xs
xsm
sm
md
lg

ธนาคารโลกให้ไทยอยู่อันดับ 26 ของประเทศที่น่าลงทุน ดีขึ้น 2 อันดับจากปีก่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ธนาคารโลกให้ไทยอยู่อันดับ 26 ของประเทศที่น่าลงทุน ดีขึ้น 2 อันดับจากปีก่อน ขณะที่สิงคโปร์ ครองอันดับ 1 เป็นปีที่ 9 พร้อมระบุ การจัดอันดับในปีนี้ ได้มีการเปลี่ยนแปลง 2 เรื่องหลัก

นายอูริค ซาเกา ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า ธนาคารโลกได้ประกาศผลการจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจในประเทศต่างๆ ทั่วโลกประจำปี 2558 ซึ่งเป็นการรายงานล่วงหน้า 1 ปี ผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์จากธนาคารโลก ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยผลวิจัยปรากฏว่า ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับดีขึ้น 2 อันดับ มาอยู่อันดับที่ 26 จาก 28 ในปี 2557 จากทั้งหมด 189 ประเทศทั่วโลก โดยประเทศสิงคโปร์ยังคงได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 1 ของโลกและของอาเซียนเป็นปีที่ 9

ส่วนจีนอยู่ในอันดับที่ 90 เพิ่มขึ้นจากเดิมที่อยู่ที่ 93, มาเลเซียอยู่อันดับที่ 18 เพิ่มขึ้นจากอันดับ 20, และเมียนมาร์เพิ่มขึ้นจากอันดับ 178 เป็น 177 ขณะที่ประเทศญี่ปุ่น ถูกลดอันดับลงจากอันดับที่ 27 เป็นอันดับที่ 29 เช่นเดียวกับฟิลิปปินส์ที่เดิมอยู่ที่อันดับ 86 เป็นอันดับที่ 95 และกัมพูชาลดลงจากอันดับที่ 134 เป็นอันดับที่ 135

นายอูริค กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นกรณีศึกษาที่ทำให้เห็นว่าการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยสามารถช่วยปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำธุรกิจได้มากขึ้น ซึ่งการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ตลอด 7 ปีที่ผ่านมาช่วยทำให้การส่งออกและการนำเข้าสะดวกมากขึ้น เนื่องจากใช้จำนวนเอกสารและเวลาน้อยลงกว่าครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับปี 2550

ด้านนางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา ที่ปรึกษาการพัฒนาระบบราชการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับดีขึ้น มาจากการที่หน่วยงานภาครัฐให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านการบริการอย่างต่อเนื่อง เช่น ด้านการขออนุญาตก่อสร้างที่กรุงเทพมหานครเป็นหน่วยงานหลัก โดยปรับปรุงการให้บริการ โดยมอบอำนาจให้สำนักงานเขตอนุญาตการก่อสร้างตึกขนาดเล็กที่มีความสูงตั้งแต่ 8 ชั้นลงมา จากเดิมให้เพียง 4 ชั้นลงมา รวมถึงการที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเปิดให้บริการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนและบริษัทข้ามเขต ณ ศูนย์บริการของกรมแห่งใดก็ได้ทั่วประเทศ นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีนโยบายจูงใจนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในไทย เช่น การขยายนโยบายลดค่าธรรมเนียมการโอนทรัพย์สินจากร้อยละ 2 เหลือร้อยละ 0.01 และการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจากร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 20 เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังต้องพัฒนาการบริการบางด้าน เช่น การได้รับสินเชื่อ การแก้ปัญหาการล้มละลาย และการคุ้มครองผู้ลงทุน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎหมาย ซึ่งต้องมีการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุน

ทั้งนี้ การจัดอันดับปีนี้มีการเปลี่ยนแปลง 2 เรื่องหลัก คือ วิธีการจัดอันดับ ซึ่งจากเดิมวิธีการเรียงลำดับผลการประเมินแต่ละด้านของทุกประเทศ เปลี่ยนเป็นการวัดโดยพิจารณาจากระยะห่างของผลการพัฒนาประสิทธิภาพของการปฏิบัติงานของหน่วยงานรัฐแต่ละตัวชี้วัดย่อยเทียบกับประเทศที่ดำเนินการดีที่สุด และการปรับขอบเขตการวัด 3 ด้าน คือ การได้รับสินเชื่อ การแก้ปัญหาการล้มละลาย และการคุ้มครองผู้ลงทุนรายย่อย


กำลังโหลดความคิดเห็น