xs
xsm
sm
md
lg

ส่งความทุกข์รับปีใหม่ธ.ค.นี้ พลังงานขึ้นยกแผง "บิ๊กตู่"สั่งแจงข้อดีเปิดสัมปทาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน-"ณรงค์ชัย"เตรียมเสนอ กพช. ปรับโครงสร้างราคาพลังงานทุกชนิด ทั้งน้ำมันและก๊าซเดือนนี้ ก่อนให้ปรับขึ้นราคายกแผงในเดือนธ.ค. ระบุจะทยอยปรับขึ้นเพื่อให้สะท้อนความเป็นจริงและกระทบประชาชนน้อยที่สุด พร้อมจ่อเก็บภาษีสรรพสามิตดีเซลเพิ่ม และขยับราคาแอลพีจี เตือนคนใช้ดีเซล แอลพีจีครัวเรือน ขนส่ง ทำใจราคาพุ่งแน่ ปตท.ลุ้นปรับโครงสร้างพลังงาน ลดภาระขาดทุนปีละหลายหมื่นล้าน "บิ๊กตู่"สั่งแจงเปิดสัมปทานรอบ 21 ไทยมีแต่ได้กับได้

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุม "World National Oil Companies Congress Asia 2014" ที่จัดโดยบริษัท ปตท. ร่วมกับบริษัทพลังงานระดับโลก วานนี้ (5 พ.ย.) ว่า กระทรวงพลังงานเตรียมเสนอปรับโครงสร้างราคาพลังงานทุกชนิดต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในเดือนพ.ย.นี้ และคาดว่ามีผลปรับราคาขายปลีกพลังงานทั้งน้ำมันและก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ก๊าซธรรมชาติเหลวสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) ได้ภายในเดือนธ.ค.2557 เพื่อให้สะท้อนความเป็นจริง แต่จะทยอยปรับขึ้นเพื่อให้กระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด

ขณะเดียวกัน จะมีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น เพื่อให้ใกล้เคียงภาษีสรรพสามิตน้ำมันชนิดอื่นๆ ที่จัดเก็บอยู่ เนื่องจากปัจจุบันมีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตดีเซลต่ำมากอยู่ที่ 0.75 บาท/ลิตร แต่เพื่อให้กระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด จึงมีแผนที่จะปรับลดการส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันที่เก็บจากดีเซลอยู่ลิตรละ 3.7 บาทลง ส่วนการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตดีเซลจะเพิ่มขึ้นเป็น 3 บาท/ลิตรหรือไม่นั้น ยังตอบไม่ได้ คงต้องมีการหารือกับกระทรวงการคลังก่อน

ส่วนราคาแอลพีจีหน้าโรงแยกก๊าซธรมชาติ จะปรับเพิ่มขึ้นจากราคาควบคุมที่ใช้มานานเกือบ10 ปี ที่ระดับ 330 เหรียญสหรัฐ/ตัน เพื่อให้สะท้อนราคาตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น และยังสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง แต่จะเป็นราคาเท่าไร ยังเปิดเผยไม่ได้ เพราะต้องคำนวณจากราคาต้นทุนแอลพีจีที่ผลิตได้ในประเทศและราคานำเข้าทั้งแอลพีจี และแอลเอ็นจีมาถัวเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนัก

"การปรับขึ้นราคาแอลพีจีดังกล่าวนี้ ถือเป็นโอกาสที่เหมาะสมในช่วงราคาน้ำมันปรับลดลง โดยมีผลต่อราคาแอลพีจีในตลาดโลกอ่อนตัวลงตามมา ล่าสุดอยู่ที่ตันละ 605 เหรียญสหรัฐ ส่งผลให้เงินอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันสำหรับการนำเข้าแอลพีจีลดลง ทำให้กองทุนน้ำมันล่าสุดมีฐานะเป็นบวกแล้วกว่า 1,000 ล้านบาท ดังนั้น ภาพรวมหลังการปรับโครงสร้างราคาพลังงานใน 1 ปีนับจากนี้ ผู้ที่จะได้ประโยชน์ คือ กลุ่มผู้ใช้แก๊สโซฮอล์และน้ำมันเบนซิน ส่วนผู้ใช้น้ำมันดีเซล ก๊าซเอ็นจีวี และแอลพีจีภาคครัวเรือนและขนส่งน่าจะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นราคาบ้างเล็กน้อย"

นายณรงค์ชัยกล่าวถึงกรณีที่ในปัจจุบันมีการโปรโมทให้มีการก๊าซตามถนนหนทางมาก ทั้งที่ความจริงไม่มีท่อก๊าซฯ ไปถึงว่า ภายใน 1ปี นับจากนี้ จะออกกรอบการลงทุนระบบท่อน้ำมันและท่อก๊าซฯ และอาจจะต้องชะลอการใช้ก๊าซฯ ลงบ้าง ส่วนใครจะเป็นผู้ลงทุนท่อค่อยพิจารณา

"ที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นทาสของก๊าซ จากการเอาใจประชาชนแบบสุดซอย ทำให้เราต้องแก้ปัญหา ประชาชนอาจจะลำบาก เพราะคุ้นชิน ขณะที่โครงสร้างพื้นฐานยังไม่พร้อม ท่อเราก็ไม่มี เพราะฉะนั้นก็ต้องสร้างท่อ ตอนนี้ไม่มีท่อ จึงควรชะลอการใช้ก๊าซ"

นายณรงค์ชัยกล่าวว่า การเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 ในขณะนี้นักลงทุนให้ความสนใจสอบถามข้อมูลการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมดังกล่าวเป็นจำนวนมาก แม้ว่าจะเป็นแหล่งปิโตรเลียมขนาดเล็กและมีเงื่อนไขการตอบแทนรัฐเพิ่มขึ้น แต่จะทราบว่ามีผู้สนใจมากน้อยแค่ไหนคงต้องรอดูการยื่นสัมปทานที่แท้จริงในเดือนก.พ. 2558 อีกครั้ง

***ปตท.ยิ้มลดขาดทุนปีละหมื่นล้าน

นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ราคาน้ำมันตลาดโลกที่ลดลง ส่งผลให้ราคาต้นทุนแอลพีจีลดลงจากเดิมที่แอลพีจีบางช่วงราคามากกว่า 1,000 เหรียญสหรัฐ/ตัน แต่ปัจจุบันราคาแอลพีจีในตลาดโลกอยู่ที่ 605 เหรียญสหรัฐ/ตัน ขณะที่ต้นทุนการผลิตแอลพีจีจากโรงแยกก๊าซฯ ของ ปตท. อยู่ที่ 490 เหรียญสหรัฐ/ตัน แต่ถูกกำหนดให้ขายที่ 330 เหรียญสหรัฐ/ตัน ขณะที่ต้นทุนแอลพีจีที่มาจากโรงกลั่นน้ำมันเฉลี่ยที่ 540 เหรียญสหรัฐ/ตัน ดังนั้น หากให้ราคาแอลพีจีสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เชื่อว่าจะช่วยลดภาระแบกรับขาดทุนของ ปตท. ถึงปีละ 1 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ สัดส่วนการใช้แอลพีจีในประเทศไทยมาจากโรงแยกก๊าซฯ 46% โรงกลั่นน้ำมัน 27% และนำเข้าจากต่างประเทศ 27% ส่วนต้นทุนเอ็นจีวีที่แท้จริงอยู่ที่ 16 บาท/กก. แต่ราคาขายหน้าปั๊มอยู่ที่ 11.50 บาท/กก. ปตท.ยังแบกรับภาระอยู่ 4.50 บาท/กก.

อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นราคาเอ็นจีวีที่ผ่านมา ทำให้ปตท.ลดการขาดทุนลง 500 ล้านบาทจากปีก่อนที่แบกภาระขาดทุนถึง 1.8 หมื่นล้านบาท

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ใน 10 ปีข้างหน้า ความต้องการใช้แอลเอ็นจีจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากปัจจุบันและจะมีสัดส่วนถึง 30% ของภาพรวมการใช้พลังงาน โดยปัจุบันความสามารถในการผลิตและความต้องการใช้ก๊าซในโลกยังคงไม่สมดุล ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกขณะนี้อยู่ที่ 90 ล้านบาร์เรลต่อวัน

***"ประยุทธ์"สั่งแจงสัมปทานรอบ21คุ้มค่า

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงทำความเข้าใจให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลและข้อเท็จจริงต่อกรณีข้อสงสัยของสังคมเกี่ยวกับการเปิดสัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมครั้งที่ 21 ว่าประเทศไทยได้ประโยชน์คุ้มค่าหรือไม่ ทำไมถึงรีบดำเนินการ และได้มีการฟังเสียงจากประชาชนหรือยัง ตลอดจนการดำเนินการจะทำลายสิ่งแวดล้อมหรือไม่

พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า สาเหตุในการให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมครั้งที่ 21 เนื่องจากรัฐบาลต้องรับประกันต่อประชาชนทั้งประเทศว่าในอีก 5-9 ปี ข้างหน้า ประเทศไทยจะยังมีพลังงานประเภทปิโตรเลียมจากทรัพยากรธรรมชาติในประเทศขึ้นมาใช้งานเพื่อรองรับความต้องการของประชาชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากประวิงเวลาออกไป ประเทศไทยจะสุ่มเสี่ยงต่อภาวะขาดแคลนพลังงาน ซึ่งจากข้อมูลปริมาณปิโตรเลียมในปัจจุบัน หากไม่มีการสำรวจและผลิตเพิ่มเติม ประเทศไทยจะมีปิโตรเลียมใช้อีกเพียง 7 ปีเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นในเรื่องของความเชื่อมั่นของนักลงทุนอีกด้วย ซึ่งระยะเวลาที่ยังไม่มีข้อสรุปออกมาจะทำให้นักลงทุนขาดความมั่นใจและอาจตกลงใจเลือกทำการสำรวจในประเทศอื่นก็ได้ แม้ว่าเรื่องนี้จะไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ก็ถือเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ จะเห็นได้จาก ณ เวลานี้ทั้งที่หลายบริษัทแสดงท่าทีว่าสนใจ แต่ก็ยังไม่มีบริษัทใดมายื่นขอสิทธิ์กับการเชื้อเพลิงธรรมชาติเลย

***ยันรัฐบาลพร้อมรับฟังเสียงประชาชน

พล.ต.สรรเสริญ กล่าวยืนยันว่า รัฐบาลพร้อมที่จะรับฟังเสียงของประชาชนอย่างเต็มที่ จะเห็นได้จากรัฐบาลถือว่าเรื่องพลังงานเป็นเรื่องสำคัญโดยได้ผลักดันเรื่องพลังงานให้เป็นวาระเร่งด่วนและขอให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้พิจารณาระดมความคิดจากทุกภาคส่วน เพื่อกำหนดแนวทางในการดำเนินงานซึ่งคาดว่า สปช.จะสามารถหาข้อสรุปในเบื้องต้นได้ในระยะเวลาก่อนถึงวันครบกำหนดการยื่นขอสิทธิ์ในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมครั้งที่ 21 หรือก่อนวันที่ 18 ก.พ.2558 ทั้งนี้ เวที สปช.เต็มไปด้วยผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งก็มีผู้ที่เห็นต่างรวมอยู่ด้วย จึงทำให้มั่นใจว่าข้อสรุปที่ออกมาจะเป็นข้อสรุปในเบื้องต้นที่ผ่านการพิจารณาบนพื้นฐานของข้อมูลและข้อเท็จจริง

ส่วนกรณีความห่วงใยในเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ก่อนที่ผู้รับสัมปทานจะเริ่มทำการสำรวจในพื้นที่จะต้องมีกระบวนการสอบถามและต้องได้รับการยินยอมจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่ก่อน ตามหลักการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือ EIA

***มั่นใจประเทศได้ผลตอบแทนคุ้มค่า

สำหรับประเด็นเรื่องผลประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการเปิดสัมปทานครั้งนี้ ขอชี้แจงว่ารัฐบาลคำนึงถึงเหตุผลสำคัญ 3 ประการในการคัดเลือกบริษัทเข้ามารับสัมปทาน ได้แก่ 1.บริษัทที่ให้ประโยชน์ต่อประเทศสูงสุด 2.มาตรการในการดูแลผลกระทบสิ่งแวดล้อม และ 3.ขีดความสามารถที่จะทำจริงตามที่ได้ทำสัญญาไว้กับรัฐ โดยจะพิจารณาเงินทุน ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา โดยในทุกขั้นตอนของการสำรวจและผลิต จะมีกระบวนการตรวจสอบตามข้อสัญญา หากบริษัทคู่สัญญาไม่ได้ปฏิบัติเป็นไปตามนั้น เราสามารถยกเลิกสัญญาได้ในทันทีเพื่อรักษาผลประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติ

ทั้งนี้ ในอดีตที่ผ่านมา ผลตอบแทนที่ระเทศได้รับจะมาจาก 3 ส่วนหลัก คือ ค่าภาคหลวงปิโตรเลียม ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และเงินผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ ซึ่งคิดเป็น 58% จากผลกำไรทั้งหมด โดยผู้รับสัมปทานจะได้รับผลตอบแทน 42% จากผลกำไรทั้งหมด แต่ในปัจจุบันสัญญาของเราได้เรียกรับผลประโยชน์ในลักษณะ Thailand 3+ ซึ่งเรียกรับเงินเพิ่มจากเดิมถึง 3 กรณี คือ 1.เงินสนับสนุนเพื่อการศึกษา พัฒนาชุมชนท้องถิ่น โดยในช่วงสำรวจไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาทต่อปี และในช่วงผลิตไม่น้อยกว่า 2 ล้านบาทต่อปี 2.Signature bonus ลงนามในสัญญาที่จะเริ่มสำรวจจ่ายก่อนไม่น้อยกว่า 2-100 ล้านบาทต่อแปลง และ 3.Production bonus จ่ายเมื่อการผลิตสะสมที่ 10, 20 และ 30 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ โดยแปลงบนบก 400 ล้านบาทต่อครั้ง และแปลงในทะเล 200 ล้านบาทต่อครั้ง

“เมื่อเริ่มต้นขุดเจาะแล้วจะต้องให้บริษัทของคนไทยร่วมประกอบกิจการอย่างน้อย 5% รวมทั้งใช้สินค้าและบริการจากคนไทยเป็นลำดับแรก โดยจากการประเมินของกระทรวงพลังงาน ประเทศไทยจะได้รับผลตอบแทนภายใต้สัญญา Thailand 3+ ประมาณ 72% จากผลกำไรทั้งหมด โดยรายได้หรือกำไรจะอยู่บนพื้นฐานความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย” พล.ต.สรรเสริญกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น