xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” แนะคัดเลือก สปช. บุคคลที่ยอมรับ เตือน “ขยับราคาดีเซล-โอนภาษีคนจน-ยืดหนี้จำนำข้าว” กระทบรัฐ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ภาพจากแฟ้ม)
หน.ปชป. ไม่หนักใจชี้แจง กกต. คดีแกนนำเสื้อแดงร้องยุบพรรค อยากให้ คกก. คัดเลือก สปช. เลือกบุคคลที่ได้รับการยอมรับ ชี้มักมีการวิ่งเต้น หากสังคมไม่ยอมรับงานปฏิรูปเดินยาก เตือน “ณรงค์ชัย” เตือนระวังขยับราคาดีเซลเกินเพดานจะกระทบไปทั่ว ระวังโอนภาษีช่วยคนจนทำประชานิยมอันตราย กังขา “หม่อมอุ๋ย” ยืดหนี้จำนำข้าวออกไป 30 ปี เตือนอย่าให้เป็นภาระยาวสะสม

วันนี้ (19 ก.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวก่อนเดินไปทางไปยังสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อชี้แจงต่อคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีที่ พ.ต.ต.เสงี่ยม สำราญรัตน์ แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงและคณะ ยื่นคำร้องยุบพรรคประชาธิปัตย์ ฐานทำผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ว่า ไม่มีความหนักใจใดๆ เพราะพรรคไม่เคยทำผิดทั้งรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้ง โดยพร้อมชี้แจงทุกประเด็น เนื่องจากจุดยืนของพรรคมีความชัดเจนอยู่แล้ว

นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงการเลือกสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่อยู่ในขั้นตอนสุดท้ายให้เหลือ 250 คน ว่า อยากให้คณะกรรมการคัดเลือก สปช. เลือกบุคคลทีได้รับการยอมรับ ซึ่งจะช่วยให้กระบวนการปฏิรูปมีโอกาสประสบความสำเร็จ เพราะหัวใจคือความรู้ ความสามารถ และความหลากหลาย อย่างไรก็ตาม การที่ไม่เปิดเผยรายชื่อผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อจากคณะกรรมการสรรหานั้นตนเห็นว่ามีทั้งข้อดี ข้อเสีย เพราะการสรรหาก็มักมีการวิ่งเต้น แต่ถ้าไม่มีการเปิดเผยก็ถูกมองได้ว่าสังคมไม่มีโอกาสตรวจสอบ แต่สุดท้าย กรรมการคัดเลือก และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องรับผิดชอบต่อการตัดสินใจของตัวเองอยู่แล้ว

“ยังไงก็ตามกระบวนการแบบนี้มีปัญหาเพราะในที่สุดเป็นเรื่องดุลพินิจของผู้มีอำนาจที่จะเลือก จะเปิดเผยหรือไม่เปิดเผยก็ทำอะไรไม่ได้เพราะขั้นตอนสุดท้ายอยู่ที่การตัดสินใจของกรรมการคัดเลือกและ คสช. จึงต้องดูที่รายชื่อ 250 คนว่า มีความเหมาะสมมากน้อยแค่ไหน เพราะหากสังคมไม่ยอมรับก็จะทำให้งานปฏิรูปเดินยาก ดังนั้น 250 คนที่ได้เป็น สปช. ต้องตระหนักว่ามีคนจำนวนมากที่สมัครแต่ไม่ได้และเป็นตัวแทนจากคนหลายกลุ่ม การทำงานของ สปช. จึงต้องเปิดกว้าง” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงกรณีที่ นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน ระบุว่า จะมีการขยับราคาก๊าซเอ็นจีวี และแอลพีจีภาคขนส่งในเดือนตุลาคมนี้ ว่า หากจะมีการปรับราคาก็น่าจะเป็นเหตุผลที่จะทำให้ราคาภาคขนส่งเท่ากับครัวเรือนเพราะปัจจุบันมีความแตกต่างกัน ซึ่งหลังจากนี้ก็อยากให้มองภาพรวมการปฏิรูปพลังงานให้เกิดความชัดเจนก่อน ซึ่งแนวคิดตนเห็นว่าทรัพยากรที่เป็นของคนทั้งชาติและมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ในภาคครัวเรือนควรจะได้ใช้ในราคาต้นทุน โดยต้องมีการคำนวณราคาต้นทุนที่โปร่งใสด้วย

ส่วนการขยับราคาดีเซลนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ต้องระมัดระวังเพราะถ้าขยับราคาเกินเพดานที่ทำให้ต้นทุนการผลิตและขนส่งเพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบไปหมด ไม่คุ้มกับที่คิดว่าประหยัดเงินจากการแทรกแซงในบางกรณี แต่ก็ต้องดูราคาน้ำมันดิบเป็นตัวหลักด้วยหากประคับประคองให้มีเสถียรภาพได้ก็ควรทำให้มีเสถียรภาพมากกว่า ทั้งนี้ตนได้เสนอแล้วว่าการจะเดินนโยบายด้านพลังงานหากยังไม่ตกผลึกก็ไม่ควรดำเนินการแต่ถ้ามั่นใจว่าไม่ขัดทิศทางปฏิรูปก็เดินได้เลย เช่น กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันปราบปรามการทุจริต ส่วนพลังงานความเห็นหลากหลายจึงอยากให้มีความชัดเจนในภาพรวมก่อน

นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงนโยบายรัฐบาลเกี่ยวกับ “เศรษฐกิจดิจิดอล” ว่า เป็นทิศทางที่ต้องให้ภาคเศรษฐกิจที่สัมพันธ์กับเทคโนโลยีเติบโตขึ้น แต่จากแนวคิดนี้ไปสู่มาตรการที่จำเป็นจะต้องมองผลกระทบที่จะเกิดจากโครงสร้างใหญ่และประโยชน์ที่จะใช้จากเทคโนโลยีว่าเป็นอย่างไร ทั้งนี้หากดำเนินการจริงก็จะมีส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจได้หากทำเป็นระบบ

ส่วนนโยบายโอนภาษีช่วยคนจนที่จะต้องใช้เงินกว่า 5 หมื่นล้านบาทต่อปีนั้น หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า แนวคิดดังกล่าวพรรคประชาธิปัตย์ก็เคยมีการศึกษาเรื่องนี้ โดยเห็นว่าจะช่วยเป็นกลไกในการกระจายรายได้ สามารถดึงคนเข้าสู่ระบบภาษีได้แต่ต้องระมัดระวังเพราะในอนาคตอาจถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดเป็นประชานิยมก็จะอันตรายมาก เนื่องจากจำนวนเงินที่ใช้สามารถเติบโตได้เร็ว ขณะเดียวกันก็ต้องสำรวจให้ชัดว่าคนพร้อมเข้าสู่ระบบภาษีจริง และต้องมีกลไกที่จะไม่ให้เป็นเรื่องดุลพินิจของฝ่ายการเมืองหรือนโยบายที่จะเพิ่มอะไรได้ตามใจชอบ

“หลักคิดนี้ต้องยืนยันว่าให้เฉพาะคนทำงานไม่ใช่ให้คนที่อยู่เฉยๆ ไม่ได้ทำงาน ซึ่งมีความพยายามเสนอใช้ในหลายประเทศ แต่ประเด็นสำคัญคือถ้าจะใช้กลไกนี้เป็นตัวหลักก็ต้องมีคำตอบว่านโยบายที่จะช่วยผู้ด้อยโอกาสตรงไหนยังมีอยู่ หรือจะเลิกตรงไหน จึงจะเห็นความเป็นธรรมในภาพรวมได้ และต้องมีระบบตรวจสอบด้วย ผมได้ให้ข้อสังเกตกับกระทรวงการคลังไปว่า มีความพร้อมแค่ไหนที่จะตรวจสอบเพราะหลายอาชีพได้รับการยกเว้นไม่อยู่ในระบบภาษี และช่องว่างที่จะมีคนไม่ได้ทำงานเข้ามาใช้ประโยชน์ ซึ่งกระทรวงการคลังหวังเรื่องการนำคนเข้าสู่ฐานภาษี หากพบว่ามีรายได้เมื่อไหร่ก็สามารถจัดเก็บได้ทันที” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เงินกว่าห้าหมื่นล้านที่จะใช้ในแต่ละปีกระทรวงการคลังคิดว่าคุ้มค่าในระยะยาว แต่ตนเคยถามไปว่ามั่นใจได้จริงหรือไม่ เพราะถ้าจะทำเรื่องนี้โดยไม่ทบทวนเรื่องความช่วยเหลือด้านอื่นไม่ได้ต้องเห็นภาพทั้งระบบว่าออกมาตรการนี้แล้วจะช่วยให้ภาระของรัฐลดลงหรือไม่ เนื่องจากผู้เสนอแนวคิดเรื่องนี้คิดว่าไม่ต้องไปช่วยเรื่องอื่นแล้วซึ่งเป็นไปได้ยาก โดยคิดว่าหากมีระบบนี้แล้วอาจจะลดภาระการช่วยเหลือเกษตรกร หรือ ผู้ด้อยโอกาสอื่น จึงไม่ควรพิจารณามาตรการนี้เพียงอย่างเดียวแต่ต้องคิดถึงความพร้อมในแง่การปรับฐานการจัดเก็บภาษีที่คิดว่าจะเพิ่มขึ้นมีมากน้อยแค่ไหน จะประหยัดค่าใช้จ่ายส่วนอื่นจากการใช้เครื่องมือนี้มาช่วยคนที่มีรายได้น้อยอย่างไร

“สิ่งที่รัฐบาลบอกว่าการทำเรื่องนี้ไม่ใช่ประชานิยมเพราะไม่ได้ใช้งบประมาณคงไม่ถูกต้อง เพราะการอ้างว่าเงินส่วนนี้หักไปก่อนที่จะเข้ามาเป็นรายได้ของรัฐแล้วบอกไม่ใช่เงินงบประมาณนั้นจะคิดอย่างนี้ไม่ได้ แม้ว่ามาตรการนี้จะมีเหตุผลในทางเศรษฐศาสตร์แต่ขอย้ำว่าต้องมาพร้อมกับการปรับฐานการจัดเก็บภาษี ระบบตรวจสอบ และการลดภาระด้านอื่น ๆควบคู่ไปด้วย” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

ส่วนกรณีที่หม่อมราชวงศ์ ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า มีแนวคิดที่จะยืดการชำระหนี้โครงการจำนำข้าว 7 แสนล้านบาท ออกไป 30 ปีว่า ยังไม่ทราบเหตุผลว่าจะทำเพื่ออะไรแต่ต้องคิดถึงภาระดอกเบี้ยที่จะเกิดขึ้นด้วย ซึ่งตนคิดว่าปัญหาของผู้ที่เข้ามาบริหารทั้งตอนนี้และอีกหลายปีข้างหน้าปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐบาลไทยต้องชำระหนี้เหล่านี้ จึงต้องหาความสมดุลย์ว่าอย่าให้เป็นภาระยาว สะสม แต่อย่าให้กลายเป็นข้อจำกัดจนรัฐบาลไม่มีเงินในการบริหารได้เลยในช่วงสามสี่ปีข้างหน้า ซึ่งตนคิดว่าหากจัดงบชำระหนี้ในวงเงิน 7 หมื่นล้านบาทต่อปีก็ควรทำ และหากรัฐบาลชุดนี้สามารถทำให้เห็นได้ว่ามีการลดปัญหาการทุจริตได้ก็จะมีเงินมากพอที่จะลงทุน มากกว่าจะไปตั้งเป้าผลักภาระหนี้ส่วนนี้ไปให้รัฐบาลในอนาคตรับผิดชอบแทน


กำลังโหลดความคิดเห็น