เซาท์ไชน่า มอร์นิงโพสต์/ เอเจนซี - จีน และฮ่องกง ร่วมฉลอง 110 ปี เติ้งเสี่ยวผิง เพื่อให้คนรุ่นใหม่ประจักษ์ในบทบาทของนักปฏิรูปคนสำคัญผู้นำจีนก้าวสู่ความยิ่งใหญ่
เซาท์ไชน่า มอร์นิงโพสต์ รายงาน (22 ส.ค.) ว่า รัฐบาลฮ่องกงได้จัดนิทรรศการฉลอง 110 ปี เติ้งเสี่ยวผิง เนื่องในวันคล้ายวันเกิด 22 ส.ค. ของผู้นำจีนปฏิรูปสู่ยุคใหม่ โดยกล่าวว่า แม้เติ้ง เสี่ยวผิง จะไม่ได้อยู่ประจักษ์ด้วยสายตาตนเองถึงวันที่ฮ่องกงกลับคืนสู่จีนในปีพ.ศ. 2530 แต่ในโอกาสล่วงผ่าน 110 ปีวันคล้ายวันเกิดของเขา บุตรีทั้งสองของเติ้งเสี่ยวผิง ได้มาร่วมฉลองด้วย
เติ้งหลิน ลูกสาวคนโตของเติ้งเสี่ยวผิง กล่าวว่า พ่อของตน ติดตามข้อมูลและอ่านรายงานทุกชิ้นที่เกี่ยวกับฮ่องกงทุกวันไม่เคยว่างเว้นแม้ในช่วงปลายของชีวิต และแม้ว่าเขาจะไม่ได้ก้าวเหยียบเกาะฮ่องกงในอธิปไตยแห่งประเทศจีน แต่เราได้นำรถเข็นที่ท่านนั่งมาฮ่องกง เพื่อเป็นสัญลักษณ์ทางจิตวิญญาณว่า ท่านได้มาอยู่ร่วมฉลองกับพวกเราด้วยแล้ว
รายงานข่าวกล่าวว่า รถเข็นของผู้นำฯ จะนำมาจัดแสดงที่ศูนย์นิทรรศการ เขตหว่านไจ๋ ฮ่องกง เป็นเวลา 3 วัน เพื่อเผยแพร่ชีวประวัติและผลงานของผู้นำซึ่งได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับจีนอย่างมากระหว่างดำรงตำแหน่งตลอดช่วงปีพ.ศ. 2521 - 2535 และเสียชีวิตในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2540 ไม่กี่เดือนก่อนที่สหราชอาณาจักรอังกฤษ จะสิ้นสุดการปกครองฮ่องกง และส่งมอบคืนสู่จีน อันเป็นผลงานสำคัญแห่งชีวิตที่เติ้งเสี่ยวผิงมุ่งมั่นบรรลุถึง
นิทรรศการฯ นี้ มีการจัดแสดงภาพถ่ายกว่า 400 ภาพ พร้อมกับนำรูปจำลองของเติ้งเสี่ยวผิง ขนาดความสูง 2.5 เมตร ซึ่งต้นแบบอยู่ที่หมู่บ้านก่วงอัน มณฑลเสฉวน
เผิง เจี่ยนซิง ประธานสหภาพแรงงาน ซึ่งดูแลจัดการที่พักอาศัยในอดีตของเติ้งเสี่ยวผิง กล่าวว่า ผู้จัดงานนิทรรศการ ได้เตรียมงานฉลองที่ก่วงอันมานานถึง 2 ปี รวมถึงการสร้างอนุสรณสถานเติ้งเสี่่ยวผิงที่นั่นด้วย
เติ้งหรง ได้ไปร่วมพิธีฯ ที่ก่วงอัน กับน้องสาวอีกคน เติ้งหนัน พร้อมกับเติ้งโจวตี้ หลานชายคนเดียวของเติ้งเสี่ยวผิง ซึ่งปัจจุบันเป็นหัวหน้าสาขาฯ พรรคคอมมิวนิสต์ประจำเขตผิงกั่ว
พิเพิลเดลี่ ได้เผยแพร่ (21 ส.ค.) บทรำลึกของเติ้งหนัน ที่กล่าวถึงเกียรติประวัติของผู้เป็นบิดาว่า ในช่วงปีพ.ศ. 2535 หรือราว 4 - 5 ปีก่อนเสียชีวิต ท่านผู้นำได้เดินทางบุกเบิกภาคใต้พร้อมด้วยแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่ยืดหยุ่นผสมผสานจุดเด่นของลัทธิมาร์กซิสม์ กับทุนนิยมใหม่ เพื่อกอบกู้พร้อมกับฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญยิ่ง
จ้าว เสี่ยวปั่ว นักวิชาการผู้ทำงานวิจัยประวัติศาสตร์จีนในยุคของเติ้งเสี่ยวผิง กล่าวว่า สถานีโทรทัศน์ซีซีทีวี ได้แพร่ภาพสารคดีชีวิตเติ้งเสี่ยวผิง และได้รับความสนใจติดตามชมฯ มีเรตติ้งสูงพอๆ แม้เป็นช่วงละคร ย่อมพิสูจน์ถึงความนิยมที่ยังไม่เสื่อมคลายของผู้นำจีนท่านนี้
เจ้าหน้าที่คนหนึ่งของหน่วยงานประชาสัมพันธ์ ประจำมณฑลเสฉวนกล่าวว่า ระดับของการจัดงานฉลองวันเกิดผู้นำในปีที่ 110 นี้ เทียบเท่ากับเมื่อครั้งฉลอง 100 ปีฯ หนึ่งศตวรรษ เติ้ง เสี่ยวผิง ด้วยความมุ่งหวังที่จะเผยบทบาทของนักปฏิรูปคนสำคัญแห่งยุคจีนใหม่
ทั้งนี้ เติ้งเสี่ยวผิง เกิดเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2447 และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2540 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เป็นผู้นำที่ชาวจีนต่างสรรเสริญว่าคือ ‘ผู้นำที่ประเสริฐยิ่ง’ โดยมีความเป็นอัจฉริยะบุรุษทั้งในฐานะ ‘นักทฤษฎีลัทธิมาร์กซิสม์’ ‘นักปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพที่ยิ่งใหญ่’ ‘นักปกครอง’ ‘นักการทหาร’ ‘นักการต่างประเทศ’ และ ‘สถาปนิกใหญ่ผู้ออกแบบความทันสมัยให้ชาติและปฏิรูประบบสังคมนิยมจีน’
คุณูปการอันยิ่งใหญ่ของเติ้งเสี่ยวผิงที่อุทิศเพื่อแผ่นดินมังกรนั้น มีอยู่ 2 ด้านหลักๆ
ประการแรก คือสรุปบทเรียนจากประวัติศาสตร์จีนตั้งแต่ยุคสาธารณรัฐ และแก้ไขก้าวย่างที่พลาดพลั้งจากการปฏิวัติวัฒนธรรม วิพากษ์แนวคิดและฐานะทางประวัติศาสตร์ของท่านประธานเหมาเจ๋อตงอย่างเป็นวิทยาศาสตร์
ประการที่สอง คือสร้างแนวคิดสังคมนิยมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะแบบจีน(ทฤษฎีเติ้งเสี่ยวผิง) เป็นผู้ออกแบบนโยบายปฏิรูปที่นำพาประเทศสู่ความเป็นสังคมนิยมอันทันสมัย
ภูมิความคิดของเติ้งเสี่ยวผิง รัฐบุรุษผู้มีชีวิตปฏิวัติโชกโชนตลอด 70 ปี จึงควรค่าแก่การเรียนรู้และเข้าใจ
“ ไม่ว่าแมวขาวหรือแมวดำ ขอเพียงจับหนูได้ก็คือแมวที่ดี ”
不管白猫黑猫,会抓老鼠就是好猫
(ปู้ก่วนไป๋เมาเฮยเมา, ฮุ่ยจัวเหลาสู่จิ้วซื่อห่าวเมา)
ประโยคยอดนิยมของท่านผู้นำเติ้งที่คุ้นหูกันเป็นอย่างดีนี้ ท่านได้กล่าวอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อปีค.ศ.1962 ซึ่งขณะนั้น จีนกำลังประสบกับปัญหาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ และบรรดาผู้บริหารของประเทศต่างระดมความคิดเพื่อแก้วิกฤติที่เกิดขึ้น
ทัศนะของเติ้งขณะนั้นคือ “ในการจะฟื้นคืนอุตสาหกรรมเกษตร มวลชนจำนวนมากเรียกร้องขอได้รับการจัดสรรพื้นที่ทำกินของตนเอง และผลการสำรวจยังได้สนับสนุนแนวคิดนี้ ซึ่งในช่วงระยะก้าวผ่านของแต่ละยุคสมัย หากวิธีการใดเป็นผลดีแก่อุตสาหกรรมการเกษตร ก็ให้ใช้วิธีการนั้น กล่าวคือ ควรยึดแนวทางการปฏิบัติตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่คิดหรือปฏิบัติกันอย่างสูตรตายตัว”