xs
xsm
sm
md
lg

หวังว่า คสช.ดองเค็มเลือกตั้งท้องถิ่นจะไม่นำไปสู่วิกฤตใหม่ / เมือง ไม้ขม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...เมือง  ไม้ขม
 
ในที่สุดประเทศไทยก็ได้ “รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557” เป็นของขวัญจาก “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)” เป็นที่เรียบร้อยโรงเรียนกองทัพ หลังจากเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพียง 2 เดือน ซึ่งต้องถือว่าเป็นการส่งสัญญาณต่อสากลว่า ประเทศไทยจะเป็นประชาธิปไตยไม่เกิน 2 ปี ตามที่หัวหน้า คสช.พยายามแถลงให้สาธารณชนได้ฟังอยู่เนืองๆ
 
หลายคนที่เบื่อหน่ายการเมืองภายใต้ปีกของรัฐบาลพลเรือน อาจจะรับได้กับการรัฐประหาร และอาจจะร้องไชโยเมื่อได้รับรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวในครั้งนี้ เพราะคิดว่าการได้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 เท่ากับว่าได้รับประชาธิปไตยแล้วครึ่งใบนั่นเอง
 
และอีกไม่นานพวกเราทั้งที่อยากได้ หรือไม่ต้องการจะได้ เราก็ต้องได้ “ครม.ชุดใหม่” ที่เข้าบริหารประเทศภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว รวมทั้งต้องยอมรับผู้ที่จะมาเป็น “นายกรัฐมนตรีคนใหม่” ซึ่งไม่ว่าเป็นใครก็ปฏิเสธไม่ได้ เนื่องจากผู้ที่มาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของประเทศไทยมีความมุ่งมั่นในการที่จะแก้ปัญหาที่รัฐบาลชุดก่อนๆ ได้ซุกซ่อนเอาไว้เป็นภูเขาเลากา
 
นอกจากนั้น พวกเรายังจะได้ “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)” และได้ผู้ที่ถูกเลือกให้เป็น “ประธาน สนช.” มาให้โดยที่พวกเราไม่ต้องเหนื่อยแรงในการคิดว่าจะมอบตำแหน่งนี้ให้ใคร และยังจะได้ต้อนรับ “36 อรหันต์” ที่จะมาเป็น “ผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร” และที่ลืมไม่ได้พวกเรายังได้ “สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)” มาทำหน้าที่สร้างบ้านแปงเมืองให้แก่พวกเรา โดยที่ไม่ต้องหาเสียง และไม่ต้องซื้อเสียงเหมือนกับการเลือกหรือสรรหาในเวลาปกติ
 
ซึ่งสิ่งที่ได้มาทั้งหมดตั้งแต่ได้องค์รัฎฐาธิปัตย์ จนถึงได้ คสช. ได้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ได้ ครม. ได้ สนช. และ สปช. แม้ว่าจะพอใจหรือไม่พอใจ ทุกคนก็ต้องยอมรับ เพราะก่อนที่บ้านเมืองจะเป็นเช่นนี้ “นักการเมือง” ต่างหากที่เป็นผู้สร้างความเลวร้ายให้เกิดขึ้นต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในบ้านเมืองเรา
 
วันนั้น! วันที่คนไทยครึ่งประเทศรับไม่ได้กับพฤติกรรมของนักการเมือง จึงเห็นดีเห็นงามกับการ “รัฐประหาร” เพื่อให้กองทัพออกมาล้มล้างนักการเมืองที่ทั้งโฉดเขลา และโฉดชั่วให้พ้นจากสภาอันทรงเกียรติ เพื่อที่จะได้เห็นการปัดกวาดสิ่งเลวร้ายในประเทศ และเริ่มต้นสร้างประเทศในมิติที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
 
คนส่วนหนึ่งในวันนั้นจึงเหมือนกับคนที่หนาวจากการที่ถูกทิ้งให้ตากฝน เมื่อมีการรัฐประหารที่เปรียบเหมือนกับกองไฟ จึงรู้สึกอบอุ่น และยินดีที่จะได้อยู่ใกล้กับกองไฟ แต่หลังจากหายหนาวแล้ว ถ้ากองไฟยังโชนแสงอยู่ใกล้ๆ และไม่มอดดับ สถานะของคนที่ต้องอยู่กับกองไฟก็จะรู้สึกว่าร้อน และอาจจะทนต่อไปไม่ได้
 
เช่นเดียวกับปฏิกิริยาที่แสดงความอึดอัดของคนส่วนหนึ่งที่เป็นนักการเมืองท้องถิ่น และคนในพื้นที่ที่ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่หมดวาระลงกว่า 400 แห่ง ถูกสั่งให้ “ชะลอการเลือกตั้ง” เอาไว้อย่างไม่มีกำหนด จนกว่าจะมีคำสั่งจาก คสช.หรือรัฐบาล ซึ่งไม่รู้ว่าจะเป็นรัฐบาลชั่วคราว หรือรัฐบาลถาวรที่มาจากการเลือกตั้ง
 
เพราะถ้าเป็นรัฐบาลชั่วคราวก็น่าจะทนอึดอัดกันได้ เนื่องจากน่าจะใช้เวลาในการชะลอการเลือกตั้งไม่นานเป็นปี แต่ถ้าต้องรอรัฐบาลถาวรที่มาจากการเลือกตั้ง วันนี้ยังไม่มีใครที่จะกล้าบอกว่าอีกกี่ปี 3 ปี หรือ 5 ปี เพราะเส้นทางไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยข้างหน้ายังสามารถมี “อุบัติเหตุ” เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
 
ในฐานะของประชาชนคนหนึ่งที่ยึดอาชีพนักหนังสือพิมพ์ และไม่เคยสนใจในเรื่องการลงเลือกตั้ง และใช้ชีวิตสัมผัสกับผู้คนในสังคมมาโดยตลอด มีความเข้าใจได้ถึงความรู้สึกของประชาชนที่แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ซึ่งมีปฏิกิริยาที่ไม่เหมือนกันกับการถูกลิดรอนสิทธิการเลือกตั้ง
 
กลุ่มคนที่เห็นด้วยกับการชะลอการเลือกตั้ง และใช้วิธีการสรรหาข้าราชการ หรืออดีตข้าราชการระดับ 8 มาทำหน้าที่สมาชิกสภาฯ แทนการเลือกตั้ง เห็นว่าการไม่ต้องเลือกตั้งดีแล้ว เพราะองค์กรปกครองท้องถิ่นส่วนใหญ่มีแต่เรื่องอื้อฉาว เรื่องของการซื้อสิทธิขายเสียง และเมื่อเข้าไปบริหารท้องถิ่นก็มีแต่เรื่องการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงเกิดขึ้น ซึ่งเป็นการมองเพียงมิติเดียว แต่ไม่ได้มองในมิติอื่นๆ
 
เป็นการมุมเดียวกับ คสช.ที่มองเห็น “ความชั่วร้าย” ของนักการเมือง มากกว่าที่จะมองถึง “ระบอบการปกครองท้องถิ่น” หรือมองเห็นการพัฒนาการของท้องถิ่น แต่มองเห็นถึงการแบ่งขั้วของการเมือง ทำให้ปรองดองกันไม่ได้ ถ้ายังให้มีการเลือกตั้งต่อไปอาจจะเป็นฐานเสียงให้แก่การเมืองระดับชาติ การชะลอการเลือกตั้งสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่หมดวาระ และที่ยังไม่หมดวาระ เมื่อหมดวาระก็ไม่ต้องมีการเลือกตั้ง คือ วิธีคิดแบบง่ายๆ ในการแก้ปัญหาของการแบ่งขั้ว แยกข้าง หรือแบ่งพรรคของการเมืองที่เกิดขึ้น
 
แต่ในส่วนดีของการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น ซึ่งหากปล่อยให้ประชาชนมีสิทธิในการเลือกผู้บริหารของเขาเอง และการเลือกตั้งท้องถิ่นจึงคือรูปแบบของประชาธิปไตยที่ ณ วันนี้ประชาชนได้เรียนรู้ และมีการพัฒนาไปมากแล้ว ประชาชนที่มองเห็นนักการเมืองน้ำดีก็มีอยู่ไม่น้อยในท้องถิ่น ทั้งระดับ อบต.และเทศบาล ซึ่งบริหารท้องถิ่นได้ดี แต่เวลานี้ได้กลายเป็นส่วนเกินที่ไม่ได้หยิบยกมาพิจารณาดูแต่อย่างใด
 
ที่ผ่านมา เมื่อพูดถึงเรื่ององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เราจะมองในเรื่องการซื้อเสียง และการคอร์รัปชันเป็นด้านหลัก แต่เราไม่ได้มองข้อเท็จจริงถึงเรื่องค่าตอบแทนของนักการเมืองท้องถิ่นที่ได้รับน้อยนิด น้อยจนแทบจะไม่พอที่จะเลี้ยงตัวเอง อย่าว่าแต่จะเลี้ยงครอบครัวเลย
 
เมื่อต้องรับผิดชอบต่อสังคมบนฐานค่าตอบแทนที่ไม่พอเลี้ยงชีพ สิ่งนี้คือบ่อเกิดของการหาหัวคิวจากโครงการ และนั่นคือที่มาของการคอร์รัปชัน ถ้าค่าตอบแทนของการเป็นนักการเมืองท้องถิ่นเพียงพอในการเลี้ยงชีพ เลี้ยงครอบครัว และรับผิดชอบต่อสังคม ปัญหาคอร์รัปชันอาจจะลดน้อย หรือไม่เกิดขึ้นเลยก็เป็นได้
 
การที่จะทำให้การเมืองท้องถิ่นเป็นน้ำดี การเลือกตั้งท้องถิ่นไม่มีการซื้อสิทธิขายเสียง ต้องใช้กฎหมายเป็นตัวบังคับ เช่น การเอาโทษเอาผิดอย่างจริงจังต่อผู้ซื้อเสียง และการขายเสียง มีระวางโทษที่หนัก และตัดสิทธิการลงรับสมัครตลอดชีวิต
 
ถ้าจะแก้ปัญหาเรื่องการซื้อสิทธิขายเสียงต้องสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองใหม่ เพราะวัฒนธรรมทางการเมืองในการซื้อสิทธิขายเสียงส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากประชาชนที่นำวัฒนธรรมการเรียกร้องเงินจากผู้เป็นนักเมือง ถ้านักการเมืองคนไหนไม่ทำตามวัฒนธรรมที่ถูกสร้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคนดีอย่างไรก็อาจจะไม่ได้รับการเลือกตั้ง จนสุดท้ายการเมืองท้องถิ่นจึงเป็นการเมืองที่ต้องซื้อด้วยเงิน
 
ถ้า คสช.ต้องการเห็นการเมืองท้องถิ่นเป็นการเมืองที่ปราศจากการคอร์รัปชัน ก็ต้องมีการปฏิวัติวัฒนธรรม กล่าวคือ หยุดวัฒนธรรมการเมืองที่ไม่ถูกต้องด้วยการใช้กฎหมายเป็นตัวบังคับ
 
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร การที่ คสช.ออกคำสั่งให้ชะลอการเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่หมดวาระลง โดยใช้วิธีการสรรหาข้าราชการ และอดีตข้าราชการ รวมทั้งให้ปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นนายกฯ เพื่อทำหน้าที่บริหารท้องถิ่นในวันนี้นั้น
 
เรื่องนี้กำลังกลายมี “รอยร้าว” ที่เริ่มปริให้เห็นถึง “ความเห็นต่าง” ของนักการเมืองท้องถิ่น รวมถึงประชาชนในท้องถิ่นที่ไม่เห็นด้วย ซึ่งผู้บริการ คสช.อาจจะมองไม่เห็น และสัมผัสไม่ได้กับความรู้สึกที่คุโชนเงียบๆ อยู่ในหัวใจของแต่ละคน แต่ละฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย เพียงแต่วันนี้คนเห็นต่างเหล่านี้ไม่มีพื้นที่ให้เคลื่อนไหว และรวมทั้งไม่มีบรรยากาศของการที่จะแสดงความคิดเห็น
 
ดังนั้น คสช.อาจจะเห็นว่าทุกอย่างเรียบร้อย ไม่มีปัญหา เพราะ คสช.สามารถใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จในการสั่งการได้ โดยไม่มีผู้เห็นต่างโวยวายออกมา แต่โดยข้อเท็จจริงบนความราบเรียบของผิวหน้าที่มองเห็น อาจจะซุกซ่อนไว้ด้วยความคุกรุ่นของลาวาที่พร้อมที่จะปะทุเดือดขึ้น
 
จึงหวังว่าการชะลอการเลือกตั้งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นคงจะเป็นไปแบบไม่นาน ไม้ต้องรอถึงการมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะหากต้องรอให้ถึงเวลานั้น ยังจะมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่หมดวาระตามาอีกมากมาย ซึ่งเท่ากับเป็นการสะสมดินระเบิด หรือกักขังลาวาของภูเขาไฟเอาไว้ ซึ่งน่าจะไม่เป็นประโยชน์ต่อการที่จะนำพาประเทศไปสู่ความปรองดองสมานฉันท์ และก้าวไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
 
หวังว่าการชะลอการเลือกตั้งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คงจะไม่ใช่จุดวิกฤตครั้งใหม่ของการเมืองไทย และหวังว่าพรรคราชการคงจะมาครอบงำอำนาจของประชาชนในระยะสั้นๆ เพื่อการเปลี่ยนผ่าน และหวังว่าสุดท้ายแล้วประเทศนี้ยังจะดำรงไว้ซึ่งการกระจายอำนาจในรูปแบบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะนี่คือระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง
 
อย่าลืมว่าการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน กับการลดอำนาจของประชาชน ทั้ง 2 อย่างเป็นคนละเรื่องกัน และไม่มีส่วนสัมพันธ์กันเลยแม้แต่น้อยนิด
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น