xs
xsm
sm
md
lg

“ทองฉัตร” ลั่นพลังงานนายทุนต้องไม่ขาดทุน - “รสนา” ย้ำไม่ควรตกอยู่ในมือเอกชน แนะรัฐบริหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สปช. ทุนพลังงาน “ทองฉัตร” สาย ปตท. เสนอ 6 ประเด็นบรรจุในร่างรัฐธรรมนูญ บอกราคาพลังงานนายทุนกำไรไม่เกินควรแต่ต้องไม่ขาดทุน รัฐอุดหนุนแค่คนจนก็พอ “รสนา” ซัด พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ทำรัฐเสียเปรียบ ย้ำความมั่นคงพลังงานไม่ควรปล่อยในมือเอกชน แนะให้รัฐบริหารจัดการพลังงาน และต้องเปิดเผยข้อมูลทั้งรายรับรายจ่ายของรัฐ ชี้ที่ผ่านมาไม่จริงใจหนุนพลังงานหมุนเวียน หนุนแค่นายทุนใหญ่ “คำนูณ” แนะรวมแร่เป็นทรัพยากรชาติ

วันนี้ (16 ธ.ค.) การประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามและให้ข้อเสนอแนะการยกร่างรัฐธรรมนูญ คณะกรรมาธิการวิสามัญ 18 คณะ เป็นวันที่ 2 โดยมี นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เป็นประธาน นายทองฉัตร หงส์ลดารมภ์ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน ได้เสนอ 6 ประเด็นที่ควรบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ คือ 1. รัฐต้องสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน จัดหาให้เพียงพอกับความต้องการ ทั้งในด้านปริมาณ คุณภาพ ความทั่วถึงและเท่าเทียมในราคาที่เหมาะสมเป็นธรรม เนื่องจากพลังงานเป็นสิ่งจำเป็นต่อการครองชีพและการทำมาหากินของประชาชน รัฐจึงจำเป็นต้องสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน คือ ต้องจัดหาพลังงานในปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการโดยรวมทั้งในปัจจุบันและอนาคต ราคาพลังงานที่เหมาะสมและเป็นธรรม หมายความถึงราคาพลังงานที่ผู้บริโภคจ่ายจะต้องไม่อยู่ในระดับที่ทำให้ผู้ประกอบกิจการพลังงานได้กำไรเกินควร แต่ก็ไม่ถึงกับทำให้ผู้ประกอบกิจการต้องถึงกับขาดทุน ขณะเดียวกัน ราคาพลังงานก็ควรสะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริง และไม่ควรได้รับเงินอุดหนุนจนทำให้ราคาต่ำกว่าความเป็นจริง รัฐบาลอาจให้การอุดหนุนเพื่อให้ผู้ใช้พลังงานที่มีรายได้น้อย หรือผู้ด้อยโอกาสสามารถซื้อพลังงานที่จำเป็นได้ในราคาที่ต่ำเป็นพิเศษ และแม้จะมีอุบัติเหตุในระบบส่งพลังงานหรือวิกฤตพลังงานใหญ่ๆ ต้องจัดให้มีซัพพลายให้เพียงพอต่อประเทศชาติ

2. กิจการพลังงานเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐาน รัฐต้องกำกับดูแลให้มีการประกอบการอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และคำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ชุมชนและสิ่งแวดล้อม สินค้าพลังงานหลายชนิดเป็นกิจการที่มีตลาด และมีผู้ประกอบการที่แข่งขันกันได้ เช่น การกลั่นและการขายน้ำมัน รวมทั้งการผลิตไฟฟ้า กรณีนี้รัฐควรปล่อยให้เอกชนดำเนินการการแข่งขันในตลาดให้มากที่สุด โดยรัฐเพียงกำกับดูแลไม่ให้มีการผูกขาดตัดตอน หรือให้อำนาจเหนือตลาดในทางมิชอบ แต่ในกรณีที่กิจการพลังงานในบางประเภทมีลักษณะผูกขาดโดยธรรมชาติ เช่น กิจการสายส่งไฟฟ้า ที่รัฐจำเป็นต้องกำหนดให้มีการกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด อาจให้หน่วยงานรัฐเป็นผู้ลงทุนและผลิตเพียงรายเดียว ภายใต้การกำกับดูแลหน่วยงานอิสระอีกหน่วยหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นกรณีกิจการที่มีการตลาดแข่งขันกันได้ หรือการผูกขาดโดยธรรมชาติ โดยเน้นให้เกิดการประสิทธิภาพในการผลิต ต้นทุนต่ำที่สุด และกำหนดราคาที่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค

3. ภาคประชาชนมีสิทธิและมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายพลังงานติดตามตรวจสอบการดำเนินนโยบายของภาครัฐด้วย ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการปฏิรูปครั้งนี้ อาจจะครั้งแรกที่ประชาชนจะเข้าไปร่วมกำหนดนโยบายพลังงานของชาติติดตามการดำเนินงาน บริหารจัดการ จะช่วยลดความขัดแย้งและการต่อต้านจากประชาชน เพราะปัจจุบันการกำหนดโยบายจะอยู่เฉพาะในผู้มีอำนาจในภาครัฐ โครงสร้างการตัดสินใจในระดับสูงสุด คือ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) แต่ในระยะหลังมีข้อท้วงติงว่าการจัดสินใจของ กพช. อยู่ในวงที่จำกัด ไม่คำนึงถึงข้อเสนอและข้อเรียกร้องของภาคประชาชนและผู้ประกอบกิจการพลังงาน จึงควรมีการปรับปรุงโครงสร้างกลไกลการพิจารณา และกำหนดนโยบายพลังงานใหม่ โดยให้ภาคประชาชนและผู้ประกอบกิจการเข้าไปมีส่วนร่วมในการเสนอและกำหนดนโยบายพลังงานของประเทศ พร้อมทั้งให้มีช่องทางให้ภาคประชาชน สามารถติดตามและตรวจสอบการดำเนินนโยบายและการใช้อำนาจของภาครัฐได้มากขึ้น

4. ต้องส่งเสริมให้มีการผลิตและการใช้พลังงานหมุนเวียน รวมทั้งสนับสนุนให้ประชาชนและชุมชนเป็นผู้ผลิตใช้เอง และเพื่อจำหน่าย และจัดให้มีกฎหมายส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน ยกเลิกกฎระเบียบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรค 5. ปิโตรเลียมและเชื้อเพลิงธรรมชาติอื่นๆ เป็นทรัพยากรของชาติและมีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะ การสำรวจ การผลิต การใช้ประโยชน์ทรัพยากรนั้นต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชน ทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น โดยให้ความสำคัญกับการใช้ในประเทศเป็นลำดับแรก เพื่อเป็นการย้ำเตือนว่า การอนุญาตให้สำรวจและผลิตปิโตรเลียมเชื้อเพลิงธรรมชาติ รัฐต้องคำนึงถึงผลประโยนชน์สูงสุดของประชาชน เริ่มตั้งแต่การอนุญาต ที่สร้างแรกจูงใจให้ผู้ได้รับใบอนุญาตมีการสำรวจที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อให้สำรวจพบทรัพยากรให้มากที่สุด และทำให้ส่วนแบ่งของรัฐมีมูลค่าสูงสุด แต่ต้องไม่ทำลายสภาพสิ่งแวดล้อม สร้างความเดือดร้อนให้ชุมชนใกล้เคียง การนำปิโตรเลียมและเชื้อเพลิงธรรมชาติมาใช้ควรสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับเศรษฐกิจของประเทศ เช่น สามารถลดการนำเข้าพลังงาน สร้างงาน สร้างรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ รายได้จากค่าภาคหลวงและภาษีต่างๆ รัฐควรใช้เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนในท้องถิ่นที่เป็นพื้นที่ผลิตอย่างเป็นรูปธรรม

6. ส่งเสริมให้มีการวิจัย และพัฒนานวัตกรรมด้านพลังงาน ส่งเสริมให้คนมีความรู้ ความตระหนัก และพฤติกรรม เพื่อให้มีการผลิต ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า โดยให้มีการประยุกต์ใช้พลังงานหมุนเวียนที่มีประสิทธิภาพ ต้นทุนต่ำสามารถนำไปใช้พลังงานฟอสซิลได้ดีขึ้น และควรมีการปฏิรูปการบริหารจัดการกองทุนส่งเสริมด้านพลังงานซึ่งมีอยู่หลายกองทุนให้เกิดผลสัมฤทธิ์ และควรบรรจุเรื่อง ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาพลังงานของชาติไว้ในหลักสูตรการศึกษาเพื่อให้เยาวชนตระหนักถึงความสำคัญ และพฤติกรรม เพื่อให้มีการผลิตและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า

ด้าน น.ส.รสนา โตสิตระกูล สปช. ด้านพลังงาน กล่าวว่า การที่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปิโตรเลียม ปี 2514 กำหนดให้ปิโตรเลียมเป็นของรัฐ โดยรัฐเป็นผู้ให้สัมปทานกับเอกชนในการสำรวจ ขุดเจาะ เมื่อขุดเจาะได้ให้ปิโตรเลียมนั้นตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้รับสัมปทาน โดยผู้รับสัมปทานมีสิทธิที่จะขายปิโตรเลียมที่ขุดเจาะได้ให้กับผู้ซื้อทั้งในและนอกประเทศตลอดอายุสัมปทานที่เขาได้รับ หากรัฐจะซื้อ ต้องซื้อในราคานำเข้า ราคาตลาดที่อิงราคาตลาดโลก โดยรัฐได้รับผลตอบแทนเป็นค่าภาคหลวง ประเด็นนี้เห็นว่า ความมั่นคงพลังงานไม่อาจปล่อยไว้ในมือเอกชน เพราะเอกชนเขาดูแลผู้ถือหุ้น มุ่งหากำไร แต่ประสิทธิภาพของรัฐก็คือการที่ทำให้เกิดการเข้าถึงอย่างทั่วถึงของประชาชน ราคาที่เป็นธรรม ความมั่นคง ความรวดเร็ว ฉะนั้น เมื่อเอกชนมุ่งหากำไร และไม่มีหน้าที่ดูแลสวัสดิการประชาชนเหมือนรัฐ ความมั่นคงทางพลังงานจึงต้องไม่อยู่ในมือเอกชน ดังนั้น จึงมีข้อเสนอว่าการปฏิรูปในเชิงโครงสร้าง และกลไก เห็นด้วยกับที่กรรมาธิการฯ ได้ลงความเห็นว่า ปิโตรเลียมเป็นทรัพยากรของชาติ เพื่อประโยชน์สาธารณะ

ส่วนในเรื่องกลไก ที่เห็นว่าสำคัญ คือ รัฐในฐานะตัวแทนของประชาชน เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทั้งหมดที่ค้นพบและผลิตได้โดยให้มีบริษัทพลังงานของชาติที่เป็นของรัฐ 100 เปอร์เซ็นต์เป็นผู้บริหารจัดการ ซึ่งจะสัมพันธ์กับการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ควรมีการถกเถียงประเด็นนี้ให้ตกผลึกเสียก่อน ส่วนการใช้ประโยชน์จากปิโตรเลียมนั้นเพื่อให้คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนเป็นหลักก่อนที่จะนำไปสร้างเป็นกำไร บางประเทศมีการร่างรัฐธรรมนูญในหมวดปิโตรเลียมขึ้นมาเฉพาะกำหนด ส่วนเรื่องการกำหนดนโยบายและกิจการพลังงาน ที่ผ่านมาผู้กำหนดนโยบายดำเนินการแบบรวมศูนย์และ มีประโยชน์ทับซ้อน ถือว่าเป็นปัญหาหลัก อีกทั้งยังขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเห็นว่าการแก้ไข ควรกำหนดให้ชัดว่าประชาชนมีสิทธิมีส่วนร่วมในด้านพลังงานให้ชัดเจนทั้งทางตรงและทางอ้อม และมีสิทธิเข้าถึงข้อมูลกิจการพลังงานเพื่อตรวจสอบนโยบายการประกอบกิจการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

“ปิโตรเลียมของเรามีมูลค่ากว่า 5 แสนล้าน จึงจำเป็นที่จะต้องมีกระบวนการเข้าถึงข้อมูลโดยต้องเปิดเผยข้อมูลทั้งรายรับรายจ่ายของรัฐ ของคนที่เข้ามาเป็นนอมินี ทั้งระดับบุคคลไม่เฉพาะนิติบุคคลเพียงอย่างเดียว ซึ่งถือว่าเป็นความสำคัญมาก เนื่องจากเป็นการร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลกับเอกชน หากเราจะมองในส่วนกลางน้ำถึงปลายน้ำ จะเห็นว่ามูลค่านั้นเท่ากับครึ่งหนึ่งของจีดีพี ดังนั้น การจะตรวจสอบเรื่องนี้จึงสำคัญมาก” น.ส.รสนา กล่าว

ส่วนกรณีที่จะมีการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน เห็นว่าปัญหาที่ผ่านมาผู้กำหนดนโยบาย ไม่ให้ความสนใจกับพลังงานหมุนเวียนจริงจัง ปัจจุบันการผลิตพลังงานหมุนเวียนมีแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อจะมีการส่งเสริมก็เน้นส่งเสริมเฉพาะผู้ผลิตรายใหญ่ แทนที่จะส่งเสริมผู้ผลิตรายเล็กที่รัฐบาลประกาศว่าจะรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์ม 6 พันเมกะวัตต์ จากเดิม 3 พันเมกะวัตต์ เท่ากับสัดส่วนถึง 98.7 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่โซลาร์เซลบนหลังคาที่เป็นของรายย่อยมีสัดส่วนเพียง 1.3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น อีกทั้งผู้กำหนดนโยบายจะกีดกัประชาชนด้วยระบบโควตาในการรับซื้อไฟฟ้า โดยอ้างเรื่องความมั่นคงของระบบ เป็นการนำมาซึ่งความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ จึงขอเสนอให้รัฐกำหนดให้ชัดเจนว่า ต้องส่งเสริมนโยบาย กระจายอำนาจด้านพลังงานสู่ประชาชน สู่ครัวเรือน โดยส่งเสริมให้เป็นทั้งผู้ใช้ ผู้ผลิต และผู้จำหน่าย เป็นลำดับแรก และให้มีกฎหมายส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน ซึ่งจะสามารถลดความเหลื่อมล้ำได้เพราะประชาชนจะไม่ใช่แค่เป็นผู้บริโภคแต่สามารถเข้ามาเป็นผู้ผลิต เป็นการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ซึ่งจะต้องกระจายไปให้ถึงคนเล็กคนน้อย

ขณะที่ นายคำนูณ สิทธิสมาน สปช. ด้านกฎหมาย กล่าวว่า หลักการเรื่องนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2514 ผ่านรัฐธรรมนูญมาหลายฉบับไม่เคยถูกแก้ไขเลย การกำหนดไว้ในมาตรา 23 ของ พ.ร.บ. ปิโตรเลียมปี 2514 ที่กำหนดให้ปิโตรเลียมเป็นของรัฐ ซึ่งเข้าใจว่าในยุคนั้นมีการร่างอย่างรอบคอบพอสมควร แต่สถานการณ์ขณะนั้นกับปัจจุบันเห็นว่าจะต้องมีการทบทวน อย่างไรก็ตาม ก่อนมี พ.ร.บ. ปิโตรเลียม ปี 2514 ก็มี พ.ร.บ. แร่ ปี 2510 อยู่ก่อนแล้ว และอาจตีความได้เช่นกันว่า ทรัพยากรแร่ก็ถือเป็นของรัฐเช่นกัน แต่ในเวลาต่อมาก็มีความพยายามแก้ไข พ.ร.บ. แร่อยู่หลายครั้ง โดยยกหลักการของ พ.ร.บ. ปิโตรเลียมมาบัญญัติไว้ว่าแร่เป็นของรัฐก็ได้รับการต่อต้าน จนไม่สามารถผ่านได้

ก่อนหน้านี้ กรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติได้เสนอให้บัญญัติเรื่องทรัพยากรปิโตรเลียม เป็นทรัพยากรของชาติมีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะไว้ในแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ แต่กรรมาธิการชุดนี้เสนอให้บัญญัติไว้ในเรื่องของการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความปรองดอง แต่ตนเห็นว่าควรบรรจุไว้ในหมวดสิทธิพลเมือง เพื่อเป็นสิทธิในทรัพย์สิน ให้ทรัพยากรแร่ ปิโตรเลียม เป็นทรัพยากรของชาติ มีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะ และต้องเร่งดำเนินการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับที่จะบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกันก็ต้องทบทวน พ.ร.บ. ปิโตรเลียม ปี 2514 และร่าง พ.ร.บ. แร่ฉบับใหม่ที่ขณะนี้ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีแล้ว ถ้าสามารถปรับไปในทิศทาง 5 ประเด็นที่กรรมาธิการเสนอมาจะเป็นประโยชน์มาก และน่าจะเป็นทางออกในการลดความเหลื่อมล้ำของพลังงานได้


กำลังโหลดความคิดเห็น