xs
xsm
sm
md
lg

“ครูหยุย” ปูด 11 กสทช.ใช้งบอู้ฟู่ ทั้งทัวร์นอก ตั้งทีมงาน 1 ปีกว่า 300 ล้าน จี้ยุบทิ้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สนช. ประเดิมตั้งกระทู้ถามครั้งแรก “ครูหยุย” แฉ 11 กสทช.ใช้งบอู้ฟู่ 1 ปีกว่า 117 ล้านบาท ทัวร์นอก 105 ครั้ง มีทีมงาน 110 ใช้จ่าย 118 ล้านบาท โบนัสเบี้ยเลี้ยงเพียบ ขณะที่คนไทยได้แต่มองตาปริบๆ แนะยุบทิ้ง ด้าน “วิษณุ” รับรัฐบาลไม่มีอำนาจดำเนินการ เหตุเป็นหน่วยงานอิสระไม่ขึ้นกับใคร เล็งแก้ กม.ให้สอบงบประมาณได้

ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้มีการพิจารณาวาระกระทู้ถามเป็นครั้งแรก เรื่องการตรวจสอบการใช้งบประมาณของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ของนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิก สนช.ตั้งคำถาม

นายวัลลภถามว่า กสทช.เกิดขึ้นในปี 2553 จากการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่ฯ โดยมีคณะกรรมการ 11 คน วาระ 6 ปี อำนาจหน้าที่มีมากมาย โดยเพราะอำนาจอนุมัติงบรายจ่ายต่างๆ ที่เสนอขึ้นมาโดยสำนักงาน ลักษณะชงเองกินเอง ซึ่งจากตัวเลขค่าใช้จ่ายของกรรมการ 11 คนใน ปี 2556 ใช้ไป 117 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าตอบแทน 36 ล้านบาทซึ่งตนไม่ติดใจเพราะเป็นงบปกติ แต่งบดูงานต่างประเทศจำนวน 61.5 ล้าน น่าคิดว่าทำไมการเดินทางไปต่างประเทศถึงมากมาย เพราะทั้ง 11 คนเดินทางไปจำนวน 105 ครั้ง ใช้เวลา 632 วันในรอบปี ในกฎหมายบัญญัติชัดเจนว่าที่มาของ กสทช.ต้องมาจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน แต่พอมาเป็นกลับต้องไปหาความรู้ความเชี่ยวชาญจากต่างประเทศถึง 105 ครั้ง

ส่วนกลุ่มผู้ปฏิบัติงาน กสทช.ดูตัวเลขน่าตกใจ ที่ปรึกษา 31 คน เลขานุการ 10 คน ผู้ช่วยเลขานุการ 20 คน ปรึกษา 31 คน พนักงานประจำสำนักงาน 40 คน พนักงานขับรถ 9 คน รวมทั้งสิ้น 110 คน ในงบประมาณ 118 ล้านบาท คนเหล่านี้มีเงินเดือน โบนัส เบี้ยประชุม ค่ารักษาพยาบาล และงบดูงานในและต่างประเทศ รวมทั้งมีการตั้งอนุกรรมการและคณะทำงานจำนวน 102 คณะ ใช้คน 932 คน อนุกรรมการ 65 คณะ ใช้งบ 46 ล้านบาท คณะทำงาน 37 คณะ ใช้งบ 3 ล้านบาท

นายวัลลภกล่าวว่า มีบางคนพูดว่าเขามีสิทธิ์ใช้เงินแบบนี้ได้เพราะกฎหมายบัญญัติให้คณะกรรมการฯ พิจารณาอนุมัติเงินกันเอง ซึ่งในมาตรา 66 จะให้งบผ่านสภาเพียงเรื่องเดียวคืองบที่ กสทช.ไม่พอใช้จ่ายแล้วทำเรื่องขอขึ้นมา มากมายมหาศาลจนสังคมไทยไม่มีอำนาจใดยับยั้งได้หรือ เป็นสิ่งที่เรากังวลมาก

“ถามว่ารัฐบาลมีแนวทางปรับปรุงกระบวนการจัดทำงบประมาณ กสทช. ให้ผ่านการตรวจสอบและอนุมัติจากรัฐสภาได้อย่างไร โดยให้หน่วยงานด้านต่างๆ ตรวจสอบให้ความเห็นได้อย่างไร รวมทั้งจะมีมาตรการแก้ปัญหาเร่งด่วนหรือไม่”

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวชี้แจงว่า กสทช.เป็นองค์กรตาม พ.ร.บ.พิเศษ ไม่มีฐานะเป็นส่วนราชการ ไม่อยู่ใต้บังคับบัญชา ไม่อยู่ใต้การควบคุมใดๆ ของรัฐบาล เป็นความตั้งใจของ พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่เพื่อให้เป็นอิสระเอกเทศรวมทั้งเรื่องงบประมาณซึ่งเป็นความตั้งใจตั้งแต่แรก จึงทำให้รัฐบาลไม่มีอำนาจตรวจสอบการจัดทำงบประมาณ กสทช.ได้ และตั้งแต่มี กสทช.จะมีการหางบประมาณด้วยตัวเองได้เพียงพอ ไม่ได้ของบประมาณจากรัฐและไม่มีการตั้งงบประมาณเข้าสู่การพิจารณาของกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ซึ่งคงรู้ว่ามีปฏิกิริยาจากสังคมว่าทำไมงบประมาณ กสทช.ไม่เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา

“เคยมีการหารือกับสำนักงบประมาณว่าจะทำอย่างไรได้ให้งบประมาณ กสทช.เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเพื่อตรวจสอบได้ ได้รับการยืนยันว่ากรรมาธิการฯ ไม่มีอำนาจตรวจสอบ หรือเชิญมาสอบถามก็ไม่มีผล แต่เมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจสอบงบประมาณ กสทช. และรายงานต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบแล้ว และในอนาคตอาจจะแก้ไขกฎหมายเพื่อให้เกิดการตรวจสอบและความโปร่งใส ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่และกรรมการ กสทช.ก็ไม่สบายใจและอยากให้มีการแก้ไขกฎหมายการจัดสรรรายได้ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสตรวจสอบได้”

ขณะที่นายวัลลภเสนอแนะว่า รัฐบาลควรกำกับให้ กสทช.ปฏิบัติตามระเบียบ กสทช. โดยการเปิดเผยข้อมูล การใช้จ่ายงบประมาณให้สาธารณชนทราบ เพื่อให้มีการตรวจสอบ ที่ผ่านมาเรื่องนี้ไม่เคยมีการเปิดเผย และอยากให้มีการควบรวมบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ กสท กับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ให้เป็นหน่วยงานเดียว และให้ยกเลิก กสทช. โดยให้องค์กรที่มีการยุบรวมจาก กสท และทีโอที ทำหน้าที่ให้บริการแทน และหากไม่มีการยุบ กสทช. อาจทำให้ กสท และทีโอที ล้มละลายก็ได้














กำลังโหลดความคิดเห็น