xs
xsm
sm
md
lg

อย่าเสนอการปฏิรูปแบบผีเจาะปาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

ช่วงนี้บรรดาผู้รู้ทั้งหลายต่างเสนอแนวทางการปฏิรูปประเทศออกมาสู่สาธารณะอย่างมากมาย หลายประเด็นก็ดูพอใช้ได้ แต่หลายประเด็นเห็นแล้วต้องถอนหายใจหนักๆหลายครั้ง ด้วยไม่ค่อยแน่ใจว่าข้อเสนอเหล่านั้นจะช่วยแก้ปัญหาการเมือง หรือทับถมปัญหาเดิมให้หนักหนาสาหัสมากขึ้นไปอีก หรือกลายเป็นเรื่องที่สร้างปัญหาใหม่ให้ต้องตามแก้กันภายหลังอย่างไม่รู้จบ

ในฐานะประชาชนผมจึงอยากทราบรายละเอียดของข้อเสนอต่างๆเพิ่มเติมเพื่อจะได้เข้าใจให้ชัดเจนว่าข้อเสนอเหล่านั้นเกิดจากฐานคิดอะไร ช่วยแก้ปัญหาเรื่องอะไร และแก้ได้จริงหรือไม่ และมีความเป็นไปได้ที่จะสร้างปัญหาใหม่เพิ่มเติมหรือไม่

ผมคิดว่าจึงอยากขอให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ องค์คณะ กรรมาธิการ อนุกรรมาธิการ หน่วยงาน และผู้มีอำนาจหน้าที่ในการเสนอแนวทางการปฏิรูปและจัดทำรัฐธรรมนูญอย่าเสนอหรือพูดอะไรในลักษณะที่ชาวบ้านเขาเรียกว่า “พูดแบบผีเจาะปาก” กรุณาช่วยคิดให้รอบคอบและมีรายละเอียดพอสมควรก่อนที่จะพูดในที่สาธารณะเพื่อสร้างความกระจ่างแก่ประชาชน ก็จะดีไม่น้อย มีหลายประเด็นที่ผมคิดว่าควรจะต้องคิดให้หนักก่อนที่เสนอ

ประเด็นแรก
เป้าหมายของข้อเสนอแต่ละข้อเป็นไปเพื่อแก้ปัญหาสังคมและการเมืองในเรื่องใดได้บ้าง ยกตัวอย่างเช่น การนิรโทษกรรม การแยกอำนาจบริหารและนิติบัญญัติออกจากกัน การเลือกฝ่ายบริหารโดยตรง และการเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้ง เป็นต้น มีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาเรื่องใดบ้าง และปัญหานั้นในอดีตมีนัยสำคัญในฐานะที่เป็นสาเหตุของการเกิดวิกฤติการเมืองมากน้อยเพียงใด

ประเด็นที่สอง ช่วยกรุณาประเมินพลังศักยภาพของข้อเสนอว่าจะสามารถแก้ปัญหาได้มากน้อยเพียงใด และมีศักยภาพในการสร้างปัญหาใหม่ได้หรือไม่ ดังเรื่องการนิรโทษกรรม ต้องระบุให้ชัดเจนว่ามีความสามารถในการลดความขัดแย้งหรือสร้างความปรองดองได้จริงหรือไม่ และจะสร้างปัญหาใหม่หรือไม่ อันที่จริงในกรณีการนิรโทษกรรม ประสบการณ์ร่วมสมัยที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปี พ.ศ. 2556 ก็เห็นได้ชัดว่าความพยายามในการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนอกจากจะไม่สร้างความปรองดองแล้ว ยังเป็นสาเหตุของความรุนแรงทางสังคมเพิ่มขึ้นอีก จนมีคนบาดเจ็บและล้มตายเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ผมจึงสงสัยจริงๆว่าทำไมจึงมีข้อเสนอการนิรโทษกรรมเกิดขึ้นอีก หรือว่าผู้เสนอไม่รู้จักศึกษาและสรุปบทเรียนเอาเสียเลย

หรือการแยกอำนาจบริหารและนิติบัญญัติออกจากกันและการเลือกตั้งฝ่ายบริหารโดยตรงก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่จะต้องพิจารณาให้รอบคอบว่ามีพลังความสามารถแก้ปัญหาเรื่องการซื้อขายเสียงของนักการเมือง และปัญหาการทุจริตของฝ่ายบริหารได้มากน้อยเพียงใด

ผมคิดว่าในเรื่องเหล่านี้ผู้เสนออาจประเมินโดยอาศัยตรรกะว่าเมื่อฝ่ายนิติบัญญัติแยกจากฝ่ายบริหารหรือเลือกตั้งฝ่ายบริหารโดยตรงแล้วก็ทำให้ ผู้สมัคร ส.ส.ไม่ซื้อเสียงเพราะถึงได้เป็นส.ส.ก็ไม่มีโอกาสได้เป็นฝ่ายบริหาร เมื่อไม่ได้เป็นฝ่ายบริหารก็ไม่มีโอกาสในการแสวงหาประโยชน์ ดังนั้นจึงป่วยการที่จะไปซื้อขายเสียงให้สิ้นเปลือง

การใช้ตรรกะแบบนี้เริ่มจากความเชื่อพื้นฐานที่ไม่ครอบคลุมความเป็นจริง กล่าวคือเชื่อว่าการมีอำนาจหน้าที่ทางฝ่ายบริหารเท่านั้นที่จะทำให้คนแสวงหาประโยชน์ได้ ส่วนการมีอำนาจนิติบัญญัติเพียงอย่างเดียวไม่สามารถแสวงหาประโยชน์ได้ อันนี้เป็นความจริงเพียงเสี้ยวเดียวเท่านั้น

ความจริงอีกเสี้ยวหนึ่งก็คือ การมีอำนาจนิติบัญญัติเพียงอย่างเดียวก็สามารถนำไปแสวงหาประโยชน์ได้และมีแรงจูงใจที่จะทำให้คนซื้อเสียงได้เหมือนกัน ช่องทางในการแสวงหาประโยชน์ของฝ่ายนิติบัญญัติคือ การพิจารณากฎหมายสำคัญที่มีผลกระทบต่อรัฐบาล เช่น พ.ร.บ.งบประมาณ ทั้งในขั้นตอนการพิจารณาของกรรมาธิการงบประมาณและขั้นตอนการลงมติ ล้วนแล้วแต่เปิดโอกาสให้ฝ่ายนิติบัญญัตินำมาเป็นข้อต่อรองและแสวงหาประโยชน์ได้ทั้งสิ้น

สำหรับการเลือกฝ่ายบริหารโดยตรงก็ไม่ได้มีหลักประกันอะไรว่าผู้สมัครฝ่ายบริหารจะไม่ใช้เงินซื้อเสียงหรือทุจริตเลือกตั้งในรูปแบบอื่นๆ รวมทั้งไม่มีหลักประกันใดที่สร้างความมั่นใจได้ว่าผู้ที่ได้รับเลือกเป็นฝ่ายบริหารจะไม่ใช้อำนาจในทางที่มิชอบและไม่ทุจริตคอรัปชั่น เรื่องเหล่านี้มีบทเรียนในต่างประเทศไม่น้อย ที่ใกล้ๆเราก็คือประเทศฟิลิปปินส์ หรือหากภายในประเทศก็คือบรรดานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั้งหลายนั่นเอง

อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าผมจะคัดค้านข้อเสนอเหล่านั้นเพราะผมเองก็ทราบดีว่าระบบรัฐสภาที่ใช้อยู่ในปัจจุบันแย่เต็มทีแล้วเพราะทั้งไร้ประสิทธิภาพและฉ้อฉล หากแต่ต้องการให้ผู้เสนอและผู้ออกแบบรัฐธรรมนูญคิดให้ละเอียดลึกซึ้ง เพื่อมองหาทางเลือกให้กว้างขวางขึ้น และที่เตรียมการหากลไกในการป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากข้อเสนอใหม่ๆเหล่านั้น

ประเด็นที่สาม หากเป็นไปได้ก็อยากให้องค์คณะที่เสนอแนวทางต่างๆช่วยประเมินด้วยว่าในขั้นตอนการปฏิบัติของแนวทางต่างๆมีความยากง่ายมากน้อยเพียงใด และมีความคุ้มค่าหรือไม่ในการใช้ทรัพยากรของสังคมเพื่อดำเนินการตามข้อเสนอเหล่านั้น เช่น ข้อเสนอเกี่ยวกับการจัดตั้งคณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติ หรือ สภากิจการตำรวจ หรือ การเพิ่มสัดส่วนการลงทุนวิจัยภาคเอกชน 70 % ภาครัฐ 30 % การสร้างอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค เป็นต้น

ประเด็นที่สี่ ช่วยประเมินความเป็นไปได้ที่จะมีการตีความข้อเสนอเหล่านั้นให้เบี่ยงเบนไปจากเจตนารมรมย์เริ่มต้น เพราะว่าเรามีปัญหากับการตีความในรัฐธรรม พ.ศ. 2550 หลายมาตราจนนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองตามมา ดังนั้นผู้จัดทำรัฐธรรมนูญควรเขียนข้อความที่มีความรัดกุมเพื่อไม่ให้มีการตีความเบี่ยงเบนไปจากเจตนารมณ์ที่แท้จริง

การวางรากฐานให้กับประเทศในอนาคตไม่ใช่เรื่องที่จะทำอย่างง่ายๆลวกๆแบบรวบรัดหรือเร่งรีบได้ ดังนั้นใครหรือองค์กรใดที่มีอำนาจหน้าที่ หรือมีน้ำหนักในสังคม หากเสนออะไรออกมาก็ควรผ่านการค้นคว้า ศึกษา และไตร่ตรองอย่างละเอียดรอบคอบก่อนที่จะเสนออะไรออกมา

พฤติกรรมการเสนอหรือพูดแบบผีเจาะปากควรต้องลดลงหรือจะให้ดีก็ควรเลิกไปเลยเพราะสิ่งที่ท่านทั้งหลายซึ่งมีอำนาจวาสนาพูดนั้นมีผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง


กำลังโหลดความคิดเห็น