xs
xsm
sm
md
lg

จับตารอดูผลงาน “รัฐบาลบิ๊กตู่” เก็บภาษีมรดก-ปฏิรูปพลังงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผ่าประเด็นร้อน

ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันศุกร์ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้เห็นลีลาแบบเต็มๆ ของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี โชว์เดี่ยวไมโครโฟนกลางที่ประชุม สนช. ใช้เวลาทอล์กโชว์กว่าสองชั่วโมงกับการยืนร่ายคำแถลงนโยบายคณะรัฐมนตรี 11 ด้าน ผสมกับคำปรารภต่างๆ ถึงการเข้ามาบริหารประเทศในสถานการณ์พิเศษของรัฐบาล

ทั้งนี้ เมื่อส่องคำแถลงนโยบายรัฐบาลความยาว 23 หน้าจะพบว่า แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะบรรจุรายละเอียดแผนงานนโยบายของรัฐบาลไว้ 11 ด้าน เช่น การปกป้องและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ - การรักษาความมั่นคงของรัฐและการต่างประเทศ - การลดความเหลื่อมลํ้าของสังคม และการสร้างโอกาสการเข้าถึงบริหารของรัฐ - การศึกษาและเรียนรู้ การทำนุบำรุงศาสนา ศิลปวัฒนธรรม

แต่หัวใจสำคัญของคำแถลงนโยบายรัฐบาลที่จะเป็นคำมั่นสัญญาทางการเมืองตลอดไปของรัฐบาลชุดนี้จะพบว่าไปอยู่ในช่วงท้ายๆ ของคำแถลงนโยบาย ที่เน้นย้ำเรื่องการให้ความสำคัญกับการปฏิรูปประเทศ สรุปความได้ว่า รัฐบาลมองว่าปัญหาประเทศในแต่ละด้านทั้งการเมือง กระบวนการยุติธรรม เศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำ การศึกษา ล้วนจำเป็นต้องมีการผ่าตัดครั้งใหญ่ ผ่านกระบวนการปฏิรูปด้านต่างๆ

แต่ได้เน้นย้ำในตอนท้ายว่า ในภารกิจปฏิรูปหลายด้าน “งานปฏิรูปด้านการเมืองคืองานเร่งด่วนที่สุด” ที่ต้องทำควบคู่กับการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน

ภารกิจเรื่องการปฏิรูปประเทศที่ได้รับความสนใจจากประชาชนหลายภาคส่วนเห็นได้จากการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีมากเกินกว่า 7 พันคน ถือเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ประเทศเรื่องปฏิรูป รัฐบาลเห็นว่าไม่ได้ให้มีแค่ สปช. แต่จะสนับสนุนให้มีกลุ่มปฏิรูปปัญหาบางเรื่องทำแบบคู่ขนานกันไปกับสภาปฏิรูปฯ

และเมื่อลงรายละเอียดในแต่ละกรองนโยบายทั้ง 11 กรอบข้างต้น ก็มีบางประเด็นที่น่าสนใจ ที่ต้องติดตามว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จะทำได้จริงอย่างที่บอกไว้หรือไม่ เช่น

1. เรื่องการปกป้องและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ รัฐบาลบอกว่าจะปกป้องรักษาพระบรมเดชานุภาพ โดยจะใช้มาตรการทางกฎหมาย ระบบการสื่อสารและเทคโนโลยี ในการดำเนินการกับผู้คะนองปาก ย่ามใจ หรือประสงค์ร้าย มุ่งสั่นคลอนสถาบันหลักของชาติ ตลอดจนเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์

2. การรักษาความมั่นคงของรัฐและการต่างประเทศ แบ่งเป็นระยะเร่งด่วน โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนในด้านต่างๆ เช่น การแก้ไขปัญหาเส้นเขตแดนโดยใช้กลไกทั้งระดับทวิภาคีและพหุภาคี

รัฐบาลย้ำว่าให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยระบุชัดว่าจะส่งเสริมการพูดคุยสันติสุขกับผู้มีความคิดเห็นต่างจากรัฐ และเพิ่มระดับปฏิสัมพันธ์กับต่างประเทศและองค์กรระหว่างประเทศที่อาจช่วยแก้ปัญหาได้ และจะใช้ระบบการฑูตแบบบูรณาการมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนในด้านต่างๆ ตลอดจนยืนยันว่าจะต้องมีการพัฒนาศักยภาพของกองทัพ และระบบป้องกันประเทศให้ทันสมัย

3. การลดความเหลื่อมลํ้าของสังคม และการส้รางโอกาสการเข้าถึงบริหารของรัฐ พบว่าแม้รัฐบาลจะระบุไว้ว่า ความเหลื่อมล้ำเป็นสาเหตุสำคัญของความขัดแย้ง แต่ก็พบว่าไม่ได้มีการระบุถึงนโยบายอะไรที่เป็นรูปธรรมหรือแปลกใหม่มากนัก ที่น่าสนใจก็มีบางเรื่อง เช่น จะแก้ปัญหาเรื่องที่ดินทำกินโดยจะมีมาตรการป้องกันการเปลี่ยนมือสิทธิการถือครองที่ดินไปอยู่กับคนที่ไม่ใช่เกษตรกร โดยใช้วิธีแผนการด้านแผนที่อันทันสมัย

4. การศึกษาและเรียนรู้ การทำนุบำรุงศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ชูนโยบายจะเน้นเรื่องการปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้ โดยให้ความสำคัญกับการศึกษาในระบบและการศึกษาทางเลือก จะมีการปรับเปลี่ยนการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการศึกษาให้สอดคล้องกับความจำเป็นของผู้เรียนและลักษณะของพื้นที่การศึกษา รวมถึงระบบการกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาด้วย โดยจัดให้มีคูปองการศึกษาเป็นอีกหนึ่งทางเลือก

5. การยกระดับคุณภาพบริการด้านสาธารณสุข และสุขภาพของประชาชน เน้นเรื่องการวางรากฐานให้ระบบหลักประกันสุขภาพครอบคลุมประชากรในทุกภาคส่วนอย่างมีคุณภาพโดยไม่มีความเหลื่อมล้ำของการบริการ เป็นต้น

6. การเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ พบว่าเป็นแนวนโยบายที่ได้รับความสนใจและพูดถึงอย่างมากเพราะระบุว่าจะมีการปรับปรุงโครงสร้างอัตราภาษีทางด้านการค้า และขยายฐานการจัดเก็บภาษีประเภทใหม่ ซึ่งจะเก็บจากทรัพย์สิน เช่น ภาษีมรดก ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง  และยกเลิกการยกเว้นภาษีประเภทที่เอื้อประโยชน์กับผู้ที่มีฐานะการเงินดี เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น พร้อมทั้งปฏิรูปโครงสร้างราคาเชื้อเพลิงประเภทต่างๆ ให้สอดคล้องกับต้นทุน และให้มีภาระภาษีที่เหมาะสม ระหว่างน้ำมันต่างชนิดและผู้ใช้ต่างประเภท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของประเทศ

รัฐบาลยังบอกด้วยว่าจะมีการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐที่เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลที่ผ่านมา ซึ่งมีจำนวนสูงมากกว่า 700,000 ล้านบาท และเป็นภาระงบประมาณภายใน 5 ปีข้างหน้า อันจะทำให้เหลืองบประมาณเพื่อการลงทุนพัฒนาประเทศน้อยลง โดยประมวลหนี้เหล่านี้ให้ครบถ้วน หาแหล่งเงินระยะยาวมาสะสางหนี้ทั้งหมด และยืดระยะเวลาชำระให้นานที่สุด เพื่อลดภาระของงบประมาณในอนาคต

7. การส่งเสริมบทบาทและการใช้โอกาสในประชาคมอาเซียน

8. การพัฒนาและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา และนวัตกรรม

9. การรักษาความมั่นคงของฐานทรัพยากร และการสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์กับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน

10. การส่งเสริมการบริหารราชการแผ่นดินที่มีธรรมาภิบาล และการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ อาทิ ปรับปรุงระบบราชการทั้งระบบตั้งแต่ระดับประเทศ ภูมิภาคและท้องถิ่น ทบทวนโครงสร้างหน่วยงานภาครัฐที่มีอำนาจซ้ำซ้อน เสริมสร้างระบบคุณธรรมในการแต่งตั้งโยกย้ายบุคลากรภาครัฐ ยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมาย ระเบียบต่างๆ เช่นระเบียบจัดซื้อจัดจ้างที่เปิดช่องให้ทุจริต สนับสนุนองค์กรภาคีภาคเอกชนและเครือข่ายต่างๆ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อต่อต้านการทุจริต

และ 11. การปรับปรุงกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ชี้ว่า หลักนิติธรรม กระบวนการยุติธรรมต้อง เข้าถึงได้ง่าย มีมาตรฐานตามหลักสากล ทันสมัยและเป็นธรรม ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นสาเหตุแห่งความขัดแย้ง โกรธแค้นชิงชังไม่สิ้นสุด

ดังนั้น ในเฉพาะหน้ารัฐบาลจะเร่งปรับปรุงประมวลกฎหมายหลักของประเทศ ที่ล้าสมัยไม่เป็นธรรม จะมีการจัดตั้งองค์กรปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่ปราศจากการแทรกแซงของรัฐ

อย่างไรก็ตาม เรื่องนโยบายอะไรต่างๆ มันก็แค่ ถ้อยคำสวยหรูที่องค์กรภาครัฐและเอกชนจะคิดบรรจงเขียนกันออกมาเพื่อทำให้ตัวเองดูดี มีราคา  แต่สิ่งสำคัญคือ เขียนแล้วทำได้จริงอย่างที่บอกไว้หรือไม่ หากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ทำได้จริง ส่วนรวมก็ได้ประโยชน์ แต่หากทำไม่ได้อย่างที่พูด ความเสื่อมก็จะมาถึงโดยเร็ว 
กำลังโหลดความคิดเห็น