xs
xsm
sm
md
lg

“ปู่ชัย” ขนลุกขนชัน ไม่เอาเลือกนายกฯ - ครม.ตรง ซัดแก้ซื้อเสียงไม่ได้-เหน็บคงชอบได้เงินซื้อเสียงเยอะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชัย ชิดชอบ (ภาพจากแฟ้ม)
สปช. ขายฝันร่างรัฐธรรมนูญ “สมบัติ” แจงเลือกนายกฯ - ครม. ตรง ยันไม่ใช่ระบบประธานาธิบดี ให้มี ส.ส. เลือกตั้ง 350 คน ส.ว. สองระบบ 154 คน ตั้งองค์กรสร้างปรองดอง กำหนด 3 ขั้นตอนนิรโทษคู่ขัดแย้ง “ปู่ชัย” ฟังแล้วขนลุก ออกโรงค้าน ซัดแก้ซื้อเสียงไม่ได้ พรรคส่งแต่นายทุนเป็นนายกฯ เปิดทางทุ่มซื้ออัพราคาขายเสียงถึงหมื่น เหน็บประชาชนคงชอบได้เงินซื้อเสียงเยอะ ถ้ายังดันทุรังขอให้โชคดี "ดิเรก" หนุน ส.ว. เลือกตั้งทั้งหมด แขวะ ส.ว.สรรหา ฟ้องร้องวุ่นวาย “วันชัย - คำนูณ” โต้กลับ อัดแก้ รธน. สมัยยิ่งลักษณ์ยังใช้เอกสารปลอม

วันนี้ (17 ธ.ค.) การประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามและให้ข้อเสนอแนะการยกร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการปฏิรูป 18 คณะในวันที่ 3 นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมืองและองค์กรอิสระ ได้เสนอสาระสำคัญที่ควรบรรจุไว้ในการยกร่างรัฐธรรมนูญคือให้ ประชาชนเลือกนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้โดยตรง โดยให้พรรคการเมืองเป็นผู้เสนอชื่อผู้สมัครเป็นนายกฯ และบัญชีคณะรัฐมนตรี หากการเลือกตั้งรอบแรกไม่มีผู้สมัครคณะใดได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ให้นำคณะที่ได้รับคะแนนอันดับหนึ่งและสอง มาเลือกตั้งใหม่ ทำให้การซื้อสิทธิขายเสียงทำให้ยากขึ้น ยืนยันว่าไม่ใช่ระบบประธานาธิบดี เพราะถ้าเป็นระบบประธานาธิบดีเลือกแล้วนอกจากจะเป็นผู้นำฝ่ายบริหารแล้ว ยังจะเป็นประมุขของประเทศ แต่ของไทยเราปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เลือกนายกฯ มาโดยตรงก็มาเป็นเพียงผู้นำฝ่ายบริหาร จึงไม่เรียกเป็นระบบประธานาธิบดี

ส่วนช่วงที่มีการเลือกตั้งให้มีรัฐบาลรักษาการณ์คณะหนึ่งที่ประกอบไปด้วยปลัดกระทรวงทุกกระทรวง โดยเลือกปลัดกระทรวงหนึ่งทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีรักษาการ เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริต ไม่มีการใช้อำนาจของรัฐบาล ไปเพื่อประโยชน์ต่อการเลือกตั้งของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งและให้นายกรัฐมนตรีรักษาการ เป็นผู้นำความกราบบังคมทูลแต่งตั้งนายกฯ คนใหม่

สำหรับ ส.ส. ให้มีทั้งหมด 350 คน มาจากการเลือกตั้ง แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เขตละไม่เกิน 3 คน โดยให้ประชาชน 1 คนเลือก ส.ส. ได้ 1 คน และให้นำคะแนนของผู้สมัครมาเรียงลำดับจากมากสุดไปน้อยสุด ผู้ที่ได้รับคะแนนอันดับหนึ่งถึงสามจะได้รับเลือกให้เป็น ส.ส. ในเขตเลือกตั้งนั้น ส่วนวุฒิสภาให้จำนวนทั้งหมด 154 คน มาจากการเลือกตั้งสองทาง โดย 77 คนมาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คนและอีก 77 คนมาจากการเลือกตั้งของกลุ่มองค์กรวิชาชีพ

สำหรับองค์กรอิสระนั้นได้มีการเสนอให้ปรับปรุงวาระการดำรงตำแหน่งและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยลดวาระการดำรงตำแหน่งจาก 9 ปี เหลือ 5 ปี โดยดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว และให้รวมเอาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เข้าไว้เป็นองค์กรเดียวกัน เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ โดยให้ ป.ป.ช. สามารถฟ้องคดีได้โดยตรงไม่ผ่านองค์กรอัยการ และมีการจัดตั้งศาลว่าด้วยคดีทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ โดยให้คดีทุจริตไม่มีอายุความในการดำเนินการ และให้การสู้คดีของข้าราชการประจำและคดีนักการเมือง ดำเนินการในสองชั้นศาลเท่ากัน

ส่วนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ลดวาระการดำรงตำแหน่งจาก 7 ปี เหลือ 5 ปี ดำรงตำแหน่งได้วาระเดียว และหากกรรมการคนใดพ้นจากตำแหน่งเป็นการเฉพาะตัว ให้ผู้ที่มาดำรงตำแหน่งแทนสามารถดำรงตำแหน่งได้จนครบวาระของตน ปรับบทบาทอำนาจหน้าที่ โดยช่วงที่มีการเลือกตั้ง ให้ กกต. มีอำนาจเข้าไปตรวจค้นและจับกุมผู้กระทำความผิดกฎหมายเลือกตั้งได้โดยไม่ต้องมีหมายค้น หรือหมายจับ แต่หากพบว่าในการเลือกตั้งมีการกระทำทุจริตจนถึงขั้นอาจถูกเพิกถอนสิทธิให้ยื่นเรื่องต่อศาลเลือกตั้งเพื่อวินิจฉัย โดยให้ กกต. มีอำนาจเพียงสั่งเลือกตั้งใหม่เท่านั้น

นอกจากนั้น ให้มีการตั้งคณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติ (กปช.) ให้เป็นองค์กรอิสระ โดยมีหน้าที่ประเมินบุคคลที่จะเข้าสู่ตำแหน่งบริหารระดับสูงภาคพลเรือนตั้งแต่ระดับ 10 ขึ้นไป ทั้งในส่วนภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ เพื่อแก้ไขปัญหาการวิ่งเต้น รวมทั้งให้มีหน้าที่ในการประเมินผลโครงการขนาดใหญ่ของรัฐและรัฐวิสาหกิจว่าจะมีความคุ้มค่าในการลงทุน

ส่วนพรรคการเมือง การจะยุบพรรคทำได้เฉพาะกรณีที่พรรคกระทำผิดร้ายแรงของสถาบันพระมหากษัตริย์ ล้มล้างระบอบประชาธิปไตย หรือทำให้ผลประโยชน์ของชาติได้รับความเสียหาย ขณะเดียวกันกำหนดให้มีองค์กรตรวจสอบจริยธรรมของพรรคและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส่วน ส.ส. จะสังกัดพรรคการเมืองหรือไม่ก็ได้

ขณะที่การเลือกตั้งกำหนดให้เป็นสิทธิ ไม่ใช่เป็นหน้าที่ ซึ่งก็จะเหมือนนานาประเทศ แก้ไขลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยผู้ที่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก แม้จะรอลงอาญาก็ไม่สามารถลงสมัครได้ เว้นแต่เป็นการรอลงอาญาในความผิดคดีหมิ่นประมาท คดีกระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ หรือเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีภาษีอากรให้ชำระภาษีกับรัฐ เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็จะไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งได้ตลอดไป และผู้ที่เคยลงสมัครจะต้องไม่เป็นบุพการี คู่สมสร โดยพฤตินัย หรือ นิตินัย บุตร หรือบุตรบุญธรรม หรือเคยเป็นคู่สมรสและยังมีความสัมพันธ์ฉันสามีภรรยา ของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ส.ว. หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็จะไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้

ส่วนการสร้างความปรองดอง ควรตั้งองค์กรที่ทำหน้าที่สร้างความปรองดองมีคณะบุคคลขึ้นชุดหนึ่ง ติดตามดูสถานการณ์ความขัดแย้งในประเทศ หากเกิดความขัดแย้งควรมีมาตรการหรือกลไกในการเยียวยา ฟื้นฟู โดยผู้ดูแลการเยียวยาหรือฟื้นฟู ไม่ควรเป็นรัฐบาลเพื่อเกิดความเป็นธรรม ซึ่งมาตรการในการเยียวยา นอกจากการชดเชยด้วยเงินแล้ว ยังรวมถึงการนิรโทษกรรมให้แก่คู่ขัดแย้ง ซึ่งมีขั้นตอนการดำเนินการตามลำดับ คือ 1. ค้นหาความจริง 2. ดำเนินคดีในกระบวนการยุติธรรม และ 3. คดีถึงที่สุด นอกจากนี้ต้องจัดให้มีพื้นที่สาธารณะในระดับต่างๆ สำหรับประชาชนเพื่อสร้างวัฒนธรรมแห่งการปรองดอง

“แนวคิดการเลือกตั้งนายกและคณะรัฐมนตรีโดยตรงยืนยันว่าไม่ใช่แนวความคิดของผมอย่างที่มีหลายคนเข้าใจกัน เพราะผมเสนอให้มีการเลือกนายกผ่านรัฐสภาโดยให้พรรคการเมืองเป็นผู้เสนอ แต่แนวคิดการเลือกตั้งนายกฯ และ ครม. โดยตรง เป็นของกรรมาธิการเสียงข้างมาก” นายสมบัติ กล่าว

นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ สปช. อภิปรายว่า ปัญหาการทุจริตเลือกตั้งที่ยังแก้ไม่จบ และมีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้น การซื้อเสียงเปลี่ยนจากซื้อจากประชาชนมาซื้อเสียงกับ กกต. มีการแทรกแซงกลไกการจัดการทำให้การเลือกตั้งเป็นเพียงการจัดการสัมปทานอำนาจรัฐ ดังนั้นกระบวนการเข้าสู่อำนาจที่จะทำให้หน้าเชื่อถือมากขึ้นคือ ควรแก้ไขการทุจริตการเลือกตั้งด้วยการตัดอำนาจถึงตุลาการของ กกต. ควรมีศาลคดีเลือกตั้ง และกำหนดให้ กกต. ต้องทำงานร่วมกับประชาสังคมในการจัดการเลือกตั้งให้มากขึ้น

การเมืองที่ล้มเหลวมาจากการผูกขาดทางการเมือง พยายามสร้างอำนาจเดียว ครอบงำการถ่วงดุลของ กกต. และ ป.ป.ช. รัฐธรรมนูญต้องเขียนให้ชัดเจนว่ากรอบเวลาในการตรากฎหมายลูกแต่ละฉบับ ไม่ควรเกินกี่ปี ถ้าสภาทำไม่ได้จะต้องรับผิดชอบอย่างไร และต้องกำหนดให้ชัดเจนว่าต้องยกเลิกกฎหมายเดิมที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญภายในเวลากี่ปี การออกแบบรัฐธรรมนูญไม่ควรให้รัฐเข้มแข็งมากเกินไป แต่ควรให้เกิดระบบพรรคการเมืองหลายพรรคที่สามารถจะแข่งขันได้อย่างเป็นธรรม แก้ไขปัญหาการบริหารจัดการพรรคการเมืองให้เกิดธรรมาภิบาลอย่างไร เพราะเฉพาะระบบการเงิน หน่วยงานเช่น กกต. และ ปปง. อาจจะต้องเข้ามามีบทบาทต่อการใช้เงินที่ผิดกฎหมายของพรรคการเมืองบางพรรคที่มีการจ่ายเงินเดือนให้ ส.ส. หรือหัวคะแนน

การเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินสาธารณะต้องกำหนดให้ทำทั้งสามี ภรรยา ลูกๆ ทั้งบรรลุนิติภาวะและไม่บรรลุนิติภาวะด้วย ป.ป.ช. ควรทำงานเชิงรุกมากขึ้นโดย สุ่มตรวจบุคคลที่น่าสงสัยโดยไม่ต้องมีคนมาร้องเรียน และควรเปรียบเทียบภาษีเงินได้กับรายได้ย้อนหลัง 5 ปีว่ามีความสอดคล้องกันหรือไม่ การจัดซื้อจัดจ้างควรออกเป็นพระราชบัญญัติมากกว่าระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ที่เป็นเหตุให้มีการทุจริตในการจัดซื้อได้ง่าย

ควรมีการจัดตั้งศาลควบคุมการทุจริตคอร์รัปชัน เร่งรัดกระบวนการพิจารณาให้คดีรวดเร็วขึ้น ผู้พิพากษาควรมีความรู้ประสบการณ์และ ทักษะ และควรมีบทลงโทษทั้งอาญาและแพ่ง การออก พ.ร.บ. จัดตั้งองค์กรตรวจสอบคุณธรรมจริยธรรมบุคคลสาธารณะ ขอให้เอานิยามเรื่อง “คอร์รัปชัน” ขององค์การสหประชาชาติ ธนาคารโลก ครอบคลุมทั้งคุณธรรม จริยธรรม และผลประโยชน์ของส่วนรวมเข้ามาใช้ ซึ่งจะเป็นนวัตกรรมทางสังคมที่ภาคประชาสังคมและองค์กรตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญสามารถนำไปครอบคลุมพฤติกรรมนักการเมืองที่ฉ้อฉลได้ดีกว่าเดิม

นอกจากนี้ ไม่ควรควบรวม ป.ป.ช. ป.ป.ท. และ ปปง. เข้าเป็นองค์กรรวมกัน เนื่องจากทั้งสามองค์กรต่างไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ แต่ควรปรับปรุงธรรมาภิบาลทั้ง 3 องค์กร แล้วกำหนดให้ทำงานอย่างบูรณาการแล้วรวมเอา สตง. และผู้ตรวจการแผ่นดิน เข้ามาด้วย การออก พ.ร.บ. ส่งเสริมสนับสนุนรณรงค์เรื่องต่อต้านคอรัปชั่น จะเป็นประโยชน์ในระยาว ไม่ควรขึ้นกับ ป.ป.ช. โดยควรทำหน้าที่ปราบปรามเท่านั้น และในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ เสนอให้ระบุว่า คดีความใดๆ เกี่ยวข้องทุจริตคอร์รัปชัน และการประพฤติมิชอบที่หมดอายุความ หรือหน่วยงานภาครัฐจงใจไม่อุทธรณ์คดี ให้ประชาชนหรือภาคประชาสังคมสามารถทำเรื่องร้องเรียน ป.ป.ช. ให้รื้อคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้ โดยให้พิจารณาเฉพาะความผิดทางแพ่งเท่านั้นเพื่อชดใช้ให้กับรัฐ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาชิกส่วนใหญ่ได้อภิปรายคัดค้านในประเด็นที่มาของนายกฯ และ ครม. โดยตรงกันอย่างกว้างขวาง โดนนายชัย ชิดชอบ สปช. กล่าวว่า ตนเป็นผู้หนึ่งที่ไม่เห็นด้วยตั้งแต่ต้น ที่ให้จะบัญญัติในรัฐธรรมนูญให้ประชาชนเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีและ ครม. โดยตรง โดยระบุชื่อให้ประชาชนเลือก ตนขนหัวลุกชัน เพราะระบบนี้ไม่สามารถขจัดนายทุนพรรคกับการซื้อเสียงได้เลย แต่ก่อนหิ้วกระเป๋าเจมส์บอนด์ สมัยก่อนส่งปลาทูเค็มเป็นตู้ๆ ไปศรีสะเกษ ส่งบรั่นดีไปร้อยเอ็ด ได้รับเลือกตั้งทั้งนั้น ไม่เห็นมีใครจับนักการเมืองเข้าคุกได้แม้แต่คนเดียว

ทั้งนี้ ตนเล่นการเมืองมา 40 กว่าปี ไม่เคยเห็นนักการเมืองคนไหนเข้าคุกสักคน การให้พรรคการเมืองเป็นผู้เสนอรายชื่อ ครม. พรรคก็ต้องส่งนายทุนที่ต้องการเป็นรัฐมนตรีลงสมัคร และผู้บริหารพรรคสามารถเรียกเงินจากนายทุนได้เป็นร้อยเป็นพันล้าน เพราะพวกนี้กระสันอยากเป็นนายกฯ จะไปกำกับได้อย่างไร เขาจะขายข้าวจะรู้ได้อย่างไร เขาขายกันเองข้าราชการเขาปกปิดเป็นความลับ แล้วเอาความผิดตรงไหน ป.ป.ช. สอบแล้วส่งอัยการไม่ฟ้องเสียอย่างใครจะทำไม ปัญหาเหล่านี้ก็เห็นได้ชัด เรื่องนี้ต้องค่อยเป็นค่อยไป เราเริ่มต้นในด้านการศึกษาเด็ก ตั้งแต่ชั้นประถมก็รู้จักเลือกหัวหน้าชั้น ซึ่งก็เหมือนเลือกนายกฯ มาในตัว รวมถึงการเลือกตั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้านก็เห็นได้ชัดว่าเหมือนการเลือกผู้นำไม่ต้องเสียเงินทองไปดูถึงต่างประเทศ

“ผมจึงไม่เห็นด้วย เพราะเมื่อพรรคส่งคนเป็นรัฐมนตรี ที่เป็นนายทุนพรรคมีเงินพันๆ ล้าน หัวหน้า ประธานก็รู้ดีเพราะเคยเป็นเลขาพรรคไทยรักไทยเก่า ว่า ถ้าไม่มีนายทุนไปไม่รอด ได้ ส.ส. มา 2-3 คนเท่านั้น เพราะสตางค์ไม่มี เหมือนที่บอกเงินไม่มากาไม่เป็น แนวทางนี้จะสามารถเรียกเงินจากนายทุนเพื่อนำไปสนับสนุน ส.ส. เขตหาเสียง ถ้ามี 350 คนทั่วประเทศผมไม่ขัดข้อง ถ้าได้คนดีมีฝีมือมาบริหารประเทศ แต่เมื่อเลือกนายกฯ โดยตรงแล้ว ครม. ซึ่งเป็นนายทุนพรรค ผมไม่เห็นด้วยหมื่นเปอร์เซ็นต์ ไม่สบายใจ เพราะจะเห็นตัวอย่าง เมื่อให้เงินกับพรรค จะรู้ได้อย่างไรว่าได้เงินสนับสนุนเท่าไหร่ เพราะ กกต. ตรวจไม่ได้เข้ากระเป๋าใครกระเป๋ามัน จะตรวจได้ก็แต่ ป.ป.ช. สอบตอนครบ 1 ปี เดี๋ยวนี้ไม่ถือเจมส์บอนด์แล้ว แต่ใช้เป้สะพายทหาร ตลอดชีวิตทางการเมืองผมเห็นเรื่องนี้มาตลอด มันแก้ไม่ได้ ถ้าเราจะเพิ่มให้เลือกนายกฯ ครม. ก็ให้ผู้แทน 350 คนมาหาเสียงให้ ครม. มันง่าย พรรคเขาก็ให้เขตหาเสียงของตนเองโดยพ่วง ครม. ไปด้วย การซื้อเสียงก็ต้องจ่ายมากขึ้น จากเดิมเลือก ส.ส. คนเดียวอาจจะจ่ายหัวละ 100 - 500 บาท แต่ต่อไปถ้าเลือก ส.ส. บวก ครม. ต้องจ่ายคนละไม่ต่ำกว่า 1,000 - 5,000 บาท ผมท้าได้เลย หรืออาจถึงหมื่นด้วยซ้ำไปแล้ว กกต. จะไปคุมทุกหมู่บ้านทั่วประเทศเป็นไปไม่ได้ เพราะมีถึง 7 - 8 หมื่นหมู่บ้าน ผมจึงวิตกกังวลกรณีเรื่องนี้จริงๆ อยากให้ประธานและผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับวิเศษวิโสที่กำลังทำอยู่นี้ ให้มันได้ดีจริงๆ ว่าจะสกัดปัญหาอย่างไร ผมคงไม่มีสิทธิลงเลือกตั้งอีกเพราะถูกตัดสิทธิเสรีภาพเต็มที่ ที่ห้ามบุพการีสมัครไม่ได้ เลยถือโอกาสนี้พูดให้เต็มที่”

นายชัย กล่าวว่า การผิดกฎหมายเลือกตั้งเป็นเรื่องใหญ่ แต่แก้ไขไม่ได้ และจะทำให้เป็นปัญหาอีกหลายด้าน เช่น เลือกตั้งมาแล้ว กกต. ให้ใบแดง ใบเหลือง ครม. ก็มีปัญหา การประชุมสภาก็ไม่สามารถทำได้ ถ้ารัฐมนตรีมาจากพรรคที่ได้จำนวน ส.ส. ไม่ถึงกึ่งหนึ่งในสภา ทำให้รัฐบาลไม่เสถียรภาพบริหารประเทศ หากรัฐบาลเสนอกฎหมายให้สภาเห็นชอบ และต้องการให้ผ่านก็จะเกิดการต่อรองผลประโยชน์ด้านงบประมาณเป็นการซื้อเสียงในสภาซึ่งเป็นเรื่องจริง เพราะตนเคยเห็นในห้องน้ำที่สภานี้ มันร้อยแปดพันประการ จะแก้ไขอย่างไร ประธานกรรมาธิการยกร่างฯ ช่วยนอนฝัน นั่งปลงตกว่าจะเขียนเรื่องพวกนี้ออกมาอย่างไร อย่าไปคิดแต่ชาวบ้านซื้อสิทธิ์ขายเสียง ผู้แทนนี่แหละขายสิทธิ์ของตัวเอง ซึ่งตนไม่ว่าใคร แต่ในชีวิตไม่เคยขายให้ใครเพราะใช้ทุนส่วนตัว ก็ถูกต้ม เขียนเช็กมาเด้งทุกราย โดนประสบการณ์มาแล้ว

“ดังนั้น ขอฝากถึงผู้ยกร่างฯ ควรบัญญัติให้นายกฯ ต้องมาจากหัวหน้าพรรคการเมือง ไม่ใช่ไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองแล้วมาเป็นนายกฯ ได้ ไม่เอา ต้องหัวหน้าพรรคเท่านั้น และต้องได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ด้วย ถ้าอย่างนั้นไม่เรียกว่านายกฯ มาจากประชาชน ส่วน ครม. ให้เป็นอำนาจ ส.ส. ที่ต้องให้ความเห็นชอบและบัญญัติกลไกการขจัดการทุจริตให้ชัด เพื่อให้ได้ ครม. ที่มีความรู้ความสามารถและมีคุณธรรม มาบริหารประเทศได้ ส่วนเขาจะใช้เงินทองซื้อสิทธิขายเสียงอย่างไรเชิญตามสบาย เพราะเมื่อก่อน ประชาชนเลือก ส.ส. ได้บาทเดียว แต่ถ้ามีการเลือกตั้งนายกฯ และ ครม. โดยตรง เขาได้ซื้อรถ ได้คนขับพร้อม ประชาชนชอบ ใครๆ ก็ชอบ เหมือนซื้อเหล้าแถมเบียร์ หวังว่าประธานจะไม่เขียนตามที่เสนอมา แต่ถ้าจะเขียนก็ขอให้โชคดี” นายชัย กล่าว

ด้าน นายนันทวัฒน์ บรมาภินันท์ สปช. กล่าวว่า ตราบใดที่ยังไม่สามารถสร้างกลไกที่จะให้ได้นักการเมืองที่ดี โดยยังคงมีปัญหาการซื้อเสียงอยู่ ไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งนายกฯ และคณะรัฐมนตรีโดยตรง เพราะจะนำมาซึ่งการผูกขาดทางการเมืองก่อปัญหาประเทศอย่างมาก กว่า 20 ปีที่เราไม่ได้มีการเลือกนายกฯ โดยตรง คนที่ขึ้นมาเป็นนายกฯ ก็เหมือนผูกขาดการใช้อำนาจ ถ้าปล่อยให้เลือกนายกฯ โดยตรง ยิ่งชัดเจนว่า นายทุน หรือพรรคใหญ่ก็จะเป็นผู้เข้ามาควบคุมธุรกิจการเมืองทำให้แก้ปัญหาไม่ได้ ยิ่งถ้านายกฯ กับเสียงข้างในสภาเป็นข้างเดียวกันก็จะเกิดปัญหาตามมามากมาย จึงเห็นว่าประเทศเรายังไม่พร้อมกับการเลือกนายกฯ โดยตรง โดยการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีในระบบรัฐสภาเดิมเหมาะสมที่สุด แต่ต้องปรับวิธีและระบบเลือกตั้งเพื่อให้ได้คนดีเข้ามา

ส่วนการเลือกตั้งคณะรัฐมนตรีโดยตรง ซึ่งจะเป็นการให้เปิดเผยชื่อบุคคลก่อนล่วงหน้าก็อาจทำให้เกิดปัญหาการซื้อตัวบุคคล เพื่อให้ได้คนที่เก่งเข้ามาอยู่ในบัญชีของ ครม. ดังนั้นถ้าให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกในระบบรัฐสภาเดิม แล้วให้นายกฯ ไปเลือกคณะรัฐมนตรี แล้วเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นรวมถึงการตรวจสอบคุณสมบัติจากสังคม รวมถึงนำมาเสนอรัฐสภาให้ความเห็น หากประชาชน และรัฐสภาท้วงติงว่าบุคคลในบัญชีรายใดมีคุณสมบัติไม่เหมาะสม ก็ให้นายกฯ พิจารณาแต่งตั้งบุคคลอื่นแทนน่าจะเหมาะสมกว่า

นายดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิก สปช. กล่าวอภิปรายว่า เมื่อมีผู้เสนอให้เลือกคณะรัฐมนตรีโดยตรงในกรรมาธิการ ตนยังไม่เห็นว่า มันดีกว่าระบบเดิมอย่างไร แต่ไปสรุปจบตรงที่ว่ามันจะป้องกันการซื้อสิทธิขายเสียงได้ ซึ่งตนเชื่อว่าไม่มีทางที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวได้เลย เพราะถ้าเขาจะซื้อก็มีอีกหลายวิธีทางมาทำ ไม่ว่าจะออกกฎหมายใด ตนจึงขอสงวนไว้ว่าให้ยึดระบบเดิม ประเทศไทยใช้ระบบควบอำนาจมาโดยตลอดซึ่งถือว่าเป็นระบบที่ดีที่สุดกับสถานการณ์บ้านเมืองแบบนี้ การแก้ปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียงมันต้องแก้ที่คน

ส่วนการเลือกตั้ง ส.ว. โดยตรง เดิมเรามีการแต่งตั้ง ส.ว. โดยเราตั้งสมมุติฐานว่าประชาชนยังไม่มีความรู้เรื่องนี้ จนพัฒนามาสู่การเลือกตั้ง ส.ว. ในรัฐธรรมนูญปี 40 จนเกิดรัฐประหาร มาสู่รัฐธรรมนูญปี 50 ที่ให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้งกับการแต่งตั้งอย่างละครึ่งหนึ่ง กลับไปกลับมา ตนจึงอยากตั้งคำถามว่าการรัฐประหารที่เกิดขึ้นเกิดจาก ส.ว.หรือไม่ คำตอบคือ ไม่ใช่ ส.ว.เขาก็ทำหน้าที่ของเขาได้ดี พอปี 50 มีการเลือกตั้งกับแต่งตั้ง ส.ว.จึงถูกแบ่งออกเป็น 2 ฟาก ฟ้องร้องกันให้วุ่นวายไปหมด ตนจึงคิดว่าทำไม ส.ว. ถึงไม่เป็นอำนาจของประชาชน แต่กลับมีอำนาจอื่นแฝงเข้ามา ถ้าเราจะปกครองในระบอบประชาธิปไตย เราต้องส่งเสริมให้ประชาชนมีอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง

ตนจึงสงวนว่า ส.ว. ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ส.ส. ต้องสังกัดพรรคการเมือง เพราะพรรคการเมืองคือหัวใจอันหนึ่งที่เป็นจุดเริ่มต้น พรรคการเมืองจะต้องถูกส่งเสริมให้มีความเข้มแข็ง มีความมั่นคง พรรคการเมืองจะต้องเป็นผู้อบรมลูกพรรคของตัวเอง ตนไม่เห็นด้วยกับการให้ ส.ส. สมัครได้โดยเสรี ส่วนกรณีจำนวน ส.ส. 350 คนนั้น ตนไม่เห็นด้วยจำนวนเดิม 400 กับ 100 ดีอยู่แล้ว ส.ส. รายชื่ออับดับหนึ่งคือ นายกรัฐมนตรี ใครจะเป็นคณะรัฐมนตรีก็ดูได้จากรายชื่อ ตามของเดิมมันดีอยู่แล้ว ตนขอยืนยันว่าจะต้องเป็นแบบตามระบบเดิม

ต่อมา นายวันชัย สอนศิริ สมาชิก สปช. ขออภิปราย เนื่องจากถูกพาดพิงและก่อให้เกิดความเสียหาย โดยกล่าวว่า ตนคือ ฐานะ อดีต ส.ว.สรรหา ที่เป็นผู้ลงชื่อขอฟ้องร้องต่อผู้ลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่แล้ว ซึ่งผู้อภิปรายเมื่อสักครู่อาจจะเป็นคนหนึ่งที่อาจจะต้องถูกถอดถอนหรือไม่ ตนจึงขอชี้แจง การแก้รัฐธรรมนูญครั้งที่แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า ไม่ชอบด้วยกฎหมาย รัฐธรรมนูญ และหลักนิติธรรม เพราะมีการปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมในที่ประชุมแห่งนี้ การโหวตให้มีการแปรญัตติไม่ชอบในขณะที่องค์ประชุมไม่ครบ การอภิปรายก็ไม่ชอบด้วยข้อบังคับการประชุมรัฐสภา เช่น การเสียบบัตรแทนกันในที่ประชุม ป.ป.ช. ก็ชี้มูล การอภิปรายเมื่อสักครู่ เหมือน ส.ว. สรรหา หาเรื่องกับ ส.ว. อีกฟากหนึ่ง เมื่อไม่ถูกต้องก็ต้องชี้แจง คนที่ทำไม่ถูกก็ต้องดำเนินคดี

ด้าน นายดิเรก ชี้แจงกลับว่าทางรัฐสภาได้ชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า การตรวจสอบธุรการเป็นอำนาจของรัฐสภา หากยังไม่บรรจุเข้าวาระการประชุมก็สมารถแก้ไขได้ เพราะฉะนั้นการที่กล่าวว่ามีการใช้เอกสารปลอม เป็นเพียงขั้นตอนการแก้ไขเท่านั้น ทาง ส.ว. ก็มีอำนาจในการเซ็นชื่อไปให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนการเสียบบัตรแทนกันก็คือความผิดเฉพาะตัว เป็นขั้นตอนของรัฐสภา อำนาจแต่ละส่วนจะต้องไม่ก้าวก่ายซึ่งกันและกัน และสามารถคานอำนาจซึ่งกันและกัน

ขณะที่ นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิก สปช. กล่าวว่า ตนในฐานะอดีต ส.ว. สรรหา ตนเป็นฝ่ายในผู้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตนเป็นคนค้นพบในการใช้เอกสารปลอม และได้ส่งเป็นหลักฐานต่อศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนั้น ซึ่งคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นอำนาจที่ผูกขาดทุกฝ่าย ดังนั้น ตนจึงอยากฝากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญให้นำเรื่องนี้เข้าพิจารณาในร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น