xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ปฏิวัติซ้อน...กู้วิกฤติศรัทธาทหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็นร้อนทางการเมืองที่มีการพูดถึงกันมาก คือเรื่องการปฏิรูปการเมืองที่จะออกกติกาให้ประชาชนเลือกนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยตรง อีกเรื่องคือเรื่อง"บิ๊กจิ๋ว" พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ออกมาเตือนว่าจะมี ปฏิวัติซ้ำ หรือปฏิวัติซ้อน

เรื่องแรก ประชาชนเลือกนายกฯและครม.โดยตรงนั้น เป็นผลสรุปของ คณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่มีนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เป็นประธาน ที่จะนำเสนอให้สภาปฏิรูปแห่งชาตินำไปพิจารณา ว่าเห็นด้วยหรือไม่ ก่อนที่จะส่งให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นำไปตัดสินใจอีกครั้งว่า จะเขียนลงในรัฐธรรมนูญหรือไม่

นอกจากนี้กมธ.ปฏิรูปการเมืองยังมีบทสรุปเกี่ยวกับกระบวนการเข้าสู่การเมือง และการตรวจสอบ อาทิ ให้มีส.ส.350คน มาจากการเลือกตั้งระบบเขต ที่เป็นเขตใหญ่ ส.ส.3 คน แตาประชาชนเลือกได้แค่คนเดียว ไม่มี ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ส่วนส.ว.มี 154 คน มาจากการเลือกตั้งสองทาง โดย 77 คนมาจากการเลือกตั้ง จังหวัดละ1 คน และอีก 77 คนมาจากการเลือกตั้งของกลุ่มองค์กรวิชาชีพที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย เช่น องค์กรวิชาชีพครู กลุ่มชุมนุมสหกรณ์การเกษตร เป็นต้น 

องค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ อย่าง ป.ป.ช.-ปปท.-ปปง. ให้รวมกันเป็นองค์กรเดียว โดยผู้ดำรงตำแหน่งลดวาระลงจาก 9 ปี เหลือ 5 ปี เป็นได้วาระเดียว มีอำนาจฟ้องคดีได้เอง โดยไม่ต้องผ่านอัยการ มีการจัดตั้งศาลว่าด้วยคดีทุจริต และประพฤติมิชอบในวงราชการ โดยให้คดีทุจริตไม่มีการหมดอายุความ

ปฏิรูปที่มาของคณะกรรมการผู้ตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ให้ปราศจากการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการให้มีประสิทธิภาพ ห้ามอัยการไปเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจต่างๆ การสืบสวน สอบสวน ในคดีอาญา ที่เดิมเป็นอำนาจหน้าที่ของตำรวจ ก็ให้มาอยู่กับอัยการ โดยตำรวจมีหน้าที่จับกุมเพียงอย่างเดียว

สำหรับเรื่องพรรคการเมือง และกลไกการเลือกตั้ง เห็นว่า การยุบพรรค จะทำได้เฉพาะกรณีที่พรรคกระทำผิดร้ายแรงของสถาบันพระมหากษัตริย์ ล้มล้างระบอบประชาธิปไตย หรือทำให้ผลประโยชน์ของชาติได้รับความเสียหาย ให้มีองค์กรตรวจสอบจริยธรรมของพรรคและนักการเมือง ส.ส.จะสังกัดพรรคการเมืองหรือไม่ก็ได้ การเลือกตั้งกำหนดให้เป็นสิทธิของประชาชน ไม่ใช่เป็นหน้าที่เหมือนในรธน.ปี 50 ห้ามผู้ที่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก แม้จะรอลงอาญาก็ไม่สามารถลงสมัครได้ รวมทั้งผู้ต้องคดีเลี่ยงภาษี นักการเมืองที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามรธน .ฉบับใหม่ ไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต ตั้งกติกาปิดช่อง สภาพ่อ-แม่-ลูก

ส่วนกกต.ให้ลดวาระลงจาก7 ปี เหลือ5 ปี เป็นได้วาระเดียว ในช่วงที่มีการเลือกตั้ง ให้กกต.มีอำนาจเข้าไปตรวจค้น และจับกุมผู้กระทำความผิด กม.เลือกตั้งได้ โดยไม่ต้องมีหมายค้น หรือหมายจับ หากพบว่าในการเลือกตั้งมีการทุจริต จนถึงขั้นอาจถูกเพิกถอนสิทธิ (ใบแดง)ให้ยื่นเรื่องต่อศาลเลือกตั้งเพื่อวินิจฉัย โดยกกต.มีอำนาจเพียงสั่งเลือกตั้งใหม่(ใบเหลือง) เท่านั้น

ทั้งหลายเหล่านี้ เป็นข้อเสนอเบื้องต้น ที่กมธ.ปฏิรูปการเมือง จะเสนอต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ซึ่งจะมีการประชุม ถกเถียงกันในวันที่ 15-17 ธ.ค.นี้ ก่อนจะนำเสนอต่อ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ

ประเด็นที่มีการนำมาถกเถียงกันนอกสภาตอนนี้ ส่วนใหญ่จะพูดกันเพียงส่วนยอด คือเรื่องให้ประชาชน เลือกนายกฯและครม.โดยตรง ซึ่งฝ่ายผู้เสนอคือ นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ บอกด้วยความภาคภูมิใจว่า มันเป็นนวตกรรมใหม่ของการเมืองไทย ที่คิดโดยคนไทย ยังไม่มีที่ใดในโลก เป็นแนวทางที่จะแยกฝ่ายบริหาร กับฝ่ายนิติบัญญัติ ได้ชัดเจนกว่าแบบเดิม แก้ปัญหาทุจริต คอร์รัปชัน ตัดปัญหาพรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้งแล้วก็แต่งตั้งนายทุนของพรรคเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรี เป็นรัฐมนตรียี้ ที่ไม่มีความรู้ ความสามารถตรงกับงานที่รับผิดชอบ เข้ามาเพื่อถอนทุน ทุจริต คอร์รัปชัน เข้าสู่วงจรอุบาทว์เหมือนเดิม เพราะประชาชนจะเห็นตัวนายกฯ และครม. ก่อนเลือก

แต่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย แย้งว่า วิธีนี้นอกจากไม่ตอบโจทย์เรื่องแก้ปัญหาทุจริต ซื้อสิทธิ์ ขายเสียง กลับจะยิ่งหนักขึ้นว่าเดิม เพราะเดิมพันสูง ต้องสู้กันหนัก เมื่อได้เป็นรัฐมนตรีแล้วก็ต้องถอนทุนหนัก พรรคใหญ่จะได้เปรียบ การตรวจสอบ ถอดถอนก็ทำได้ยาก อ้างว่ามาจากการเลือกตั้งของประชาชน

ที่สำคัญคือ วิธีนี้เหมือนกับการเลือกประธานาธิบดี ไม่สอดคล้องกับ การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข อาจเป็นการก้าวล่วงพระราชอำนาจ เพราะตามระบบเดิม ประชาชนเลือกส.ส. จากนั้น ส.ส.เลือกนายกรัฐมนตรี แล้วนายกฯ เลือกรัฐมนตรี ซึ่งทั้งตำแหน่งนายกฯ และรัฐมนตรี ต้องนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ก่อนปฏิบัติหน้าที่ 

การให้ประชาชนเลือกตั้งนายกฯและครม.โดยตรง แม้จะจบด้วยการนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ แต่ก็เหมือนมัดมือชก

เชื่อว่าประเด็นนี้คงต้องมีการถกเถียงกันหนักในที่ประชุมสปช. จะยังคงอยู่ หรือถูกตีตกไป อีกไม่กี่วันได้รู้กัน แต่ตอนนี้ มีสัญญาณออกมาจาก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญแล้วว่า ไม่เอาด้วย

ส่วนเรื่องการปฏิวัติซ้อน ที่ "บิ๊กจิ๋ว" ออกมาเตือนนั้นไม่ได้แตะไปที่เรื่องเลือกตั้งนายกฯ-ครม.โดยตรง แต่พุ่งเป้าไปที่นโยบายการบริหารงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นหลัก

"บิ๊กจิ๋ว"พูดเหมือนพี่เตือนน้องว่า ไม่ต้องมานั่งเปิดเพลง หรือสรรหาของขวัญปีใหม่ คืนความสุขอะไร สำคัญที่สุดคือ นโยบายที่ต้องแก้ปัญหาให้ถูกจุด ถูกทาง ถ้าทำกันไม่ได้ แก้กันไม่เป็น ระวังโดนปฏิวัติซ้อน ตอนมาได้ดอกกุหลาบ แต่ตอนไปจะได้ก้อนอิฐ 

เพราะสิ่งที่ประชาชนคาดหวังจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ในขณะนี้คือ การแก้ปัญหาปากท้อง ราคาผลิตผลทางการเกษตรตกต่ำ โดยเฉพาะ ข้าว กับ ยางพารา แก้ปัญหาเรื่องแก๊ส น้ำมันแพง การลดต้นทุนการผลิต ทั้งในภาคเกษตร และอุตสาหกรรม ปัญหาการทุจริต คอร์รัปชัน รายใหญ่ๆ ที่เห็นกันชัดชัด อย่างกรณีโกงข้าว ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องจัดการให้เด็ดขาด

ไม่ใช่แค่ทำหน้าที่แยกคนที่กำลังจะตีกัน แล้วมานั่งใส่เกียร์ว่าง ตีฝีปาก ขายฝัน ทะเลาะกับสื่อ ไม่มีผลงานอะไรที่เป็นรูปธรรม รอรัฐธรรมนูญใหม่ รอเลือกตั้งใหม่

ถ้าทำได้แค่นี้ ภาพที่ลอยอยู่ตรงหน้าของประชาชนคนไทยคือ เมื่อเลือกตั้งเสร็จ พรรคเพื่อไทย ของทักษิณ ชินวัตร ก็กลับมาครองอำนาจอีก และถ้ายังไม่มีการถอดถอน ตัดสิทธิ์ทางการเมือง หรือเอาผิดคดีอาญากับ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในคดีโกงจำนำข้าวได้ นายกรัฐมนตรี ก็จะยังเป็น ยิ่งลักษณ์ คนเดิม

แล้วลองคิดดูว่า ในหัวใจของคนไทยจะคิดอย่างไร จะเจ็บช้ำแค่ไหน จะยังเชื่อมั่นในการเมืองการปกครอง แบบนี้อยู่หรือไม่ ประชาธิปไตยแบบนักการเมืองรวมหัวกับนายทุน ซื้อเสียง หว่านประชานิยม เพื่อเข้ามายึดครองอำนาจ เข้ามากอบโกย โกงกิน เห็นกันอยู่ชัดๆว่า โครงการรับจำนำข้าว ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แทบจะทำให้ประเทศชาติ ล่มจม ล้มละลาย จะไล่ด้วยกระบวนการทางการเมือง ทางรัฐสภา ก็ไล่ไม่สำเร็จ

 ที่ผ่านมา เมื่อประชาชนถูกกดขี่ ไม่ได้รับความเป็นธรรม เจ็บช้ำน้ำใจจากการถืออำนาจบาตรใหญ่ของนักการเมือง เห็นว่ากำลังโกงกันอยู่ชัดๆ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ ประชาชนมักจะคิดถึงสถาบันทหาร เป็นที่พึ่งสุดท้าย เป็นฮีโร่ ที่จะมาช่วยขจัดปัดเป่า กวาดล้างความเลวระยำของนักการเมืองเหล่านั้น

แต่เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเป็นเสียอย่างนี้ เมื่อทหารก็ทำตัวไม่ต่างอะไรกับนักการเมือง แล้วประชาชนจะมีอะไรเป็นที่พึ่งหวัง ภาพลักษณ์ที่เสียหายเช่นนี้ไม่ได้เสียเฉพาะตัวบุคคล แต่มันพาให้เสื่อมความเชื่อถือไปทั้งสถาบันทหาร

"บิ๊กจิ๋ว" จึงเห็นว่า มีทางเดียวที่จะหยุดยั้งการเลือกตั้ง ที่มองเห็นอนาคตว่าจะกลับเข้าสู่วงจรเดิม หยุดวิกฤติศรัทธาต่อสถาบันทหาร ก่อนที่ล้มละลายในความเชื่อมั่นของประชาชน คือ ปฎิวัติอีกครั้ง
 
ครั้งนี้เป็นการปฏิวัติเพื่อ กู้วิกฤติศรัทธาของประชาชนที่มีต่อสถาบันทหาร


กำลังโหลดความคิดเห็น