xs
xsm
sm
md
lg

อนุยกร่างฯ แนะมีนโยบายชาติผูกพันทุก ครม. นิยามเงินแผ่นดินให้ชัด เพิ่มอำนาจสอบโกง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โฆษก กมธ.ยกร่างฯ แจงอนุฯ คณะ 5 เสนอกำหนดนโยบายชาติ เพื่อผูกพันทุก ครม.จำกัดอำนาจผู้ดำรงตำแหน่งการเมือง ตรวจสอบได้ มีองค์กรกลางคุ้มครอง ขรก.ดี อนุฯ คณะ 4 ชง 5 ประการ แนะ กำหนดนิยาม เงินแผ่นดิน ให้ชัด ดักอ้างกู้นอกงบ เอื้อการเมือง เพิ่มอำนาจ คตง.ไต่สวนใช้เงินทำชาติเจ๊ง ส่งศาลวินัยการฯ ชี้ขาด ผุดระบบงบสองขาใช้แทนระบบปัจจุบัน ปรับ กม.การเงินมุ่งสู่บริหารคลังสาธารณะ



วันนี้ (4 ธ.ค.) นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงว่า ที่ประชุมได้พิจารณาความเห็นและข้อเสนอแนะของพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองที่เข้าประชุมร่วมกับกรรมาธิการฯ และพิจารณารายงานผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมาธิการคณะที่ 5 ที่มีนายปรีชา วัชราภัย เป็นประธาน และพิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญในส่วนภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดีและสถาบันการเมือง หมวด 6 ความสัมพันธ์ระหว่างข้าราชการ นักการเมืองและประชาชน ซึ่งมีข้อเสนอให้กำหนดหลักสำคัญในรัฐธรรมนูญคือ ให้ประชาชนที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าที่รัฐ ได้รับความคุ้มครองจากรัฐ ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนรวมกลุ่มเพื่อดำเนินการปกป้องประโยชน์สาธารณะอย่างเป็นเอกภาพ เพื่อสะท้อนปัญหาไปยังผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ อนุกรรมาธิการฯ ยังเสนอหลักการในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า ควรกำหนดแผนหรือนโยบายของชาติไว้เพื่อผูกพันคณะรัฐมนตรีที่เข้ามาบริหารให้เกิดความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายบริการสาธารณะ จำกัดอำนาจของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้ประชาชนตรวจสอบได้ทั้งทางการเมืองและทางกฎหมาย จำกัดอำนาจของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในการแต่งตั้งหรือโยกย้ายเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อปกป้องมิให้มีการใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

สำหรับหลักการในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่รัฐนั้น เสนอให้มีการสร้างจิตสำนึกให้เจ้าหน้าที่รัฐมีความเป็นกลางทางการเมือง สร้างการบริหารราชการที่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล สร้างการปฏิบัติราชการอันเป็นการให้บริการสาธารณะแก่ประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมการรวมกลุ่มเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีและสร้างเกราะป้องกันไม่ให้ฝ่ายการเมืองแทรกแซง และกำหนดบทบาทให้มีองค์กรกลางคุ้มครองข้าราชการทีปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต

ส่วนอนุกรรมาธิการคณะที่ 4 ที่มีนายจรัส สุวรรณมาลา เป็นประธานฯ และพิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญในส่วนภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดีและสถาบันการเมือง หมวด 5 การคลังและการงบประมาณของรัฐ ได้เสนอหลักการที่ควรบัญญัติในรัฐธรรมนูญ 5 ประการ คือ 1. กำหนดนิยามคำว่า “เงินแผ่นดิน” ให้ประกอบด้วย เงินรายได้นำส่งคลังทั้งมวล เงินกู้โดยกระทรวงการคลัง เงินและทรัพย์สินในความครอบครองของรัฐ โดยไม่รวมเงินฝาก เงินออม เงินและทรัพย์สินที่หน่วยงานรัฐมีไว้ในครอบครอง แต่รัฐมิได้เป็นเจ้าของโดยตรง ตลอดจนหมายถึงเงินและทรัพย์สินในความครอบครองของรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากในรัฐธรรมนูญปี 2550 ไม่ได้กำหนดนิยามเงินแผ่นดินให้ชัดเจน ทำให้ ครม. ส่วนราชการหาช่องทางใช้จ่ายเงินหรือก่อหนี้ผูกพันโดยไม่ผ่านระบบงบประมาณปกติ

นายคำนูณยังได้ยกตัวอย่างการบริหารของรัฐบาลที่ผ่านมาซึ่งมีการกู้เงินแล้วอธิบายว่าเงินกู้ไม่ใช่เงินแผ่นดินจึงไม่จำเป็นต้องจัดทำเป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งการตีความดังกล่าวทำให้เกิดการเอื้อประโยชน์ให้ ครม. ส่วนราชการ ใช้เงินกู้โดยไม่ผ่านกระบวนการปกติ อันเป็นแนวปฏิบัติที่ขัดต่อหลักประชาธิปไตยและความรับผิดชอบต่อประชาชน สุ่มเสี่ยงต่อการขาดวินัยทางการเงินการคลัง จึงเห็นว่าควรมีการกำหนดนิยามให้ชัดเจนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการตีความเพื่อใช้ประโยชน์ทางการเมืองเหมือนที่ผ่านมา และเพื่อป้องกันไม่ให้ ครม. ส่วนราชการใช้เงินนอกงบประมาณโดยไม่มีขอบเขตจำกัด

2. กำหนดมาตรการป้องกันการแปรญัตติงบประมาณของ ส.ส. โดยให้นำเงินงบประมาณที่ ส.ส.ปรับลดไม่สามารถนำไปจัดสรรหรือใช้จ่ายเพิ่มเติมในลักษณะเอื้อประโยชน์แก่ ส.ส.โดยตรงได้

3. กำหนดให้มีมาตรการตรวจสอบด้านการเงินการคลังภาครัฐที่เข้มข้นขึ้น และให้ครม. หน่วยงานภาครัฐ มีความรับผิดชอบในการจัดทำข้อมูลทางการเงินการคลังและการงบประมาณ โดยต้องเปิดเผยต่อรัฐสภาและสาธารณะ พร้อมกำหนดให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน มีอำนาจตรวจสอบไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีการใช้จ่ายเงินแผ่นดินและก่อหนี้ผูกพันของ ครม. ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีหลักฐานเชื่อถือได้หรือเล็งเห็นผลได้ว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการขาดวินัยการเงินการคลังและงบประมาณของรัฐ และให้สรุปสำนวนส่งให้ศาลวินัยการเงินการคลังและงบประมาณพิจารณาวินิจฉัยโดยไม่ชักช้า อีกทั้งจัดทำรายงานผลการตรวจสอบเสนอต่อรัฐสภา และเปิดเผยต่อสาธารณชนเป็นประจำทุกปี

4. ปรับปรุงระบบการจัดทำงบประมาณแผ่นดินโดยให้นำระบบงบประมาณรายจ่ายประจำปีแบบใหม่ คือ “งบประมาณสองขา” มาใช้แทนระบบงบประมาณที่ใช้ในปัจจุบัน เพราะระบบดังกล่าวรัฐจะต้องเสนอรายงานเศรษฐกิจ กรอบนโยบายการคลัง งบประมาณรายจ่าย ซึ่งประกอบด้วยรายได้ เงินกู้ที่คาดว่าจะดำเนินการในปีงบประมาณ พร้อมทั้งเสนองบประมาณรายจ่ายจำแนกตามส่วนราชการ แผนงาน โครงการ ตามที่กฎหมายวิธีการงบประมาณกำหนดและเป็นระบบเปิด ส่งเสริมการกระจายอำนาจทางการคลังและการมีส่วนร่วมของประชาชน ให้มีการแบ่งประเภทภาษีและรายได้จากแหล่งรายได้อื่นๆ ระหว่างรัฐและองค์กร กำหนดให้มีการจัดระบบงบประมาณในเชิงพื้นที่ ควบคู่ไปกับงบประมาณฐานหน่วยงานและแผนงาน กำหนดให้การจัดทำงบประมาณยึดหลักการงบประมาณแบบมีส่วนร่วมกับประชาชน

5. ให้มีการปรับปรุงกฎหมายด้านการเงินการคลังของไทย เพื่อมุ่งไปสู่การบริหารงานคลังสาธารณะ ตามหลักความรับผิดชอบและธรรมาภิบาลทางการเงินการคลังของภาครัฐ รวมถึงกำหนดให้มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญด้านการเงิน การคลัง กฎหมายวิธีพิจารณางบประมาณ กฎหมายการบริหารหนี้สาธารณะ กฎหมายการจัดซื้อภาครัฐ กฎหมายการกระจายอำนาจทางการคลังและการมีส่วนร่วมของประชาชน และกฎหมายการตรวจเงินแผ่นดิน
กำลังโหลดความคิดเห็น