xs
xsm
sm
md
lg

“ประยุทธ์” ตะเพิด “รสนา” ไปเวทีปฏิรูป เอาแน่เปิดสัมปทานปิโตรเลียม อ้างแก๊สจะหมดเกลี้ยงปี 2561

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี (ภาพจากแฟ้ม)
นายกฯ แจงเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ยันฟังข้อมูลสองด้าน แต่คู่กรณีต่างไม่ฟังกัน แจงแค่อนุมัติให้สำรวจ ผู้รับสัมปทานเสี่ยงอาจไม่เจอก็ได้ เรื่องแบ่งปันผลประโยชน์ต้องดูคุ้มหรือไม่ แต่ฝั่งราชการอ้างน้ำมันมีน้อย แก๊สบ่อเดิมจะหมดเกลี้ยงปี 61 หากไม่เจาะใหม่ก็ต้องซื้อ แจงไม่อยากขึ้นค่าก๊าซ แต่อ้างราคาถูกบิดเบือนตลอด ยันผลประโยชน์รัฐไม่เปลี่ยน ไล่ “รสนา” ไปว่ากันใน สปช. บ่นปวดหัวทำไงถึงจะเข้าใจ ให้พาณิชย์ดูเรื่องของแพง ไม่ห่วงกระทบจัดเก็บภาษี


วันนี้ (24 ต.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีที่มีการเรียกร้องให้ชะลอการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ออกไปก่อนว่า ต้องเข้าใจว่าการอนุมัติสัมปทานเป็นเรื่องของกระทรวงพลังงานที่มีหน้าที่ต้องจัดหาแหล่งพลังงานเพื่อให้มีการใช้งานอย่างเพียงพอภายในประเทศซึ่งต้องฟังข้อมูลจากส่วนราชการด้วย ถ้าฟังข้างนอกอย่างเดียวคงไม่ได้ ตนฟังทั้งสองทาง เวลามีปัญหาจากทางไหนตนก็ให้เขาตอบ ประเด็นสำคัญวันนี้คือต่างก็ไม่ฟังกัน ซึ่งความจริงต้องฟังว่าผิดถูกอย่างไร หากพูดคนละประเด็นอย่างนี้จะไปไม่ได้ ประเด็นเปิดสัมปทานปิโตรเลียม 29 แปลงจริงๆ แล้วเป็นสัมปทานเดิมที่กำลังจะหมดอายุและต้องต่ออายุ และที่ต้องต่อสัมปทานในตอนนี้เพราะถ้าจะต่อให้เขาทำ เขาต้องใช้เวลาในการลงทุนเพิ่ม โดยเราต้องให้เวลาเขาถ้าจะให้เขามาลงทุนโดยใช้เวลาเพียงปีเดียวจะไม่ทัน ขณะนี้เป็นขั้นตอนการอนุมัติให้ไปสำรวจ อาจจะเจอหรือไม่เจอก็ได้ ที่ผ่านมาการเจอน้ำมันมีน้อยมาก และแปลงพวกนี้เป็นแปลงที่เคยสำรวจแล้วไม่เจอ แต่เขาต้องทำต่อ และเขาเองต้องรับความเสี่ยงด้วย ขณะเดียวกัน ถ้าเราจะทำเองก็เจาะไม่ได้ จึงต้องเปิดสัมปทาน

ทั้งนี้ เราต้องไปดูเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์ให้รัฐว่าเพียงพอคุ้มค่าหรือไม่ แต่จากการฟังข้อมูลที่ได้รับจากส่วนราชการทราบว่ามีน้ำมันปริมาณไม่มาก แต่จำเป็นต้องมีไว้ เพราะแก๊สบ่อเดิมที่เราใช้อยู่จะหมดเกลี้ยงในปี 2561 หากไม่เจาะใหม่เพิ่มเติมไว้ในปี 2561 ต้องซื้อเข้ามาทั้งหมด แต่เรื่องการปรับผลประโยชน์กันอย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง และวันนี้เราต้องปรับราคาพลังงานตามราคาน้ำมันที่ซื้อเข้ามาผลิต ช่วงนี้ที่ราคาน้ำมันลดลงได้เพราะราคาข้างนอกลดลง ปัญหามี 2 ตัว คือ ดีเซล และแอลพีจี โดยแอลพีจีราคาต่างมากจากราคาต้นทุนการผลิต ซึ่งต้องไปดูเรื่องของโครงสร้าง ตรงนี้จะปฏิรูปอย่างไรเดี๋ยวไปว่ากันมา

ผู้สื่อข่าวถามว่า ประชาชนจะได้รับผลกระทบอย่างมากจากขึ้นราคาแอลพีจีที่ใช้กันในครัวเรือน พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ต้องช่วยกันคิด จริงๆ แล้วไม่อยากปรับราคาขึ้นอยากจะลดทุกอย่าง แต่ราคาที่ผ่านมาบิดเบือนตลอด อย่าไปพูดบริษัทปตท.อะไรนั่นเพราะไม่เกี่ยว ต้องพูดถึงการที่เมื่อเราเอาราคามาจากโรงแก๊ส ราคาบวกภาษีและบวกอะไรต่างๆ มาแล้ว ราคามันต่างกันถึง 6-7 บาท และรัฐก็ไปอุดหนุนราคาตรงนี้มาตลอดเพื่อให้ประชาชนไม่เดือนร้อน แต่อย่าลืมว่ามันมีปัญหาตามมา หากราคาปรับขึ้นมากกว่านี้เราจะทำอย่างไร ถ้าเราไม่สามารถให้คนเรียนรู้ว่าราคาจริงอยู่ที่เท่าไรและจะต้องประหยัดกัน ประเด็นสำคัญมันมีการลักลอบด้วย เราผลิตในประเทศใช้ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งลักลอบ ต้องไปไล่กวดกันอีก เพราะเท่ากับเราไปผลิตแก๊สให้เพื่อนบ้านใช้ด้วย ซึ่งเวลานี้เพื่อนบ้านแพงกว่าเรา

เมื่อถามว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์การแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาล แต่เป็นห่วงเรื่องการขึ้นราคาก๊าซหุงต้มที่กระทบต่อชาวบ้าน อาจมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจตามมาในภาพรวม พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า แน่นอน มันจะต้องแก้กัน ถ้าเราแก้อย่างเดียวแล้วจบมันไม่ใช่ รัฐบาลต้องไปแก้ทุกอันเพื่อให้เศรษฐกิจและประชาชนอยู่ได้ จากการไปประชุมอาเซมที่ประเทศอิตาลี หลายประเทศมีปัญหาอย่างนี้หมด เรื่องการให้เงินอุดหนุนจากรัฐของหลายประเทกำลังแย่อยู่ แม้กระทั่งในกลุ่มยูโรโซนก็มีปัญหาแบบนี้ เพราะเรื่องการเมืองซึ่งต้องดูแลประชาชนแบบนั้น

เมื่อถามว่า แต่ทางกลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานไทย นำโดย น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เรียกร้องให้มีการปฏิรูปพลังงานก่อนแล้วค่อยมาดำเนินการเรื่องเปิดสัมปทาน พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ตนไม่ต้องไปอธิบายท่าน ท่านไปปฏิรูปของท่านมา ตนพูดไปแล้วว่าถ้าท่านบอกว่าน้ำมันเรามี แต่มีจริงหรือไม่ ในประเทศมีมากเพียงพอหรือไม่ และน้ำมันที่มีกลั่นใช้เฉพาะในประเทศได้หรือไม่ ถ้าได้ก็ต้องตกลง ไปปรับกันตรงนั้น โรงกลั่นทั้งหมดไม่ต้องไปซื้อน้ำมันต่างประเทศ เอาน้ำมันในประเทศมากลั่นให้คนในประเทศใช้ แต่ระหว่างนั้นตรงนี้มันต้องเดิน เพราะเงินมันขึ้นทุกวัน เราใช้น้ำมันวันหนึ่งมหาศาล

เมื่อถามว่า ยืนยันหรือไม่ว่าผลประโยชน์ของรัฐจะไม่มีเปลี่ยน นายกฯ กล่าวว่า “โอ้ย ไม่มีเปลี่ยน เพราะสัมปทานไม่ใช่ว่าเขาขุดแล้วเจอ ที่ผ่านมาเขาขุดแล้วเจอไม่ถึง 1% แค่ 0.5% นี่คือ หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ฉะนั้น ถ้าพูดมาไม่มีหลักฐานยืนยันก็ไม่ได้ ต้องเอาหลักฐานมายันกัน เมื่อขุดเจอน้อยก็เอามาใช้ในประเทศได้น้อย เพราะสัมปานเป็นของเขา เมื่อไม่พอก็ต้องไปบวกซื้อเพิ่มนำเข้าเข้ามา และซื้อตามราคาตลาด ต้องแยกประเด็นออกจากกัน และที่จะเปิดสัมปทานใหม่ก็ไม่รู้ว่าเขาจะรับไปทั้งหมดหรือไม่ เพราะเขาเสี่ยง ที่แต่เราได้จากเขาคือ 1.ค่าสัมปทาน 2.จากที่เขาขุดมา 50% นำรายได้เข้ารัฐ แล้วยังมีเรื่องภาษีอะไรอีกเยอะแยะ ซึ่งในสัญญามีไว้อยู่แล้ว และสามารถปรับแก้ได้ แต่ตอนนี้ยังไม่มีอะไรเลย”

ต่อข้อถามว่า แต่ ครม.สามารถอนุมัติหรือไม่อนุมัติก็ได้ นายกฯ กล่าวว่า จริงๆ แล้วถ้าด้วยเหตุผลตามวิทยาศาสตร์อย่างไรก็ต้องอนุมัติ เพราะอีก 6 ปีข้างหน้าเราจะขาดพลังงาน บ่อแก๊สที่มีอยู่ในปัจจุบันจะใช้ได้แค่ประมาณปี 2561 วันนี้ถ้าไม่เตรียมการไว้ก่อน ถึงวันนั้นจะทำอย่างไรนั่นคือ สิ่งที่เราต้องรับผิดชอบ อนาคตของพวกเราทั้งวันนี้และวันหน้า ตนจึงบอกว่ามันเป็นปัญหา ขอให้ตามดู จริงแล้วกรอบการอนุมัติต่างๆ เป็นเรื่องของกระทรวงพลังงานที่จะต้องหาแหล่งพลังงานและนำมาให้ครม.รับทราบ วันนี้การเปิดสัมปทานใครจะได้หรือไม่ได้ยังไม่รู้ เพียงแต่เปิดให้เขาสมัครมา

เมื่อถามว่า นอกจากการชี้แจงภาคสื่อ จะชี้แจงเหตุผลความจำเป็นให้ภาคประชาชนเข้าใจอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า ก็ใครเรียกร้อง คุณรสนาใช่หรือไม่ เขาพยายามไปพูดแล้วก็ทะเลาะกันทุกที เพราะเขาไม่ฟัง แล้วตนจะต้องทำอย่างไร พูดแล้วเหมือนเดิมไม่รู้จะทำอย่างไร จึงต้องช่วยกันทำอย่างไรให้เขามาฟัง แล้วเอาเหตุผลมาว่ากัน จึงบอกว่าแยกกันให้ออกในเรื่องโครงสร้างของสถานประกอบการทั้งหมดเป็นอย่างไร น้ำมันมีมากน้อยอย่างไร อะไรซื้อเข้าซื้อออก อะไรเป็น ปตท. อะไรเป็นรัฐวิสาหกิจ ต้องแยกกันนี่คือ การปฏิรูปพลังงาน คุณรสนาต้องไปว่ากันในสปช. วันนี้ผลผลิตของเดิมจากหลายรัฐบาลที่ผ่านมาเป็นมาอย่างนี้เรามารับตรงท้ายคือ ราคาน้ำมันและราคาแก๊สในวันนี้ ฉะนั้น เราต้องแก้ตรงนี้ให้ได้ก่อนว่าทำอย่างไรให้รัฐบาลไม่ต้องนำเงินไปอุดหนุนตรงนี้เข้าไปอีก วันนี้อุดหนุนทุกอย่างทั้งข้าว ทั้งน้ำมัน ทั้งแก๊ส ทั้งยางพารา ที่เหลือจะกินอะไรกัน เงินมีเท่านี้ รัฐบาลจึงต้องลงทุนเพื่ออนาคตที่จะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ไม่เช่นนั้นเราจะไม่ทันเขา รายได้จะลดลง ทุกอย่างดรอปหมดทั้งประเทศ ไปไม่ได้

“ยอมรับว่าหนักใจทุกเรื่อง และที่พูดก็ให้รู้ว่าหนักใจ ปวดหัว แต่ก็ต้องทำ ข้อสำคัญคือ ต้องการได้รับความเข้าใจ พูดจากันดีๆ วันนี้ทั่วโลกเขามุ่งสู่การดูแลคนในประเทศให้ได้มากที่สุด หลายประเทศมีปัญหาแต่เขาสงบ ของเราปัญหามันทับซ้อนอยู่ ทั้งเรื่องการเมืองและอะไรต่างๆ เยอะแยะไปหมด นั่นคือสิ่งที่เราต้องแก้ไปพร้อมกัน รัฐบาลนี้มีปัญหาให้แก้เยอะ หลายเรื่อง เป็นปัญหาเก่าทั้งสิ้น ไม่ใช่ปัญหาใหม่ มีมานานแล้วแต่ไม่ได้รับการแก้ไข เพราะทำอะไรก็เดือดร้อนคนจน เรื่องค่าแก๊สทำไมผมจะไม่สงสารผมก็รู้เขามีรายได้วันละเท่าไร แต่มันต้องปรับตรงนี้เพื่อให้มีรายได้กลับเข้ามา และรัฐบาลจะดูแลอีกทางด้วย” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

เมื่อถามว่า การปรับขึ้นราคาแก๊ส เพดานสูงสุดอยู่ที่เท่าไร นายกฯ กล่าวว่า ตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 20 กว่าบาท เท่าที่จำได้ตัวเลขครั้งแรกต่างกันประมาณ 8 บาท โดยที่รัฐบาลเข้าไปอุดหนุนและเงินอุดหนุนก็มาจากการเก็บเงินภาษีน้ำมันต่างๆ มาโปะเข้าไป เงินกองทุนน้ำมันถึงได้หมดลง วันนี้พอปรับกองทุนน้ำมันก็กลับมา เดี๋ยวต้องมาดูอีกทีว่าจะใช้อย่างไร ที่ผ่านมามันบิดเบือน แล้วคนเราต้องเรียนรู้ว่าจะประหยัดน้ำมันและแก๊สกันอย่างไร เพราะเราค่อนข้างจะใช้กันอย่างเสรี ประเทศไทยถือว่าใช้กันมาก

ต่อข้อถามว่า ได้เตรียมการมาตรการรองรับราคาสินค้าที่จะปรับสูงขึ้นตามราคาแก๊สและน้ำมันอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า เรื่องนี้คุยกับกระทรวงพาณิชย์ตลอดว่าทำอย่างไรว่าจะขอร้องภาคนั้นภาคนี้ได้หรือไม่ เพราะพอปรับราคาน้ำมันกับแก๊สแต่ละพวกก็มีการเรียกร้องกันขึ้นมาอีก แล้วจะให้ทำอย่างไร ต้องช่วยกัน ไม่ใช่พอตรงนี้กระดิกภาคขนส่งก็ขึ้น ขึ้นกันใหญ่โตไปหมด ตนถามว่าขาดทุนกำไรกันหน่อยได้หรือไม่ ขอกันแค่นี้ ไม่ใช่จะเอากำไรเท่าเดิม ถ้าปล่อยให้ไปอย่างนี้ปัญหาจะเกิดกับรัฐ ตนไม่อยากไปรบกับใครทั้งสิ้น ยิ่งประชาชนด้วยยิ่งสงสารและเห็นใจ ทั้งพี่น้องเกษตรกรชาวนาผู้มีรายได้น้อย ต้องหาเช้ากินค่ำ เขาเดือดร้อนตนอยู่กับเขามาก่อน ไม่ใช่เป็นรัฐบาลแล้วไม่สนใจใครเลย อย่างเรื่องภาษีที่พูดกันว่าเป็นการรีดภาษีคนจนนั้นไม่ใช่ ที่ผ่านมาเขาไม่ทำเพราะเขาทำแล้วเกรงว่าจะส่งผลกระทบทางการเมือง แต่เราจำเป็นต้องทำเพื่อวางมาตรฐานประเทศให้ไปได้ในวันข้างหน้า ไม่เช่นนั้นเราจะล้ม

เมื่อถามอีกว่า ห่วงว่าจะกระทบต่อการจัดเก็บภาษีหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า เก็บไม่ได้ก็ไม่เก็บ ก็ปรับ เพราะปรับได้หมด ครม.ต้องดูว่าฟื้นตัวหรือไม่อย่างไร แล้วต้องทำอย่างไร ซึ่งที่ผ่านมามีการชะลอการจัดเก็บภาษี ถ้าสถานการณ์มันแย่สามารถชะลอการจัดเก็บภาษีได้ รัฐบาลต้องติดตามและเอาใจใส่ วันนี้รัฐบาลนึกถึงคนข้างล่างมากที่สุด มีทั้งปัญหาเก่า ปัญหาใหม่ และปัญหาในอนาคต ทุกวันนี้รัฐบาลไม่ได้ทำสบาย ต้องแก้ปัญหาทั้งหมด


กำลังโหลดความคิดเห็น