว พร้อมเผย การเจรจาครั้งต่อไปจะมีขึ้นในสัปดาห์หน้า ซึ่งจะเป็นการเจรจาในวงกว้างมากขึ้น โดยได้กำหนดตัวบุคคลแล้ว ฝ่าย กปปส. 2 คน ฝ่ายรัฐบาล 2 คน แต่ยังไม่ขอเปิดเผยตัวบุคคล พร้อมเชื่อว่า หากทุกอย่างเป็นไปด้วยดี การเจรจาจะเกิดผลสำเร็จภายใน 2 สัปดาห์

ทั้งนี้ มีรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้ให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศ โดยเตือนว่า หากทุกฝ่ายไม่เคารพกฎหมาย ไม่หันหน้ามาเจรจา จะเกิดสงครามกลางเมืองแน่ ซึ่งหากเกิดความสูญเสียขึ้น ทั้งผู้นำรัฐบาลและผู้นำกลุ่มผู้ประท้วงต้องรับผิดชอบ พร้อมย้ำ กองทัพจะทำทุกอย่างเพื่อประเทศชาติและประชาชน ไม่ใช่เพื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด

ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รีบออกมาเห็นด้วยกับ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าควรมีการเจรจา และว่า หากนายสุเทพเห็นแก่ประเทศก็มาพูดคุยกัน เพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรง และนำไปสู่การแก้ปัญหาโดยสันติ

ขณะที่นายสุเทพ บอก ยินดีเจรจากับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่ต้องเป็นการเจรจาแบบตัวต่อตัว และถ่ายทอดสดให้ประชาชนได้ทราบด้วย โดยให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์นัดวันมาได้เลย แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่รับข้อเสนอ โดยอ้างว่า การเจรจาต้องอยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ และนายสุเทพควรจะหยุดชุมนุมเพื่อให้การเลือกตั้งผ่านไปก่อน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังผุดวาทกรรมทางการเมืองด้วยการเปรียบตัวเองกับทหารด้วยว่า ทหารต้องทำหน้าที่ของตนเองจนนาทีสุดท้าย ต้องรักษาพื้นที่ ต้องตายในสนามรบ ตนก็ต้องตายในสนามประชาธิปไตย ด้านนายสุเทพ ข้องใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์อยากเจรจา แต่จะให้ กปปส.ยุติการชุมนุมก่อน จึงอยากถาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ว่า ถ้าจะให้ กปปส.กลับบ้านก่อน แล้วจะมาประท้วงไล่ น.ส.ยิ่งลักษณ์อยู่แบบนี้ทำไม ยืนยันจะไม่ยอมถอยแน่นอน

เป็นที่น่าสังเกตว่า ขณะที่ยังไม่ชัดเจนว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์และนายสุเทพจะเปิดเจรจากันได้หรือไม่ ปรากฏว่า รัฐบาล โดยนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รักษาการรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เดินเกมด้วยการเชิญนายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ(ยูเอ็น) มาให้คำแนะนำแนวทางแก้ปัญหาความขัดแย้งและเป็นคนกลางเพื่อให้เกิดการเจรจา ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่านายบัน คี มูน จะตอบรับหรือไม่ ขณะที่นายสุเทพไม่เห็นด้วย เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของคนในประเทศที่ต้องเจรจากันเอง นอกจากนี้ยังมีกระแสไม่เห็นด้วยภายในกระทรวงการต่างประเทศ โดยกลุ่มข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศในนาม “บัวแก้วเสรี” ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านการเชิญเลขาธิการยูเอ็นเข้ามาช่วยคลี่คลายความขัดแย้งในไทย โดยชี้ว่า เปรียบเหมือนการ “ชักน้ำเข้าลึก ชักศึกเข้าบ้าน” หรือเชื้อเชิญให้ต่างชาติเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของประเทศตนเอง เท่ากับยอมรับว่าคนไทยไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอและรัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศได้

เป็นที่น่าสังเกตด้วยว่า แม้จะมีการส่งสัญญาณเจรจาจากรัฐบาล แต่กลุ่มคนเสื้อแดงที่สนับสนุนรัฐบาลก็มีการเคลื่อนไหวมวลชนในลักษณะที่ผิดกฎหมายถึงขั้นจะแบ่งแยกประเทศ โดยนายสุเทพ แฉว่า ขณะนี้กลุ่ม นปช.ได้ประกาศจับอาวุธตั้งกองกำลังเพื่อทำสงครามกลางเมืองเพื่อชิงประเทศ โดยมีแผนแบ่งแยกประเทศ และถ้าสู้ไม่ได้ ก็จะไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นที่ต่างประเทศ ทั้งนี้ คำพูดของนายสุเทพ สอดคล้องกับกรณีที่มีคนเสื้อแดงบางส่วนชูป้ายต้องการแยกประเทศ โดยเขียนข้อความว่า “ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม กูขอแยกประเทศเป็นประเทศล้านนา” โดยมีการนำป้ายข้อความดังกล่าวไปติดในบางจังหวัด เช่น พิษณุโลก ,เชียงราย ขณะที่คนเสื้อแดงที่ จ.เชียงใหม่ มีการนำแถบป้ายที่เขียนข้อความว่า “สปป.ล้านนา” มาคาดหัวระหว่างรอต้อนรับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกฯ ที่เดินทางไปเชียงใหม่เมื่อวันที่ 28 ก.พ. เพื่อสื่อว่าต้องการแยกประเทศเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนล้านนา ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้ออกมายืนยันแล้วว่า การแยกประเทศ ไม่สามารถทำได้ เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและกระทบต่อความมั่นคง

ส่วนความเคลื่อนไหวของ กปปส.นั้น ล่าสุด นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้ปรับกระบวนทัพการต่อสู้อีกครั้ง โดยประกาศเมื่อคืนวันที่ 28 ก.พ. ว่าจะยุบเวทีปทุมวัน-ราชประสงค์-แยกอโศก ให้เหลือเพียงเวทีเดียวที่สวนลุมพินี ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 3 มี.ค. โดยให้เหตุผลเพื่อคืนพื้นที่การจราจรให้แก่ชาว กทม. พร้อมยืนยัน การคืนพื้นที่ไม่ใช่การล้มเลิกความตั้งใจในการต่อสู้ “เราจะจัดกระบวนทัพการต่อสู้ของเราใหม่ หลีกเลี่ยงการกระทบกับการจราจรมากที่สุด แต่มุ่งไปยังธุรกิจของครอบครัวชินวัตร เรายังออกไปรณรงค์ชักชวนข้าราชการทั้งหลาย พวกเราจะแต่งตั้งตัวเองเป็นผู้ตรวจราชการไปเยี่ยมหน่วยงานราชการทุกวัน เราจะไปตั้งเวทีใหม่ที่สวนลุมพินีเพียงเวทีเดียว เป็นการรวมกำลังอยู่ที่นั่น ส่วนสาเหตุที่เลือกเอาลุมพินีเป็นฐานที่มั่น เพราะ ในสวนลุมพินีมีอาคาร มีห้องประชุม ที่เราสามารถประชุมขับเคลื่อนได้ทุกวัน โดยไม่ต้องไปเช่าโรงแรมที่ไหน”

นายสุเทพ ยังเผยด้วยว่า สัปดาห์หน้า กปปส.จะจัดสัมมนาระดับชาติว่าด้วยการเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย จะมีการจัดทำพิมพ์เขียวให้เรียบร้อย และจะระดมความคิดในการจัดการกับระบอบทักษิณอย่างสมบูรณ์แบบ และว่า วันจันทร์ที่ 3 มี.ค.เป็นต้นไป จะยกระดับการต่อสู้ให้จบเร็วที่สุด หากเป็นไปได้อยากให้จบภายในเดือน มี.ค. โดยวันที่ 2-3 มี.ค. จะเห็นสัญญาณความพ่ายแพ้ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์มากขึ้น และเผลอๆ อาจจะปิดเกมได้ประมาณวันที่ 13-15 มี.ค.

2. ตามคาด “ยิ่งลักษณ์” ไม่เข้ารับทราบข้อกล่าวหาคดีทุจริตจำนำข้าว ส่งทนายไปแทน ด้าน ป.ป.ช.ให้ชี้แจงภายใน 14 มี.ค.!

(ซ้าย)กลุ่มเสื้อแดง บุกปิดหน้าสำนักงาน ป.ป.ช.พร้อมเผาโลงศพนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. (ขวา) ทนายที่  น.ส.ยิ่งลักษณ์ ส่งมารับทราบข้อกล่าวหาแทนในคดีทุจริตจำนำข้าว ขณะที่ตนเองเลือกลงพื้นที่ จ.เชียงราย-เชียงใหม่
ความคืบหน้ากรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) มีมติเอกฉันท์ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ(กขช.) มารับทราบข้อกล่าวหากรณีไม่ระงับยับยั้งการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว สะท้อนถึงเจตนาที่จะปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการตามมาตรา 157 รวมทั้งยังเป็นการจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 178 อันเป็นเหตุถอดถอนออกจากตำแหน่งตามมาตรา 270 ในวันที่ 27 ก.พ. เวลา 14.00น.

ปรากฏว่า ยังไม่ทันถึงวันที่ 27 ก.พ. กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) นนทบุรี นำโดยนายชวริศ สุริยะ แกนนำ นปช.บางบัวทอง และนายสุทธิชัย โพธิ์ดาพล รวมทั้งนายศรรัก มาลัยทอง แกนนำกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(กวป.) ได้รวมตัวชุมนุมหน้าสำนักงาน ป.ป.ช. พร้อมเอาโซ่คล้องประตู เพื่อไม่ให้ ป.ป.ช.เข้าทำงานได้ ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ผุดแผนเดินทางไปเชียงราย-เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 26-28 ก.พ. ทั้งที่ทราบดีว่า วันที่ 27 ก.พ.ต้องเข้ารับทราบข้อกล่าวหาจาก ป.ป.ช. เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า จะเข้ารับทราบข้อกล่าวหาต่อ ป.ป.ช.หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็อ้างว่า ยังไม่ทราบ ต้องรอปรึกษาทีมงานก่อน

สุดท้ายเมื่อถึงกำหนด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ไม่ไปรับทราบข้อกล่าวหาด้วยตัวเอง โดยส่งทนายไปแทน คือ นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง และนายบัญชา ปรมีศณาภรณ์ อย่างไรก็ตาม ทั้งกรรมการ ป.ป.ช.และทนายทั้งสองไม่สามารถเข้าสำนักงาน ป.ป.ช.ได้ เนื่องจากกลุ่มเสื้อแดงเอาโซ่คล้องประตูและยังชุมนุมปิดสำนักงานอยู่ นอกจากนี้ยังได้มีการนำรถขนอิฐ-ปูน-ทราย มาเพื่อโบกปูนปิดประตูสำนักงาน ป.ป.ช.ด้วย ด้านกรรมการ ป.ป.ช.ต้องเปลี่ยนสถานที่ให้ทนายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไปรับทราบข้อกล่าวหาที่เทศบาลนครนนทบุรีแทน

ทั้งนี้ นายบัญชา ทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยืนยันว่า การที่นายกฯ ไม่ได้มารับทราบข้อกล่าวหาด้วยตัวเอง ไม่ได้มีเจตนาประวิงเวลา พร้อมย้ำว่า การให้ทนายเข้ารับทราบข้อกล่าวหา แสดงให้เห็นว่า นายกฯ ยินดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพราะเชื่อมั่นโดยสุจริตว่า ไม่ได้กระทำผิดอะไรเลย

ด้านนายวิชัย วิวิตเสวี และนายณรงค์ รัฐอมฤต กรรมการ ป.ป.ช. และนายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. ได้ให้การต้อนรับทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ พร้อมชี้แจงขั้นตอนการรับทราบข้อกล่าวหา หลังเสร็จสิ้นการรับทราบข้อกล่าวหา นายวิชัย เผยว่าตามกฎหมาย นายกฯ ต้องชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วันหลังรับทราบข้อกล่าวหา โดยจะครบกำหนดในวันที่ 14 มี.ค. หากยังไม่เพียงพอ นายกฯ ต้องการพยานหลักฐานเพิ่มเติม ก็สามารถขอเลื่อนได้ โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช.จะใช้ดุลพินิจในการพิจารณา และว่า ในการชี้แจงของนายกฯ จะใช้วิธีชี้แจงด้วยตัวเองหรือชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้ แต่ส่วนตัวมองว่า ชี้แจงด้วยตัวเองจะดีกว่า เพราะสามารถแถลงอะไรเพิ่มเติมได้ “ยืนยันว่า ป.ป.ช.จะให้โอกาสนายกฯ ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาอย่างเต็มที่ และไม่ต้องห่วงว่าจะมีการเร่งรัดหรือมีการตั้งธงไว้ เพราะกระบวนการทุกอย่างมีขั้นตอนกำหนดไว้ชัดเจน ป.ป.ช.จะไปวินิจฉัยล่วงหน้าไม่ได้”

นายวิชัย ยังเผยด้วยว่า นายกฯ ถูกแจ้งข้อกล่าวหาทั้งคดีถอดถอนและคดีอาญา หากคดีไหนเสร็จก่อน ก็ชี้มูลคดีนั้นก่อน ไม่จำเป็นต้องชี้มูลพร้อมกัน ส่วนกรณีที่กลุ่มเสื้อแดงมาชุมนุมหน้าสำนักงาน ป.ป.ช.นั้น นายวิชัย ยอมรับว่า ทำให้การทำงานติดขัดบ้าง แต่ทุกอย่างสามารถแก้ไขได้ ผู้สื่อข่าวถามว่า หนักใจแทนนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.ที่ถูกบางฝ่ายโจมตีหรือไม่ นายวิชัย บอกว่า เคยเป็นผู้พิพากษาร่วมกับนายวิชา มาวันเดียวกันเวลาเดียวกัน ตัดสินคดีมาเกือบ 40 ปี เกือบ 1,000 คดี ต้องตัดเหตุส่วนตัวกับการทำงานออกจากกัน และนายวิชาเป็นคนมั่นคง ไม่ใช่คนใจเสาะ เหตุการณ์ทั้งหลายทั้งปวงไม่สามารถจะไปทำลายความมั่นคงของนายวิชาได้แน่นอน

3.“ไทกร” ยื่นศาล รธน.วินิจฉัยเปิดสภานัดแรกไม่ได้ ขัด รธน. หรือไม่ -นายกฯ-ครม.หมดหน้าที่เมื่อใด ด้าน พท. ตะแบงจะประชุมว่าที่ ส.ส. แม้ กกต.ยังไม่รับรอง!

(ซ้าย) นายไทกร พลสุวรรณ อดีตแกนนำ กปท. (ขวา) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกฯ และ รมว.กลาโหม
ความคืบหน้ากรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เตรียมจัดสัมมนาเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้งให้สำเร็จ ที่ จ.สงขลา ในวันที่ 7 มี.ค.นี้ เนื่องจากเป็นศูนย์กลางของหลายจังหวัดที่มีปัญหา โดยจะเชิญผู้บริหารพรรคการเมือง 4 พรรคมาร่วมงานสัมมนา รวมทั้งเชิญผู้ว่าราชการจังหวัด 14 จังหวัดภาคใต้ ,ตัวแทนฝ่ายปกครอง ,เจ้าหน้าที่ตำรวจ ,ทหาร และ กกต.จังหวัดมาสะท้อนปัญหาและสอบถามความพร้อมการจัดเลือกตั้ง เพื่อประกอบการตัดสินใจในการกำหนดแนวทางจัดการเลือกตั้งนั้น

ปรากฏว่า แกนนำพรรคเพื่อไทยต่างประสานเสียงไม่เห็นด้วยที่ กกต.จัดสัมมนาหารือที่ จ.สงขลา โดย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน บอกว่า ไม่ทราบว่าจะนัดไปประชุมที่ จ.สงขลาทำไม เพราะแค่ไปถึงก็ออกจากสนามบินไม่ได้แล้ว หากอยากประชุม ทำไมไม่จัดที่กรุงเทพฯ ขณะที่นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย(พท.) ยืนยันว่า พรรคจะไม่ไปร่วมประชุมกับ กกต.ที่ จ.สงขลา ในวันที่ 7 มี.ค. เพราะเป็นการเผชิญหน้าและสร้างความขัดแย้งมากกว่า จึงอยากถามนายสมชัยว่า ต้องการให้เกิดความขัดแย้งใช่หรือไม่ ทำไมจึงไม่ประชุมที่กรุงเทพฯ

ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง ยืนยัน ไม่เปลี่ยนสถานที่จัดประชุมสัมมนา เพราะ กกต.อยากให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ไปรับฟังปัญหาที่เกิดขึ้นจริง และว่า หลังหารือ กกต.จะนำผลไปพิจารณาตัดสินใจว่า จะมีจังหวัดใดในภาคใต้สามารถจัดการเลือกตั้งได้ในลำดับต่อไป ซึ่งเท่าที่ประเมินคาดว่าน่าจะมี 3 จังหวัดจัดการเลือกตั้งได้

ส่วนกรณีที่ กกต.มีมติจะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปมปัญหาการออก พ.ร.ฎ.เลือกตั้งใหม่ใน 28 เขต 8 จังหวัดภาตใต้ หลังเกิดความเห็นแย้งระหว่าง กกต.และนายกรัฐมนตรี โดย กกต.เห็นว่า รัฐบาลสามารถออก พ.ร.ฎ.เลือกตั้งใหม่ใน 28 เขตได้ แต่รัฐบาลอ้างความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า ไม่สามารถออก พ.ร.ฏ.เลือกตั้งใหม่ได้ ซึ่ง กกต.จะประชุมพิจารณาความถูกต้องครบถ้วนของคำร้องอีกครั้งในวันที่ 3 มี.ค. ก่อนส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป

ด้านนายไทกร พลสุวรรณ อดีตแกนนำกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ(กปท.) ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้วินิจฉัยปัญหาการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันที่ 2 ก.พ. ที่มีเหตุขัดข้องจนไม่สามารถรับสมัคร ส.ส.ใน 28 เขต 8 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งหาก กกต.จะจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ใน 28 เขตดังกล่าว อาจเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 ที่ระบุว่าการเลือกตั้งต้องเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร และว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ยังไม่สามารถเลือกตั้งให้ได้ ส.ส.ครบตามจำนวนร้อยละ 95 ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ทำให้ไม่สามารถเรียกประชุมสภาได้ภายใน 30 วันนับแต่วันเลือกตั้ง จะเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 127 วรรคหนึ่ง และมาตรา 128 วรรคหนึ่ง และวรรคสองหรือไม่ และเมื่อไม่สามารถเรียกประชุมสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลที่สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีได้ภายใน 30 วัน จะเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 หรือไม่ พร้อมขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การปฏิบัติหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และคณะรัฐมนตรี จะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้อีกนานเท่าใด

เป็นที่น่าสังเกตว่า พรรคเพื่อไทยไม่พอใจการทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งของ กกต. เพราะเวลาใกล้ครบ 30 วันที่ต้องเปิดประชุมสภาครั้งแรกตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด แต่ กกต.ยังไม่สามารถจัดการเลือกตั้งให้ได้ ส.ส.ครบร้อยละ 95 ทำให้ไม่สามารถเปิดประชุมสภาได้ ส่งผลให้ ส.ส.เขต พรรคเพื่อไทยกว่า 100 คน เริ่มทยอยเข้าแจ้งความ เพื่อคุ้มครองสิทธิของตนแล้ว เพราะอาจเกิดปัญหาในภายหลัง หากมีคนไปฟ้องร้องกรณีที่เปิดประชุมสภาไม่ได้ใน 30 วัน พร้อมชี้ เรื่องนี้ กกต.ต้องรับผิดชอบ อย่าโยนภาระให้คนอื่น

ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยพยายามแก้เกมกรณีไม่สามารถเปิดประชุมสภาครั้งแรกภายใน 30 วันนับแต่วันเลือกตั้ง หรือภายในวันที่ 4 มี.ค.นี้ได้ โดยจะเดินหน้าประชุมและทำงาน แม้การเลือกตั้งจะยังไม่แล้วเสร็จ และยังได้ ส.ส.ไม่ครบร้อยละ 95 ก็ตาม โดย นพ.ทศพร เสรีรักษ์ รักษาการรองเลขาธิการสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาประกาศว่า “หากพ้นวันที่ 4 มี.ค.นี้ ยังไม่สามารถเปิดสภาได้ พวกเราในฐานะว่าที่ ส.ส.ได้ประชุมปรึกษาหารือกันว่า เราจะทำงานได้มากน้อยเพียงใด ถึงแม้ กกต.จะไม่รับรอง เราจะไม่สนใจ พวกเราจะเริ่มทำงาน โดยวันที่ 4 มี.ค. เวลา 10.00น. จะเป็นนัดแรกที่พวกเราเรียกประชุมกัน โดย ส.ส.ที่ส่งข่าวถึงกันมีทุกพรรค ไม่ใช่เฉพาะพรรคเพื่อไทย” ผู้สื่อข่าวถามว่า การเป็น ส.ส.ต้องมีการปฏิญาณตนและต้องได้รับการรับรองจาก กกต. ถ้าไปประชุมในวันที่ 4 มี.ค.จะดำเนินการอะไร นพ.ทศพร อ้างว่า มีอะไรช่วยบ้านเมืองได้เป็นจำนวนมาก การไปประชุมเพื่อมองหาแนวทางในการปฏิรูปประเทศ ปฏิรูปรัฐธรรมนูญ ปฏิรูปการเมือง ปฏิรูประบบยุติธรรม เป็นสิ่งที่เราสามารถระดมความคิดช่วยกันได้

4.กกต.ไฟเขียวใช้งบกลาง 712 ล้านจ่ายชาวนาเกือบ 4 พันคนได้ ด้าน รบ.ได้ใจ ขอ กกต.อนุมัติอีก 2 หมื่นล้าน!

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง
ความคืบหน้ากรณีรัฐบาลค้างจ่ายค่าข้าวแก่ชาวนาทั่วประเทศในโครงการรับจำนำข้าว และพยายามกู้เงินธนาคารพาณิชย์ แต่ไม่มีธนาคารใดอยากให้กู้ เพราะเกรงจะขัดต่อข้อกฎหมาย เนื่องจากรัฐบาลรักษาการไม่สามารถกู้เงินที่จะมีผลผูกพันต่อรัฐบาลชุดต่อไปได้ ประกอบกับมีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว ส่งผลให้ชาวนาทั่วประเทศออกมาชุมนุมประท้วง โดยบางส่วนเข้ามาชุมนุมใน กทม.ที่หน้ากระทรวงพาณิชย์ นอกจากนี้ชาวนาที่ยังไม่ได้รับเงินจำนำข้าวยังได้แห่ฟ้องดำเนินคดีรัฐบาลเป็นจำนวนมาก

โดยเมื่อวันที่ 24 ก.พ. นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้รับมอบอำนาจจากสมาคมองค์กรพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย กับชาวนา 62 คน ได้ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ(กขช.) ,นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รักษาการรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ,นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ต่อศาลปกครอง ฐานเป็นเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการโดยมิชอบ กรณีดำเนินโครงการรับจำนำข้าวที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ด้านศาลได้รับคำฟ้องไว้พิจารณาเพื่อมีคำสั่งว่าจะประทับรับฟ้องหรือไม่ต่อไป

ส่วนชาวนาที่ปักหลักชุมนุมที่กระทรวงพาณิชย์ นำโดยนายระวี รุ่งเรือง ประธานเครือข่ายชาวนาไทย หลังจากได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อสำนักงานอัยการสูงสุดตั้งแต่ต้นเดือน ก.พ. เพื่อขอให้ตรวจสอบการจ่ายเงินคืนชาวนา ตรวจสอบปัญหาการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว รวมทั้งขอให้ยึดทรัพย์ น.ส.ยิ่งลักษณ์และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำเงินมาชดใช้ให้ชาวนา และให้ช่วยเหลือด้านกระบวนการยุติธรรมในการเรียกร้องค่าเสียหายแก่ชาวนา แต่เรื่องกลับเงียบ นายระวีจึงได้นำชาวนาไปทวงถามความคืบหน้าที่สำนักงานอัยการสูงสุดเมื่อวันที่ 27 ก.พ. ซึ่งหลวงปู่พุทธะอิสระ ได้นำมวลชนจากเวที กปปส.แจ้งวัฒนะ ไปร่วมทวงถามความคืบหน้าให้ชาวนาด้วย ก่อนได้รับคำตอบจากสำนักงานอัยการสูงสุดว่า ยังขาดเอกสารบางอย่างประกอบการดำเนินคดี ส่งผลให้ชาวนาไม่พอใจเป็นอันมาก เนื่องจากอัยการไม่แจ้งให้ทราบตั้งแต่ก่อนหน้านี้ว่าต้องการเอกสารเพิ่ม ฝ่ายอัยการจึงขอโทษ และไปตั้งโต๊ะรับเรื่องร้องทุกข์ที่หลังเวทีชุมนุม พร้อมรับปากว่า สัปดาห์หน้าจะเห็นความคืบหน้าในการฟ้องคดี และจะฟ้องคดีให้ชาวนาได้ประมาณ 500 คน

ส่วนความคืบหน้ากรณีที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) ทำเรื่องสอบถาม กกต.ว่า รัฐบาลสามารถอนุมัติงบกลางจำนวน 712 ล้านบาท เพื่อนำไปจ่ายชาวนาในโครงการรับจำนำข้าวฤดูกาลผลิตปี 2555/2556 ซึ่งเป็นชาวนาล็อตสุดท้าย จำนวน 3,971 ราย ได้หรือไม่ กกต.ได้มีมติเมื่อวันที่ 25 ก.พ.แล้วว่า อนุมัติให้รัฐบาลนำเงิน 712 ล้านดังกล่าวไปจ่ายชาวนาทั้ง 3,971 รายได้ เนื่องจากเงินจำนวนดังกล่าวเป็นงบกลางที่มีการกันเงินเบิกจ่าย 1 ปีมาก่อนหน้านี้แล้ว

ด้าน ครม.ทำเหมือนได้ใจ โดยมีมติอนุมัติงบกลางอีก 2 หมื่นล้าน หวังไปจ่ายหนี้ชาวนา แต่ต้องเสนอให้ กกต.พิจารณาก่อนเช่นกันว่าจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ ซึ่งนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง บอกว่า กกต.ต้องพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป พร้อมแนะให้รัฐบาลชี้แจงรายละเอียดต่างๆ ต่อ กกต.ให้ชัดเจนใน 3 ประเด็น คือ 1.ควรชี้แจงรายละเอียดสัดส่วนงบกลางฉุกเฉินของปี 2557 ทั้งหมดที่มีอยู่กว่า 72,000 ล้านบาท ว่ามีการกำหนดไว้ใช้จ่ายในส่วนใดบ้าง 2.ขอให้ชี้แจงว่า การขอยืมงบกลางมาหมุนเวียนครั้งนี้ จะมีผลผูกพันต่อรัฐบาลชุดต่อไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 181(3) หรือไม่ รวมถึงข้อมูลในการขายข้าวของปี 2557 ทั้งหมดด้วย และ 3. ขอให้ชี้แจงรายละเอียดว่าการอนุมัติงบประมาณครั้งนี้ จะเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 181(4) มีผลได้เปรียบเสียเปรียบต่อการเลือกตั้ง ส่งผลให้รัฐบาลได้รับคะแนนนิยมในการหาเสียงเลือกตั้งหรือไม่

ด้านกระทรวงการคลัง ยังพยายามหาเงินกู้เพื่อให้ ธ.ก.ส.นำไปจ่ายชาวนา โดยเมื่อวันที่ 27 ก.พ. สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) กระทรวงการคลัง ได้เปิดให้รัฐวิสาหกิจยื่นเสนออัตราดอกเบี้ยเพื่อประมูลตั๋วสัญญาใช้เงิน(พี/เอ็น) ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยกระทรวงการคลังจะค้ำประกันเงินต้นและดอกเบี้ย วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ระยะเวลา 8 เดือน แต่ปรากฏว่า มีผู้เสนอประมูลแค่รายเดียว ทำให้ไม่มีการแข่งขัน สบน.จึงยกเลิกการประมูลดังกล่าว

ขณะที่บอร์ด ธ.ก.ส.ก็หาวิธีช่วยชาวนาเช่นกัน โดยมีมติเห็นชอบให้ ธ.ก.ส.จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือชาวนาด้วยการรับบริจาค โดยเปิดบัญชีเงินฝาก เงินบริจาครวมน้ำใจช่วยชาวนาไทย เพื่อระดมทุนสมทบกองทุนหมุนเวียนช่วยเหลือชาวนา โดยผู้บริหาร ธ.ก.ส.พิจารณาแล้วว่าวิธีนี้ไม่ขัดกับระเบียบของ ธ.ก.ส. ทั้งนี้ ธ.ก.ส.จะเปิดให้ประชาชนที่ต้องการช่วยเหลือชาวนา ส่งเงินสมทบกองทุนได้ใน 3 รูปแบบ คือ 1.บริจาคโดยโอนเงินเข้าบัญชีกองทุนช่วยเหลือชาวนา 2.สมทบเงินเข้ากองทุนฯ แบบไม่มีผลตอบแทน และ 3.สมทบเงินเข้ากองทุนฯ แบบมีผลตอบแทน ซึ่งกองทุนจะให้ผลตอบแทน 0.63% ต่อปี โดยจะเปิดรับบริจาคตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค.-30 มิ.ย. สิ้นสุดโครงการในวันที่ 31 ธ.ค. ในวงเงินไม่เกิน 2 หมื่นล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น