รมว.ไอซีทีหมดห่วงทีโอที พร้อมมุ่งมั่นแก้ปัญหาทุจริต เตรียมลงลึกดูกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง แนะทีโอทีต้องแยกบัญชีรายรับระหว่างการให้บริการสาธารณะกับการให้บริการเชิง ธุรกิจ ออกจากกัน ถึงจะรอด รับปากเป็นตัวกลางนำเรื่องคลื่นความถี่โทรคมนาคมเจรจาร่วมกสทช.เพื่อขอคืนให้ทีโอที มาทำธุรกิจเอง ส่วนเรื่องคดีข้อพิพาทกับ กสท มั่นใจเจรจากันได้ ลั่นทุกอย่างต้องจบภายในรัฐบาลนี้ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นปัญหาเรื้อรังจากผลพวงทางการเมือง
นายพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวภายหลังการเดินทางเข้าตรวจเยี่ยมและรับฟังบรรยายสรุปการดำเนินงาน ผลประกอบการ รวมทั้งประเด็นที่ขอรับการสนับสนุนจากบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ว่า ก่อนหน้านี้ทีโอทีคือองค์กรในกำกับของไอซีทีที่น่าเป็นห่วงที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของธุรกิจ รายได้ และเรื่องปัญหาการทุจริต แต่เมื่อได้มาเข้าพบและรับฟังแผนการดำเนินงานแล้วก็รู้สึกหายห่วงมากขึ้น โดยมั่นใจว่าทีโอทียังมีทางรอดและต้องดำเนินการสางปัญหาให้จบภายในรัฐบาลนี้ หากไม่จบจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะจะมีปัจจัยเรื่องการเมือง พวกพ้องมาเกี่ยวข้อง
“ปัญหาเรื่องการทุจริตในทีโอทีที่มีมาอย่างยาวนาน ผมบอกได้แค่เพียงว่าผมมีความมุ่งมั่นที่จะไม่ให้มันเกิดขึ้น แต่ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ต้องลงไปดูที่ระบบการจัดซื้อจัดจ้างว่าปัญหาเกิดจากอะไร ซึ่งทางรอดของทีโอทียังมีอยู่หากมีการแยกบัญชีกันอย่างชัดเจนระหว่างรายได้จากการให้บริการสาธารณะกับรายได้จากการทำธุรกิจ ซึ่งต้องมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อมาวิเคราะห์เรื่องนี้”
ทั้งนี้ ทีโอทีได้ขอให้ รมว.ไอซีทีช่วยนำคลื่นความถี่ 900 MHz ที่กำลังจะหมดสัญญาสัมปทานกับ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ในเดือน ก.ย.ปี 2558 นั้นกลับมาให้ทีโอทีเป็นผู้บริหารแทนที่จะคืนให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นำไปประมูล ซึ่งจะทำให้ทีโอทีอยู่รอดได้นั้น รมว.ไอทีซี กล่าวว่า จะนำเรื่องนี้เข้าหารือกับคณะทำงานที่ตั้งขึ้นระหว่างไอซีทีกับ กสทช.ในวันที่ 10 ต.ค.นี้ พร้อมกับการเจรจาเรื่องคลื่นความถี่อื่นๆ ที่ทีโอทีครอบครองอยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นคลื่น 900, 1900, 2300 และ 2700 MHz ว่าจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ ซึ่งทีโอทีก็ต้องทำแผนธุรกิจไว้รองรับทั้ง 2 รูปแบบ ไม่ว่าจะได้หรือไม่ได้ความถี่ก็ตาม
นอกจากนี้ ทีโอทีต้องเร่งจัดทำโครงสร้างธุรกิจ 6 กลุ่มให้เสร็จโดยเร็ว ได้แก่ 1.โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม 2. โครงสร้างเสาโทรคมนาคม 3. บริการอินเทอร์เน็ตเกตเวย์ และเคเบิลใต้น้ำ 4. ธุรกิจโทรศัพท์มือถือ 5. ธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและโทรศัพท์พื้นฐานประจำที่ และ 6. บริการไอที ไอดีซี และคลาวด์ ตามมติคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
“เรื่องไวไฟ ไฟเบอร์ออปติก หรือบรอดแบนด์ ทีโอทีกับแคทต้องเจรจากันว่าจะสามารถทำงานร่วมกันได้หรือไม่ ยกตัวอย่าง โครงข่ายสายไฟเบอร์ออปติก ทีโอทีมีอยู่ 84,000 กิโลเมตร ขณะที่ กสท มี 35,000 กิโลเมตร ถือว่าเป็นโครงข่ายที่ยาวที่สุดในประเทศไทย หากสามารถบริหารจัดการและทำธุรกิจร่วมกันได้ จะสร้างรายได้ให้ทั้งสององค์กร”
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าที่ผ่านมาทั้งทีโอทีและบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ยังมีคดีข้อพิพาทร่วมกันอยู่หลายเรื่อง แต่ตนเองก็มั่นใจว่าจะสามารถตกลงและแก้ไขปัญหาร่วมกันได้เพราะเป็นคดีระหว่างรัฐกับรัฐ ซึ่งยืนยันว่าต้องทำให้จบภายในรัฐบาลนี้เช่นกัน
Company Related Link :
ICT
CyberBiz Social