ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ข่าวร้ายจากชายคนเดิมในช่วงใกล้ส่งท้ายปีไม่มีอะไรน่าหวาดผวาไปกว่าความมุ่งมั่นตั้งใจ “ปรับโครงสร้างราคาพลังงาน” ที่ฟังดูสุดเท่ห์ แต่เนื้อแท้คือการปรับราคาพลังงานทุกชนิดยกแผง ทั้งน้ำมัน ก๊าซฯ เพื่อคืนความทุกข์ให้กับประชาชนทุกหมู่เหล่า ไม่แบ่งแยกสี ไม่แบ่งฝักฝ่าย ไม่ว่าจะอยู่ใต้ดินหรือบนดิน โปรดรับของขวัญที่รัฐบาลคสช.ขอมอบให้จากใจกันไปถ้วนหน้า
ณ บัดนี้ เป็นที่ชัดเจนแล้วว่านายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.กระทรวงพลังงาน ได้เตรียมเสนอปรับโครงสร้างราคาพลังงานทุกชนิดต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. เป็นประธาน ภายในเดือนพ.ย. 2557 เพื่อให้มีผลต่อการปรับราคาขายปลีกพลังงานในเดือนธ.ค. 2557
การปรับโครงสร้างราคาพลังงานครั้งนี้ จะมีการทยอยปรับราคาพลังงานทุกประเภท ได้แก่ น้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล์ ดีเซล ก๊าซเอ็นจีวี และก๊าซแอลพีจีทั้งภาคขนส่งและครัวเรือน โดยนายณรงค์ชัย ข้ออ้างเหตุผลเดิมๆ คือเพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง แต่ก็ยังไม่วายตบหัวลูบหลังด้วยการโปรยยาหอมว่าจะค่อยๆ ปรับราคาแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อให้กระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด
ในส่วนของการปรับราคาน้ำมันนั้น จะมีการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นเพื่อให้ใกล้เคียงกับภาษีสรรพสามิตน้ำมันเบนซิน ซึ่งเวลานี้ภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลจัดเก็บที่ 3 บาทกว่าต่อลิตร แต่ขณะเดียวกัน กระทรวงพลังงาน จะปรับลดการส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมัน ที่เก็บจากดีเซลลิตรละ 3.7 บาทลงมาด้วย
แต่ก่อนจะถึงเวลาปรับใหญ่ มีการปรับเล็กขึ้นมารับการประชุม กพช. ชิมลางไปพลางๆ ก่อน โดยผู้ค้าน้ำมันได้ปรับขึ้นราคาน้ำมันขายปลีกดีเซลเพิ่มขึ้นลิตรละ 30 สต.มีผลตั้งแต่วันที่ 5 พ.ย. 2557 เป็นต้นไป โดยอ้างว่าค่าการตลาดต่ำเหลือเพียง 1 บาทต่อลิตร หลังจากราคาน้ำมันดีเซลสิงคโปร์ปรับขึ้นต่อเนื่องจากที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลให้ราคาขายปลีกดีเซลจะปรับมาอยู่ที่ 29.69 บาทต่อลิตร
ส่วนราคาก๊าซฯ นั้น ปัจจุบันต่ำกว่าราคาตลาดโลก โดยราคาหน้าโรงแยกก๊าซอยู่ที่ 330 เหรียญ/ตัน ซึ่งใช้ราคานี้มานานเกือบ 10 ปี ขณะที่ราคาตลาดโลกอยู่ที่กว่า 600 เหรียญ/ตัน แม้ว่าไทยจะใช้ก๊าซฯ จากอ่าวไทยสัดส่วน 80% แต่นายณรงค์ชัย บอกว่า แนวโน้มก๊าซฯ จากอ่าวไทยจะลดลง และจะนำเข้ามาจากพม่าและ LNG ที่นำเข้ามากขึ้นจะทำให้ราคาก๊าซฯ เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นจึงต้องค่อยๆ ปรับราคาก๊าซแอลพีจีขึ้นไป โดยกำหนดเวลาประมาณ 1 ปี จะปรับราคาพลังงานทั้งหมดตามราคาตลาดโลกได้สำเร็จ
แนวคิดแนวปฏิบัติในการปรับโครงสร้างราคาพลังงานของรัฐบาลคสช.ข้างต้น ย้ำให้เห็น กันอีกครั้งว่าไม่มีข้อเรียกร้องของภาคประชาชนอยู่ด้วยเลยแม้แต่น้อย เพราะนี่เป็นแนวทางที่ผลักดันกันมาโดยตลอดของกลุ่มทุนพลังงานและนอมินี ดังนั้น จึงไม่เห็นการกลับมาดูสูตรการกำหนดราคาน้ำมันอิงราคาสิงคโปร์ที่มีต้นทุนแฝงที่ไม่จำเป็นทั้งค่าขนส่ง ค่าประกันภัย ซึ่งเป็นต้นทุนที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงก็ยังคงอยู่ หรือการกำหนดราคาก๊าซฯ ที่มีสองมาตรฐาน โดยไม่ไปแตะราคาที่บริษัทลูกของปตท.สามารถซื้อก๊าซฯได้ในราคาต่ำกว่าตลาดโลกและผู้ใช้กลุ่มอื่นๆ เช่นเดิม
ไม่เฉพาะแค่เรื่องการปรับโครงสร้างราคาพลังงานเท่านั้นที่ไม่มีแนวความคิดเปลี่ยนแปลงแก้ไขเสียใหม่ตามข้อเรียกร้องของภาคประชาชนที่ทนแบกรับต้นทุนพลังงานไม่ไหวแล้ว แม้แต่เรื่องการให้สัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 ก็ยังไม่มีการทบทวนใดๆ ทั้งสิ้นเช่นกัน
ว่าแล้ว พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก็ออกมาแก้ต่างแทนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่อนุมัติให้เปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ โดยยกแม่น้ำทั้งห้ามาหว่านล้อมว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดในการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 เป็นการตัดสินใจทำไปเพื่อรับประกันความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประชาชนในอีก 5-9 ปีข้างหน้า ว่าจะไม่มีปัญหาขาดแคลนพลังงาน เพราะมีข้อมูลว่าหากไม่มีการสำรวจและผลิตเพิ่มประเทศไทยจะมีปิโตรเลียมใช้อีกเพียง 7 ปีเท่านั้น
นอกจากนั้น ยังแถมท้ายด้วยว่า เรื่องนี้รัฐบาลต้องทำให้เกิดความชัดเจนเพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุน ส่วนเสียงของประชาชนนั้นรัฐบาลจะฟังอย่างเต็มที่ผ่านทางสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยคาดว่าสปช.จะหาข้อสรุปในเบื้องต้นได้ในระยะเวลาก่อนถึงวันครบกำหนดการยื่นขอสิทธิ์ในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมครั้งที่ 21 หรือก่อนวันที่ 18 ก.พ. 2558
สำหรับผลตอบแทนที่ประเทศไทยจะได้รับการดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในครั้งนี้ พล.ต.สรรเสริญ สาธยายว่า จากอดีตที่ผ่านมา ผลตอบแทนที่ประเทศได้รับจะมาจาก 3 ส่วนหลัก คือ ค่าภาคหลวงปิโตรเลียม ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และเงินผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ คิดเป็น 58% จากผลกำไรทั้งหมด โดยผู้รับสัมปทานจะได้รับผลตอบแทน 42% จากผลกำไรทั้งหมด
แต่ในปัจจุบันสัญญาได้เรียกรับผลประโยชน์ในลักษณะ Thailand 3+ ซึ่งเรียกรับเงินเพิ่มจากเดิม 3 กรณี คือ 1. เงินสนับสนุนเพื่อการศึกษา พัฒนาชุมชนท้องถิ่น โดยในช่วงสำรวจไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาทต่อปี และในช่วงผลิตไม่น้อยกว่า 2 ล้านบาทต่อปี 2. Signature bonus ลงนามในสัญญาที่จะเริ่มสำรวจจ่ายก่อนไม่น้อยกว่า 2-100 ล้านบาทต่อแปลง และ 3. Production bonus จ่ายเมื่อการผลิตสะสมที่ 10, 20 และ 30 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ โดยแปลงบนบก 400 ล้านบาทต่อครั้ง และแปลงในทะเล 200 ล้านบาทต่อครั้ง ซึ่งจากการประเมินของกระทรวงพลังงาน ประเทศไทยจะได้รับผลตอบแทนภายใต้สัญญา Thailand 3+ ประมาณ 72% จากผลกำไรทั้งหมด
นั่นเป็นความภูมิใจในผลงาน “การปฏิรูปพลังงานเพื่อกลุ่มทุน” ของ คสช. ผลงานที่ประชาชนเดินดินกินข้าวแกงราคาแพงขึ้นได้แต่พากันสิ้นหวัง