xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ปฏิรูปการเมือง ชงเลือกตรงนายกฯ ปรับเลือกตั้งเป็นแค่สิทธิ เข้มปราบโกง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กมธ.ปฏิรูปการเมือง แถลงคำแนะ กมธ.ยกร่างฯ ให้ ปชช.เลือกตรงนายกฯ-ครม. ปัดเป็นแบบประธานาธิบดี ปลัดรักษาการช่วงเลือกตั้ง-ทูลเกล้าฯ ถวายนายกฯใหม่ ปรับเลือกตั้งจากหน้าที่เป็นแค่สิทธิ ห้ามติดโทษรอลงอาญาคดีภาษีลง ส.ส. เพิ่มอำนาจ กกต.ค้น-จับช่วงเลือกตั้ง ให้ ป.ป.ท.-ปปง. รวม ป.ป.ช.เพิ่มความแกร่งขจัดโกง ฟ้องตรงได้ ลดอำนาจ ตร.เหลือจับกุม สอบสวนหน้าที่อัยการ พร้อมตั้ง คกก. เรียกคู่ขัดแย้งเคลียร์



วันนี้ (9 ธ.ค.) คณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่มีนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เป็นประธาน ได้ร่วมกันแถลงประเด็นความเห็นและข้อเสนอแนะการยกร่างรัฐธรรมนูญที่จะเสนอต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีประเด็นสำคัญทั้งสิ้น 20 ประเด็น แยกเป็นในส่วนของการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมืองและองค์กรอิสระเห็นว่าจะต้องมีการแบ่งแยกอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติให้ชัดเจน โดยเสนอให้ประชาชนเลือกนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้โดยตรง โดยผู้สมัครในบัญชี ครม.ต้องได้รับการเสนอชื่อโดยพรรคการเมืองที่มีสมาชิกพรรคตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้การบริหารงานได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองและฝ่ายนิติบัญญัติ และหากการเลือกตั้งรอบแรกไม่มีผู้สมัครคณะใดได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ให้นำคณะที่ได้รับคะแนนอันดับหนึ่งและสองมาเลือกตั้งใหม่ เชื่อว่าวิธีการนี้จะทำให้การซื้อสิทธิขายเสียงทำได้ยากขึ้น เพราะถ้าซื้อต้องซื้อทั้งสองรอบก็จะเป็นปัญหาในเรื่องการเมืองของพรรค

ส่วนช่วงที่มีการเลือกตั้งให้มีรัฐบาลรักษาการคณะหนึ่งที่ประกอบไปด้วยปลัดกระทรวงทุกกระทรวง โดยเลือกปลัดกระทรวงหนึ่งทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีรักษาการเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริต ไม่มีการใช้อำนาจของรัฐบาล ไปเพื่อประโยชน์ต่อการเลือกตั้งของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งและให้นายกรัฐมนตรีรักษาการเป็นผู้นำความกราบบังคมทูลแต่งตั้งนายกฯ คนใหม่

“แม้จะมีเสียงวิจารณ์ว่าการเลือกตั้งนายกฯโดยตรงเป็นระบบประธานาธิบดี ยืนยันว่าไม่ใช่เพราะระบบประธานาธิบดีถ้าเลือกแล้วต้องเป็นประมุข แต่บ้านเรายังใช้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เลือกนายกฯโดยตรงก็มาทำหน้าที่ตามระบบรัฐสภา ที่ผ่านมาเวลาอเมริกาคิดรูปแบบขึ้นมาใหม่ก็จะบอกว่าเราเป็นประเทศแรกที่ใช้รูปแบบนี้ แล้วประเทศอื่นๆก็ไปลอกมา ไทยก็ไปลอกรูปแบบการปกครองจากประเทศอื่นมา พอใช้แล้วก็มีปัญหามาเยอะ ครั้งนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นนวัตกรรมทางการเมืองที่เราเสนอขึ้นมาเอง” นายสมบัติกล่าว

นอกจากนี้ ในส่วนของที่มา ส.ส.เห็นว่าเมื่อให้ประชาชนเลือกนายกฯ และครม.โดยตรงแล้วก็ไม่จำเป็นต้องมี ส.ส.บัญชีรายชื่อ จึงกำหนดให้มีแต่ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง โดยให้มีทั้งหมด 350 คน แบ่งเป็นเขตเลือกตั้งเขตละไม่เกิน 3 คน โดยให้ประชาชน 1 คนเลือก ส.ส.ได้ 1 คน และให้นำคะแนนของผู้สมัครมาเรียงลำดับจากมากสุดไปน้อยสุด ผู้ที่ได้รับคะแนนอันดับที่ 1-3 จะได้รับเลือกให้เป็น ส.ส.ในเขตเลือกตั้งนั้น และกำหนดให้ ส.ส.มีอำนาจในการบัญญัติกฎหมายตรวจสอบฝ่ายบริหารและแต่งตั้งกรรมาธิการ ตรวจสอบการประพฤติมิชอบของนักการเมืองร่วมกันอัยการอิสระเพื่อยื่นฟ้องต่อศาลคดีการเมืองโดยตรง ส่วนวุฒิสภาให้จำนวนทั้งหมด 154 คน มาจากการเลือกตั้งสองทาง โดย 77 คนมาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน และอีก 77 คนมาจากการเลือกตั้งของกลุ่มองค์กรวิชาชีพที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเช่นองค์กรวิชาชีพครู กลุ่มชุมนุมสหกรณ์การเกษตกรเป็นต้น โดยจะมีหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย เห็นชอบกรรมการในองค์กรอิสระซึ่งจะกำหนดให้มีการเปิดเผยประวัติผู้ที่เสนอตัวเป็นกรรมการองค์กรอิสระ มีอำนาจในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยกระบวนการตรวจสอบต้องกระทำโดยเปิดเผย

สำหรับองค์กรอิสระนั้นได้มีการเสนอให้ปรับปรุงวาระการดำรงตำแหน่งและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยลดวาระการดำรงตำแหน่งจาก 9 ปี เหลือ 5 ปี โดยดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว และให้เพื่อเพิ่มความเข้มข้นในการสอบสวนเอาผิดกับผู้กระทำการทุจริต โดยจะมีการรวมเอาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เข้าไว้เป็นองค์กรเดียวกัน เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพและให้ ป.ป.ช.สามารถฟ้องคดีได้โดยตรงไม่ผ่านองค์กรอัยการ รวมถึงมีการจัดตั้งศาลว่าด้วยคดีทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ โดยให้คดีทุจริตไม่มีอายุความในการดำเนินการ และให้การสู้คดีของข้าราชการประจำและคดีนักการเมือง ดำเนินการในสองชั้นศาลเท่ากัน

ส่วนคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ให้มีการปฏิรูปที่มาของคณะกรรมการผู้ตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ให้ปราศจากการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการให้มีประสิทธิภาพ ส่วนองค์กรอัยการนอกจากต้องมีการปรับปรุงให้ปราศจากการแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองแล้ว จะมีการห้ามมิให้พนักงานอัยการไปดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจต่างๆ จะปรับภารกิจโดยให้การสืบสวนสอบสวนในคดีอาญา ที่เดิมเป็นอำนาจหน้าที่ของตำรวจมาอยู่กับอัยการ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสากล โดยให้ตำรวจมีหน้าที่เพียงจับกุมอย่างเดียว

นอกจากนั้น ให้มีการตั้งคณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติ (กปช.) ให้เป็นองค์กรอิสระ โดยมีหน้าที่ประเมินบุคคลที่จะเข้าสู่ตำแหน่งบริหารระดับสูงภาคพลเรือนตั้งแต่ระดับ 10 ขึ้นไป ทั้งในส่วนภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ เพื่อแก้ไขปัญหาการวิ่งเต้น รวมทั้งให้มีหน้าที่ในการประเมินผลโครงการขนาดใหญ่ของรัฐและรัฐวิสาหกิจว่าจะมีความคุ้มค่าในการลงทุน มีการทุจริตคอร์รัปชันหรือไม่ หากเห็นว่าไม่โปร่งใสก็ให้ส่งดำเนินคดีต่อไป

สำหรับเรื่องการปฏิรูประบบพรรคการเมืองและกลไกการเลือกตั้งนั้น เห็นว่าต้องมีการพัฒนาพรรคการเมืองให้เป็นสถาบันที่เข้มแข็ง สมาชิกพรรคต้องมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการดำเนินการของพรรคได้ การยุบพรรคจะทำได้เฉพาะกรณีที่พรรคกระทำผิดร้ายแรงของสถาบันพระมหากษัตริย์ ล้มล้างระบอบประชาธิปไตย หรือทำให้ผลประโยชน์ของชาติได้รับความเสียหาย ขณะเดียวกันกำหนดให้มีองค์กรตรวจสอบจริยธรรมของพรรคและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส่วน ส.ส.จะสังกัดพรรคการเมืองหรือไม่ก็ได้ ขณะที่การเลือกตั้งกำหนดให้เป็นสิทธิไม่ใช่เป็นหน้าที่เหมือนในรัฐธรรมนูญปี 50 และให้แก้ไขลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยผู้ที่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกแม้จะรอลงอาญาก็ไม่สามารถลงสมัครได้ เว้นแต่เป็นการรอลงอาญาในความผิดคดีหมิ่นประมาท คดีกระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ หรือเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีภาษีอากรให้ชำระภาษีกับรัฐ เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็จะไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งได้ตลอดไป และผู้ที่เคยลงสมัครจะต้องไม่เป็นบุพการี คู่สมสร โดยพฤตินัยหรือนิตินัย บุตร หรือบุตรบุญธรรม หรือเคยเป็นคู่สมรสและยังมีความสัมพันธ์ฉันสามีภรรยา ของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส., ส.ว. หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็จะไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้

ส่วนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอให้ลดวาระการดำรงตำแหน่งจาก 7 ปีเหลือ 5 ปี และดำรงตำแหน่งได้วาระเดียว และหากกรรมการคนใดพ้นจากตำแหน่งเป็นการเฉพาะตัว ผู้ที่มาดำรงตำแหน่งแทนสามารถดำรงตำแหน่งได้จนครบวาระของตน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการสับเปลี่ยนไม่ใช่หมดไปทั้งคณะ และให้มีการปรับบทบาทอำนาจหน้าที่ โดยช่วงที่มีการเลือกตั้งให้ กกต.มีอำนาจเข้าไปตรวจค้นและจับกุมผู้กระทำความผิดกฎหมายเลือกตั้งได้โดยไม่ต้องมีหมายค้น หรือหมายจับ แต่หากพบว่าในการเลือกตั้งมีการกระทำทุจริตจนถึงขั้นอาจถูกเพิกถอนสิทธิให้ยื่นเรื่องต่อศาลเลือกตั้งเพื่อวินิจฉัย โดยให้ กกต.มีอำนาจเพียงสั่งเลือกตั้งใหม่เท่านั้น

ส่วนเรื่องการปฏิรูป การเรียนรู้ การปรองดองและการมีส่วนร่วมของประชาชนนั้น เสนอว่าให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อติดตามดูสถานการณ์ความขัดแย้งในประเทศ หากเห็นว่าหากประเทศเกิดปัญหาความขัดแย้งเหมือนที่ผ่านมาจนถึงขั้นเป็นภัยให้ประเทศล่มสลายให้คณะกรรการฯมีอำนาจตามกฎหมายเชิญคู่ขัดแย้งมาพูดคุย เพื่อให้สถานการณ์สงบลง และกำหนดให้มีพื้นที่สาธารณะให้กับประชาชนเพื่อสร้างวัฒนธรรมการปรองดอง ส่วนในเรื่องของการมีส่วนร่วมกำหนดให้มีการตรากฎหมายการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อให้ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เช่นการประกาศพื้นที่เหมือง ก็ต้องให้ประชาชนในพื้นที่ที่มีส่วนได้เสียเข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ

นายสมบัติกล่าวว่า ทั้งหมดนี้เป็นเพียงข้อเสนอเบื้องต้นที่กรรมาธิการจะได้เสนอรายงานต่อสภา สปช.แล้ว ซึ่งจะมีการประชุมและถกเถียงกันในวันที่ 15-17 ธ.ค. และจะมีการเสนอกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่หลังจากนี้ทางกรรมาธิการต้องมีการทำในเรื่องของรายละเอียดต่างๆ เพิ่มเติมโดยเฉพาะในเรื่องของความถ่วงดุลระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร หรืออย่างเรื่องที่มีการถามกันมากว่าหากนายกฯและครม.มาจากการเลือกตั้งโดยตรง หากมีการถอดถอนนายกฯจะทำอย่างไร ที่ประชุมก็มีการพูดคุยกันว่า อาจจะต้องให้พรรคอันดับสองขึ้นมาทำหน้าที่แทน หรือถ้านายกฯ ลาออก ครม.ไม่ต้องพ้นทั้งคณะเหมือนในอดีต แต่ให้ ครม.คัดเลือกนายกฯ คนใหม่ แต่ทั้งหมดก็ยังไม่ตกผลึกยังเป็นเพียงหลักการเท่านั้น







กำลังโหลดความคิดเห็น