xs
xsm
sm
md
lg

กสทช.ผุดไอเดียมอบเงิน USO ให้ไอซีทีบริหารจัดการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กสทช.เผยประชุมคณะทำงานร่วมไอซีทีนัดแรกราบรื่น ปิ๊งไอเดียมอบเงินกองทุน USO ให้กระทรวงไอซีทีบริหารจัดการ ขณะที่ปัญหาด้านคลื่นโทรคมนาคมขอให้กระทรวงไอซีทีเป็นตัวกลางในการเจรจา ย้ำกสทช.ต้องมีหน้าที่กำกับดูแลส่วนกระทรวงไอซีทีต้องเป็นผู้ให้บริการ

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 ต.ค. คณะทำงานที่ตั้งขึ้นร่วมกันระหว่างกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และ กสทช.เพื่อแก้ไขปัญหาการทำงานที่ทับซ้อน ได้เริ่มประชุมเป็นครั้งแรกแล้ว เพื่อนำมาวิเคราะห์ในเบื้องต้นก่อนที่จะเดินหน้าปรับรูปแบบการทำงานร่วมกัน

สำหรับประเด็นซึ่งในที่ประชุมได้หารือกันนั้นมีหลายประเด็นที่สำคัญ ประเด็นแรก คือ กสทช.ขอให้ทางกระทรวงไอซีทีพิจารณาการนำรายได้จากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (USO) ซึ่งปัจจุบันมีเงินอยู่ประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท ไปใช้ในโครงการของกระทรวงไอซีที ซึ่งเห็นว่าน่าจะมีโครงการหลายโครงการที่ต้องการเงินทุนสนับสนุนเพิ่มเติม เช่น โครงการติดตั้งระบบโครงข่ายสื่อสารให้กับโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ) และสถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ทำร่วมกับกระทรวงไอซีที ก็เป็นอีกหนึ่งโครงการที่น่าสนใจในการนำเงินจาก USO มาใช้เพื่อพัฒนาโครงการดังกล่าว เป็นต้น

ประเด็นที่สอง คือ เรื่องของย่านความถี่ด้านโทรคมนาคมที่มีปัญหาอยู่หลายคลื่น ได้แก่ ปัญหาคลื่น 470 MHz ที่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ไม่ยอมคืนคลื่นความถี่ให้กับ กสทช. จนทีโอทีนำเรื่องไปยื่นฟ้องที่ศาลปกครองนั้นทาง กสทช.ต้องการให้กระทรวงไอทีซีเป็นตัวกลางในการเจรจาเพื่อหาทางออกร่วมกัน เพราะไม่ต้องการเห็นรัฐกับรัฐต้องมีปัญหากันเอง

ขณะที่คลื่น 1800 MHz ที่บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ยังไม่ได้นำไปใช้งาน 25 MHz ก็ต้องการส่งคืนให้ กสทช.ก่อนหมดสัญญาสัมปทานเพื่อให้ กสทช.นำไปประมูลนั้น ยังมีปัญหากับ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานไม่ยอมคืนให้กับ กสทช. ซึ่งที่ผ่านมา กสทช.ได้พูดคุยกับ กสท แล้ว แต่ไม่มีข้อสรุปจึงต้องการให้กระทรวงไอซีทีเป็นตัวกลางในการเจรจาร่วมกัน

“เรื่องนี้เป็นปัญหาระหว่างรัฐกับรัฐจึงไม่อยากให้มีเรื่องกัน ดังนั้น จึงขอให้กระทรวงไอซีทีเป็นตัวกลางในการเจรจา เพราะทั้ง 2 หน่วยงานล้วนเป็นองค์กรในกำกับดูแลของกระทรวงไอซีที ซึ่งปลัดไอซีทีรับปากว่าจะเป็นตัวกลางในการประสานเรื่องนี้ให้”

อย่างไรก็ตาม กสทช.ยังได้หารือถึงกรอบการทำงานของทั้ง 2 หน่วยงานที่ทับซ้อนกันอยู่ด้วยไม่ว่าจะเป็นทั้งเรื่องกิจการดาวเทียม การปราบปรามการกระทำผิดทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งตนเองได้เสนอให้กระทรวงไอซีทีทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการ ขณะที่ กสทช.จะทำหน้าที่เป็นผู้กำกับดูแลเอง โดยกรอบระยะการทำงานของคณะทำงานชุดนี้วางแผนไว้ 2 ระยะ คือ ระยะสั้น อยู่ที่ 3 เดือนและระยะยาวไม่เกิน 1 ปี

“ยกตัวอย่างเรื่องการกำกับดูแลของการปิดเว็บไซต์ ที่ปัจจุบันผู้มีหน้าที่ปิดการใช้งานเว็บไซต์ที่มีการนำเสนอเนื้อหาไม่เหมาะสม เป็นหน้าที่ของกระทรวงไอซีที แต่ผู้ที่ให้ใบอนุญาตผู้ให้บริการโครงข่ายอินเทอร์เน็ต เป็นหน้าที่ของ กสทช. ส่งผลทุกครั้งก่อนที่กระทรวงไอซีทีจะดำเนินการปิดเว็บ ต้องมาขอข้อมูลจาก กสทช. ดังนั้น หากกระทรวงไอซีทีโอนงานด้านนี้มาให้ กสทช.ทำเองก็จะรวดเร็วขึ้น ขณะที่ กสทช.เองก็พร้อมจะมอบเงิน USO ให้กระทรวงไอซีทีนำไปบริหารจัดการกับโครงการเพื่อสาธารณะและชุมชนต่างๆ”

Company Relate Link :
กสทช.
ไอซีที
กำลังโหลดความคิดเห็น