xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เลือกนายกฯ-ครม.โดยตรง จุดไฟสงครามกลางเมือง!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เสร็จสิ้นไปแล้ว สำหรับการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามและให้ข้อเสนอแนะการยกร่างรัฐธรรมนูญ ของคณะกรรมาธิการปฏิรูป 18 คณะ โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญแต่ละคณะที่เสนอมา หลังจากนี้ก็จะได้นำข้อเสนอแนะเหล่านั้น เสนอต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาต่อไป โดยจะมีการแนบความเห็น และข้อเสนอแนะต่างๆ ของสมาชิกไปพร้อมกันด้วย

ความเห็นและข้อเสนอที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ที่มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง คงไม่มีประเด็นใดเกินเรื่องที่จะให้ประชาชนเลือกนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีโดยตรง ซึ่งเสนอโดยคณะกรรมาธิการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง และองค์กรอิสระ ที่มีนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เป็นประธาน

หลักการคือ ให้พรรคการเมืองเสนอชื่อผู้สมัครเป็นนายกรัฐมนตรี และบัญชีคณะรัฐมนตรี หากการเลือกตั้งรอบแรกไม่มีผู้สมัครคณะใดได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ให้นำคณะที่ได้รับคะแนนอันดับหนึ่ง และสอง มาเลือกตั้งกันใหม่ การเลือกตั้งรอบสองนี้ ใครชนะ ก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี

โดยในช่วงที่มีการเลือกตั้ง ให้มีรัฐบาลรักษาการคณะหนึ่งที่ประกอบไปด้วย ปลัดกระทรวงทุกกระทรวง และเลือกปลัดกระทรวงหนึ่งทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีรักษาการ เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริต และให้นายกรัฐมนตรีรักษาการเป็นผู้นำความกราบบังคมทูลแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และคณะรัฐมนตรีชุดใหม่

คณะกรรมาธิการฯที่เสนอ เห็นว่าวิธีนี้ จะทำให้การซื้อสิทธิขายเสียง ทำให้ยากขึ้น ไม่ใช่ระบบประธานาธิบดี เพราะถ้าเป็นระบบประธานาธิบดี เลือกแล้วนอกจากจะเป็นผู้นำฝ่ายบริหารแล้ว ยังจะเป็นประมุขของประเทศ แต่ของไทยเราปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เลือกนายกฯมาโดยตรง ก็มาเป็นเพียงผู้นำฝ่ายบริหาร จึงไม่เรียกเป็นระบบประธานาธิบดี

สมาชิก สปช.ที่อภิปรายไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ ได้อย่างน่าสนใจ และมีน้ำหนัก ก็คือนายชัย ชิดชอบ และ นายคำนูณ สิทธิสมาน

นายชัย ชิดชอบ เห็นว่าระบบนี้ไม่สามารถขจัดนายทุนพรรค กับการซื้อเสียงได้เลย การให้พรรคการเมืองเป็นผู้เสนอรายชื่อครม. พรรคก็ต้องส่งนายทุนที่ต้องการเป็นรัฐมนตรีลงสมัคร และผู้บริหารพรรคก็จะเรียกเงินจากนายทุน เป็นร้อยเป็นพันล้าน เพราะพวกนี้กระสันอยากเป็นนายกฯ อยากเป็นรัฐมนตรี จะไปกำกับได้อย่างไร เขาจะขายข้าวจะรู้ได้อย่างไร เขาขายกันเอง ข้าราชการเขาปกปิดเป็นความลับ แล้วเอาความผิดตรงไหน

ปัญหาการซื้อสิทธิ์ ขายเสียงก็จะยิ่งหนักขึ้นกว่าเก่า เพราะแต่เดิมแค่เลือกส.ส.อย่างเดียว ยังซื้อเสียงกันหัวละ 100-500 บาท ต่อมามีการเลือกส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อด้วย ราคาค่าซื้อเสียงก็ขึ้นไปถึง 1,000 บาท ถ้ามีการเลือกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรี พ่วงเข้าไปอีก เงินซื้อเสียงต่อหัวอาจขึ้นไปถึง 5,000-10,000 บาท และก็จะจับพวกซื้อเสียงได้ยาก เพราะจากประสบการณ์ ที่เล่นการเมืองมากว่า 40 ปี ยังไม่เห็นมีการจับนักการเมืองที่ซื้อเสียงเข้าคุกได้แม้แต่คนเดียว

ขณะที่นายคำนูณ สิทธิสมาน แม้จะไม่ได้ลงเล่นการเมืองอย่างนายชัย แต่ก็เกาะติดการเมืองไทย มาไม่น้อยกว่าครึ่งค่อนชีวิตเช่นกัน โดยก่อนที่จะมาเป็นสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาปฏิรูปฯ และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ก็เคยเป็นสื่อมวลชน ระดับบรรณาธิการข่าวการเมืองมาไม่ต่ำกว่า 20 ปี

นายคำนูณ เห็นว่า การเลือกตั้งนายกฯและครม.โดยตรง รวมทั้งการเลือกส.ส.ที่เขตหนึ่งมี 3 คน ประชาชนเลือกได้ 1 คน ไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาซื้อสิทธิ์ ขายเสียง ที่เป็นปัญหาใหญ่ของการเลือกตั้งได้

เพราะในอดีต รัฐธรรมนูญปี 40 ได้เริ่มให้มีการเลือกตั้งส.ส.2ระบบเป็นครั้งแรก คือส.ส.เขต และส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งประชาชนก็เข้าใจ เบอร์ 1 ของบัญชีราชื่อ คือนายกฯ และรองลงมาคือ คณะรัฐมนตรี ขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญขณะนั้นก็บัญญัติว่าหากได้เป็นรัฐมนตรี ต้องลาออกจากส.ส. ข้อดีที่เกิดขึ้นของระบบนี้ คือได้รัฐบาลทครบเทอมเป็นครั้งแรกในปี 44-48 แต่มีผลข้างเคียงคือ มีภาวะรัฐบาลเข้มแข็งมาก เมื่อไปรวมกับมาตรการ ส.ส.ต้องสังกัดพรรค ทำให้สภาพความเป็นจริง เท่ากับรัฐบาลครอบงำรัฐสภาได้เด็ดขาด แล้วต่อมาก็เข้าไปครอบงำองค์กรอิสระ ปรากฏชัดในการเลือก กกต. และ ป.ป.ช.

ทำให้การเลือกตั้งครั้งต่อๆมา มีการซื้อสิทธิ์ ขายเสียงกันมากขึ้น และในราคาที่สูงขึ้นมาก เพราะเดิมพันสูง ถ้ามีเสียงข้างมากในสภา ก็สามารถคุมทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหารได้อย่างเบ็ดเสร็จ แม้ก่อนหน้านี้ จะยังไม่มีการเลือกตั้งนายกฯโดยตรง แต่รัฐบาลในระยะหลัง ก็จะพูดกันติดปากว่า มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ดังนั้น ถ้ามีการเปลี่ยนระบบ ให้มีการเลือกนายกฯ และ ครม.โดยตรง ซึ่งมีการกำหนดคะแนนเสียง ว่าต้องได้ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หมายความว่า นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ต้องได้รับคะแนนจากประชาชนไม่ต่ำกว่า 20 ล้าน
เสียง 

ถ้าเป็นอย่างนี้เวลามีปัญหาทางการเมือง ก็จะได้ยินว่ารัฐบาลมากจากการเลือกตั้งโดยตรง มาจากเสียงประชาชนทั้งประเทศ 20 ล้านเสียง แน่นอนว่า ถ้าเราได้รัฐบาลที่ดี ก็จะมีความมั่นคง แต่ถ้าตรงข้าม ก็จะเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นได้

อีกประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากว่า การเลือกนายกฯ และ ครม.โดยตรง อาจหมิ่นเหม่กับการไปกระทบพระราชอำนาจ ซึ่งเป็นเรื่องมิบังควร

เรื่องนี้ นายคำนูณ เห็นว่าประเทศไทยเลือกรูปแบบการปกครองระบบรัฐสภามา 82 ปี คือ ประชาชนเลือกส.ส.แล้วก็ได้เป็นส.ส.เลย โดยไม่ต้องมีการโปรดเกล้าฯ จากนั้น ส.ส.ซึ่งเป็นตัวแทนประชาชน ก็ทำหน้าที่เลือกนายกรัฐมนตรี หรือถวายคำแนะนำแด่พระมหากษัตริย์ เพื่อให้มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งตามคำแนะนำนั้น ซึ่งเป็นแนวทางที่เหมาะสมกับประเทศไทยที่สุด เพราะเราที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์

การที่คณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง อ้างว่า ทุกอย่างยังเป็นเหมือนเดิม ที่ให้พระมหากษัตริย์ มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งผู้นำสูงสุดในแต่ละฝ่าย แต่ไม่ทราบว่าจะต้องมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ คณะรัฐมนตรี ที่ได้รับเลือกตั้งจาก 20 ล้านเสียงหรือไม่ หรือถ้าในทางบริหาร อาจเกิดปัญหาว่าคณะรัฐมนตรี ทำงานด้วยกันไม่ได้ เช่น นายกรัฐมนตรี อาจมีมุมมองที่แตกต่างจากรมว.คลัง ในเรื่องการเก็บภาษี แบบนี้จะทำอย่างไร

คนที่ได้รับเลือกมาจากคะแนน 20 ล้านเสียงเท่ากัน จะปลดคนหนึ่งพ้นจากตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี จะมีเหตุผลอะไรที่จะไม่กระทบพระราชอำนาจ และไม่ทำให้พระราชอำนาจตกอยู่ในความลำบากบางประการ ว่า การมีพระบรมราชโองการให้รัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งพ้นจากตำแหน่ง คือ มีพระบรมราชโองการให้คนที่ประชาชนเลือกมา 20 ล้านเสียง พ้นจากตำแหน่ง โดยคำแนะนำของคนอีกคนหนึ่ง ที่เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ก็ได้รับเลือกตั้งมาจากประชาชนโดยตรง 20 ล้านเสียงเท่ากัน ซึ่งเป็นเรื่องอธิบายให้สมเหตุ สมผลได้ยากในทางทฤษฎี  

แนวความคิดเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง ไม่ใช่เพิ่งมีครั้งนี้เป็นครั้งแรก เคยมีมานานแล้ว แต่สังคมไม่เห็นด้วย และครั้งนี้ เมื่อผ่านความเห็นชอบจากสภาปฏิรูปแห่งชาติมาแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับว่า คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จะตัดสินใจอย่างไร จะเขียนลงในรัฐธรรมนูญหรือไม่ !!


กำลังโหลดความคิดเห็น