xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

คสช.ตรวจ“เมกะพันล้าน”ถึงไหนแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -วันก่อนที่ประชุม คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเห็นชอบให้สำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินการรวบรวมมาตรการป้องกันการทุจริต เพื่อเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อพิจารณาและสั่งการให้หน่วยงานของรัฐนำไปปฏิบัติ 3 กลุ่ม

โดยเฉพาะกลุ่ม 1มีการข้อเสนอมาตรการป้องกันการทุจริต ที่เกี่ยวข้องกับโครงการของภาครัฐที่กำลังเดินหน้ากันอยู่ ดูแล้วน่าจะเฉพาะโครงการการลงทุนมูลค่าเกินระดับ 1 พันล้านบาท เช่น 1.โครงการจัดซื้อรถโดยสารสาธารณะใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) จำนวน 3,183 คัน ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ วงเงิน 13,162 ล้านบาท 2.โครงการระบบบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศ มูลค่า 3.5 แสนล้านบาท

ข้อเสนอทั้งหมดนี้ กำลังจะเป็นดาบที่อยู่ในฝัก เฝ้ารอ คสช.ชักออกมาฟาดฟัน พวกขี้ฉ้อ
   
สอดคล้องกับนโยบาย หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ  (คสช.) ที่มีคำสั่งให้ตรวจสอบโดยเฉพาะโครงการการลงทุนมูลค่าเกินระดับ 1 พันล้านบาท มีการตั้งคณะกรรมการพิเศษข้ามกระทรวง อยู่เหนือโครงสร้างธรรมดา เข้ามาดูหลังจาก คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบ การใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ(คตร.) ที่มีพล.ท.อนันตพร กาญจนรัตน์ ปลัดบัญชีทหารบกเป็นประธานได้ประชุมวางแนวทางการติดตามโครงการที่มีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านบาทของปีงบประมาณ 2557 โดยได้ส่งอนุกรรมการลงพื้นที่ติดตามตรวจสอบ 8 โครงการในช่วงวันที่ 16-18 มิถุนายน ที่ผ่านมา และบางโครงการก็มีคำสั่งให้ชะลอไปแล้ว

จากข้อมูลที่สำนักงบประมาณ ชี้แจง คสช. พบว่า งบลงทุนระดับตั้งแต่ 1 พันล้านบาท ที่เป็นรายการผูกพันใหม่ในปีงบ 2557 จำนวน 28 โครงการ เป็นวงเงินปีงบ 2557 จำนวน 7.33 พันล้านบาท  (จากวงเงินรวมทั้งสิ้น  5.20 หมื่นล้านบาท)  ที่ผ่านมามี 7 โครงการที่ผ่านการพิจารณาอนุมัติการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบ 2557 จากหัวหน้าคสช.แล้ว เป็นวงเงินปีงบ 2557 รวม 1.81 พันล้านบาท (วงเงินรวมทั้งสิ้น 1.35 หมื่นล้านบาท) และอยู่ระหว่างการเร่งดำเนินการก่อหนี้ผูกพันให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 30 กันยายน 2557

เรื่องนี้ ต่อเนื่องจากที่ คสช. ได้สั่งการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2557 ให้จบภายในสิ้นเดือนกันยายน 2557 นี้ โดยให้ได้ตามเป้าหมายที่ 95%  ของรายจ่ายปีงบประมาณ 2557 (งบรายจ่ายรวม 2.525 ล้านล้านบาท) หรือประมาณ 2.4 ล้านล้านบาท  หลังช่วงมา 8 เดือนเศษ งบรายจ่ายด้านลงทุนพึ่งอนุมัติไปเพียง 1.95 แสนล้านบาทหรือประมาณ 40% เศษของงบลงทุนรวมที่ 4.864 แสนล้านบาท

โดยหัวหน้าคสช. ถึงกับระบุว่า “หากลดการรั่วไหล ทุจริตได้ก็สามารถลดการใช้จ่ายงบประมาณได้อย่างน้อย 10 - 30%”

ล่าสุดความคืบหน้าการตรวจสอบโครงการลงทุนของภาครัฐที่มีขนาดการลงทุนเกินกว่า 1,000 ล้านบาท มีความคืบหน้าในโครงการเร่งด่วนใน 12 โครงการ แบ่งเป็นโครงการที่ คตร.มีมติให้ยกเลิกการดำเนินโครงการจำนวน 2 โครงการ ได้แก่

1.โครงการของบประมาณสำหรับซ่อมหัวรถจักรของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) วงเงิน 3,300 ล้านบาท โดยมองว่าหัวรถจักรที่ใช้งานมากว่า 40 ปีมีความชำรุดและเก่ามากกว่าที่ตั้งงบประมาณมาซ่อมแซม โดย รฟท.สามารถเสนอโครงการอื่นๆเข้ามาเพื่อใช้งบประมาณอื่นๆ โดย คตร.มองว่าหากสามารถจัดซื้อรถไฟใหม่ได้จะมีความเหมาะสมกว่า

2.โครงการจัดการเรียนการสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์พกพา (แทบเล็ต) ระยะที่ 4 ของกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร งบประมาณ 7,000 ล้านบาท คตร.ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการเสนอโครงการอื่นๆ มีวัตถุประสงค์ที่คล้ายกันเข้ามาใหม่ โดยยังไม่มีการตัดงบประมาณจำนวนดังกล่าว

สำหรับโครงการที่ คตร.ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนมี 4 โครงการใหม่ เนื่องจากมีงบประมาณสูงเกินไป หรืออาจใช้งบประมาณไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ ขาดเหตุผลที่ชัดเจนในการดำเนินการ โดยให้มีการทบทวนราคากลางและการจัดทำระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง (ทีโออาร์) ใหม่ให้สอดคล้องกับระเบียบราชการ ได้แก่

1.โครงการจัดซื้อหัวรถจักรใหม่ของ รฟท. วงเงิน 5,000 ล้านบาท 2.โครงการจัดซื้อโบกี้รถไฟของ รฟท.วงเงิน 6,000 ล้านบาท 3.โครงการระบบตรวจสอบและคัดกรองผู้โดยสารล่วงหน้า (APPS) ของบริษัท การท่าอากาศยาน แห่งประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.วงเงิน 8,300 ล้านบาท 4.กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ของ สำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) วงเงิน 10,335 ล้านบาท

โดย คตร.ตรวจสอบพบว่ามี 23 โครงการย่อยที่มีการใช้เงินไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน ใช้เงินอย่างไม่ประหยัด ไม่ก่อให้เกิดผลในการประหยัดพลังงานที่ชัดเจน ทั้งนี้ จากการพูดคุยกับผู้บริหารกองทุนฯ เบื้องต้นกองทุนพร้อมที่จะยกเลิกโครงการย่อย 10 โครงการ และขอดำเนินการต่ออีก 9 โครงการ ขณะที่อีก 5 โครงการจะมีการทบทวนและอาจมีการเสนอโครงการใหม่เข้ามาแทน

ส่วนโครงการที่ คตร.จะตรวจสอบเพิ่มเติม ได้แก่ 1.โครงการก่อสร้างพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟส 2 ปี 2554-2560 ของบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) วงเงิน 6.2 หมื่นล้านบาท โดย คตร.ได้มีการพูดคุยกับผู้บริหารของ ทอท.แล้วคาดว่าจะสามารถ ปรับลดวงเงินลงทุนได้เป็นหลักพันถึงหลักหมื่นล้านบาท 2.โครงการสร้างโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 3 ของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) วงเงิน 19,980 ล้านบาท ซึ่ง คตร.ต้องการให้มีการปรับปรุงเรื่องความโปร่งใสและการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างภาครัฐกับเอกชน รวมทั้งต้องการตรวจสอบด้วยว่าภาครัฐเป็นผู้เสียประโยชน์หรือได้ประโยชน์ในโครงการเหล่านี้

และ 3.โครงการสนับสนุนประชาชนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล หรือโครงการแจกคูปองทีวีดิจิตอล ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) วงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท โดยเรื่องนี้ให้ กสทช.ไปทำประชาพิจารณ์ภายใน 15 วัน เพื่อนำข้อมูลที่ได้กลับมาเสนอ คตร.อีกครั้ง

โครงการกลุ่มสุดท้ายที่ คตร.เข้าไปตรวจสอบเพิ่มเติมจำนวน 3 โครงการได้แก่ 1.โครงการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ วงเงิน 12,280 ล้านบาท โดยเป็นโครงการที่ล่าช้าและมีการวางแผนในการดำเนินโครงการไม่ดีเท่าที่ควร 2.โครงการก่อสร้างอาคารที่พักสวัสดิการข้าราชการ และ ส.ส.ของ รัฐสภา จำนวน 2,600 ห้อง งบประมาณ 5,600 ล้านบาท พบว่าวัตถุประสงค์ในการก่อสร้างไม่ชัดเจน และไม่สามารถตอบคำถามเรื่องความเหมาะสมในการก่อสร้างได้ และ 3.คตร.กำลังตรวจสอบกองทุนเลี้ยงชีพของสมาชิกรัฐสภาที่มีการพบว่าการจ่ายสวัสดิการมีเงื่อนไขที่ง่ายเกินไป เพราะมีการจ่ายให้กับผู้ที่เข้าไปเป็นสมาชิกภายใน 1 เดือนเท่านั้น ขณะที่มาตรฐานของข้าราชการที่จะได้รับการจ่ายบำเหน็จบำนาญจากกองทุนจะต้องเป็นข้าราชการไม่ต่ำกว่า 10 ปี ซึ่งเรื่องนี้หากมีการจ่ายสิทธิประโยชน์ง่ายเกินไปก็จะเป็นภาระกับงบประมาณของประเทศได้ในอนาคต

คสช. เผยว่า การตรวจสอบโครงการมีขนาดการลงทุนเกินกว่า 1,000 ล้านบาทของปีงบประมาณ 2557 มีวงเงินรวมกว่า 4 หมื่นล้านบาทที่กรอบงบประมาณอยู่แล้วและอยู่ระหว่างการขออนุมัติจาก คสช.ขณะนี้มีการอนุมัติในหลายโครงการที่ไม่มีปัญหาไปแล้ว ส่วนการตรวจสอบโครงการบริหารจัดการน้ำขณะนี้ยังอยู่ระหว่างตรวจสอบ โดย คตร.ได้ให้อยู่ในการดูแลของฝ่ายเศรษฐกิจรวมทั้งขณะนี้ก็มีการการตรวจสอบการใช้จ่ายในกองทัพไปด้วย

ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 ก.ค. ที่ผ่านมา คสช.มีการพิจารณาโครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่มีมูลค่าเกิน 100 ล้านบาทขึ้นไป โดยที่ผ่านมาได้ส่งอนุกรรมการลงพื้นที่ติดตามตรวจสอบ เป็นความร่วมมือของ ตัวแทนจากกรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)และผู้แทนฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ

สำหรับงบประมาณมากกว่า 100 ล้านบาทนั้น สวนใหญ่เป็นงบประมาณต่อเนื่องปี 2556-2557 โดย คตร.ได้เข้ามาดูตั้งแต่การจัดซื้อจัดจ้าง  โดยไม่ได้เข้ามาจับผิดหรือตรวจสอบการทุจริตแต่อย่างใด โดยมีตัวอย่างของกระทรวงพลังงาน ที่ถูกระงับไปแล้วกว่า 23 โครงการ วงเงินรวม 1.0355 หมื่นล้าน

นอกจาก งบประมาณประจำกระทรวง คตร.ยังได้เข้าไปตรวจสอบและช่วยเหลือในการดำเนินการจัดสรรงบของท้องถิ่น อย่างล่าสุดมีข่าวว่า จะเข้าไปดู งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2558 จำนวน 65,733.20 ล้านบาท ภายหลังสภากทม. เห็นชอบการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2558 แล้วเมื่อวันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมา

ตลอดระยะ 1เดือน คสช.ตรวจสอบงบประมาณที่ลงทุนมากกว่า 1 พันล้านบาท 100 ล้านบาท อย่างต่อเนื่อง มีการชะลอการใช้งบประมาณ แต่ยังไม่พบว่า “มีการทุจริต” แต่เมื่อ ป.ป.ช.ส่งดาบมาตรการป้องกันการทุจริต เพื่อเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อพิจารณาและสั่งการให้หน่วยงานของรัฐนำไปปฏิบัติแล้วน่าจะมีอะไรดีๆเกิดขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น