xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯมั่นใจไร้ปฏิวัติซ้อน ผบ.ทบ.ยันไม่แตกแถว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ประยุทธ์” ลั่นไม่มีปฏิวัติตัวเอง ผบ.ทบ.ยันยึดคำสั่งนายกฯเคร่งครัด ไม่ออกนอกแถวแน่ ส่วน “บิ๊กป๊อก - บิ๊กติ๊ก - บิ๊กต๊อก” เชื่อความไร้มูล ยกคำ “บิ๊กตู่” ไม่มีปฏิวัติซ้ำ แน่ “เสธ.หมึก” คนสนิท “บิ๊กจิ๋ว” อ้างตีความกันผิด อีกด้าน กมธ.การเมืองดันเลือกตรงนายกฯ-ครม.เข้าที่ประชุม สปช. “ประสาร-ปู่ชัย” ค้าน “บวรศักดิ์” ชี้ยังอีกนานกว่าจะสรุป “นิพิฏฐ์” ฉะทำลายระบบตรวจสอบ ฝ่ายค้านไร้ความหมาย “ไอ้ตู่” เชื่อหาก พท.เสนอโดนถล่มเละไปแล้ว เหน็บ “อยู่ที่แป๊ะกำหนด”

วานนี้ (8 ธ.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ออกมาเตือนว่า อาจมีการปฏิวัติซ้อนว่า “ผมไม่ปฏิวัติตัวเองหรอก”
ผู้สื่อข่าวถามว่า อาจจะเป็นคนอื่นที่ทำปฏิวัติ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตอบทันทีว่า ไม่มีหรอก เมื่อถามย้ำว่า มั่นใจเช่นนั้นหรือ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวยืนยันว่า ไม่มีหรอก

“อุดมเดช” ยันไม่ออกนอกแถว

ด้าน พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวถึงเรื่องเดียวกันว่า รัฐบาลและ คสช.พยายามเต็มที่ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ การที่ พล.อ.ชวลิต ออกมาระบุเช่นนั้น ถือเป็นการแสดงความคิดเห็นของผู้ใหญ่ในบ้านเมือง และเป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล สิ่งที่ พล.อ.ชวลิตพูดออกมา เราก็รับฟัง ทั้งนี้ในส่วนของตน และกองทัพอยู่ภายใต้การดูแลของนายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. รวมไปถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งตนพยายามดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยอย่างเต็มที่ ยืนยันว่าปฏิบัติตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีอย่างเคร่งครัด

ขณะที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า จะไม่มีการปฏิวัติซ้อนอย่างแน่นอน เพราะตนเองรู้สถานการณ์บ้านเมืองดีรวมทั้งประชาชนมีความพึงพอใจในการแก้ไขปัญหาของประเทศชาติ ภายใต้ความพยายามที่จะสร้างความปรอง ภายใต้กรอบแนวทางของรัฐบาลและ คสช. ส่วนเหตุใดที่ พล.อ.ชวลิต ถึงออกมาพูดนั้นไม่ขอวิพากษ์วิจารณ์หรือมีความเห็นอะไร

“มั่นใจว่าตราบใดที่รัฐบาลยังคงพยายามทำงานแก้ไขปัญหาของประเทศชาติอยู่ในกรอบที่นายกรัฐมนตรีได้ให้แนวทางไว้ ทุกคนไม่ได้ทำอะไรที่สังคมรับไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการทุจริตหรือใช้อำนาจไม่เป็นไปตามครรลอง จึงเชื่อว่าสังคมจะให้โอกาส” พล.อ.อนุพงษ์ กล่าว

“ติ๊ก-ต๊อก” ประสานเสียงข่าวไร้มูล

ทางด้าน พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ผู้ช่วย ผบ.ทบ. และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า ไม่เคยได้ยินข่าวการปฏิวัติซ้อน ไม่มีกระแส ไม่ทราบว่าเอาข่าวมาจากไหน คิดว่าเป็นเพียงข่าวลือ ถือว่าเป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ระหว่างการปฏิรูป ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็น แต่ต้องอยู่พื้นฐานความถูกต้อง ทั้งนี้กองทัพบกก็ยังคงทำงานต่อไป ในสายงานปกติ ในส่วนของรัฐบาล และ คสช.ก็ทำงานต่อไป

ด้าน พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด (รอง ผบ.สส.) กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวอะไรกับตน ส่วนจะมีคนอื่นคิดหรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ แต่สถานการณ์การเมืองขณะนี้อยู่ในสภาวะปกติ
ผู้สื่อข่าวถามว่ามั่นใจในกองทัพหรือไม่ พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า “ผมมั่นใจตัวนายกฯ ซึ่งนายกฯบอกแล้วว่า ไม่มี”

“เด็กจิ๋ว” อ้างตีความกันผิด

อีกด้าน พล.ท.พิรัช สวามิวัศดุ์ คนสนิท พล.อ.ชวลิต กล่าวว่า ในความเป็นจริง พล.อ.ชวลิต หมายถึงให้ระวังการปฏิวัติของประชาชน โดยเฉพาะปมการที่จะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ให้ประชาชนเลือกนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยตรง ลักษณะคล้ายกับระบบประธานาธิบดีนั้น อาจเป็นการก้าวล่วงพระราชอำนาจหรือไม่ ต้องลองไปคิดทบทวนดูให้ดี หากเป็นเช่นนั้นเชื่อว่าจะมีพี่น้องประชาชนที่ไม่เห็นด้วยเป็นจำนวนมาก และอาจออกมาต่อต้านรัฐบาลและ คสช. จนอาจเลยเถิดไปกลายเป็นการปฏิวัติประชาชน หรือเป็นการปฏิวัติซ้อนได้ ทั้งนี้ ไม่ใช่หมายถึงมาจากการปฏิวัติจากกำลังทหาร สิ่งนี้ต่างหากที่ พล.อ.ชวลิตออกมาเตือน พล.อ.ประยุทธ์

“ในความเป็นจริงแล้ว คสช.และรัฐบาล ขณะนี้มีความตั้งใจทำงานดีอยู่แล้ว แต่ก็ไม่อยากให้มีเรื่องอะไรที่ไม่คาดคิดเข้ามาทำให้ คสช.และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ต้องมาประสบวิกฤติทางการเมือง หากยังฝืนทำ หรือดำเนินการต่อไป” พล.ท.พิรัช กล่าว

ชงเลือกตรงนายกฯเข้า สปช.ใหญ่

วันเดียวกัน ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 10.00 น. ได้มีการประชุมคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่มี นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เป็นประธาน โดยมีการพิจารณาข้อเสนอการปฏิรูปด้านการเมืองก่อนที่จะส่งให้ที่ประชุมใหญ่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พิจารณาก่อนนำส่งให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ภายในวันที่ 19 ธ.ค.นี้ โดยนายสมบัติเปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติเสียงข้างมากเห็นชอบแนวทางให้เลือกนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีโดยตรงตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว โดยวันนี้จะเป็นการพิจารณาเนื้อหาทั้งหมดอีกครั้ง พร้อมชี้แจงถึงเหตุผลของเสียงข้างมากที่เห็นว่า เป็นการให้อำนาจประชาชนได้ตัดสินใจว่าบุคคลใดที่เหมาะสมจะทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร ส่วนที่มีกระแสกังวลเกี่ยวกับการตรวจสอบ ก็มีการออกแบบวิธีการตรวจสอบโดยตั้งกรรมาธิการไต่สวนร่วมกับอัยการอิสระและสามารถนำส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ และยืนยันว่าการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง มีเงื่อนไขที่แตกต่างกับระบอบประธานาธิบดี เพราะไม่ได้เป็นประมุขของประเทศ

“สมบัติ” โยน กมธ.ยกร่างฯเคาะ

ในส่วนของระบบการเลือกตั้ง ส.ส.นั้น นายสมบัติกล่าวว่า การเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต จะเป็นแบบเขตใหญ่ที่มีผู้แทน 3 คน โดยผู้ใช้สิทธิ์จะมีหนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียงในการเลือกผู้แทน ขณะที่ระบบบัญชีรายชื่อ ทางกรรมาธิการเสียงข้างมากมองว่าไม่จำเป็นต้องมี เพราะที่ผ่านมาระบบบัญชีรายชื่อไม่ได้ตอบสนองในเรื่องการนำผู้มีความรู้ความสามารถมาทำหน้าที่ได้เต็มประสิทธิภาพ แต่กลับสร้างปัญหาเรื่องระบบนายทุนที่เข้ามาเป็นนักการเมือง

“จะส่งข้อสรุปให้ที่ประชุมใหญ่ สปช.พิจารณา หากมติที่ประชุมรองรับ ก็จะเสนอต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญต่อไป ส่วนจะเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ ขึ้นอยู่กับคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญตัดสินใจ” นายสมบัติ ระบุ

“ประสาร” ชี้ให้อำนาจนายกฯมากเกิน

ด้าน นายประสาร มฤคพิทักษ์ โฆษกคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง เปิดเผยว่า ส่วนตัวเป็นหนึ่งในเสียงข้างน้อยของคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง ที่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการเลือกตรงนายกฯและ ครม. เพราะมองว่าเป็นการเพิ่มอำนาจให้นายกรัฐมนตรีมากเกินไป อีกทั้งไม่ช่วยแก้ปัญหาเรื่องการซื้อเสียง คนที่จะชนะการเลือกตั้งต้องใช้งบประมาณมหาศาล ซึ่งเหตุผลที่เสียงข้างมากระบุว่า ต้องการให้นายกรัฐมนตรีทำงานครบ 4 ปี ถือเป็นเรื่องอันตราย เพราะหากรัฐบาลเข้มแข็งมากเกินไป จะเป็นการผูกขาดอำนาจและยากต่อการตรวจสอบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เบื้องต้นมีกรรมาธิการปฏิรูปการเมืองที่ไม่เห็นด้วย และขอสงวนคำแปรญัตติเพื่ออภิปรายในชั้นที่ประชุมใหญ่ สปช.จำนวน 3 คน ประกอบด้วย นายประสาร นายชัย ชิดชอบ และนายฐิติวัฒน์ กำลังเอก

“บวรศักดิ์” บอกปีหน้าถึงได้ข้อสรุป

ขณะที่ นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช.กล่าวถึงข้อเสนอให้เลือกนายกฯและ ครม.โดยตรงว่า อย่ากังวลกับคำวิพากษ์วิจารณ์ของข้อเสนอดังกล่าว เพราะถือว่ายังไม่ใช่ข้อยุติ เชื่อว่าประชาชนจะไม่สับสนสามารถแยกออกได้ว่า ใครให้ความเห็นหรือเป็นข้อสรุปแล้ว ส่วนตัวไม่สามารถให้ความเห็นในเรื่องนี้ได้ เพราะต้องทำหน้าที่ประธาน สปช. จึงต้องระมัดระวัง

ทางด้าน นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธาน สปช.คนที่ 1 ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ประเด็นต่างๆยังไม่เป็นที่ยุติและยังไม่ใช่มติของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นเพียงความเห็นของคณะกรรมาธิการต่างๆเท่านั้น หลังจากนี้จะต้องนำข้อเสนอดังกล่าวเข้าที่ประชุมใหญ่ สปช.เพื่อพิจารณาระหว่างวันที่ 15-17 ธ.ค. สำหรับข้อยุติของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนั้นจะมีความชัดเจนในช่วงระหว่างวันที่ 18-26 ธ.ค. ส่วนกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชนจะดำเนินการควบคู่ไปกับการยกร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนนำมาปรับแก้จนถึงกลางเดือน เม.ย.58

“ความเห็นต่างๆที่เสนออกมาในขณะนี้ยังไม่ใช่ข้อยุติ ขอให้ประชาชนอย่าตกอกตกใจ เพราะเป็นกระบวนการของการยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่ท้ายที่สุดจะรู้ว่ารัฐธรรมนูญเป็นอย่างไรนั้น จะอยู่ในช่วงปลายเดือน ก.ค.58 ซึ่งจะเป็นฉบับที่เสนอเข้าสู่ที่ประชุม สปช.เพื่อพิจารณาลงมติเห็นชอบในวันที่ 6 ส.ค.58 การถกเถียงกันไปมาเกี่ยวกับข้อเสนอจึงไม่ใช่เรื่องแปลก” นายบวรศักดิ์ กล่าว

ปชป.ชี้ทำลายระบบตรวจสอบ

ในส่วนของความคิดเห็นของฝ่ายการเมือง นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวระบุว่า ระบบเลือกตั้งตรงทำให้นายกฯมีอำนาจมากขึ้นกว่านายกฯที่มาจากรัฐสภา และจะเอานายกฯออกจากตำแหน่งโดยการอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่ได้ เพราะนายกฯอาจไม่มีเสียงสนับสนุนในรัฐสภา เช่น สมมติว่า พล.อ.ประยุทธ์ ลงเลือกตั้งโดยไม่สังกัดพรรคการเมือง และชนะได้เป็นนายกฯ แต่ไม่มี ส.ส.ในสังกัดเลย ก็จะอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่ได้ เพราะหากยอมให้อภิปราย รัฐบาลก็ล้มไม่เกิน 3 เดือน หรือหากให้สังกัดพรรค แล้วชนะเลือกตั้งได้เป็นนายกฯ แต่พรรคนั้นมี ส.ส.เพียง 50 คน เมื่อมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ รัฐบาลก็ต้องล้มใน 3 เดือนเหมือนกัน

“ระบบเลือกตั้งตรง ฝ่ายค้านและการตรวจสอบเกือบไม่มีความหมาย ถ้าเอาระบบนี้มาใช้ แม้เราจะไม่เรียกว่าระบบประธานาธิบดี แต่เนื้อหาก็เหมือนระบบประธานาธิบดี ระบบที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข จะไม่ใช้ระบบประธานาธิบดี” นายนิพิฏฐ์ กล่าว

“ไอ้ตู่” โพสต์อัดไอเดียประหลาด

เช่นเดียวกับ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊คแสดงความคิดเห็นตอนหนึ่งว่า มีการกล่าวอ้างว่าการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง จะเป็นการแก้ไขระบบอุปถัมภ์และแก้ไขการซื้อเสียงได้ ซึ่งข้อเสนอนี้ หากเกิดในซีกของ นปช.หรือพรรคเพื่อไทยก็จะถูกข้อกล่าวหาทันทีว่า กำลังจะเปลี่ยนแปลงการปกครองเข้าสู่ระบอบประธานาธิบดี ข้อเสนอที่จะเลือกนายกฯและ ครม.โดยตรงนั้น หมายความว่าใน 20 กระทรวงและ 1 นายกฯต้องมีการเสนอตัวให้ประชาชนไปโหวต และหากนายกฯได้จากพรรคนึง รมต.มหาดไทยจากอีกพรรคนึง เกษตรได้อีกพรรค และการคลังเป็นอีกพรรค มันก็จะสับสนอลหม่านเลยว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับประเทศนี้ แต่ข้อเสนอที่เป็นแนวความคิดประหลาดๆนี้กลับออกมาจากทั้ง สปช. และที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.)

“หลักคิดในเวลานี้อยู่แค่ที่ว่า “แป๊ะจะเอายังไง” เพราะ “ลงเรือแป๊ะ ต้องตามใจแป๊ะ” และท้ายที่สุดนั้น “อยู่ที่แป๊ะกำหนด” และแป๊ะก็คือ รัฎฐาธิปัตย์นั่นเอง” นายจตุพร ระบุ
กำลังโหลดความคิดเห็น