xs
xsm
sm
md
lg

สปท.หวั่นร่าง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ขัดรัฐธรรมนูญ ชี้ ปกปิดยกเว้นจัดจ้างที่ปรึกษา - เหมารวม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ชาญชัย อิสระเสนารักษ์ (ภาพจากแฟ้ม)
อนุกรรมาธิการฯ ปราบปรามการทุจริต สปท. กังวลร่าง พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ มีพิรุธ ปกปิดไม่ให้ประชาชนรับรู้ โดยเฉพาะในรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวกับการพาณิชย์โดยตรง แถมยังยกเว้นการจัดจ้างที่ปรึกษาทั้งที่มีการทุจริตมาก ยกเว้นไม่ให้ดำเนินการกับการจ้างแบบเหมารวม เปิดช่องคอร์รัปชั่น จี้แก้ไขร่างนี้หวั่นขัดกับรัฐธรรมนูญ

วันนี้ (4 ก.พ.) นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ รองประธานอนุกรรมาธิการศึกษาเสนอแนะมาตรการและกลไกในการปราบปรามการทุจริต สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เปิดเผยถึงการประชุม ที่มี พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป เป็นประธาน แถลงชี้แจงเกี่ยวกับความกังวลในร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. ... ว่า ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว พบว่า มีพิรุธเพราะมีการปกปิดไม่ให้ประชาชนรับรู้ โดยเฉพาะในมาตรา 7 ที่ระบุยกเว้นไม่ให้ พ.ร.บ. ฉบับนี้บังคับใช้แก่การจัดซื้อจัดจ้างในรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวกับการพาณิชย์โดยตรง ซึ่งไม่มีการให้นิยามที่ชัดเจนว่า หมายถึงหน่วยงานใดบ้าง อาทิ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) องค์การคลังสินค้า (อคส.) จะเกี่ยวข้องกับพาณิชย์โดยตรงหรือไม่ ทั้งยังยกเว้นไม่ให้ใช้กฎหมายนี้กับการวิจัย หรือการจ้างที่ปรึกษา ซึ่งในอดีตพบว่า การจัดจ้างที่ปรึกษามีการทุจริตมาก แต่ได้รับการยกเว้น เช่น ยกเว้นไม่ให้ใช้กับการดำเนินการโดยใช้เงินกู้หรือเงินช่วยเหลือ ซึ่งการกู้เงินทำรถไฟฟ้า เมกะโปรเจกต์ ก็เข้าข่ายได้รับการยกเว้นด้วย ซ้ำยังปกปิดเนื้อหา และขัดแย้งกับหลักการของร่างรัฐธรรมนูญที่ระบุเจตนาว่า ต้องการต่อต้านการทุจริต

ส่วนในมาตรา 60 ที่ระบุว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้ยังยกเว้นไม่ให้ดำเนินการกับการจ้างแบบเหมารวม ซึ่งไม่อาจจัดให้มีรูปแบบรายการก่อสร้างได้ หมายถึงรูปแบบวิธีเทิร์นคีย์ รวมถึงการออกแบบและก่อสร้างไปพร้อมกันหรือ ดีไซน์แอนด์บิวด์ได้ ซึ่งเป็นช่องทางทุจริตคอร์รัปชัน เช่น โครงการบริหารจัดการน้ำตาม พ.ร.ก. เงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท ที่ให้บริษัทจากประเทศเกาหลีใต้ดำเนินการ ที่สังคมไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า มีการทุจริตหรือไม่ ที่สำคัญคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถามเรื่องนี้ไปที่คณะกรรมการกฤษฎีกา ที่มาชี้แจงพบว่ามาตรานี้ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เป็นผู้ร่างขึ้นมาเอง เพราะเป็นหัวหน้าคณะกฤษฎีกาคณะที่ 1 โดยเฉพาะกรณีที่นายกฯ หรือรัฐมนตรีกระทำการเกี่ยวพันตามมาตรา 60 ยังจะได้รับการยกเว้น ไม่สามารถถูกถอดถอนตามาตรา 63 ของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (พ.ร.บ. ป.ป.ช.) หรือทำได้เพียงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่ถอดถอนไม่ได้ ดังนั้น อนุกรรมาธิการจึงได้เสนอให้มีการแก้ไขร่าง พ.ร.บ. นี้ เพื่อให้นายกฯ แก้ไขในมาตราที่เป็นปัญหา เพื่อจะได้ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญที่มีนายมีชัยเป็นผู้ร่าง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปราบโกง แต่ พ.ร.บ. ฉบับนี้กลับมีการอุ้มการโกง และไม่ให้มีการตรวจสอบการโกงมันกลับสวนทางกันเองซึ่งจะเป็นปัญหาในวันหน้าถ้ากฎหมายนี้ออกมาบังคับใช้


กำลังโหลดความคิดเห็น