ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ทำเอาประเทศไทยร้อนฉ่าขึ้นมาทั้งประเทศกันเลยทีเดียว เมื่อ “จิ๋วหวานเจี๊ยบ” พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรีออกมาโพล่งถึงเรื่อง “การปฏิวัติหรือการรัฐประหารซ้อน” ขึ้นมาแบบไม่มีขลุ่ย เพราะมิเพียงทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) รวมถึงขุนทหารน้อยใหญ่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องออกมาปฏิเสธกันจ้าละหวั่น ยังส่งผลลามไปถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยติดลบถึงสองวันซ้อนกันเลยทีเดียว
“ขอเตือนตรง ๆ ในปีหน้า รัฐบาล คสช.เผชิญปัญหาภาระหนัก ๆ หลายเรื่องทั้งวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกมากระทบภายในประเทศและปัญหา การเมืองมาซ้ำเติมส่อเค้าวุ่นวายจากรัฐธรรมนูญใหม่ ระวังเกิดปฏิวัติซ้ำ กลายเป็น ตอนยึดอำนาจได้ดอกกุหลาบ แต่ตอนไปจะได้ก้อนอิฐ เพราะรัฐบาลไม่มีนโยบายที่ชัดเจนแก้ปัญหาพื้นฐานของประเทศคือความยากจน แต่ไปมุ่งอยู่กับการปฏิรูปการร่างรัฐธรรมนูญ ที่มุ่งประโยชน์ให้อยู่กับชนชั้นปกครองมากกว่า ซึ่งไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะดีแค่ไหน คนไทยก็ออกมาตีกันอีกและหมุนเวียนมาปฏิวัติอีก โดยความผิดทั้งหมดจะถูกโยนมาให้รัฐบาล คสช.จะถูกมองว่า แก้ไม่เป็น แก้ไม่ถูกจุด และทำต่อไม่ได้ เป็นเงื่อนไขไปสู่ปัญหาอื่น ๆ แบบตั้งตัวไม่ทันรวมทั้งปัญหาชายแดนภาคใต้เป็นเรื่องเร่งด่วน ต้องแยกบทบาทให้ชัดระหว่างกองทัพและรัฐบาลอย่าเดินพลาด ซึ่งน่าห่วง การสร้างความเกลียดชังไป ก่อให้เกิดการแบ่งแยกดินแดน”
นั่นคือบางช่วงบางตอนที่พล.อ.ชวลิตกล่าวถึงการรัฐประหารซ้อน
ถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะเกิดรัฐประหารซ้อน
ตอบได้แบบไม่ต้องคิดเลยว่า เป็นไปได้และมีโอกาสหรือเปอร์เซ็นต์ที่จะเกิดค่อนข้างสูงเสียด้วยซ้ำไป
ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?
หากกวาดสายตาไปที่สถานการณ์การเมือง ณ ปัจจุบัน ก็จะเห็นได้ว่า มีหลายปัจจัยที่สามารถสร้างความสั่นสะเทือนและส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของผู้มีอำนาจรัฏฐาธิปัตย์เต็มอยู่ในมือหลายประการด้วยกัน และบางส่วนก็เป็นไปตามบทวิเคราะห์ที่ พล.อ.ชวลิตได้ชี้แจงแถลงไขเอาไว้
ทางด้านการเมือง การออกมาโยนหินถามทางเรื่องการนิรโทษกรรม กลายเป็นประเด็นร้อนที่ทำให้เกิดคำถามในใจของผู้คนทั้งแผ่นดินว่า นี่คือโจทย์ข้อแรกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติในการทำรัฐประหารหรือไม่ เพราะในขณะที่ประเทศชาติกำลังเผชิญวิกฤต มีปัญหาหลายอย่างรุมเร้ารอให้แก้ไข แต่กลับมีการหยิบยกเรื่องนี้มานำเสนอก่อนเป็นลำดับแรกๆ
ยิ่งเมื่อย้อนกลับไปดูพฤติกรรมในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาก็ยิ่งเห็นความไม่ชอบมาพากลในเรืองนี้เพราะเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า คสช.ทำรัฐประหารเพื่อป้องกันมิได้เกิดการจลาจลระหว่างมวลชนสองฝ่าย มิได้เข้ามาเพื่อขุดรากถอนโคนระบอบทักษิณ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหากับประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานแต่อย่างใด
และเมื่อประเด็นนิรโทษกรรมถูกโยนออกมา จึงไม่แปลกใจว่า ทำไมเสียงคัดค้านจึงดังกระหึ่ม เพราะทำให้ประหวัดคิดได้ว่า แท้ที่จริงแล้ว การรัฐประหารที่เกิดขึ้นทำเพื่อใคร
นอกจากเรื่องการออกกฎหมายนิรโทษกรรมแล้ว การเปิดประเด็นของสภาปฏิรูปแห่งชาติ โดยคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมืองที่มี “สมบัติ ธำรงธัญวงศ์” เป็นประธาน เรื่อง “การเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีโดยตรง” ก็เป็นประเด็นที่อ่อนไหวไม่แพ้กัน เผลอๆ จะหนักหน่วงกว่าเรื่องนิรโทษกรรมเสียด้วยซ้ำไป เนื่องเพราะมีประเด็นที่เกี่ยวพันถึงเรื่องการริดรอนอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ และถ้าอธิบายไม่ดีอาจทำให้สถานการณ์บานปลายออกไปได้
ประเด็นนี้มีผู้คัดค้านเป็นอย่างมาก และมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในทุกภาคส่วนอย่างกว้างขวาง ทั้งในส่วนของข้าราชการ นักการเมือง ประชาชน สปช.และสนช.ที่คสช.เลือกมากับมือ และที่สำคัญคือทหารซึ่งชัดเจนว่า มีนายทหารจำนวนมากไม่เห็นด้วยในเรื่องนี้
ขณะเดียวกันในด้านเศรษฐกิจ ก็ต้องยอมรับว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้สร้างผลงานหรือทำคลอดนโยบายใดๆ ที่จะสามารถคลี่คลายปัญหาได้เลยแม้แต่น้อย โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือปัญหาราคายางพาราตกต่ำซึ่ง ดำเนิน ต่อเนื่องมาตั้งแต่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนบัดนี้ชาวสวนยางทนไม่ไหวต้องรวมตัวกันออกมาเรียกร้องให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์แก้ปัญหาในหลายจังหวัด รวมถึงเรื่องสัมปทานปิโตรเลียมที่เป็นเหตุให้ประชาชนออกเสียงค้าน ว่าเอื้อผลประโยชน์ให้แก่ภาคเอกชน
และแน่นอน ถ้าสถานการณ์ยังคงดำเนินไปเช่นนี้ โอกาสที่จะเกิดการรัฐประหารซ้อนก็มีความเป็นไปได้สูงเช่นกัน เพียงแต่ต้องรอเวลาและให้สถานการณ์สุกงอมมากกว่านี้ ซึ่งเชื่อว่าเมื่อเปิดศักราชใหม่ในปี 2558 รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์จะต้องแบกรับกับปัญหาสารพัดสารพันที่หมักหมมเอาไว้และแก้ไขยังไม่สำเร็จ
โดยเฉพาะในช่วงเดือนมกราคมปี 58 ซึ่งจะมีการพิจารณาวาระถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว
คำถามต่อมาก็คือ ถ้าจะมีการรัฐประหารซ้อนใครจะเป็นคนทำ
แน่นอน คนที่จะทำรัฐประหารได้ก็คือทหาร และต้องเป็นทหารสังกัดกองทัพบกเท่านั้น
เป็นไปได้หรือไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะทำรัฐประหารตัวเองเพื่อสืบทอดอำนาจต่อไป หรือไม่ก็เพื่อต้องการล้างไพ่ใหม่เนื่องจากการบริหารราชการแผ่นดินไม่ประสบความสำเร็จ
ก็ตอบว่า เป็นไปได้ เพราะในอดีตที่ผ่านมาเคยเกิดขึ้นมาแล้วซึ่งแบบนี้ เคยเกิดมาแล้วในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์และยุคจอมพลถนอม กิตติขจร
แต่เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ทำ เพราะในการทำรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์เป็นเพียงผู้ตกกระไดพลอยโจนเท่านั้น
“ผมไม่ปฏิวัติตัวเองหรอก”
นั่นคือคำยืนยันของพล.อ.ประยุทธ์
เฉกเช่นเดียวกับผู้เป็นน้องชาย พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ผู้ช่วยผบ.ทบ.และสมาชิกสนช.ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นขุนพลค้ำบัลลังก์ส่วนตัว ที่ออกยืนยัน เป็นเสียงเดียวกัน
เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ไม่รัฐประหารตัวเอง ก็ต้องกวาดสายตามายังคนที่จะทำ ซึ่งผู้มีอำนาจที่จะทำได้มีไม่มากนัก
คนแรกก็คือ พล.อ.อุดมเดช สีตะบุตร ผู้บัญชาการทหารบก
คนถัดมาก็คือ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด
กล่าวสำหรับ พล.อ.อุดมเดชนั้น เชื่อว่า ไม่ทำรัฐประหาร พล.อ.ประยุทธ์ แน่นอน เพราะถือเป็นสายตรงบูรพาพยัคฆ์ที่ พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.อนุพงษ์และพล.อ.ประวิตรเลือกกับมือให้เป็นผู้บัญชาการทหารบก
“ในส่วนของผมและกองทัพอยู่ภายใต้การดูแลของ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งผมพยายามดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยอย่างเต็มที่ ยืนยันว่าปฏิบัติตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีอย่างเคร่งครัด”
นั่นคือคำยืนยันของ พล.อ.อุดมเดช ผู้ที่มีโอกาสทำรัฐประหารมากที่สุดเมื่อเทียบกับคนอื่น
ส่วน พล.อ.ไพบูลย์ที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในการทำรัฐประหารเที่ยวที่แล้ว ก็พ้นจากไลน์อำนาจในกองทัพบกไปเรียบร้อยแล้ว
“ผมมั่นใจตัวนายกฯ นายกฯ บอกแล้วไม่มี”
พล.อ.ไพบูลย์ยืนยัน
กระนั้นก็ดีก็มิใช่ว่า จะไม่มีโอกาสเอาเสียเลย เพราะเมื่อใดที่พิสูจน์ชัดว่า รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์มิได้ทำให้ภาพลักษณ์ของทหารทั้งกองทัพดีขึ้น แถมยังทำให้ตกต่ำลงในสายตาของประชาชน ก็เชื่อว่า ย่อมมีนายทหารที่คิดเข้ามากอบ กู้ภาพลักษณ์และเยียวยาสถานการณ์ให้ดีขึ้นเช่นกัน เพียงแต่ต้องรอให้สถานการณ์สุกงอมเหมือนดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือผู้ที่จะผลักดันให้เกิดการรัฐประหารได้ย่อมหนีไม่พ้นประชาชน เพราะถ้าประชาชนไม่ไฟเขียว โอกาสที่จะเกิดการรัฐประหารในยุคนี้ก็แทบจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยเหมือนเช่นการรัฐประหารของ พล.อ.ประยุทธ์เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา
ถึงกระนั้นก็ดี ก็ใช่ว่า จะมีแต่ทหารเท่านั้นที่สามารถทำรัฐประหารหรือปฏิวัติ เพราะประชาชนก็มีสิทธิที่จะทำการปฏิวัติด้วยตนเองได้เช่นกัน