ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เรื่องราคาลอตเตอรี่ กับรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีให้เมาท์กันเป็นระยะ เริ่มจากการประกาศคุมราคาลอตเตอรี่ให้อยู่ในราคาหน้าตั๋ว คือ 80 บาท แต่ก็ทำไม่ได้ เพราะรัฐบาลเก่าได้ต่อสัญญากับบรรดาผู้ค้ารายใหญ่ (ยี่ปั๊ว) ไปก่อนล่วงหน้าแล้ว จึงต้องปล่อยเลยตามเลยไป
ต่อมาก็เรียกบรรดาผู้ค้ารายย่อยให้ไปลงทะเบียนใหม่ พร้อมเปิดรับผู้ค้ารายใหม่ เพื่อทดแทนผู้ค้ารายย่อยเดิมที่ทิ้งโควต้าไป โดยกำหนดกติกาใหม่ คือรับลอตเตอรี่จากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลได้คนละไม่เกิน 10 เล่ม (เล่มละ 100 ฉบับ) ในราคาฉบับละ 74.40 บาท แต่ห้ามขายเกินราคาฉบับละ 95 บาท โดยทำสัญญลักษณ์ เป็นสี่เหลี่ยมสีน้ำเงินไว้ด้านขวาของสลาก เพื่อให้รู้ว่าเป็นสลากในโควต้าของผู้ค้ารายย่อย
มีบทลงโทษไว้เสร็จสรรพว่า ถ้าพบว่ามีการขายเกินราคา 95 บาท ครั้งแรกจะถูกตักเตือน ถ้าจับได้เป็นครั้งที่สอง จะถูกริบโควต้าคืน
ผู้บริหารสำนักงานสลากประเมินว่า เมื่อกำหนดมาตรการเช่นนี้ จะทำให้ราคาสลากในภาพรวมที่เคยขายกันฉบับละ 100-110 บาท ลดลงมาโดยอัตโนมัติ ตามหลักอุปสงค์ อุปทาน และนักเสี่ยงโชค มีทางเลือกที่จะซื้อสลากของผู้ค้ารายย่อย ที่ราคาไม่เกิน 95 บาท
แต่ในความเป็นจริง สลากที่ไม่มีสัญญลักษณ์ สี่เหลี่ยมสีน้ำเงิน ก็ยังคงขายกันในราคา 110 บาทเหมือนเดิม แถมยังพบว่า สลากที่ขายกันเป็นชุดที่มีตัวเลขเหมือนกันทั้งหมด ชุดละ 5 ฉบับบ้าง 10 ฉบับบ้าง มีสลากที่มีสัญญลักษณ์บ่งบอกว่าเป็นของผู้ค้ารายย่อย สอดแทรกอยู่แทบทั้งนั้น
บ่งบอกว่า ผู้ค้ารายย่อยส่วนหนึ่งที่ไปรับโควต้าใหม่นี้ เมื่อได้สลากมาก็เอาไปขายเหมาให้ผู้ค้ารายใหญ่ ไม่ได้เอามาขายปลีกเอง สลากล็อตก็กลับไปอยู่ในมือของผู้ค้ารายใหญ่ แล้วในที่สุดราคาสลากในท้องตลาดก็จะยังคงยืนอยู่ที่ 110 บาท เหมือนเดิม
เมื่อมาตรการแก้ปัญหาเรื่องราคาไม่ได้ผล ล่าสุดสำนักงานสลากมามุกใหม่ ประกาศจะขอขึ้นภาษีสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยอ้างว่า สลากกินแบ่ง เป็นสิ่งมอมเมาประชาชน ต้องขึ้นภาษี เพื่อลดการซื้อของประชาชน เหมือนทุกครั้งที่ขึ้นภาษีบุหรี่ ภาษีเหล้า เบียร์ ก็บอกว่า เป็นสินค้าที่ทำลายสุขภาพ ขึ้นภาษีเพื่อลดการเสพย์
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าจะขึ้นภาษีไปกี่ครั้ง จำนวนผู้สูบ ผู้ดื่ม รวมทั้งยอดขายสินค้าเหล่านี้ก็ไม่ได้ลลดลงไปเลย
เรื่องขึ้นภาษีลอตเตอรี่นี้ นายสมชัย สัจจพงษ์ อธิบดีกรมศุลกากร ในฐานะประธานคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล บอกว่า ได้เสนอเรื่องนี้ให้สำนักเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ไปพิจารณา โดยตั้งตุ๊กตาไว้ 2 แนวทาง คือ จัดเก็บรูปแบบอัตรา 10% ของราคาหน้าสลาก หรือจะจัดเก็บในอัตรา 5 บาทต่อฉบับ
หลักคิดของท่านประธานบอร์ด คือ การเก็บภาษีตามที่ว่านี้ จะทำให้ราคาหน้าสลากปรับตัวสูงขึ้น เช่น กรณีเก็บภาษี 5 บาทต่อฉบับ หากคนที่เคยขายฉบับละ 100 บาท จะเพิ่มเป็น 105 บาท ทำให้คนตัดสินใจซื้อยากมากขึ้น ก็จะลดการมอมเมาประชาชน ส่วนประชาชนจะหันไปเล่นหวยใต้ดินมากขึ้นหรือไม่นั้น ท่านว่า ปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่ ก็ลุ้นรางวัลจากสลากกินแบ่ง และหวยใต้ดินไปพร้อมกันในแต่ละงวดอยู่แล้ว จึงคิดว่าไม่ได้มีส่วนช่วยให้คนหันไปเล่นหวยใต้ดินมากขึ้น หรือ น้อยลง
นั่นเป็นความคิด และการคาดการณ์ของผู้บริหารสำนักงานสลาก แต่ในความเป็นจริง จะเป็นอย่างที่คิดหรือไม่ ต้องรอติดตาม
แต่ที่แน่ๆ คือ สำนักงานสลาก พิมพ์สลากออกมางวดละ 72 ล้านฉบับ หรือ 36 ล้านคู่ ถ้าคิดภาษีแบบแรกคือ 10% ของราคาหน้าสลาก ก็จะเป็นค่าภาษีคู่ละ 8 บาท ใน 1 งวด จะเก็บภาษีเพิ่มได้ 288 ล้านบาท เดือนละ 2 งวดก็ได้ 576 ล้านบาท แต่ถ้าคิดแบบที่ 2 คือ คิดภาษีฉบับละ 5 บาท ก็จะได้เดือนละ 360 ล้านบาท
ดูจากจำนวนเงินแล้ว คิดว่ารัฐบาลน่าจะตัดสินใจให้มีการเก็บภาษีลอตเตอรี่จริง และคงจะเก็บในแนวทางแรก โดยคิดว่าปัจจุบันถ้าราคาสลากขายใบละ 100 บาท เพิ่มภาษีอีก 8 บาท ราคาขายน่าจะอยู่ที่ 110 บาท ซึ่งส่วนใหญ่ก็ขายกันในราคานี้อยู่แล้ว แต่รัฐบาลจะเก็บภาษีได้ปีละ 6,912 ล้านบาท
อีกทั้งการเก็บภาษีลอตเตอรี่นี้ สอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปประเทศของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม และเท่าเทียมในสังคม โดยเฉพาะ การปฏิรูปโครงสร้างภาษี ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ได้ประกาศให้เป็นหนึ่งใน "วาระแห่งชาติ " แถมยังได้บรรจุไว้เป็น นโยบายเร่งด่วน ที่จะเร่งรัดดำเนินการให้สำเร็จภายใน 1 ปี
สมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เคยพูดถึงเรื่องดังกล่าวนี้ ในช่วงเข้ารับตำแหน่งใหม่ๆว่า นอกเหนือจากดูแลการใช้จ่ายของประเทศ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวแล้ว ภารกิจสำคัญเมื่อเข้ามารับตำแหน่ง รมว.คลัง ก็คือ การปฏิรูปโครงสร้างภาษี
เพราะว่า ฐานะของประเทศไทยในขณะนี้ ไม่ได้มีเงินมากมายมหาศาล ตรงกันข้าม เรากำลังอยู่ในภาวะที่เรียกว่า "ขัดสน ยิ่งกว่าขัดสน" แม้จะมีเงินใช้จ่ายลงทุน มีการจัดงบประมาณรายจ่ายต่อเนื่อง แต่ในระยะ 10-20 ปีที่ผ่านมานี้ ประเทศไทยกลับไม่สามารถยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้นได้เลย
ทั้งนี้ เนื่องมาจาก การจัดเก็บรายได้ ถูกจำกัดอยู่ไม่กี่อย่าง คนที่หล่อเลี้ยงสังคมอยู่เวลานี้ มีเพียงส่วนน้อยที่ต้องแบกรับภาระของคนทั้งประเทศ และหากคิดจำนวนคนเสียภาษีเทียบกับประชากรทั้งประเทศ ยิ่งถือว่าน้อยมาก ยกตัวอย่างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรมสรรพากร ระบุว่า มีคนยื่นแบบภาษี ประมาณ 9-10 ล้านคน และเมื่อดูรายละเอียดถึงผู้ที่เสียภาษีกันจริงๆ ก็มีเพียง 5 ล้านคนเท่านั้น จากประชากร 65 ล้านคน
ขณะนี้ รัฐบาลเล็งไว้แล้วว่าจะมีการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับภาษี คือ 1. พ.ร.บ.มรดก 2. พ.ร.บ.ภาษีการรับให้ และ 3.พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
โดยในส่วนของ ภาษีมรดก จะจัดเก็บเฉพาะทรัพย์สินที่จดทะเบียน ที่ประเมินราคาได้อย่างชัดเจน เช่น บ้าน และที่ดิน เงินฝาก หุ้น พันธบัตร และตราสารหนี้ ส่วนทรัพย์สินที่ไม่มีการจดทะเบียน เช่น พระเครื่อง รูปปั้น ภาพเขียนและเครื่องประดับทั้งหลายไม่อยู่ในข่ายที่ต้องเสียภาษีมรดก ส่วนอัตราภาษีที่จัดเก็บ จะอยู่ที่ 10% และจัดเก็บจากผู้รับมรดก ที่มูลค่าเกิน 50 ล้านบาทขึ้นไป
ขณะที่ พ.ร.บ.ภาษีการรับให้ จะเป็นกฎหมายภาษี ที่จะใช้ควบคู่ไปกับ พ.ร.บ.ภาษีมรดก โดยกำหนดหลักการไว้ว่า หากมีการมอบทรัพย์สิน ตั้งแต่หนึ่งบาทแรกต้องเสียภาษีในอัตรา 10% โดยจะไม่มีข้อยกเว้นว่า ต้องเกิน 50 ล้านบาท เหมือนกับภาษีมรดก ซึ่งจะทำให้ผู้ที่มีทรัพย์สิน ที่ยังมีชีวิตอยู่ หรือตายแล้ว หากมีการโอนทรัพย์สินไปให้บุตร หลาน ก็ต้องเสียภาษีเหมือนกันหมด
ส่วนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะหาทางปิดช่องโหว่ ของระบบจัดเก็บภาษีโรงเรือน และที่ดิน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จัดเก็บอยู่ ให้มาอยู่ที่ กรมสรรพากรดำเนินการจัดเก็บทั้งหมด แล้วจึงจัดสรรคืนให้แก่ท้องถิ่น ในลักษณะเงินอุดหนุน
สำหรับอัตราภาษีที่จะจัดเก็บ ได้แบ่งเอาไว้ 3 ประเภท คือ 1. ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม เสียภาษีในอัตราไม่เกิน 0.5% 2. ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่ออยู่อาศัย เสียภาษีในอัตราไม่เกิน 1% ยกเว้นราคาไม่เกิน 1 ล้านบาทไม่ต้องเสียภาษี และ 3. ที่ดินเพื่อการพาณิชย์ ที่ดินอื่นๆ และที่ดินรกร้างว่างเปล่า เก็บในอัตราไม่เกิน 4 %
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่พบในปัจจุบันคือ ภารกิจในการประเมินราคาที่ดิน รังวัดที่ดิน ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมธนารักษ์ มีจำนวนที่ดินทั่วประเทศ กว่า 30 ล้านแปลง กรมธนารักษ์ เพิ่งจะทำการประเมินราคา และทำการรังวัดไปได้เพียง 7 ล้านแปลงเท่านั้น