xs
xsm
sm
md
lg

ปฏิรูปการเมืองไม่จบ "ปู่ชัย"นำทีมคัดค้าน เลือกตรงนายกฯ-ครม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-กมธ.ปฏิรูปการเมือง ชงเลือกตั้งนายกฯ-ครม. โดยตรง ยันไม่ใช่ระบบประธานาธิบดี เลือกตั้งส.ส.เขต 350 คน ส.ว.สองระบบ 154 คน ป.ป.ช.ฟ้องคดีเอง ไม่ต้องผ่านอัยการ กกต.มีอำนาจตรวจค้นจับกุม "ปูชัย" นำทีมค้าน ชี้การซื้อสิทธิ์ขายเสียงอาจพุ่งไปถึง 1 หมื่นบาท ขณะที่อดีตส.ว. ขุดปมแก้รัฐธรรมนูญสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์มาซัดกันนัว "คำนูญ"เผยยังไม่สรุปเลือกนายกฯ ครม.ทางตรง

เมื่อวานนี้ (17ธ.ค.) มีการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามและให้ข้อเสนอแนะการยกร่างรัฐธรรมนูญ ของคณะกรรมาธิการปฏิรูป 18 คณะ ในวันที่ 3 โดยในส่วนของคณะกรรมาธิการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมืองและองค์กรอิสระนั้น นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานกมธ.ปฏิรูปโครงสร้างทางการเมืองและองค์กรอิสระ ได้เสนอสาระสำคัญที่ควรบรรจุไว้ในการยกร่างรัฐธรรมนูญ ดังนี้

ให้ประชาชนเลือกนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้โดยตรง โดยให้พรรคการเมืองเป็นผู้เสนอชื่อผู้สมัครเป็นนายกฯ และบัญชีคณะรัฐมนตรี หากการเลือกตั้งรอบแรก ไม่มีผู้สมัครคณะใดได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ให้นำคณะที่ได้รับคะแนนอันดับหนึ่งและสองมาเลือกตั้งใหม่ ซึ่งจะทำให้การซื้อสิทธิขายเสียงทำให้ยากขึ้น ทั้งนี้ ยืนยันว่าไม่ใช่ระบบประธานาธิบดี เพราะถ้าเป็นระบบประธานาธิบดี เลือกแล้วนอกจากจะเป็นผู้นำฝ่ายบริหารแล้ว ยังจะเป็นประมุขของประเทศ แต่ของไทยเราปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เลือกนายกฯ มาโดยตรง ก็มาเป็นเพียงผู้นำฝ่ายบริหาร จึงไม่เรียกเป็นระบบประธานาธิบดี

ส่วนช่วงที่มีการเลือกตั้ง ให้มีรัฐบาลรักษาการคณะหนึ่งที่ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงทุกกระทรวง โดยเลือกปลัดกระทรวงหนึ่งทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีรักษาการ เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริต ไม่มีการใช้อำนาจของรัฐบาลไปเพื่อประโยชน์ต่อการเลือกตั้งของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และให้นายกรัฐมนตรีรักษาการ เป็นผู้นำความกราบบังคมทูลแต่งตั้งนายกฯ คนใหม่

**ส.ส.เลือกตั้ง 350 คน ส.ว.สองระบบ154 คน

สำหรับ ส.ส. ให้มีทั้งหมด 350 คน มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เขตละไม่เกิน 3 คน โดยให้ประชาชน1 คน เลือก ส.ส.ได้ 1คน และให้นำคะแนนของผู้สมัครมาเรียงลำดับจากมากสุดไปน้อยสุด ผู้ที่ได้รับคะแนนอันดับหนึ่งถึงสาม จะได้รับเลือกให้เป็น ส.ส. ในเขตเลือกตั้งนั้น ส่วนวุฒิสภาให้จำนวนทั้งหมด 154 คน มาจากการเลือกตั้งสองทาง โดย 77 คน มาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน และอีก77 คน มาจากการเลือกตั้งของกลุ่มองค์กรวิชาชีพ

สำหรับองค์กรอิสระ ได้มีการเสนอให้ปรับปรุงวาระการดำรงตำแหน่งและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยลดวาระการดำรงตำแหน่งจาก 9 ปี เหลือ 5 ปี ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว และให้รวมเอาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ปปท.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เข้าไว้เป็นองค์กรเดียวกัน เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ โดยให้ป.ป.ช. สามารถฟ้องคดีได้โดยตรง ไม่ผ่านองค์กรอัยการ และมีการจัดตั้งศาลว่าด้วยคดีทุจริต และประพฤติมิชอบในวงราชการ โดยให้คดีทุจริตไม่มีอายุความในการดำเนินการ และให้การสู้คดีของข้าราชการประจำ และคดีนักการเมือง ดำเนินการในสองชั้นศาลเท่ากัน

**เพิ่มอำนาจกกต.มีสิทธิ์ตรวจค้น-จับกุม

ส่วนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ลดวาระการดำรงตำแหน่งจาก 7 ปี เหลือ 5 ปี ดำรงตำแหน่งได้วาระเดียว และหากกรรมการคนใดพ้นจากตำแหน่งเป็นการเฉพาะตัว ให้ผู้ที่มาดำรงตำแหน่งแทน สามารถดำรงตำแหน่งได้จนครบวาระของตน และปรับบทบาทอำนาจหน้าที่ โดยช่วงที่มีการเลือกตั้งให้ กกต. มีอำนาจเข้าไปตรวจค้น และจับกุมผู้กระทำความผิดกฎหมายเลือกตั้งได้ โดยไม่ต้องมีหมายค้น หรือหมายจับ แต่หากพบว่า ในการเลือกตั้งมีการกระทำทุจริตจนถึงขั้นอาจถูกเพิกถอนสิทธิให้ยื่นเรื่องต่อศาลเลือกตั้งเพื่อวินิจฉัย โดยให้ กกต. มีอำนาจเพียงสั่งเลือกตั้งใหม่เท่านั้น

***ตั้งกปช.ประเมินบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งบริหาร

นอกจากนั้น ให้มีการตั้งคณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติ (กปช.) ให้เป็นองค์กรอิสระ โดยมีหน้าทีประเมินบุคคลที่จะเข้าสู่ตำแหน่งบริหารระดับสูงภาคพลเรือนตั้งแต่ระดับ10 ขึ้นไป ทั้งในส่วนภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ เพื่อแก้ไขปัญหาการวิ่งเต้น รวมทั้งให้มีหน้าที่ในการประเมินผลโครงการขนาดใหญ่ของรัฐและรัฐวิสาหกิจว่าจะมีความคุ้มค่าในการลงทุน

ส่วนพรรคการเมือง การจะยุบพรรค ทำได้เฉพาะกรณีที่พรรคกระทำผิดร้ายแรงของสถาบันพระมหากษัตริย์ ล้มล้างระบอบประชาธิปไตย หรือทำให้ผลประโยชน์ของชาติได้รับความเสียหาย ขณะเดียวกันกำหนดให้มีองค์กรตรวจสอบจริยธรรมของพรรค และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส่วนส.ส.จะสังกัดพรรคการเมืองหรือไม่ก็ได้

ขณะที่การเลือกตั้งกำหนดให้เป็นสิทธิ ไม่ใช่เป็นหน้าที่ ซึ่งก็จะเหมือนนานาประเทศ แก้ไขลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยผู้ที่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก แม้จะรอลงอาญา ก็ไม่สามารถลงสมัครได้ เว้นแต่เป็นการรอลงอาญาในความผิดคดีหมิ่นประมาท คดีกระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ หรือเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีภาษีอากรให้ชำระภาษีกับรัฐ เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็จะไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งได้ตลอดไป และผู้ที่เคยลงสมัครจะต้องไม่เป็นบุพการี คู่สมสร โดยพฤตินัยหรือนิตินัย บุตร หรือบุตรบุญธรรม หรือเคยเป็นคู่สมรสและยังมีความสัมพันธ์ฉันสามีภรรยา ของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ส.ว. หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็จะไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้

**กำหนด 3 ขั้นตอนนิรโทษคู่ขัดแย้ง

ส่วนการสร้างความปรองดอง ควรตั้งองค์กรที่ทำหน้าที่สร้างความปรองดองมีคณะบุคคลขึ้นชุดหนึ่ง ติดตามดูสถานการณ์ความขัดแย้งในประเทศ หากเกิดความขัดแย้ง ควรมีมาตรการหรือกลไกในการเยียวยา ฟื้นฟู โดยผู้ดูแลการเยียวยาหรือฟื้นฟู ไม่ควรเป็นรัฐบาลเพื่อเกิดความเป็นธรรม ซึ่งมาตรการในการเยียวยา นอกจากการชดเชยด้วยเงินแล้ว ยังรวมถึงการนิรโทษกรรมให้แก่คู่ขัดแย้ง ซึ่งมีขั้นตอนการดำเนินการตามลำดับคือ 1.ค้นหาความจริง 2.ดำเนินคดีในกระบวนการยุติธรรม และ 3.คดีถึงที่สุด

นอกจากนี้ ต้องจัดให้มีพื้นที่สาธารณะในระดับต่างๆ สำหรับประชาชนเพื่อสร้างวัฒนธรรมแห่งการปรองดอง

ทั้งนี้ นายสมบัติยืนยันว่า แนวคิดการเลือกตั้งนายกฯ และคณะรัฐมนตรีโดยตรง ไม่ใช่แนวความคิดของตนอย่างที่มีหลายคนเข้าใจกัน เพราะตนเสนอให้มีการเลือกนายกฯ ผ่านรัฐสภา โดยให้พรรคการเมืองเป็นผู้เสนอ แต่แนวคิดการเลือกตั้งนายกฯ และครม.โดยตรง เป็นของกรรมาธิการเสียงข้างมาก

***ขอมีบทเฉพาะกาลให้ประชาชนรื้อคดีโกงได้

นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ สปช. อภิปรายว่า ปัญหาทุจริตเลือกตั้งยังแก้ไม่จบ และมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น กระบวนการเข้าสู่อำนาจจะต้องตัดอำนาจของ กกต. ควรมีศาลคดีเลือกตั้ง และรัฐธรรมนูญควรเขียนระยะเวลาในการตรากฎหมายลูกให้ชัด จะต้องมีแนวทางบริหารจัดการพรรคการเมือง โดยเฉพาะระบบการเงิน ที่มีการจ่ายเงินให้สส. หรือหัวคะแนน ส่วนการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน จะต้องกำหนดให้แจ้งทั้งสามี ภรรยา และลูก ทั้งที่บรรลุนิติภาวะและไม่บรรจุนิติภาวะ

ส่วนการควบรวม ป.ป.ช. ปปท. และ ปปง. เข้าเป็นองค์กรเดียวกัน เห็นว่า ควรปรับปรุงธรรมาภิบาลทั้ง 3 องค์กร แล้วกำหนดให้ทำงานอย่างบูรณาการ แล้วรวมเอา สตง. และผู้ตรวจการแผ่นดิน เข้ามาด้วย และในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ เสนอให้ระบุว่า คดีความใดๆ เกี่ยวข้องทุจริตคอร์รัปชัน และการประพฤติมิชอบที่หมดอายุความ หรือหน่วยงานภาครัฐจงใจไม่อุทธรณ์คดี ให้ประชาชนหรือภาคประชาสังคม สามารถทำเรื่องร้องเรียนป.ป.ช.ให้รื้อคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้ โดยให้พิจารณาเฉพาะความผิดทางแพ่งเท่านั้น เพื่อชดใช้ให้กับรัฐ

**"ปู่ชัย"นำค้านเลือกนายกฯ-ครม.โดยตรง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาชิกส่วนใหญ่ได้อภิปรายคัดค้านในประเด็นที่มาของนายกฯ และครม. กันอย่างกว้างขวาง โดนนายชัย ชิดชอบ สนป. กล่าวว่า ตนเป็นผู้หนึ่งที่ไม่เห็นด้วยตั้งแต่ต้น ที่ให้จะบัญญัติในรัฐธรรมนูญให้ประชาชนเลือกตั้งนายกฯ และครม. โดยตรง โดยระบุชื่อให้ประชาชนเลือก ตนขนหัวลุกชัน เพราะระบบนี้ ไม่สามารถขจัดนายทุนพรรคกับการซื้อเสียงได้เลย และไม่เคยเห็นนักการเมืองคนไหนเข้าคุกสักคน

"ถ้าเราจะเพิ่มให้เลือกนายกฯ ครม. ก็ให้ผู้แทน 350 คน มาหาเสียงให้ ครม. มันง่าย พรรคเขาก็ให้เขตหาเสียงของตนเองโดยพ่วงครม.ไปด้วย การซื้อเสียงก็ต้องจ่ายมากขึ้น จากเดิมเลือก ส.ส.คนเดียว อาจจะจ่ายหัวละ 100-500 บาท แต่ต่อไปถ้าเลือกส.ส. บวกครม. ต้องจ่ายคนละไม่ต่ำกว่า 1,000-5,000 บาท ผมท้าได้เลย หรืออาจถึงหมื่นด้วยซ้ำไป แล้ว กกต. จะไปคุมทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ เป็นไปไม่ได้ เพราะมีถึง 7-8 หมื่นหมู่บ้าน ผมจึงวิตกกังวลกรณีเรื่องนี้จริงๆ อยากให้ประธาน และผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับวิเศษวิโส ที่กำลังทำอยู่นี้ ให้มันได้ดีจริงๆ ว่าจะสกัดปัญหาอย่างไร ผมคงไม่มีสิทธิลงเลือกตั้งอีก เพราะถูกตัดสิทธิเสรีภาพเต็มที่ ที่ห้ามบุพการีสมัครไม่ได้ เลยถือโอกาสนี้พูดให้เต็มที่”

**เปิดช่องนายทุนคุมธุรกิจการเมือง

นายนันทวัฒน์ บรมาภินันท์ สปช. กล่าวว่า ถ้าปล่อยให้เลือกนายกฯ โดยตรง ยิ่งชัดเจนว่านายทุนหรือพรรคใหญ่ ก็จะเป็นผู้เข้ามาควบคุมธุรกิจการเมือง ทำให้แก้ปัญหาไม่ได้ ยิ่งถ้านายกฯ กับเสียงข้างมากในสภาเป็นข้างเดียวกัน ก็จะเกิดปัญหาตามมามากมาย จึงเห็นว่าประเทศเรายังไม่พร้อมกับการเลือกนายกฯ โดยตรง โดยการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีในระบบรัฐสภาเดิม เหมาะสมที่สุด แต่ต้องปรับวิธีและระบบเลือกตั้งเพื่อให้ได้คนดีเข้ามา ส่วนการเลือกตั้งครม. โดยตรง จะเป็นการให้เปิดเผยชื่อบุคคลก่อนล่วงหน้า ก็อาจทำให้เกิดปัญหาการซื้อตัวบุคคล เพื่อให้ได้คนที่เก่งเข้ามาอยู่ในบัญชีของ ครม.

***หนุนส.ว.มาจากเลือกตั้งทั้งหมด

นายดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิก สปช. กล่าวว่า เมื่อมีผู้เสนอให้เลือกครม. โดยตรงในกรรมาธิการ ตนยังไม่เห็นว่า มันดีกว่าระบบเดิมอย่างไร แต่ไปสรุปจบตรงที่ว่า มันจะป้องกันการซื้อสิทธิขายเสียงได้ ซึ่งตนเชื่อว่าไม่มีทางที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวได้เลย เพราะถ้าเขาจะซื้อก็มีอีกหลายวิธีทางมาทำ ไม่ว่าจะออกกฎหมายใด ตนจึงขอสงวนไว้ว่า ให้ยึดระบบเดิม ส่วน ส.ว.ตนสงวนว่า ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด เพราะ ส.ว.แต่งตั้ง กับเลือกตั้งที่ผ่านมา ก็มีปัญหา ขณะที่ ส.ส. เห็นว่าต้องสังกัดพรรคการเมือง เพื่อทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง

**ขุดปมแก้รัฐธรรมนูญสมัย"ปู"ซัดกันยับ

ต่อมานายวันชัย สอนศิริ สมาชิก สปช. ขออภิปราย เนื่องจากถูกพาดพิง และก่อให้เกิดความเสียหาย โดยกล่าวว่า ตนคือฐานะ อดีต ส.ว.สรรหา ที่เป็นผู้ลงชื่อขอฟ้องร้องต่อผู้ลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่แล้ว ซึ่งผู้อภิปรายเมื่อสักครู่ อาจจะเป็นคนหนึ่งที่อาจจะต้องถูกถอดถอนหรือไม่ ตนจึงขอชี้แจง การแก้รัฐธรรมนูญครั้งที่แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญ และหลักนิติธรรม เพราะมีการปลอมเอกสาร และใช้เอกสารปลอมในที่ประชุมแห่งนี้ การโหวตให้มีการแปรญัตติไม่ชอบ ในขณะที่องค์ประชุมไม่ครบ การอภิปรายก็ไม่ชอบด้วยข้อบังคับการประชุมรัฐสภา เช่น การเสียบบัตรแทนกันในที่ประชุม ป.ป.ช.ก็ชี้มูล การอภิปรายเมื่อสักครู่ เหมือนส.ว.สรรหา หาเรื่องกับ ส.ว.อีกฟากหนึ่ง เมื่อไม่ถูกต้อง ก็ต้องชี้แจง คนที่ทำไม่ถูก ก็ต้องดำเนินคดี

ด้านนายดิเรก ชี้แจงกลับว่า ทางรัฐสภาได้ชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า การตรวจสอบธุรการเป็นอำนาจของรัฐสภา หากยังไม่บรรจุเข้าวาระการประชุม ก็สมารถแก้ไขได้ เพราะฉะนั้นการที่กล่าวว่า มีการใช้เอกสารปลอม เป็นเพียงขั้นตอนการแก้ไขเท่านั้น ทางส.ว.ก็มีอำนาจในการเซ็นชื่อไปให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนการเสียบบัตรแทนกัน ก็คือความผิดเฉพาะตัว เป็นขั้นตอนของรัฐสภา อำนาจแต่ละส่วนจะต้องไม่ก้าวก่ายซึ่งกันและกัน และสามารถคานอำนาจซึ่งกันและกัน

ขณะที่ นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิก สปช. กล่าวว่า ตนในฐานะอดีต ส.ว.สรรหา ตนเป็นฝ่ายในผู้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตนเป็นคนค้นพบในการใช้เอกสารปลอม และได้ส่งเป็นหลักฐานต่อศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนั้น ซึ่งคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ถือเป็นอำนาจที่ผูกขาดทุกฝ่าย ดังนั้น ตนจึงอยากฝากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้นำเรื่องนี้เข้าพิจารณาในร่างรัฐธรรมนูญ ในครั้งนี้ด้วย

***เลือกนายกฯ-ครม.โดยตรงยังไม่ได้สรุป

นายคำณูน กล่าวว่า ในส่วนของกรรมาธิการยกร่าง มีความเห็นที่สอดคล้องกับที่กรรมาธิการปฏิรูปฯ ในประเด็นการให้มีรัฐบาลรักษาการณ์ที่มาจากปลัดกระทรวง หากมีการยุบสภา เลือกตั้งใหม่ ส่วนประเด็นจำนวนส.ส.ที่เสนอตัวเลข 350 แม้ในกมธ.จะยังไม่ได้ข้อสรุป และหารือในหลายตัวเลข แต่ตัวเลข ส.ส. 350 ก็ตรงกับที่อนุกรรมาธิการยกร่างชุดที่มีนายสุจิต บุญบงการ ได้เสนอมาความเห็นมา และการเสนอให้มีคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการประเมินแห่งชาติ ขึ้นมาทำหน้าที่ประเมินข้าราชการประจำ เป็นนวัตกรรมใหม่ที่กมธ.ได้พิจารณากัน ซึ่งก็จะเอาทั้ง 3 ข้อเสนอไปหารือในกมธ.ยกร่างต่อไป

ส่วนประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมาก คือ การให้มีการเลือกตั้งนายกฯ และครม. โดยตรงนั้น กมธ.ยกร่างก็หารือและสนทนาธรรมเกี่ยวกับประเด็นนี้ มีกมธ.บางคนก็สนับสนุน แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจประการใด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่สมาชิกได้อภิปรายแสดงความเห็นอย่างกว้างขวางแล้ว ในที่สุดที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามและให้ข้อเสนอแนะการยกร่างรัฐธรรมนูญ สภาปฏิรูปแห่งชาติ จากนั้นจะมีการเสนอต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาต่อไป โดยจะมีการแนบความเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ ของสมาชิกไปพร้อมด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น