รองโฆษกสำนักนายกฯ ชักแม่น้ำทั้งห้าเปิดสัมปทานรอบ 21 สุดจำเป็น อ้างยิ่งนานไปไทยเสี่ยงขาดแคลนพลังงาน แถรับฟังเสียง ปชช.ผ่าน สปช. แต่ขีดเส้นต้องได้คำตอบก่อน ก.พ.ปีหน้า ปั้นตัวเลขชี้ประเทศได้ประโยชน์ 72% จากผลกำไรทั้งหมด พร้อมยกเลิกสัญญาทุกเมื่อหากเสียประโยชน์
วันนี้ (5 พ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงข่าวชี้แจงข้อสงสัยต่อการเปิดสัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 21 ในหลายประเด็น โดยระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีแสดงความห่วงใยต่อประเด็นนี้ เนื่องจากประชาชนมีข้อสงสัยว่าการเปิดสัมปทานครั้งนี้ประเทศไทยได้ประโยชน์คุ้มค่าหรือไม่ เหตุใดจึงรีบดำเนินการ และได้มีการฟังเสียงจากประชาชนหรือยัง ตลอดจนการดำเนินการจะทำลายสิ่งแวดล้อมหรือไม่
ทั้งนี้ สาเหตุในการให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมครั้งที่ 21 เนื่องจากรัฐบาลต้องรับประกันต่อประชาชนทั้งประเทศว่าในอีก 5-9 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะยังมีพลังงานประเภทปิโตรเลียมจากทรัพยากรธรรมชาติในประเทศขึ้นมาใช้งานเพื่อรองรับความต้องการของประชาชนอย่างต่อเนื่อง หากประวิงเวลาออกไปประเทศไทยจะสุ่มเสี่ยงต่อภาวะขาดแคลนพลังงาน จากข้อมูลปริมาณปิโตรเลียมในปัจจุบันพบว่าหากไม่มีการสำรวจและผลิตเพิ่มเติม ประเทศไทยจะมีปิโตรเลียมใช้อีกเพียง 7 ปีเท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีประเด็นในเรื่องของความเชื่อมั่นของนักลงทุนอีกด้วย ซึ่งระยะเวลาที่ยังไม่มีข้อสรุปออกมาจะทำให้นักลงทุนขาดความมั่นใจแลอาจตกลงใจเลือกทำการสำรวจในประเทศอื่นก็ได้ แม้ว่าเรื่องนี้จะไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ก็ถือเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ จะเห็นได้จาก ณ เวลานี้ทั้งที่หลายบริษัทแสดงท่าทีว่าสนใจ แต่ก็ยังไม่มีบริษัทใดมายื่นขอสิทธิ์ต่อการเชื้อเพลิงธรรมชาติเลย
พล.ต.สรรเสริญกล่าวยืนยันว่า รัฐบาลพร้อมที่จะรับฟังเสียงของประชาชนอย่างเต็มที่ จะเห็นได้จากรัฐบาลถือว่าเรื่องพลังงานเป็นเรื่องสำคัญโดยได้ผลักดันเรื่องพลังงานให้เป็นวาระเร่งด่วนและขอให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้พิจารณาระดมความคิดจากทุกภาคส่วน เพื่อกำหนดแนวทางในการดำเนินงานซึ่งคาดว่า สปช.จะสามารถหาข้อสรุปในเบื้องต้นได้ในระยะเวลาก่อนถึงวันครบกำหนดการยื่นขอสิทธิ์ในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมครั้งที่ 21 หรือก่อนวันที่ 18 ก.พ. 58 ทั้งนี้ เวที สปช.เต็มไปด้วยผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งก็มีผู้ที่เห็นต่างรวมอยู่ด้วย จึงทำให้มั่นใจว่าข้อสรุปที่ออกมาจะเป็นข้อสรุปในเบื้องต้นที่ผ่านการพิจารณาบนพื้นฐานของข้อมูลและข้อเท็จจริง
รองโฆษกรัฐบาลกล่าวด้วยว่า ขณะที่กรณีความห่วงใยในเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนั้น ก่อนที่ผู้รับสัมปทานจะเริ่มทำการสำรวจในพื้นที่จะต้องมีกระบวนการสอบถามและต้องได้รับการยินยอมจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่ก่อน ตามหลักการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ส่วนประเด็นเรื่องผลประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการเปิดสัมปทานครั้งนี้นั้น ขอชี้แจงว่ารัฐบาลคำนึงถึงเหตุผลสำคัญ 3 ประการในการคัดเลือกบริษัทเข้ามารับสัมปทาน ได้แก่ 1. บริษัทที่ให้ประโยชน์ต่อประเทศสูงสุด 2. มาตรการในการดูแลผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และ 3. ขีดความสามารถที่จะทำจริงตามที่ได้ทำสัญญาไว้กับรัฐ โดยจะพิจารณาเงินทุน ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา โดยในทุกขั้นตอนของการสำรวจและผลิตจะมีกระบวนการตรวจสอบตามข้อสัญญา หากบริษัทคู่สัญญาไม่ได้ปฏิบัติเป็นไปตามนั้น เราสามารถยกเลิกสัญญาได้ในทันทีเพื่อรักษาผลประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติ
พล.ต.สรรรเสริญกล่าวอีกว่า สำหรับผลตอบแทนที่ประเทศไทยจะได้รับการดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในครั้งนี้ ในอดีตที่ผ่านมา ผลตอบแทนที่ประเทศได้รับจะมาจาก 3 ส่วนหลัก คือ ค่าภาคหลวงปิโตรเลียม ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และเงินผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ ซึ่งคิดเป็น 58% จากผลกำไรทั้งหมด โดยผู้รับสัมปทานจะได้รับผลตอบแทน 42% จากผลกำไรทั้งหมด แต่ในปัจจุบันสัญญาของเราได้เรียกรับผลประโยชน์ในลักษณะ Thailand 3+ ซึ่งเรียกรับเงินเพิ่มจากเดิมถึง 3 กรณี คือ 1. เงินสนับสนุนเพื่อการศึกษา พัฒนาชุมชนท้องถิ่น โดยในช่วงสำรวจไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาทต่อปี และในช่วงผลิตไม่น้อยกว่า 2 ล้านบาทต่อปี 2. Signature bonus ลงนามในสัญญาที่จะเริ่มสำรวจจ่ายก่อนไม่น้อยกว่า 2-100 ล้านบาทต่อแปลง และ 3. Production bonus จ่ายเมื่อการผลิตสะสมที่ 10, 20 และ 30 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ โดยแปลงบนบก 400 ล้านบาทต่อครั้ง และแปลงในทะเล 200 ล้านบาทต่อครั้ง
“เมื่อเริ่มต้นขุดเจาะแล้วจะต้องให้บริษัทของคนไทยร่วมประกอบกิจการอย่างน้อย 5% รวมทั้งใช้สินค้าและบริการจากคนไทยเป็นลำดับแรก อย่างไรก็ตาม จากการประเมินของกระทรวงพลังงานประเทศไทยจะได้รับผลตอบแทนภายใต้สัญญา Thailand 3+ ประมาณ 72% จากผลกำไรทั้งหมด โดยรายได้หรือกำไรจะอยู่บนพื้นฐานความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย” พล.ต.สรรเสริญระบุ