ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เป็นที่ลุ้นระทึกเกือบจะมีเฮ เมื่อนายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเตรียมชง ร่างพ.ร.บ.ภาษีมรดกเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในวันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา
แต่แล้วกฎหมายฉบับนี้เป็นอันต้องสะดุดลงและมีการเลื่อนพิจารณาออกไป
ทั้งนี้ พ.ร.บ.ภาษีมรดกมีทั้งเสียงทักท้วงและสนับสนุนจากภาคประชาชนจำนวนมาก โดยเสียงค้านมาจากบรรดาเศรษฐีที่ครอบครองที่ดินซึ่งได้รับผลกระทบ เพราะเป็นผู้เสียผลประโยชน์ ทว่า ด้วยเป็นความตั้งใจที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ต้องการให้มีการปฏิรูประบบภาษีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและเกิดความเป็นธรรมแก่สังคม จึงสนับสนุนกฎหมายฉบับดังกล่าวตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ความพยายามของพล.อ.ประยุทธ์ ณ ขณะนี้สังคมกลับตั้งคำถามว่า จะทำได้สำเร็จลุล่วงได้จริงหรือไม่ เพราะดูเหมือนจะมีอุปสรรคและก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมเป็นการภายในอยู่ไม่น้อย
ในวันที่นายสมหมายเตรียมชงร่างพ.ร.บ.ภาษีมรดกเสนอเข้าครม.แน่นอนนั้น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ออกมายืนยันเช่นกันว่า ในวันดังกล่าวจะยังไม่มีการพิจารณาพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว
“เท่าที่ทราบยังคงไม่มีการพิจารณาเรื่องสำคัญอะไร เพราะที่ผ่านมานายกฯได้ดำเนินการทุกอย่างแล้ว การประชุมในครั้งนี้คงเป็นไปตามวาระ สำหรับเรื่องการพิจารณาภาษีมรดกนั้น กำลังดำเนินการอยู่ แต่ยังคงไม่นำเข้าสู่การประชุมครม.ครั้งนี้ รวมถึงเรื่องรถไฟรางคู่เช่นกัน”
จากนั้นไม่นานนัก นายสมหมายออกมารับลูกพล.อ.ประวิตรโดยบอกว่ากระทรวงการคลังได้เลื่อนเสนอ พ.ร.บ.ภาษีมรดกเป็นสัปดาห์หน้าแทนโดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีติดประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ครั้งที่ 22 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ระหว่างวันที่ 9-11 พ.ย.57
พร้อมยืนยันว่า “การเลื่อนเสนอ พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ได้ติดปัญหาด้านรายละเอียดแต่อย่างใด”
ความเคลือบแคลงสงสัยจึงประเดประดัง เพราะสังคมเห็นว่านายสมหมายได้ออกมายืนยันว่ากฎหมายฉบับนี้ชงเข้า ครม.แน่ๆ โดยพูดไว้ในวันที่ 10 พ.ย. แต่พล.อ.ประยุทธ์บินลัดฟ้าไปประชุมผู้นำเศรษฐกิจตั้งแต่วันที่ 9 พ.ย.ก่อนหน้านี้แล้ว ดังนั้น เป็นไปไม่ได้ที่นายสมหมายจะไม่ทราบกำหนดการล่วงหน้า
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าร่าง พ.ร.บ.การรับภาษีมรดกจะสะดุดลงเป็นการชั่วคราว ซึ่งยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า เป็นเพราะเหตุผลกลใด มีใครหรือมีผู้มากบารมีต้องการให้แก้ไขรายละเอียดของกฎหมายบางประการหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ ก็คือ ขณะนี้กฎหมายฉบับดังกล่าวได้จัดทำเสร็จเรียบร้อย พร้อมทั้งผ่านการพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพร้อมสรรพ
นั่นหมายความว่า ทันทีที่ ครม.มีมติเห็นชอบ โอกาสที่จะมีผลบังคับใช้ก็มีสูง ยิ่งเมื่อสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เป็นเนื้อเดียวกับ ครม.และคสช.ด้วยแล้ว ทุกอย่างก็น่าจะราบรื่น
ทั้งนี้ กล่าวสำหรับที่มาที่ไปของกฎหมายฉบับดังกล่าว ผู้ที่ดำเนินการจัดทำและนำเสนอก็คือ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยมีชื่อเดิมว่า “ร่าง พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดกและภาษีการรับให้” โดยแบ่งออกเป็น 2 หมวด คือ 1.หมวดภาษีการรับมรดก (จากผู้เสียชีวิต) 2.หมวดภาษีการรับให้ (จากผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่)
โดยร่าง “พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดกและภาษีการรับให้” มีนายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ร่วมหารือกับกฤษฎีกาเมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อถกเถียงถึงกรณีการตัดหมวด “ภาษีการรับให้ออก” (จากผู้ที่ยังมีชีวิต)โดยรายละเอียดได้ระบุว่า เงินที่ได้จากการรับมรดกจากผู้อุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยาหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี เป็นเงินที่ไม่ต้องเสียภาษี กระทรวงการคลังจึงแก้ไขและได้ข้อสรุปใหม่ เพื่อปิดช่องทางการเลี่ยงภาษีในการโอนให้ทายาทก่อนเสียชีวิต โดยให้ไปแก้ในประมวลรัษฎากร คือ พ่อแม่ที่ให้ทรัพย์สินในส่วนที่เกิน 10 ล้านบาทต่อปี ต้องเสียภาษีการรับการให้ในอัตรา 5 % จนเป็นที่มาของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีการรับมรดก
ทั้งนี้ สำหรับหัวใจสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ภาษีมรดกฉบับนี้ก็คือ การเก็บภาษีจากผู้รับมรดก (ลูกหลาน ญาติ) โดยจะเป็นทรัพย์สินที่มีทะเบียน อาทิ ที่ดิน บ้าน รถยนต์ เงินสดในบัญชีธนาคาร หุ้น ตราสารหนี้ และอสังหาริมทรัพย์ โดยมรดกในส่วนที่เกิน 50 ล้านบาท หักหนี้สินออกไปแล้ว เก็บอัตราภาษีเพดาน 10 % และเพื่อป้องกันการโอนทรัพย์สินเพื่อเลี่ยงการเสียภาษีมรดก กระทรวงการคลังเสนอให้ ครม.เห็นชอบกฎหมายประมวลรัษฎากร เรื่องภาษีการรับให้ (จากผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่) กรณีพ่อแม่ให้สินทรัพย์ลูกไม่ต้องเสียภาษี แต่ภายหลังการแก้กฎหมายแล้ว พ่อแม่ให้ทรัพย์สินในส่วนที่เกิน 10 ล้านบาทต่อปี ต้องเสียภาษีการรับการให้ในอัตรา 5 %
“จะเก็บจริงเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่กระทรวงการคลังจะผลักดันให้เก็บอัตรา 10 % เพราะเป็นอัตราที่ต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศสหรัฐอเมริกาและอังกฤษที่เก็บภาษีมรดก 40 % และญี่ปุ่นเก็บ 55 % โดยการเก็บภาษีมรดกของไทยจะเก็บจากผู้รับมรดกที่เป็นชั้นกับหลาน” นายสมหมายแจกแจง
นอกจากนี้ กฎหมายฉบับดังกล่าวได้มีการเขียนอุดช่องโหว่สำหรับเศรษฐีที่จะเลี่ยงเสียภาษี ลักษณะที่ว่า โอนมรดกให้กับคนที่ไม่ใช่ลูกและหลาน โดยผู้ที่ได้รับทรัพย์สินจะต้องนำทรัพย์สินนั้นไปเป็นรายได้เสียบุคคลธรรมดาประจำปี ที่ปัจจุบันเก็บสูงสุดอยู่ที่อัตรา 35 %
อย่างไรก็ตาม ในการจ่ายภาษีของผู้รับมรดก กฎหมายฉบับนี้ได้มีข้อยกเว้นที่ไม่ต้องเสียภาษี อาทิ มรดกของคู่สมรส และมรดกที่จะนำไปบริจาคให้กับการศึกษา ที่เป็นข้อยกเว้นซึ่งใช้กันแพร่หลายในต่างประเทศ โดยจะมีการออกเป็นพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฏ.)
“วันนี้ใครหนีเอาไปทำแบบนี้ได้ ก็สาธุด้วย ถ้าเอาไปทำการกุศล ให้วัด ให้โรงพยาบาล การศึกษา ถ้าให้องค์กรเหล่านี้รัฐบาลไม่เก็บภาษี แต่ถ้าอยู่ดีๆได้เงินมา เหมือนที่มีข่าวสังคม ได้มาฟรีๆ เปล่าๆก็ต้องเสียภาษีคืนกลับสังคมบ้าง”นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมร่างกฎหมายกฤษฏีกให้ข้อมูล
ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่รับมรดกไปแล้วต้องเสียภาษีภายใน 150 วันหากเกิดปัญหาไม่มีเงินเสียภาษี ทำให้ต้องขายมรดก กฎหมายฉบับนี้ก็มีข้อยกเว้นให้ผ่อนผันได้ 2 ปี เพื่อไม่ให้เป็นภาระของผู้รับมรดกจนเกินไป อีกทั้งผู้รับมรดกยังสามารถทักท้วงโดยยื่นอุทธรณ์ หากการคำนวณทรัพย์สินที่เป็นมรดกได้รับ กรมสรรพากรคำนวณภาษีไม่ถูกต้อง และถ้ายังไม่ต้องการเสียภาษีก็สามารถดำเนินการในรูปแบบของกองมรดกได้ แต่ดอกผลที่เกิดจากกองมรดกต้องเสียภาษีเงินได้
ถึงตรงนี้ ก็ต้องมาลุ้นกันว่าภายในสัปดาห์หน้า พ.ร.บ.ภาษีมรดกจะถูกหยิบยกเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ภายใต้การนำพล.อ.ประยุทธ์หรือไม่ เพราะมีข้อมูลยืนยันว่า เกิดการปะทะกันภายในชนิดไม่ธรรมดาเลยทีเดียว